30 มีนาคม 2565
3k
Share on
 

จ๊ะมั่ง (ชะมั่ง)

 

ชะมั่ง อ่านออกเสียงตามสำเนียงล้านนาว่า “จ๊ะมั่ง” หมายถึงเล็บมือนาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Combretum indicum (L.) Defilipps ชื่อสามัญ คือ Dranen Sailor, Rangoon Ceeper อยู่ในวงศ์ Combretaceae บางถิ่นเรียก จ๊ามั่ง จีมั่ง ก็มี      

คนไทยโบราณไม่นิยมปลูกชะมั่งไว้ในบริเวณบ้าน เพราะถือว่าเป็นไม้อัปมงคล ซึ่งเรื่องนี้ยังหาข้ออธิบายไม่ได้ แต่สำหรับชาวล้านนาแล้วถือว่าชะมั่ง เป็นไม้ “ข่ม” กระนั้นก็ยังนิยมปลูกไว้บริเวณซุ้มประตูหน้าบ้าน เพื่อข่มศัตรูที่มีอาคมกล้า กล่าวคือ หากผู้ใดมีอาคมแกร่งกล้า เมื่อได้ลอดผ่านประตูเข้าสู่บริเวณบ้าน อาคมจะอ่อนพลังโดยทันที การปลูกชะมั่งขึ้นเป็นซุ้มประตู จึงเป็นการป้องกันศัตรูอย่างหนึ่ง

มูลเหตุความเชื่อนี้ มีต้นตอมาจากเรื่องเล่าขานกล่าวถึงตำนานพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งเรื่องราวนี้มีปรากฎเป็นวรรณกรรม ประเภทมุขปาฐะเล่าสืบต่อกันมาว่า ขุนหลวงวิรังคะ เป็นหัวหน้าชนเผ่าลัวะที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ เมื่อทราบข่าวว่าพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น มีความงามเป็นเลิศ ขุนหลวงจึงประสงค์จะได้พระนางเป็นมเหสี เมื่อส่งทูตไป ขอพระนาง เพื่ออภิเษก พระนางก็บ่ายเบี่ยง บ่อยครั้งเข้าพระนางก็หาอุบายให้ขุนหลวงพุ่งหอกจากดอยสุเทพให้ไปตกที่กลางเมืองหริภุญชัย ในครั้งแรกนั้นขุนหลวงพุ่งหอกไปตกนอกเมือง พระนางเห็นเช่นนั้นก็เกรงว่าจะได้ตกเป็นชายาของขุนหลวง ซึ่งเป็นคนป่า จึงหาวิธี “ข่ม” ให้ขุนหลวงเสื่อมจากอิทธิฤทธิ์ อำนวจกฤตยาคม โดยกรรมวิธีต่างๆ และหนึ่งในกรรมวิธีนั้น พระนางเอาผ้าถุงที่เปื้อนประจำเดือนมาทำเป็นหมวก แล้วเอาดอกเล็บมือนางที่ผ่านการสัมผัสกับอวัยวะเพศคละเคล้ากับเลือดประจำเดือนเสียบแซมประดับ ให้ทูตนำไปให้ขุนหลวงสวม ผลที่ตามมาคือ ขุนหลวงไม่สามารถพุ่งหอกให้ไปตกกลางเมืองหริภุญชัยได้เพียงแค่พุ่งหอกไปตกไกลแค่เชิงดอยสุเทพเท่านั้น

อนึ่ง ชาวล้านนาเชื่อกันว่า ดอกชะมั่ง แต่เดิมมีดอกบริสุทธิ์ แต่พอถูกพระนางจามเทวีนำไปคลุกเคล้ากับประจำเดือน ตั้งแต่นั้นดอกชะมั่งจึงมีสีขาวสลับแดง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องดอกชะมั่งที่สามารถทำลายมนต์ขลังนั้น เป็นต้นเหตุให้อริยาจารย์นิคม ปลูกต้นชะมั่งไว้ในบริเวณวัด โดยมักปลูกขึ้นเป็นซุ้มให้ความร่มรื่นเหมาะสำหรับนั่งปฏิบัติธรรม ทั้งนี้คงเป็นกุศโลบายไม่ให้พระสงฆ์มีอิทธิฤทธิ์หรือกฤตยามนต์อันเป็นสิ่งขวางกั้นการบรรลุธรรมขั้นสูงก็อาจเป็นได้

 

ข้อมูลจากหนังสือชุดล้านนาคดี ดอกไม้ล้านนา : ศรัทธาและความหมาย

โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา