ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
แห่ไม้ค้ำสะหรี
แห่ไม้ค้ำสะหรี
ไม้ค้ำ คือไม้ที่มีง่าม หรือมีสองเเฉกในส่วนปลาย ใช้สำหรับการค้ำยันสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องสูงให้ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงประคองตัวอยู่ได้ สะหรี หรือ สรี หมายถึงต้นศรีมหาโพธิ์  ไม้ค้ำสะหรี หมายถึง ไม้ค้ำส่วนของต้นศรีมหาโพธิ์ตามวัดต่างๆ ไม้ค้ำดังกล่าวได้จากการนำมาถวายของพุทธศาสนิกชนตามความศรัทธาของความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปได้เป็นสามประการหลักๆ ได้แก่ประการแรก เพื่ออธิษฐานขอพรตามที่ปรารถนา ประการต่อมาเพื่อค้ำหนุนให้ชีวิตประสบความเจริญ ไม่ตกต่ำ และประการสุดท้ายถือเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนนาน  ความเชื่อประการเเรก มีปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุงว่า หากผู้ใดนำไม้ค้ำไปค้ำกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์เเล้วอธิษฐาน จะได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา เเต่ต้องค้ำให้ถูกทิศทาง กล่าวคือหากต้องการมีบุตรให้ค้ำกิ่งด้านทิศตะวันออก ต้องการทรัพย์สฤงคารให้ค้ำด้านทิศเหนือ ถ้าต้องการให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง ให้ค้ำทิศตะวันตก หากปรารถนาโลกุตตรธรรม มรรคผล เเละพระนิพพานให้ค้ำด้านทิศใต้ เเละหากผู้ใดประสงค์จะได้ทั้งโลกิยสมบัติเเละโลกุตตรสมบัติ ให้นำไม้ไปค้ำต้นศรีมหาโพธิ์ให้ครบทั้งสี่ด้าน ประการต่อมาปรากฎอยู่ควบคู่กับพิธีกรรมอันเนื่องมาจากสืบชาตา คือภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมสืบชะตาเเล้ว ไม้ค้ำในพิธีกรรมจะถูกนำไปพิงหรือค้ำต้นศรีมหาโพธิ์อย่างหนึ่ง เเละอีกอย่างหนึ่งเป็นการนำไม้ค้ำไปถวายในช่วงสงกรานต์ โดยมีวัตถุประสงค์หรือมุ่งหวังในความเป็นสิริมงคลและการสืบต่ออายุ ประการสุดท้ายเป็นความหมายที่ซ้อนทับกับความเชื่อทั้งสองประการข้างต้น คือ มีวัตถุประสงค์อันที่จะค้ำจุนพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความคิดแฝงในพิธีกรรมอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นจึงมีการจัดขบวนแห่เอิกเกริกโดยให้มีในช่วงสงกรานต์ของทุกๆปี   ข้อมูลโดย : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ
เผยแพร่เมื่อ 13 เมษายน 2565 • การดู 2,804 ครั้ง
จ๊ะมั่ง (ชะมั่ง)
จ๊ะมั่ง (ชะมั่ง)
ชะมั่ง อ่านออกเสียงตามสำเนียงล้านนาว่า “จ๊ะมั่ง” หมายถึงเล็บมือนาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Combretum indicum (L.) Defilipps ชื่อสามัญ คือ Dranen Sailor, Rangoon Ceeper อยู่ในวงศ์ Combretaceae บางถิ่นเรียก จ๊ามั่ง จีมั่ง ก็มี       คนไทยโบราณไม่นิยมปลูกชะมั่งไว้ในบริเวณบ้าน เพราะถือว่าเป็นไม้อัปมงคล ซึ่งเรื่องนี้ยังหาข้ออธิบายไม่ได้ แต่สำหรับชาวล้านนาแล้วถือว่าชะมั่ง เป็นไม้ “ข่ม” กระนั้นก็ยังนิยมปลูกไว้บริเวณซุ้มประตูหน้าบ้าน เพื่อข่มศัตรูที่มีอาคมกล้า กล่าวคือ หากผู้ใดมีอาคมแกร่งกล้า เมื่อได้ลอดผ่านประตูเข้าสู่บริเวณบ้าน อาคมจะอ่อนพลังโดยทันที การปลูกชะมั่งขึ้นเป็นซุ้มประตู จึงเป็นการป้องกันศัตรูอย่างหนึ่ง มูลเหตุความเชื่อนี้ มีต้นตอมาจากเรื่องเล่าขานกล่าวถึงตำนานพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งเรื่องราวนี้มีปรากฎเป็นวรรณกรรม ประเภทมุขปาฐะเล่าสืบต่อกันมาว่า ขุนหลวงวิรังคะ เป็นหัวหน้าชนเผ่าลัวะที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ เมื่อทราบข่าวว่าพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น มีความงามเป็นเลิศ ขุนหลวงจึงประสงค์จะได้พระนางเป็นมเหสี เมื่อส่งทูตไป ขอพระนาง เพื่ออภิเษก พระนางก็บ่ายเบี่ยง บ่อยครั้งเข้าพระนางก็หาอุบายให้ขุนหลวงพุ่งหอกจากดอยสุเทพให้ไปตกที่กลางเมืองหริภุญชัย ในครั้งแรกนั้นขุนหลวงพุ่งหอกไปตกนอกเมือง พระนางเห็นเช่นนั้นก็เกรงว่าจะได้ตกเป็นชายาของขุนหลวง ซึ่งเป็นคนป่า จึงหาวิธี “ข่ม” ให้ขุนหลวงเสื่อมจากอิทธิฤทธิ์ อำนวจกฤตยาคม โดยกรรมวิธีต่างๆ และหนึ่งในกรรมวิธีนั้น พระนางเอาผ้าถุงที่เปื้อนประจำเดือนมาทำเป็นหมวก แล้วเอาดอกเล็บมือนางที่ผ่านการสัมผัสกับอวัยวะเพศคละเคล้ากับเลือดประจำเดือนเสียบแซมประดับ ให้ทูตนำไปให้ขุนหลวงสวม ผลที่ตามมาคือ ขุนหลวงไม่สามารถพุ่งหอกให้ไปตกกลางเมืองหริภุญชัยได้เพียงแค่พุ่งหอกไปตกไกลแค่เชิงดอยสุเทพเท่านั้น อนึ่ง ชาวล้านนาเชื่อกันว่า ดอกชะมั่ง แต่เดิมมีดอกบริสุทธิ์ แต่พอถูกพระนางจามเทวีนำไปคลุกเคล้ากับประจำเดือน ตั้งแต่นั้นดอกชะมั่งจึงมีสีขาวสลับแดง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องดอกชะมั่งที่สามารถทำลายมนต์ขลังนั้น เป็นต้นเหตุให้อริยาจารย์นิคม ปลูกต้นชะมั่งไว้ในบริเวณวัด โดยมักปลูกขึ้นเป็นซุ้มให้ความร่มรื่นเหมาะสำหรับนั่งปฏิบัติธรรม ทั้งนี้คงเป็นกุศโลบายไม่ให้พระสงฆ์มีอิทธิฤทธิ์หรือกฤตยามนต์อันเป็นสิ่งขวางกั้นการบรรลุธรรมขั้นสูงก็อาจเป็นได้   ข้อมูลจากหนังสือชุดล้านนาคดี ดอกไม้ล้านนา : ศรัทธาและความหมาย โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา
เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2565 • การดู 3,496 ครั้ง
ต้นโชค
ต้นโชค
“โจ้ค” (โชค) ไทยว่า “ตะคร้อ” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Schleichera oleosa (Lour.) Oken ในวงศ์ SAPINDACEAE ชื่อสามัญ Ceylon oak สรรพคุณทางยาเป็นรากเป็นยาแก้กษัย ใบแก้ไข้ สมานแผน รักษาฝี ผลเป็นยาระบาย เปลือกต้น ต้มดื่มเป็นยาสมานท้อง แก้บิด แก้ปวดประจำเดือน แก้ฝีหนองอักเสบ ส่วนด้านความเชื่อ คราใดที่ต้องการความเป็นสิริมงคลโดยเฉพาะด้านโชคลาภ ใบโจ้คจะมีบทบาทตามความเชื่อ เช่น ใช้ใบรองหลุมและผูกเสามงคล หรือเสาร้านค้า ใช้พกพาไปเสี่ยงโชคลาภหรือไปค้าขาย ใช้แช่น้ำมนต์ เป็นต้น ในวันมหาสงกรานต์ โบราณท่านให้เอาใบมาผูกเสาบ้าน ประตูบ้าน ประตูรั้ว ร้านค้าเชื่อว่าเจ้าบ้านร้านค้าจะโชคดีตลอดทั้งปี   ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ
เผยแพร่เมื่อ 17 มีนาคม 2565 • การดู 4,975 ครั้ง
ต้นครัวทาน
ต้นครัวทาน
(อ่าน “ต้นคัวตาน”)           ชาวล้านนามักเรียกสิ่งของต่างๆ ที่นำมารวมกันแล้วตกแต่งให้สวยงามเพื่อถวายเป็นเครื่องไทยทานว่า ต้น ต้นทานหรือต้นครัวทาน โดยเฉพาะเครื่องไทยทานที่นำมาตกแต่งบนชองอ้อย คือแคร่หรือกระบะคานหามแล้วประดับประดาด้วยกระดาษสีหรือวัสดุอื่นๆ แล้วนำฟางหรือหญ้าคามาทำเป็นท่อน มัดแน่นขนาดประมาณ 2 กำ ยาวประมาณ 1-2 เมตร ส่วนล่างแยกออกเป็นสามขา เสริมด้วยไม้ไผ่เพื่อเพิ่มความแข็งแรง นำดอกไม้ประดิษฐ์หรือเครื่องไทยทาน ซึ่งแขวนกับก้านไม้ไผ่มาปักโดยรอบให้เป็นพุ่ม ทำเป็นพุ่มดอกไม้ หรือ พุ่มเครื่องไทยทาน และมียอดเป็นธนบัตรหนีบด้วยไม้ตับ ซึ่งทั้งหมดนี้มักเรียกโดยรวมว่า ต้นครัวทาน หรือ ต้นทาน และเรียกอีกอย่างว่า ต้น อันหมายถึงต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งรวมเป็นสำรับของทานที่ร่วมมือกันจัดทำขึ้น เพื่อนำเครื่องปัจจัยไทยทานไปถวายวัดในงาน พอยหลวง (อ่าน “ปอยหลวง”) คืองานฉลองการถวายถาวรวัตถุไว้กับพุทธศาสนา และนำไปถวายวัดในเทศกาลประเพณีต่างๆ ในการเคลื่อนต้นครัวทาน เพื่อนำไปถวายเป็นทานนั้น มักจะมีการแห่แหนด้วยขบวนฆ้องกลองซึ่งอาจมีช่างฟ้อนทำหน้าที่ฟ้อนรำนำขบวนไปด้วย           ต้นโคม (อ่าน “ต้นโกม”) ชุดเครื่องไทยทานอันมี ดวงโคมเป็นหลัก จัดขึ้นคล้ายกับต้นครัวทานตามปกติเพียงแต่เน้นดวงโคมเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่จะเคลื่อนขบวนเครื่องไทยทานเข้าวัดหลังพระอาทิตย์ตกดิน ดวงโคมนั้นจะทำจากกระดาษว่าว โดยพวกผู้ชายจะนำไม้ไผ่ผูกเป็นโครงของโคมรูปต่างๆ เช่น โคมทรงกลม โคมรูปดาว หรือโคมรูปเครื่องบิน เป็นต้น ฝ่ายผู้หญิงจะตัดกระดาษว่าวสีต่างๆ มาทากาวแล้วปะกับโครงไม้ไผ่โดยรอบ เว้นไว้เฉพาะช่องด้านบนสำหรับเป็นช่องจุดเทียนและระบายเปลวเทียน โคมเหล่านี้จะถูกแขวนกับก้านไม้ไผ่แล้วเสียบเข้ากับ ต้น ที่ทำด้วยฟางหรือหญ้าคานั้น และจะให้เป็นพุ่มพวงงดงามตามสี และทรง เมื่อจุดเทียนที่อยู่ในโคมทุกดวงแล้ว ต้นโคมจะมีความดงงามมาก การแห่ต้นโคมประเพณีในเดือนยี่เพง หรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับเดือน 12 เพ็ญ คือวันลอยกระทงของภาคกลาง บางหมู่บ้านจะมีการประกวดต้นโคม ทำให้ศรัทธาวัดแต่ละกลุ่มขวนขวายช่วยกันจัดแต่งต้นโคมให้สวยงาม ประณีตและดูมีคุณค่าเพื่อการประกวดดังกล่าว ต้นดอก เป็นต้นครัวทาน ที่เน้นการประดับด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ดังพบว่านิยมใช้กระดาษว่าวมาตัดเป็นกลีบดอกไม้แล้วอัดให้เป็นรอยย่น นำกลีบดอกไม้ที่อัดรอยนั้นมาผูกเข้ากับก้านไม้ไผ่หรือก้านมะพร้าวให้เป็นดอกไม้ที่ชูช่อ ก้านไม้ไผ่นั้นก็มักจะใช้กระดาษสีพันไว้ บางครั้งเจ้าภาพอาจใช้กระดาษเงินหรือกระดาษทองมาตัดแต่งเป็นดอกไม้ก็ได้ เมื่อนำก้านดอกไม้นั้น เสียบเข้ากับต้นที่ทำจากฟางหรือหญ้าคา และจัดดอกไม้ให้เป็นพุ่มใหญ่แล้ว ก็มักจะจัดไม้หนีบธนบัตรแล้วปักไว้เป็นยอดอีกด้วย           ในระยะ พ.ศ. 2541 นี้ พบว่าบางวัดที่เจ้าภาพมีฐานะ ได้มีการใช้ธนบัตรฉบับละร้อยบาทคีบด้วยไม้หนีบแล้วปักแต่งด้วยต้นเฟืองหรือต้นที่ทำจากฟางข้าว รวมมูลค่าของธนบัตรแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทก็มี นอกจากนี้ต้นดอก ยังหมายถึงเครื่องสักการะแบบหนึ่ง นำไปบูชาผู้ที่เราให้ความเคารพ โดยเอาดอกไม้สอดเข้าไปในโครงร่างที่ทำไว้แล้วจนเต็ม อาจมีดอกไม้หลากชนิด ทั้งนี้ถ้าไม่มีโครงไม้อาจะใช้ต้นกล้วยแทนได้ ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ    
เผยแพร่เมื่อ 16 มีนาคม 2565 • การดู 2,824 ครั้ง
ต้นพุดสามสี
ต้นพุดสามสี
ชื่ออื่นๆ: สามราศี พุดสี พุทธชาดม่วง พุทธชาดสามสี ชื่อสามัญ: Yesterday-today-and-tomorrow, Morning-noon-and-night ชื่อวิทยาศาสตร์: Brunfelsia hopeana Benth. หรือ Brunfelsia uniflora (Pohl) D. Don วงศ์: SOLANACEAE ถิ่นกำเนิด: ประเทศอเมริกาเขตร้อน และหมู่เกาะอินดีส ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี เวลาที่ดอกหอม: ช่วงเช้าและเย็น (ช่วงที่อุณหภูมิต่ำ แสงแดดอ่อนหรือไม่มี) การขยายพันธุ์: การปักชำ เป็นวิธีการที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้หอมขนาดเล็ก การตอน สามารถทำได้แต่ต้องเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ ๑ ปีขึ้นไป เพราะกิ่งค่อนข้างเปราะอาจหักได้ง่าย ข้อดีของพันธุ์ไม้: ออกดอกตลอดปี ดอกมีกลิ่นหอมแรง ใช้พื้นที่ในการปลูกไม่มากเพียง ๑ x ๑ x ๑ ม. ก็เพียงพอ ปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ พบการแพร่ระบาดของโรคและแมลงที่ทำความเสียหายให้กับพันธุ์ไม้ชนิดนี้บ้าง ได้แก่ เพลี้ยไฟที่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต (ทนต่อการระบาดของเพลื้ยไฟได้ระดับหนึ่ง)
เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2565 • การดู 12,716 ครั้ง
ตัวมอม
ตัวมอม
มอม หรือ สิงห์มอม เป็นสัตว์หิมพานต์ รูปร่างลักษณะคล้ายแมว ลูกเสือหรือลูกสิงโต ปรากฏให้เห็นในรูปของยันต์ที่ชายชาวล้านนาโบราณนิยมสักช่วงล่างของร่างกายบริเวณขาที่เรียก “สักขาลาย” “สักขาก้อม” หรือไม่ก็ปรากฏเป็นลวดลาย หรือรูปปั้นตามซุ้มประตูของวัดต่างๆ และบางแห่งมีการแกะสลักตัวมอมไว้ตามฐานชุกชี ฐานพระเจดีย์เป็นต้น บทบาทของมอม ชาวล้านนาโบราณรวมทั้งชาวไทเผ่าอื่น ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันนิยมสักลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หรือตัวอักขระคาถาบนร่างกายส่วนต่างๆ โดยเชื่อกันว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน มีเมตตามหานิยม รอดพ้นจากภยันตราย ตลอดทั้งเขี้ยวพิษจากสัตว์ร้ายได้ นอกจากนี้ การสักลายยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชายทั้งในความหมายของความอดทนและความเป็นผผู้กล้าหาญในการศึกสงครามเป็นที่เกรงขามแก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้ในส่วนของร่างกายที่นิยมสักกันมากจะสักบริเวณบั้นเอวลงไปถึงขา ชายใดไม่มีลายสักบริเวณดังกล่าว ขาจะขาวเหมือนผู้หญิง ไม่เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงจะถือว่าชายนั้นไม่สามารถคุ้มครองภัยอันตรายหรือเป็นที่พึ่งพาได้ และที่สำคัญรูปสัตว์ที่นิยมได้แก่ รูปมอม หรือสิงห์มอม ศิลปกรรมตามโบสถ์วิหารหรือศาสนาสถานในวัดมักมีรูปมอมปรากฎโดยทั่วไป อาจเป็นภาพเขียน รูปแกะสลักหรือรูปปั้น บางแห่งมีรูปเทวดายืนอยู่บนหลังมอม ซึ่งผู้รู้หลายท่านมีความเห็นตรงกันว่าเป็นเทวดาที่ชื่อ “ปัชชุนนะ” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน การที่มีรูปเทวดาองค์นี้ก็เพราะมีความเชื่อว่า บ้านเมืองจะอุดมสมบูรณ์ฝนไม่ขาดฟ้า และที่ยืนบนหลังมอม แสดงให้เห็นว่ามอมเป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าแห่งสายฝน ดังนั้นในเชิงปฏิบัติทางวัฒนธรรมตามความเชื่อจึงมีการนำมอมมาแห่ตามพิธีกรรม เพื่อขอให้ฝนตก                ปีใดก็ตาม หากเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านจะนำรูปสลักมอมขึ้นใส่เสลี่ยง แล้วจัดขบวนแห่แหนไปรอบๆ หมู่บ้าน ในขบวนแห่จะมีการสาดน้ำ ตัวมอมให้ชุ่มตลอดเวลา ผู้ที่เข้าร่วมขบวนจะแสดงพฤติกรรมตลกคะนอง ผิดธรรมชาติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง นุ่งห่มเสื้อผ้ากลับหลัง บางคนถือรูปอวัยวะเพศ บางคนแต่งหน้าทาปากเป็นที่ตลกขบขัน ด้วยเชื่อว่าการกระทำดังล่าวจะทำให้เทวดาร้อนใจและบันดาลให้ฝนตกในที่สุด                 ปัจจุบันการแห่มอมหาดูได้ยาก อาจเป็นเพราะสังคมเกษตรอ่อนกำลังลง หรือเป็นผลมาจากมอมนั้นหายากก็เป็นได้ อย่างไรเสีย ยังมีวิธีที่คล้ายกัน คือการจับแมวมาแต่งหน้านุ่งผ้าใส่เสื้อ แล้วแห่แหนในลักษณาการเดียวกัน แต่วิธีนี้พบว่ามีปรากฎในกลุ่มคนไทถิ่นอื่นด้วย ที่รู้จักกันดีคือพิธีแห่งนางแมวขอฝน แต่ความมีมนต์ขลังดูจะสู้มอมไม่ได้ เพราะมอมเป็น สัตว์รับใช้ของปัชชุนเทวดา น่าจะสามารถนำความทุกข์ร้อนของมนุษย์ไปรายงานได้โดยตรง   หนังสือ ร้อยสาระ สรรพล้านนาคดี เล่ม 4 โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา 
เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2565 • การดู 12,190 ครั้ง
ตำนานกาเผือก
ตำนานกาเผือก
กาเผือก ธัมม์เรื่อง กาเผือก หรือ กาเผือกพระเจ้าห้าพระองค์ เป็นธัมม์ ที่มักใช้สวดกันในคืนยี่เป็ง ของล้านนาซึ่งเป็นการยืนยันถึงที่มาของการจุดประทีปโคมไฟในเทศกาลยี่เป็ง (ยี่เป็งคือ วันเพ็ญในเดือนยี่ หรือเดือนที่ 2 ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง) เรื่องราวของแม่กาเผือก เป็นตำนานที่นำเอาความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัลป์มาร้อยเรียงเป็นธัมม์ แฝงคำสอนเรื่องความกตัญญู และการบำเพ็ญบารมีตามคติทางพุทธศาสนา โดยมีเรื่องเล่าว่า แม่กาเผือกตัวหนึ่งทำรังอยู่บนต้นมะเดื่อใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา และได้ออกไข่ไว้ 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งแม่กาออกไปหาอาหารก็เกิดพายุพัดฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมฝนได้พัดพาเอาไข่ของแม่กาเผือกตกลงไหลตามน้ำกระจายไปคนละทิศคนละทาง ฝ่ายแม่กาเผือกเมื่อกลับมาจากหาอาหารไม่เห็นไข่ลูกน้อยทั้ง 5 ก็ออกเที่ยวตามหาไปทั่วทุกสารทิศแต่ก็ไม่เจอ นึกว่าลูกทั้ง 5 ได้ตายจากไปแล้ว เกิดความโศกเศร้าเสียใจทำให้แม่กาเผือกต้องตรอมใจตายในที่สุด และด้วยกุศลบุญบารมีที่แม่กาเผือกได้กระทำไว้ ทำให้แม่กาเผือกได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก ส่วนลูกทั้ง 5 ของแม่กานั้นก็ถูกน้ำพัดพาไป ไข่ใบแรก         แม่ไก่นำไปเลี้ยง ไข่ลูกที่สอง       แม่นาค(หรืองู)นำไปเลี้ยง ไข่ลูกที่สาม       แม่เต่านำไปเลี้ยง ไข่ลูกที่สี่          แม่โคนำไปเลี้ยง(บางตำนานก็กล่าวว่าเป็นหญิงซักผ้า) ไข่ลูกที่ห้า        แม่ราชสีห์นำไปเลี้ยง   เมื่อไข่ทั้งห้าใบฟักออกมา แล้วเติบใหญ่เป็นชายหนุ่มอายุได้ 16 ปี ก็อยากออกไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า ชายหนุ่มแต่ละคนจึงได้ขออนุญาตแม่ของตัวเองเพื่อไปบวชตามที่ได้ตั้งใจไว้ แม่บุญธรรมทั้งห้าก็อนุญาตให้บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่า ด้วยบุญบารมีที่สะสมมาชายหนุ่มก็ออกเดินทางไปบำเพ็ญศีลแล้วก็มาพบกันโดยบังเอิญ ต่างก็ไต่ถามความเป็นมาของกันและกัน จึงรู้ว่าเป็นลูกแม่กาเผือกเหมือนกันทั้งสิ้น จากนั้นฤๅษีหนุ่มทั้งห้าจึงตั้งสัจจาธิษฐานอยากพบแม่กาเผือกของตนเอง ด้วยคำอธิษฐานของลูกๆ แม่กาเผือกจึงได้เนรมิตร่างตนเองมาปรากฏต่อหน้าลูกทั้งห้า ก่อนจะจากกันลูกๆ จึงขอให้แม่กายื่นเท้ามาให้พวกเขากราบไหว้เพื่อระลึกถึงบุญคุณ แม่กาจึงใช้ฝ้ายพันติดกันเป็นเกลียว แล้วทำให้มีลักษณะเหมือนตีนกาสามแฉก เอาให้ลูกๆ นำไปใส่ผางจุดบูชา ระลึกถึงพระคุณ จากนั้นแม่กาก็กลับไปยังสวรรค์ตามเดิม ส่วนลูกๆ ก็กลับไปบำเพ็ญบารมี และจุดประทีปบูชาแม่กาเผือกสม่ำเสมอ จนตายไปแล้วเกิดอีกหลายชาติ ชาติสุดท้ายก็มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์บนโลกมนุษย์ตามลำดับ พระพุทธเจ้าองค์แรก      ชื่อพระกกุสันธะ            เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นไก่ พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง     ชื่อพระโกนาคมนะ         เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นนาค(หรืองู) พระพุทธเจ้าองค์ที่สาม     ชื่อพระกัสสปะ             เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นเต่า พระพุทธเจ้าองค์ที่สี่        ชื่อพระโคตมะ              เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นโค พระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า      ชื่อพระเมตไตรยะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นราชสีห์                   ในปัจจุบันเราอยู่ในช่วงของพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ คือ โคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทธัตถะ โคตม หรือมีชื่ออื่นๆ คือ พระศากยมุนี พระพุทธโคดม มีอายุพระพุทธศาสนา 5,000 ปี ซึ่งอีกประมาณ 2,500 ปีจะเกิดเหตุการณ์กลียุค แล้วพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า คือ พระเมตไตรยะ หรือพระศรีอาริยเมตตรัย จะจุติลงมาบนโลกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาใหม่อีกครั้ง           จากตำนานแม่กาเผือก จะเห็นแนวคิดของชาวล้านนา ที่ต้องการเชื่อมโยงการกำเนิดพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัลป์ให้สัมพันธ์กับการจุดประทีปเพื่อบูชาแม่กาเผือก โดยใช้ฟั่นเชือกสามแฉกในผางประทีป ที่เหมือนกับเท้ากา เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงแม่กาเผือก   บทความโดย นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                                                                                                               
เผยแพร่เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 • การดู 19,464 ครั้ง
ลอยกระทง
ลอยกระทง
ลอยกระทง เป็นประเพณีหนึ่งที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทย หากกลับไปสืบค้นหลักฐานในศิลาจารึกและเอกสารโบราณต่างๆ ไม่พบประเพณีลอยกระทง แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ “ชักโคม ลอยโคม” และแขวนโคม  คำว่า “ลอยกระทง” เริ่มปรากฏหลักฐานเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือ “ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์” โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย จึงเกิดการทำกระทงด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ จุดประสงค์ของการลอยกระทงก็เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การลอยกระทงในล้านนา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีไทย ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๗๐ ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากสยาม โดยการจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะชาวล้านนายังปฏิบัติตามจารีตประเพณีเดิม ด้วยการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัดตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน "เพ็ญเดือนยี่" ตามประเพณีดั้งเดิมอยู่ ตามวิถีล้านนานั้น ในเทศกาลยี่เพงที่ตรงกับเพ็ญเดือนสิบสองของไทยนี้ กิจกรรมที่นิยมทำคือการตั้งธัมม์หลวง หรือเทศนาธรรมเรื่องเวสสันดรชาดก หน้าวัดตกแต่งด้วยซุ้มประตูป่าพร้อมประดับโคมไฟ ส่วนภายในวิหารก็มีการนำพืชพันธุ์ ของแห้ง และเครื่องพิธีมาจัดวางจนเต็มในวิหาร บางวัดทำเขาวงกต ซึ่งจำลองเหตุการณ์ครั้งที่พระเวสสันดรถูกขับให้ออกจากเมือง แล้วเดินเข้าป่าเพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมี โดยก่อนที่จะเข้าไปต้องผ่านเขาวงกตก่อน เพื่อให้ผู้มาฟังธรรมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ช่วงกลางวันมักจะเป็นมีการปล่อยว่าวรม หรือว่าวตะวัน(ควัน) คือลูกโป่งกระดาษขนาดใหญ่ที่ใช้ความร้อนจากควันไฟทำให้ลอยขึ้นสู่ฟ้า ส่วนกลางคืนมีการจุดบอกไฟชนิดต่างๆ และตามผางประทีป(จุดประทีป) โคมไฟ และปล่อยว่าวไฟ ซึ่งในการจุดประทีปโคมไฟนี้ ได้มีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีปเป็นเครื่องรับรองถึงคตินิยมในการจุดประทีปโคมไฟ สังเกตได้ว่าประเพณียี่เป็งดั้งเดิมของชาวล้านนา มีพื้นที่ในการจัดพิธีจะอยู่ในวัด และให้ความสำคัญกับการสร้างอานิสงส์ผลบุญในวันศีลหลวง(วันพระใหญ่)           เทศกาลลอยกระทงของเชียงใหม่ หรือประเพณียี่เป็ง เริ่มเมื่อครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ นั้น ก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมในการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพโดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน ประเพณีการลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็ก และในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ แต่ภายหลังมีการยอมรับและนำไป "ลอยกระทง" กันทั่วไป รูปแบบกระทงในช่วงแรกจัดทำกระทงหรือแพหยวกกล้วย ให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ เมื่อจุดธูปเทียนแล้วจึงปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ ถ้ากระทงนั้นทำด้วยชิ้นกาบกล้วยขนาดฝ่ามือ มีเทียนปักแล้วหรือวางประทีปแล้วจุดปล่อยให้ลอยตามกันไปเป็นสายก็เรียกว่า กระทงสาย ถ้าทำเป็นแพหยวกกล้วยหรือกระทงใบตองขนาดกว้างประมาณ ๑ คืบถึง ๑ ศอก ก็อาจมีการประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อความสวยงามและอาจใส่เงินลงไปด้วย กระทงดังกล่าวนิยมเรีอกระทงหน้อย ส่วนกระทงขนาดใหญ่ซึ่งนิยมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ โดยเจตนาให้เป็นทานนั้นเรียกว่า สะเพา คือสำเภา และกระทงทำขึ้นเพื่อการประกวดนั้นมักตกแต่งเป็นรูปต่างๆ และมี "นางนพมาศ" เป็นจุดสนใจประจำแต่ละกระทงนิยมเรียกว่ากระทงใหญ่           ภายหลังประเพณียี่เป็งถูกลดทอน และนำเพียงภาพสัญลักษณ์บางอย่างออกจากวัดและชุมชนไปสู่หน่วยงานราชการ และส่วนกลางของจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยขาดการเชื่อมโยงที่มาของพิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิม เช่น การขอความร่วมมือหน่วยงานจัดทำซุ้มประตูป่า การแข่งขันปล่อยโคม การแห่ขบวนรถกระทง เป็นต้น หัวใจสำคัญของประเพณียี่เป็งล้านนาด้วยการฟังธรรมในพิธีตั้งธัมม์หลวงจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน เปลี่ยนเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริงในการพบปะสังสรรค์ ร้องรำทำเพลง และลอยกระทงริมฝั่งน้ำ ตามสมัยนิยมที่พัฒนาไปพร้อมกับสังคม   บทความโดย นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา นางสาวปรียาลักษณ์ ใจสัตย์   อ้างอิง ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเพพฯ : มติชน. 2548. พัชรเวช สุขทอง. ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?. เว็บไซต์ https://www.silpa-mag.com. เผยแพร่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 #พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช. #เรือนโบราณ #พิพิธภัณฑ์ฯในเชียงใหม่ #CMULHM #LannaHouseMuseum
เผยแพร่เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 • การดู 1,652 ครั้ง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง หมายถึง การฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธัมม์หลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดกอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาเกิดแล้วตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา แต่ถ้าจะแปลว่า "การฟังเทศน์ครั้งใหญ่" ก็จะถูกต้องกับเรื่องและระยะเวลาในการเทศน์ คือเป็นคัมภีร์ชาดกสำคัญและมีขนาดยาวและร่วมกับเป็นเทศกาลฟังธัมม์ที่ยาวนานอีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน การตั้งธัมม์นี้เมื่อเล็งไปถึงคำว่า "ตั้ง" ซึ่งแปลว่าเริ่มต้น การตั้งธัมม์หลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก หรือการเริ่มสดับพระธรรมเทศนาด้วยเรื่องที่สำคัญ อันเป็นกิจวัตรประจำปีของพุทธศาสนิกชนล้านนาได้อีกด้วย แต่ถ้าจะแปลโดยเทียบนัยแล้วก็อาจแปลว่าตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธัมม์หลวงนี้ เห็นได้จากชื่อแล้วว่าเป็นเรื่อง"หลวง" คือเรื่องใหญ่ ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้ก็จำเป็นจะต้องยิ่งใหญ่ตามมา นับตั้งแต่การเตรียมคัมภีร์ที่ใช้เทศน์เตรียมองค์ธรรมกถึกหรือพระนักเทศน์ การเตรียมผู้รับผิดชอบกัณฑ์เทศน์หรือเจ้าของกัณฑ์ การจัดเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์           การตั้งธัมม์หลวงนี้ จัดเป็นงานปาเวณี (อ่าน "ป๋าเวณี") คืองานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ซึ่งนิยมจัดขึ้นในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลางเนื่องจากเป็นพิธีใหญ่คู่กับงานทานสลากหรืองานทำบุญข้าวสลากภัตต์ ดังนั้นจึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้น ปีใดที่จัดงานทานสลาก ก็จะไม่จัดงานตั้งธัมม์หลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธัมม์หลวง ก็จะไม่จัดงานทานสลากธัมม์ หรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธัมม์หลวงนี้อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติ-ชาดก ปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง "มหาชาติ" หรือเวสสันตรชาดก ซึ่งหากเป็นธัมม์ที่มิใช่เรื่องมหาชาติแล้ว ก็มักจะฟังกันไม่เกิน 3 วัน แต่หากเป็นเวสสันตรชาดกหรือมหาชาติแล้วก็นับเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งอาจมีการฟังธัมม์ต่อเนื่องกันไปถึง 7 วัน การตั้งธัมม์หลวงนี้ บางครั้งก็เป็นเวลาที่ชาวบ้านจัดคัดลอกหรือจารชาดกที่สำคัญมาถวายวัด ก็เลยถือโอกาสตั้งธัมม์ที่คนสร้างนั้นด้วยและส่วนมากมักจะปิดท้ายด้วยเรื่องมหาชาติ คือก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอจะถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็จเอาในเวลาทุ่มเศษ แต่ถ้าเป็นเวสสันตรชาดกที่สั้นหน่อยก็อาจเทศน์เสร็จในเวลาพลบค่ำพอดี   ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 10  รูปภาพจาก : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
เผยแพร่เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 • การดู 2,292 ครั้ง
จุลกฐิน
จุลกฐิน
กฐิน เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” หมายถึงไม้แบบสำหรับขึงจีวรที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลใช้สำหรับเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการตัดเย็บจีวร แต่ความหมายทั่วไป หมายถึงชื่อของผ้าสำหรับทอดถวายในช่วงกฐินกาล จุลกฐิน คือ กฐินที่จัดทำผ้าไตรจีวรเพื่อเป็นผ้ากฐิน เริ่มตั้งแต่การนำฝ้ายมาปั่นกรอเป็นเส้นด้าย แล้วทอเป็นผืนผ้า ตัดเย็บและย้อมสีตลอดจนได้ทำการทอดถวายภายในวันนั้น โดยใช้เวลาไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง จุลกฐินนี้มักทำกันเมื่อจวนจะหมดเขตกฐินกาลแล้ว หรือสิ้นสุดช่วงการทอดกฐินนั่นเอง     ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขอขอบคุณภาพ : นายต่อพงษ์ เสมอใจ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
เผยแพร่เมื่อ 26 ตุลาคม 2564 • การดู 5,298 ครั้ง
"ไม้คู่เรือน" ต้นไม้มงคล
ต้นไม้มงคล 1. ทิศบูรพาหรือทิศตะวันออก ต้นมะขาว ต้นไผ่ 2. ทิศอาตเนย์หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต้นสารภี ต้นแค ต้นไผ่รวก 3. ทิศทักษิณหรือทิศใต้ ต้นมะม่วง ต้นไผ่รวก 4. ทิศหรดีหรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต้นแค 5. ทิศปัจฉิมหรือทิศตะวันตก ต้นส้มซ่า ต้นขนุน ต้นมะขามป้อม 6. ทิศพายัพหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ต้นพันจำ ต้นปอ ต้นพุทรา 7. ทิศอุดรหรือทิศเหนือ ต้นมะพร้าว ต้นทองกวาว ต้นสมอ ต้นพุทรา 8. ทิศอิสานหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นมะตูม ฉะนั้นที่ดินใดที่เป็นที่อยู่อาศัย ถ้ามีต้นไม้ขึ้นตามทิศทางดังกล่าวให้คงไว้ หากไม่มีก็ควรหามาปลูกจักวุฑฒิจำเริญด้วยข้าวของสัมปัตติ คือเจริญด้วยข้าวของสมบัติมากนักแล   อ้างอิง : หนังสืออบรมสล่าเรือนล้านนา โครงการรวบรวมฐานข้อมูลสล่าสร้างสถาปัตยกรรมล้านนา ขอขอบคุณภาพประกอบ : จากการค้นหา เว็ปไซต์ google
เผยแพร่เมื่อ 5 ตุลาคม 2564 • การดู 2,997 ครั้ง
ลักษณะเฮือน
ลักษณะเฮือน"ขึด"
ขึด หมายถึง เสนียด จัญไร อัปมงคล  ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ขึดมีหลายประเภท เช่น ขึดเกี่ยวกับวัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง  สาธารณประโยชน์  ตลาด  พื้นที่ทางการเกษตร ต้นไม้ สัตว์ ที่อยู่อาศัย  เป็นต้น เฉพาะที่อยู่อาศัยนั้น การเลือกที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ชาวล้านนาจึงมีการบอกเล่าในเรื่องของเคหสถานผ่านการจดจำและบันทึกเป็นตำรากำหนดไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างหรือเข้าอยู่อาศัยในบ้านเรือนที่มีลักษณะ “ขึด” คือเรือนที่ไม่เป็นมงคลนั่นเอง ลักษณะเรือนของคนล้านนา      ส่วนหนึ่งเป็นตำแหน่งหรือสถานที่ตั้งอยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของระยะเวลาของการสร้าง และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนประกอบของตัวอาคาร ขนาดและจำนวนของบางสิ่ง รวมทั้งเรือนที่มีประวัติที่ไม่พึงประสงค์   ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ส่วนแรก คือตำแหน่งหรือสถานที่ตั้งที่อยู่อาศัย เช่น เรือนที่สร้างกลางเนินสูงมีสัณฐานเหมือนกระดองเต่า เรือนที่สร้างสูงกว่าพระพุทธรูปที่อยู่วัด เรือนที่สร้างแนวตรงกับพระประธาน เรือนที่สร้างทับหรือปลูกคร่อมแม่น้ำเก่า   คร่อมถนนหนทางเดิม คร่อมหรือทับวัดร้าง ป่าช้าร้าง บ้านร้าง เรือนที่ปลูกคร่อมจวมปลวก ปลักควาย หลัก ตอ บ่อน้ำ สระน้ำ ตาน้ำ  เรือนที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำลำห้วยไหลมารวมกัน เรือนที่ตั้งในบริเวณทางหลวง ทางแยก  เรือนที่มีน้ำไหลบ่าเข้าบ้าน  รวมถึงเรือนที่มียุ้งข้าวอยู่ทิศหัวนอน เรือนที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุ้งข้าวสองหลัง เป็นต้น ในส่วนที่เป็นระยะเวลา เช่น “เรือนท่าวลุก” คือเรือนหลังเดียวใช้เวลารื้อถอนและสร้างเสร็จในวันเดียว หรือเรือนสองหลังสร้างเสร็จพร้อมกันในวันเดียว  ถือว่าเป็นเรือนที่เข้าลักษณะ “ขึด” ด้านส่วนประกอบของตัวอาคาร เช่น  “เรือนภิแลกล้ำ” ได้แก่ เรือนกับยุ้งข้าวสร้างติดเป็นเรือนร่วมกัน เรือนหลังหนึ่งมีห้องสองห้องขนาดเท่ากัน โดยที่ห้องหนึ่งอยู่ทิศตะวันออก อีกห้องอยู่ทิศตะวันตก เป็นเรือนขึด  เรือนที่ใช้ไม้เก่าจากเรือนหลายหลังมารวมกันสร้าง เรือนที่ใช้ไม้เก่าและไม้ใหม่คละกันสร้าง เรือนที่ใช้ไม้เก่าจากยุ้งข้าว เรือนที่ถูกขยายให้กว้างออกหรือลดขนาดให้แคบลงที่เรียก “สืบชาน รานเรือน”  เรือนที่ถูกขยายประตูหรือเจาะประตูเพิ่มภายหลัง เรือนที่มีประตู 4 ประตู มีหน้าต่าง 9 ช่อง   เรือนสองหลังมีประตูตรงกัน เรือนที่มีเสาเป็นรูกลวงตั้งแต่โคนเสาถึงปลายเสา เรือนที่มีรอยแตกตั้งแต่โคนถึงปลายเสา  เรือนมีเสา “ตาน้ำย้อย” คือที่เสามีน้ำย้อยออกจากตาไม้    เสามี “ตาไฟยาม” คือเสาที่มีตาไม้อยู่สูงจากคาน 2 ศอก   เรือนที่มีเสาขนาดเล็กกว่าขื่อและแป           ส่วนเรือนที่มีประวัติไม่พึงประสงค์ เช่น เรือนที่เคยถูกโจรตัดช่องลักของตรงบริเวณเสามงคลหรือบริเวณเสาใหญ่ที่อยู่หัวนอน  และเรือนที่เคยมีคนตายบนเรือนมาแล้ว 3 ศพ เป็น “เรือนขึด” ไม่ควรเข้าอยู่อาศัย ตัวอย่างเรือนที่กล่าวมา ถ้าผู้ใดปลูกสร้างหรือเข้าอาศัยก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ความหายนะนานัปการ เช่น ประสบเภทภัย โรคร้ายรุมเร้า ทรัพย์สินเงินทองร่อยหรอ เกิดถ้อยคดีความ สมาชิกในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนต่างๆนานา เป็นต้น ดังนั้นชาวล้านนาหากไม่ปรารถนาจะได้รับสิ่งอัปมงคลก็จะพยายามปฏิบัติตามความเชื่อที่ยึดถือสืบต่อกันมา            ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ            ภาพประกอบโดย : สุขธรรม โนบาง  
เผยแพร่เมื่อ 30 กันยายน 2564 • การดู 3,278 ครั้ง
"ขึด"บนเฮือนล้านนา
ขึดหมายถึงเสนียด จัญไร อัปมงคลการกระทำใดๆที่อยู่ในลักษณะไม่ดีไม่งามหรือไม่ควรกระทำชาวล้านนาเรียกลักษณะนี้ว่าขึดหากฝืนกระทำผู้นั้นจะ “ตกขึด” คือได้รับผลร้ายตามมาในความเชื่อของชาวล้านนานั้นมีหลายประเภทอาทิ เกี่ยวกับวัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง สาธารณประโยชน์ ตลาด พื้นที่ทางการเกษตร ต้นไม้ สัตว์ การสร้างที่อยู่อาศัยคนตายและพฤติกรรมโดยทั่วไปเป็นต้น พฤติกรรมบางอย่างที่ดูจะเป็นสิ่งใกล้ตัวและโยงเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวมากขึ้น ได้แก่ขึดที่เกิดขึ้นบนเรือนที่อยู่อาศัยนั่นเอง ในทีนี้จะขอยกเอาเฉพาะ “ขึด” บนเรือนมานำเสนอเป็นลำดับไป วิถีปฏิบัติบนเรือนของคนล้านนา ส่วนหนึ่งเป็นการไม่ให้ความเคารพยำเกรงต่ออาคารที่อยู่อาศัยข้าวของเครื่องใช้และอาวุโส ส่วนหนึ่งเป็นมารยาท ส่วนหนึ่งเป็นความไม่เหมาะสม และอีกส่วนคือขัดต่อความเป็นปกติวิสัย ดังตัวอย่างต่อไปนี้           ส่วนแรก เช่น ใช้เท้ากระทืบเชิงบันได เหยียบหรือนั่งหัวบันได ธรณีประตู เตาไฟ เดินกระแทกเท้าบนเรือน ก้าวเท้าข้ามเตาไฟ หม้อ ไฟ สำรับข้าว ใช้เท้าดันฟืนเข้าในเตาไฟ ทุบตีบ้านเรือน ข้าวของ เสื้อผ้า ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ กวาดพื้นให้ลมถึงผู้ใหญ่ ด่าทอผู้ใหญ่ ร้องรำทำเพลง ผิวปาก เล่นดนตรี เคาะถ้วยชาม เครื่องใช้ในครัวให้เกิดเสียงดังบนเรือน ขึดนัก           ในส่วนที่เป็นมารยาทอย่างการกิน เช่น “กินบกจกกลาง” คือเลือกกินข้าวเฉพาะตรงกลางไหหรือกระติบ กินข้าวทำปากเสียงดังจ๊วบจ๊าบ ยกถ้วยซดน้ำแกง ใช้ช้อนขอดถ้วยแกง ขึดนัก           ด้านความไม่เหมาะสม เช่น ตากผ้า ตากเครื่องประดับบนหลังคา ตากผ้าทิศหัวนอน ตากผ้าทิศตะวันออกเรือน เหยียบหรือนั่งบนหมอกหมอนหนุนหัว นำเอามุ้งมาห่มนอน เอาชิ้นส่วนของเสื้อมาปะซ่อมผ้านุ่งที่ฉีกขาด ซักผ้าซิ่นกับเสื้อผ้าของพ่อบ้านในภาชนะเดียวกัน เอาของต่ำเช่น รองเท้า ผ้าซิ่น กางเกงหนุนหัวนอนหรือเอาไว้บนหัวนอน ขึดนัก           ส่วนที่ขัดต่อความเป็นปกติวิสัย ได้แก่ นั่งคาบันได คว่ำหม้อแล้วใช้เป็นที่นั่ง นั่งบนดุมเกวียนล้อเกวียน เอาหม้อที่ใช้นึ่งมาใช้เป็นหม้อแกง เอาเครื่องใช้ในครัวเป็นอาวุธทำร้ายกัน ขึดนัก           นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพฤติกรรมบางอย่างก็ทำให้ตกขึดได้ เช่น นั่งเฝ้าคนนอนหลับ นั่งอาศัยร่มเงาคนอื่น นอนบริเวณที่เป็นแนวตรงกับประตูหรือหน้าต่าง นอนบริเวณที่อยู่ในแนวตรงของขื่อ นอนเวลาพลบค่ำช่วงพระอาทิตย์ตกดิน โยนเด็ก โยนเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับขึ้นอากาศ ทะเลาะวิวาทกันแล้วพาลทุบตีทำร้ายสัตว์เลี้ยง เอาสากเคาะปากครก เอาสากครกจุ่มลงในหม้อแกง เอาซี่ไม้กวาดหรือเศษหญ้าคาที่มุงหลังคาจิ้มฟัน เอาช้อน เอาจวักตักข้าวในยุ้งข้าวหรือตักน้ำในลำห้วย นำรูปช้าง เสือ ราชสีห์ นาคและราหูมาไว้ในเรือน ก็ขึดเช่นกัน           จากตัวอย่างที่กล่าวมา ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนประพฤติผิดก็จะได้รับผลที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ประสบเภทภัย โรคร้ายรุมเร้า ทรัพย์สินเงินทองร่อยหรอ เกิดถ้อยคดีความสมาชิกในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนต่างๆ นานาเป็นต้น จึงต้องมีการแก้ไขด้วยการนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญอาจารย์ประจำหมู่บ้านมาช่วยผ่อนร้ายใก้กลายเป็นดีด้วยการประกอบพิธีกรรม “ส่งขึด” หรือ “ถอนขึด” ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกาล   เขียนโดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ
เผยแพร่เมื่อ 28 กันยายน 2564 • การดู 8,396 ครั้ง
สะเลียม
สะเลียม
สะเลียม คือ สะเดา ชื่ออังกฤษว่า Siamese Neem Tree ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton อยู่ในวงศ์ MELIACEAE เป็นพืชยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นมีเปลือกหนาสีน้ำตาล เเตกเป็นสะเก็ดเเผ่นใหญ่ ติดอยู่ไม่หลุดร่อนง่าย เเตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อยจำนวนมาก ก้านใบรวม ยาว 4-8 เซนติมเตร ก้านใบย่อยสั้น ใบรูปหอก ขอบใบหยักเเบบฟันเลื่อย ผิวใบเป็นมันเรียบ ดอกออกเป็นช่อ ประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 5 อัน เเยกกันกลีบดอกสีขาว 5 อัน เเยกกัน รูปร่างขอบขนานกันปลายมนฐานเรียวเล็กลง เกสรตัวผู้ 10 อัน มีก้านชูติดกันเป็นหลอด ชูสูงขึ้น มีอับเรณูติดอยู่ ปลายหลอดเกสรตัวเมีย มีรังไข่ 1 ห้อง ผลเป็นแบบนุ่ม เมื่อสุกมีสีเหลือง มี 1 เมล็ด ลักษณะกรมรี ระยะเวลาการออกดอก คือเดือนธันวาคม - มีนาคม มักพบสะเดาขึ้นตามดอน หัวไร่ปลายนา ไม่พบบนภูเขา  คนไทยสมัยก่อนถือว่าต้นสะเดาเป็นไม้มงคล หากปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ส่วนในบางพื้นที่เชื่อกันว่ากิ่งและใบของต้นสะเดาจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้ และด้วยความเป็นมงคลนี่เอง ต้นสะเดาจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี ส่วนสะเดาช้างได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ประจำจังหวัดสงขลา
เผยแพร่เมื่อ 16 มีนาคม 2564 • การดู 3,067 ครั้ง
เอื้องเผิ้ง (เอื้องผึ้ง)
เอื้องเผิ้ง (เอื้องผึ้ง)
เอื้องเผิ้ง หรือ เอื้องผึ้ง เป็นกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium lindleyi Steud- Syn. : aggregatum Roxb. ลำลูกกล้วยเบียดกันแน่นรูป ลักษณะแบบกล้วยยาวราว 2-3 นิ้ว ลำลูกกล้วยหนุ่มจะอวบอ้วน พอลำแก่ๆขึ้นจะค่อยๆ มีรอยย่น แต่ละลำมีเพียง 1 ใบ ใบสีเขียวเข้ม ยาวรีประมาณ 1 นิ้ว ช่อดอกออกด้านข้างลำลูกกล้วย ยาวประมาณ 7 นิ้ว มีดอก 7-20 ดอก หรือมากกว่านี้ ดอกสีเหลืองอ่อนเมื่อแรกบานแล้วสีจะค่อยๆ เข้มขึ้น ปากสีเหลืองทอง กลีบนอกรูปไข่ตั้ง กลีบใบรูปไข่เกือบกลมละกว้างกว่ากลีบนอกเท่าหนึ่ง ปากยาวรีไปทางขวาง ขอบแผ่น ปากจักเป็นซี่ละเอียด ดอกบอบบางและบานไม่นานนัก                  พบขึ้นทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มักพบตามป่าผลัดใบ ขึ้นตามกิ่งไม้ที่แดดส่องถึง ออกดอกราวเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ดอกเอื้องชนิดนี้ เป็นที่นิยมของเหล่าช่างฟ้อนชาวล้านนาทั้งหลายที่จะนำไปเกี้ยวมวยผมในการฟ้อนเนื่องในการเฉลิมฉลองสมโภชต่างๆ    ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 15
เผยแพร่เมื่อ 2 มีนาคม 2564 • การดู 7,430 ครั้ง
ดอกหอมหมื่นลี้
ดอกหอมหมื่นลี้
ดอกหอมหมื่นลี้ ต้นที่ส่งกลิ่นหอมไกลไปทั่วบริเวณบ้าน รัศมีสิบเมตร ดังชื่อของต้นนั่นเอง คนนิยมปลูกกันมีอยู่สองสายพันธุ์ คือ ดอกสีขาวนวล และดอกสีเหลืองทอง อาทิในภาพนี้จะเป็นสายพันธุ์สีเหลืองทอง ส่วนใหญ่นิยมปลูกกันมากทางภาคเหนือ ถ้าปลูกในที่มีอากาศเย็น ใบและกลีบดอกจะหนามากเป็นไม้ที่โตช้ามากกว่าชนิดอื่น ดอกแห้งใช้นำมาอบทำน้ำหอม ชงน้ำชา หรือทำเหล้าจีนเพื่อให้กลิ่นหอมหวานหอมไกลเป็นหมื่นลี้ ดอกไม้ชนิดนี้แม้จะออกดอกทีละไม่มาก แต่กลิ่นของดอกต้นนี้นั้นจะหอมมาก โดยหอมหมื่นลี้เป็นดอกไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดทางบริเวณตอนกลาง ภาคใต้ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน แต่ในปัจจุบันพบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกส่วนของประเทศ ซึ่งต้นหอมหมื่นลี้ จัดเป็นต้นไม้ประเภทพุ่มเตี้ยๆ ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก แต่บางพันธ์มีความสูงได้ถึง 8 เมตร เรือนยอดรูปไข่ ส่วนดอกจะออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือบริเวณซอกใบ เป็นดอกเล็ก 12-25 ดอก มี 4 กลีบ ปลายงุ้มเข้าหากัน สีขาวนวลหรือเหลืองทอง ดอกจะออกช่วงเดือนตุลาคม-กุมภา พันธ์ ดอกจะบานพร้อมกันทั้งช่อ หากออกเต็มต้นจะสวยงามมากพร้อมกับส่งกลิ่นหอมแรงตลอดวัน ดอกหอมหมื่นลี้สามารถนำมาทำเครื่องดื่มชา, ไวน์ และยารักษาโรค หรือแม้กระทั่งนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอม ซึ่งลำต้นของมันเป็นวัสดุชั้นยอดในการทำไม้แกะสลัก และเปลือกไม้ยังสามารถนำมาสกัดเป็นสีย้อมได้   ข้อมูลอ้างอิง : https://idofragrance.com
เผยแพร่เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 • การดู 43,087 ครั้ง
ส้มป่อยกับพิธีกรรมชำระสิ่งอัปมงคล
ส้มป่อยกับพิธีกรรมชำระสิ่งอัปมงคล
ส้มป่อย “ส้มป่อย” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Acacia concinna (Wild.) D.C. ในวงศ์ LEGUMINOSAE – MIMOSOIDEAE ชาวล้านนาใช้ฝักแห้งในพิธีกรรมชำระสิ่งอัปมงคล ในวรรณกรรมชาดกเรื่อง “พรหมจักร” กล่าวถึงเรื่องของส้มป่อย ตอนที่ควายทรพีต่อสู้กับควายทรพา ผู้เป็นพ่อนั้น ควายทรพีใช้เขาขวิดซุ้มเถาส้มป่อยที่เปียกอยู่ น้ำส้มป่อยได้ตกลงชะโลมตัวควายทรพีจนเปียกชุ่ม และเมื่อต่อสู้กัน ควายทรพาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกขวิดตายในที่สุด เรื่องนี้เป็นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอานุภาพของน้ำส้มป่อยในด้านวิธีปฏิบัติ จะใช้ฝักแห้งปิ้งไฟให้เกรียมจนมีกลิ่นหอม ซึ่งกล่าวกันว่าส้มป่อยที่ผ่านการปิ้งไฟจะมีอิทธิฤทธิ์เพิ่มขึ้น จากนั้นนำไปแช่ในน้ำสะอาดที่มีผงขมิ้นละลายเจืออยู่ เรียกน้ำนี้ว่า “น้ำขมิ้นส้มป่อย” ภายหลังไม่นิยมใช้ขมิ้น แต่นิยมเติมน้ำหอมและดอกแห้งของดอกไม้หอม เช่น ดอกคำฝอย ประยงค์ พยอมและสารภี เป็นต้น อนึ่ง ฝักส้มป่อยที่พึงประสงค์ ควรเป็นส้มป่อยที่เก็บในวันเพ็ญเดือนห้าเหนือ ไม่ขึ้นในป่าช้า ไม่ขึ้นบริเวณทางแยก และไม่เป็น “ส้มป่อยงำเงา” คือขึ้นริมน้ำและมีเงาพาดบนหิวน้ำ ที่สำคัญยิ่งควรเลือกฝักที่มีเจ็ดข้อและใช้จำนวนเจ็ดฝักจึ้งจะศักดิ์สิทธิ์นักแล
เผยแพร่เมื่อ 28 มกราคม 2564 • การดู 15,114 ครั้ง