8 มีนาคม 2565
3k
Share on
 

ตัวมอม

 

มอม หรือ สิงห์มอม เป็นสัตว์หิมพานต์ รูปร่างลักษณะคล้ายแมว ลูกเสือหรือลูกสิงโต ปรากฏให้เห็นในรูปของยันต์ที่ชายชาวล้านนาโบราณนิยมสักช่วงล่างของร่างกายบริเวณขาที่เรียก สักขาลาย” “สักขาก้อมหรือไม่ก็ปรากฏเป็นลวดลาย หรือรูปปั้นตามซุ้มประตูของวัดต่างๆ และบางแห่งมีการแกะสลักตัวมอมไว้ตามฐานชุกชี ฐานพระเจดีย์เป็นต้น

บทบาทของมอม

ชาวล้านนาโบราณรวมทั้งชาวไทเผ่าอื่น ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันนิยมสักลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หรือตัวอักขระคาถาบนร่างกายส่วนต่างๆ โดยเชื่อกันว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน มีเมตตามหานิยม รอดพ้นจากภยันตราย ตลอดทั้งเขี้ยวพิษจากสัตว์ร้ายได้ นอกจากนี้ การสักลายยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชายทั้งในความหมายของความอดทนและความเป็นผผู้กล้าหาญในการศึกสงครามเป็นที่เกรงขามแก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้ในส่วนของร่างกายที่นิยมสักกันมากจะสักบริเวณบั้นเอวลงไปถึงขา ชายใดไม่มีลายสักบริเวณดังกล่าว ขาจะขาวเหมือนผู้หญิง ไม่เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงจะถือว่าชายนั้นไม่สามารถคุ้มครองภัยอันตรายหรือเป็นที่พึ่งพาได้ และที่สำคัญรูปสัตว์ที่นิยมได้แก่ รูปมอม หรือสิงห์มอม

ศิลปกรรมตามโบสถ์วิหารหรือศาสนาสถานในวัดมักมีรูปมอมปรากฎโดยทั่วไป อาจเป็นภาพเขียน รูปแกะสลักหรือรูปปั้น บางแห่งมีรูปเทวดายืนอยู่บนหลังมอม ซึ่งผู้รู้หลายท่านมีความเห็นตรงกันว่าเป็นเทวดาที่ชื่อ ปัชชุนนะซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน การที่มีรูปเทวดาองค์นี้ก็เพราะมีความเชื่อว่า บ้านเมืองจะอุดมสมบูรณ์ฝนไม่ขาดฟ้า และที่ยืนบนหลังมอม แสดงให้เห็นว่ามอมเป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าแห่งสายฝน ดังนั้นในเชิงปฏิบัติทางวัฒนธรรมตามความเชื่อจึงมีการนำมอมมาแห่ตามพิธีกรรม เพื่อขอให้ฝนตก

               ปีใดก็ตาม หากเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านจะนำรูปสลักมอมขึ้นใส่เสลี่ยง แล้วจัดขบวนแห่แหนไปรอบๆ หมู่บ้าน ในขบวนแห่จะมีการสาดน้ำ ตัวมอมให้ชุ่มตลอดเวลา ผู้ที่เข้าร่วมขบวนจะแสดงพฤติกรรมตลกคะนอง ผิดธรรมชาติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง นุ่งห่มเสื้อผ้ากลับหลัง บางคนถือรูปอวัยวะเพศ บางคนแต่งหน้าทาปากเป็นที่ตลกขบขัน ด้วยเชื่อว่าการกระทำดังล่าวจะทำให้เทวดาร้อนใจและบันดาลให้ฝนตกในที่สุด

                ปัจจุบันการแห่มอมหาดูได้ยาก อาจเป็นเพราะสังคมเกษตรอ่อนกำลังลง หรือเป็นผลมาจากมอมนั้นหายากก็เป็นได้ อย่างไรเสีย ยังมีวิธีที่คล้ายกัน คือการจับแมวมาแต่งหน้านุ่งผ้าใส่เสื้อ แล้วแห่แหนในลักษณาการเดียวกัน แต่วิธีนี้พบว่ามีปรากฎในกลุ่มคนไทถิ่นอื่นด้วย ที่รู้จักกันดีคือพิธีแห่งนางแมวขอฝน แต่ความมีมนต์ขลังดูจะสู้มอมไม่ได้ เพราะมอมเป็น สัตว์รับใช้ของปัชชุนเทวดา น่าจะสามารถนำความทุกข์ร้อนของมนุษย์ไปรายงานได้โดยตรง

 

หนังสือ ร้อยสาระ สรรพล้านนาคดี เล่ม โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา