ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
รั้วบ้านชาวล้านนาในอดีต
รั้วบ้านชาวล้านนาในอดีต
รั้วบ้าน รั้ว เป็นสิ่งที่ใช้กำหนดอาณาเขตสถานที่ ป้องกันไม่ให้คน หรือสัตว์เข้ามาในพื้นที่ ในอดีตชาวล้านนาได้ทำรั้วขึ้นโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ประเภทไม้ เช่น ไม้แดง ไม้แงะ ไม้สัก ฯลฯ และใช้ไม่ไผ่ประเภทต่าง ๆ รวมถึงใช้ต้นไม้จริงมาทำรั้ว เช่น ต้นข่อย ต้นมะขาม ต้นชาทอง เป็นต้น รั้วคร่าว ใช้ไม้จริงเป็นเสา ขุดหลุมฝังลงในดิน แล้วใช้ไม้ไผ่หรือไม้ท่อนเล็ก มามัดในแนวนอนติดเสา รั้วคร่าวใช้กั้นกำหนดเขตพื้นที่ แต่ไม่ถึงกับเป็นส่วนตัวสูงเพราะรั้วมีความโปร่ง รั้วถืม เป็นรั้วที่ใช้กาบไม้ไผ่ ใบตองตึง หรือถุงปูนบุเป็นแผง ใช้เป็นรั้วกั้นชั่วคราวตามงานหรือพิธีต่าง ๆ แผงถืมทำด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่ สานเป็นตาตารางห่าง นำใบหรือกาบไม้วางลงไปแล้วประกบแผงถืมสองแผ่นเข้าด้วยกัน แล้วนำไปกั้นรั้วโดยมัดติดกับเสาไม้ รั้วทั่งบ่อง ส่วนใหญ่ใช้กั้นป้องกันวัวหรือควายไม่ให้ออกไปจากที่ล้อม เป็นรั้วที่ใช้ไม้ไผ่รวกเป็นลำสอดเข้ากับรูเสาที่เจาะรูไว้ โดยเสาใช้ได้ทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้ไผ่ลำใหญ่ รั้วตากกล้า เป็นรั้วแบบชั่วคราวใช้กั้นกล้าข้าวที่กำลังเพาะเพื่อรอไปดำนา ใช้ไม้ไผ่ลำต้นไม่ใหญ่มากปักลงดิน สูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วมัดลำไม้ไผ่ในแนวขวางตามพื้นที่ที่ต้องการล้อมรั้ว รั้วตาแสง ทำมาจากซี่ไม้ไผ่สานขัดกันเป็นแผง แล้วนำไปยึดกับเสา ใช้ทั้งเป็นรั้วบ้านและรั้วล้อมพื้นที่ รั้วฮี้ จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันสัตว์เล็ก เช่น เป็น ไก่ ไม่ให้เขาไปรบกวนพืชที่ปลูกไว้ โดยใช้ต้นแขม หรือไม้เรียวแทนไม้ไผ่ รั้วสะลาบ ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าซี่ แช่น้ำให้เน่าเพื่อป้องกันแมลง ปลวก มอดกิน  แล้วนำมาสานขัดเป็นแถบทึบ รั้วชนิดนี้นิยมนำไปทำเป็นรั้วบ้าน เพราะมีความแข็งแรงคงทน และพรางตาได้ดี รั้วสี้(ซี่) เป็นรั้วที่ใช้แผ่นไม้จริงตีประกบในแนวตั้งกับโครงเคร่าของรั้ว นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นต้น รั้วชนิดนี้นิยมทำเป็นรั้วบ้านเพราะเป็นระเบียบสวยงามและคงทน รั้วต้นไม้ เกิดจากการปลูกต้นไม้ทรงพุ่มที่มีกิ่งก้านและใบหนาทึบเป็นแนวรั้ว แล้วมักเรียกชื่อรั้วแบบนี้ตามต้นไม้ที่ปลูก เช่น รั้วข่อย รั้วชา เป็นต้น ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 11 หน้า 5665-5669
เผยแพร่เมื่อ 30 มิถุนายน 2566 • การดู 920 ครั้ง
นาค กับ ลวง เหมือนหรือต่าง
นาค กับ ลวง เหมือนหรือต่าง
นาค กับ ลวง เหมือนหรือต่าง           ในวัด และอาคารศาสนาสถานมักใช้รูปลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาออกแบบเป็นส่วนโครงสร้าง และส่วนประดับตกแต่ง นอกจากจะเกี่ยวข้องกับส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังสอดคล้องกับความเชื่อที่ถูกถอดออกมาเป็นระบบสัญลักษณ์อีกด้วย โดยรูปสัตว์ พืช หรือวัตถุต่าง ๆ ที่ใช้มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดในของพุทธศาสนาในด้านของการมีตัวตนที่มีการระบุในคัมภีร์ทางศาสนา รวมถึงความหมายอันเป็นมงคล เช่น ดอกบัว ต้นโพธิ์ เทวดา หงส์ นาค ฯลฯ           “นาค” ในบริบทของความเชื่อดั้งเดิมในอุษาคเนย์เป็นสัตว์ที่เชื่อมสวรรค์กับโลก และบันดาลให้เกิดฝน ในความหมายของคนโบราณนาคจึงถูกยกให้เป็นเทพที่นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลกด้วยการให้น้ำให้ฝน ส่วนในบริบททางพุทธศาสนา  เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ จอมปลวก ป่าไม้ ต้นไม้ ภูเขา และยังอาศัยในเมืองบาดาลที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุด้วย  ในทางพุทธศาสนานาคถูกนำไปโยงเข้ากับผู้ปกป้อง และผู้ทำนุบำรุงศาสนา เพราะเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวถึงในชาดก พระไตรปิฎก ในวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก เช่น ในพุทธประวัติที่กล่าวถึงนาคมุจลินท์ ได้แผ่พังพานกำบังพายุลมฝนให้พระพุทธเจ้าในขณะเสวยวิมุติสุขใต้ต้นมุจลินท์ จึงกลายมาเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และภูริทัตตชาดกที่กล่าวถึงครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นนาคภูริทัตตบำเพ็ญศีลบารมีอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมให้หมองูจับไปทรมานโดยไม่ตอบโต้ เพราะมีใจตั้งมั่นต่อศีลของตน ซึ่งจะเห็นภาพวาดบนฝาผนังในวัด เป็นต้น เรื่องราวที่ปรากฏขึ้นนั้นได้จึงมีการนำนาคมาสร้างเป็นงานพุทธศิลป์ และงานศิลปกรรมตกแต่งอาคารศาสนาสถาน           รูปทรงของนาค เป็นงูใหญ่ที่มีหงอน ลำตัวยาวมีเกล็ดเหมือนงู ในการนำมาออกแบบงานพุทธศิลป์และงานตกแต่งอาคารจึงใช้นาคกับพื้นที่ที่เป็นเส้นยาว เช่น บันไดนาค ป้านลม หรือบางครั้งก็นำนาคหลายตัวมาเกี้ยวพันกัน เรียกว่า “ลายนาคเกี้ยว” พบลวดลายนี้ตามซุ้มประตูโขง ซุ้มปราสาท เพดาน เป็นต้น           “ลวง” เป็นสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนกับมังกรจีน(เล้ง หรือหลงในภาษาจีน)  เป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดเมฆและฝน มีความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ มีลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือมีเขาเหมือนกวาง หูเหมือนวัว ปีกคล้ายนก ตัวยาวเหมือนนาค ตามลำตัวมีเกล็ด มี 4 ขาและกงเล็บที่แข็งแรง คนจีนเชื่อว่ามังกรเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณความดี สัญลักษณ์แทนความโชคดีสูงสุด และเป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง ในอดีตจักรพรรดิจีนใช้รูปมังกรมาเป็นตัวแทนตราประทับ และนำมาประดับเครื่องใช้เครื่องนุ่งห่ม สื่อถึงการเป็นผู้ที่กำเนิดมาจากมังกร หรือสวรรค์                         ในด้านของความเชื่อ นาค และ ลวง ต่างก็ให้ความหมายสื่อถึงการให้น้ำให้ฝน จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการหล่อเลี้ยงชีวิต พืชพรรณธัญญาหาร  ส่วนด้านศิลปกรรมในล้านนามีทั้งการใช้ลายนาค และลายลวงประดับตกแต่งอาคารศาสนสถาน ซึ่งมักพบว่าบันไดนาคมีทั้งนาค และลวง โดยสังเกตจากลักษณะของเขา ปีก และกงเล็บของลวง ต่างจากนาคที่ไม่มี ทั้งนี้ในกลุ่มศิลปกรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อนิยมใช้ลวดลายลวงมาก อาจเนื่องจากการรับเอาวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่กลุ่มชาวไทลื้อที่อยู่ในสิบสองปันนา หลังจากที่มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจึงถ่ายทอดมาถึงกลุ่มไทลื้อเมือง  อื่น ๆ นอกจากนี้ ล้านนายังรับเอาลายดอกโบตั๋น และลายเมฆมาจากจีนจากการติดต่อค้าขายด้วย โดยพบหลักฐานในภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ซึ่งมีอายุประมาณ 500 ปี   ฐาปนีย์ เครือระยา ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ บรรณานุกรม จิตกร เอมพันธ์. (2545). พญานาค เจ้าแห่งแม่น้ำโขง : พิธีกรรมกับระบบความเชื่อพื้นบ้านแห่งวัฒนธรรม อีสาน . กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภันธกานต์ กิ้มทอง. (2544). พญานาคกับพระอริยสงฆ์ไทย 3. กรุงเทพฯ : บริษัท ทริปเปิ้ลโค้ตติ้ง จํากัด. อำพล สัมมาวุฒธิ. (2565). เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “นาคในวัฒนธรรมไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. อรพิมพ์ บุญอาภา. (2524). คัมภีร์ปุรณะกําเนิดพญานาค. กรุงเทพมหานคร: แสงศิลป์การพิมพ์.  เออ ซูจิง, เออ ตู่อี้, เออ อิ๊งซุย. (2537). รูปแบบสิริมงคงจากสวรรค์ของประเทศจีน.(พิมพ์ครั้งที่ 2). (แปลจาก เครื่องรางของขลัง โดย เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด.
เผยแพร่เมื่อ 13 มิถุนายน 2566 • การดู 3,299 ครั้ง
ประเพณีเลี้ยงดง (บวงสรวงปู่เเสะ ย่าเเสะ)
ประเพณีเลี้ยงดง (บวงสรวงปู่เเสะ ย่าเเสะ)
ประเพณีเลี้ยงดง บวงสรวง “ปู่แสะ ย่าแสะ” ประเพณีเลี้ยงดง หมายถึงเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีใบป่า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีหลายช่วงอายุคน คำว่า“ดง” เป็นภาษาพื้นเมืองไทยภาคเหนือ หมายถึง ป่าไม้หรือป่าดงดิบ ซึ่งป่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อมในป่า ได้สร้างทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น พืชพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ และรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ตลอดจนเป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ให้น้ำอุปโภค บริโภค พืชพันธุ์อาหาร และยารักษาโรค ผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำกล่าวกันว่าทั้งคู่เป็นยักษ์สามีภรรยา อาศัยอยู่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณนั้น ปู่แสะ-ย่าแสะและบุตรได้พยายามจะจับพระพุทธเจ้ากิน แต่ก็ถูกพระพุทธองค์ทรมานจนยอมแพ้และให้ถือศีล ปู่แสะ-ย่าแสะ พยายามขออนุญาตกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งพระพุทธองค์มิได้ทรงยอมทำตาม แม้จะขอกินเลือดมนุษย์เพียงหนึ่งหยดก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จนท้ายสุดปู่แสะ-ย่าแสะก็ขอกินควายเขาฅำ(ควายที่มีลักษณะเขายาวไม่เกินใบหู) ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สั่งให้ทั้งสองไปขอกับเจ้าเมืองเอาเอง ส่วนบุตรของปู่แสะ-ย่าแสะมีความประทับใจในคำสอนของพระพุทธองค์จึงขอบวช แต่พระพุทธเจ้ามิได้อนุญาต และทรงให้บวชเป็นฤๅษีเท่านั้น เมื่อบวชแล้วมีชื่อว่าสุเทวฤๅษีหรือวาสุเทวฤๅษี อันเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพ บางทฤษฎีก็แสดงความคิดเห็นว่าปู่แสะ-ย่าแสะเป็นผีของลัวะที่กลายมาเป็นผีประจำเมืองเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลบริเวณภายนอกเมือง โดยพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นประเพณีประจำทุกปีในเดือน ๙ เหนือคือประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลี้ยงผีเมือง เลี้ยงอารักษ์เมืองเชียงใหม่ และทำบุญเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ในช่วงปลายเดือน 8 เหนือจนถึงต้นเดือน 9 เหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน) ในอดีตการเลี้ยงควายมี 2 แห่ง แยกกันคือ ปู่แสะอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ(ดอยเหนือ) ติดกับลำห้วยฝายหิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย่าแสะบริเวณดอยคำ ริมน้ำแม่เหียะ(ดอยใต้) แต่ละแห่งเลี้ยงที่ละ 1 ตัว ภายหลังรวมมาเป็นเลี้ยงที่เดียวคือที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่  ป่าไม้บริเวณดังกล่าว เป็นป่าต้นน้ำของลำห้วยแม่เหียะ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนในตำบลแม่เหียะ ตำบลสันผักหวาน ตำบลป่าแดด ป่าต้นน้ำในนี้ได้สร้างความสมดุลให้กับชาวเชียงใหม่หลายร้อยปีมาแล้ว รูปแบบพิธีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะปัจจุบันใช้ควาย 1 ตัว เชือดบริเวณนั้น แล้วแล่เนื้อเป็นชิ้น ๆ กองไว้ หลังจากที่ผีปู่แสะย่าแสะลงร่างทรงแล้วก็จะมารับเครื่องเซ่นสังเวย และกินเลือด กินเนื้อควายดิบ เมื่อกินจนพอแล้วผีปู่แสะย่าแสะก็กราบไหว้ภาพพระบฏ แล้วออกร่างทรงไป ในเหตุการณ์นี้มีการสันนิษฐานไว้ว่าอาจไปเชื่อมโยงกับสังคมลัวะบรรพกาลที่นับถือธรรมชาติ เซ่นสังเวยสัตว์ให้กับผีหรือเทพของตนเอง จนได้นับถือพุทธศาสนาถึงยกระดับสังคมขึ้น จึงเลิกการฆ่าสัตว์และปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ดังเช่นผีปู่แสะย่าแสะหยุดกินเนื้อควายดิบเมื่อเห็นภาพพระบฎ ส่วนเนื้อควายที่เหลือจากการเซ่นสังเวยก็จะแบ่งปันไปยังหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงที่มีส่วนร่วมในพิธีกรรมนี้ ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ , เทศกาลเมืองแม่เหียะ และสภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ, อาสา คำภา.ปู่แสะย่าแสะกับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่เมื่อ 2 มิถุนายน 2566 • การดู 3,754 ครั้ง
พิธีส่งสการ
พิธีส่งสการ
พิธีส่งสการ(อ่าน ส่งสะก๋าน) ส่งสการ มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํสการ” เป็นพิธีการปลงศพของชาวล้านนา โดยในขบวนพิธีส่งสการที่เดินทางไปยังป่าเฮ่ว(ฌาปนสถาน) ซึ่งในอดีตการเผาศพชาวล้านนา จะลากจูงปราสาทศพจากบ้านไปยังฌาปนสถานเพื่อประกอบพิธีเผากลางแจ้ง ประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ ดังนี้ ตุงสามหาง เป็นธงสัญลักษณ์รูปศพ คล้ายคลึงกับร่างกายมนุษย์ที่มีชายตุง 3 หาง สื่อถึงไตรวัฏ หรือ ไตรลักษณ์ เป็นของสิ่งแรกที่อยู่หน้าขบวน ถงข้าวด่วน คือถุงย่ามที่บรรจุอาหารที่พร้อมสำหรับบริโภค จำพวกข้าวปลาอาหาร ผลไม้ เมี่ยง พร้อมให้ผู้ตายได้นำไปเป็นเสบียงใช้ในปรโลก และให้ผู้ที่ถือตุงสามหางเป็นผู้สะพายถุงย่ามไปด้วย หม้อไฟ เป็นหม้อดินเผาใส่เชื้อไฟนำไปป่าช้า อยู่ถัดจากตุงสามหาง พระสงฆ์บนเสลี่ยง มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์นั่งบนเสลี่ยงคนหาม อ่านคัมภีร์อภิธรรม ซึ่งอาจเป็นพระอภิธัมมัตถสังคหะ บ้างก็เรียกอภิธัมม์ 7 ปังสุกุลจีวร(บังสุกุลจีวร) เสลี่ยงเครื่องบูชาศพ ประกอบด้วยตุงเหล็กตุงตอง ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง นอกจากนั้นก็มีมะพร้าว และบาตร สามเณรบวชจูงศพ สามเณรนี้มักเป็นญาติผู้ตายที่บวชชั่วคราวในพิธีศพโดยเฉพาะ และช่วยกันลากจูงศพไปยังสุสาน ปราสาทศพ ขนาดของปราสาท และการตกแต่งประดับประดา ขึ้นอยู่ตามกำลังทรัพย์ของครอบครัว และฐานะของผู้ตาย ในอดีตการใช้ปราสาทศพมักทำตามลำดับชั้นในสังคม ซึ่งปราสาทที่มีลำดับชั้นสูงสุดคือ ปราสาทหลังก๋าย เป็นปราสาทที่มีเรือนยอดสูง สำหรับกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ซึ่งบางครั้งอาจทำอยู่บนหลังกูบ หมายถึงการเทินปราสาทบนหลังสัตว์หิมพานต์ จึงมักเห็นปราสาทนกหัสดิลิงค์ ใช้กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ รองลงมาคือปราสาทหลังเปียง หรือปราสาทแบบปากบาล ใช้กับขุนนาง คหบดี หรือผู้มีฐานะ ส่วนคนธรรมดามักใช้ “แมว” เป็นโครงไม้ไผ่สานแล้วติดกระดาษโดยรอบ เพื่อครอบปกปิดศพ บางครั้งก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แล้วยกเสาขึ้น 4 หรือ 6 เสา ดนตรีพื้นเมือง เป็นวงดนตรีที่ใช้แห่ในขบวน โดยมักบรรเลงเพลงโศกเศร้า เช่น เพลงปราสาทไหว ผู้นำศพ เป็นญาติ และครอบครัวของผู้ตาย ช่วยลากจูงศพมายังฌาปนสถาน รวมถึงมีการโปรยทานให้ตามทางเดิน บอกไฟ(บ้องไฟ) คือดอกไม้ไฟที่ใช้จุดในขณะเผาศพ นิยมใช้บอกไฟหล่อ บอกไฟเทียน ปอกไฟจักจ่า(จักจั่น) บอกไฟดาว และบอกไฟช้างร้อง เป็นต้น ภาพถ่าย : ชุติมา พรหมาวัฒน์ , วาสนา มาวงศ์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 13  
เผยแพร่เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566 • การดู 4,636 ครั้ง
ประเพณีทานข้าวใหม่ – ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ประเพณีทานข้าวใหม่ – ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ประเพณีทานข้าวใหม่ – ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า ในช่วงปลายเหมันตฤดู เดือนสี่เหนือ ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ชาวล้านนามีประเพณีสำคัญประจำเดือน ในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือน นั่นคือประเพณี “ทานข้าวใหม่-หิงไฟพระเจ้า”   หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ชาวนาต่างนึกถึงคุณของ “ผีปู่ผีย่า ผีฟ้าผีน้ำ ผีค้ำดินดำ” อันได้แก่ ผีบรรพบุรุษผู้บุกเบิกเนื้อไร่แดนนา ผีบนฟ้าที่ประทานสายฝน มีขุนน้ำประชำชลธารไหล ได้หล่อเลี้ยงข้าวกล้าเติบโตงาม ผีดินผู้ค่ำหนุนมีคุณด้วยประทานเนื้อดินอันอุดม ให้สมบูรณ์พูนผลสำเร็จเป็นเมล็ดข้าว จึงได้พากันจัดแบ่งข้าวเปลือกข้าวสารใส่กระทงพร้อมข้าวสุก อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมวกพลูบุหรี่ ใส่กระบะบัตรพลี แล้วประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชา           ต่อมาชาวล้านนาได้รับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลักการบูชาคุณจึงนิยมทำบุญอุทิศตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของพืชผลธัญญาจึงถูกไว้ไหว้สาบูชาพระรัตนตรัยด้วย ภายหลังพลังศรัทธาพระศาสนาเข้มข้นขึ้นจึงจัดถวายพระรัตนตรัยเป็นหลักใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้ทิ้งคติเดิม กล่าวคือยังมีการทำบุญผ่านการ “ทานขันข้าว” คือถวายสำรับอาหารอันมีข้าวใหม่เป็นหลัก อุทิศให้เจ้าแดนแผ่นนา เทวดาพระนางธรณี เจ้าที่เจ้าแดนเจ้าแห่งเช้าหน ตลอดจนญาติมิตรผู้ล่วงลับถ้วนหน้า กล่าวถึงเฉพาะการทำบุญใหญ่ เรียกทั่วไปว่า “ทานข้าวใหม่” แต่ก็มีหลายท้องที่เรียกชื่อต่างกันไปได้แก่ ทานข้าวหล่อบาตร ทานข้าวล้นบาตร และทานดอยข้าว ซึ่งแต่ละชื่อเกิดจากอาการที่เห็นคือ เริ่มต้นทางวัดจะจัดภาชนะรองรับส่วนใหญ่เป็นบาตร ชาวบ้านที่นำเมล็ดข้าวไปทำบุญจะ “หล่อ” คือเทเมล็ดข้าวลงในบาตร เมื่อเห็นอาการเช่นนี้จนชินตาจึงเรียก “ทานข้าวหล่อบาตร” และเมื่อข้าวเต็มบาตรก็เทข้าวออกกองไว้แล้วหงายบาตรขึ้นรับใหม่ จนข้าวเต็มและล้นออกจึงเรียก “ทานข้าวล้นบาตร” สุดท้ายหลายบาตรเข้า กองเมล็ดข้าวก็ใหญ่โตเหมือนภูเขา จึงเรียก “ทานดอยข้าว” ซึ่งกองที่เป็นข้าวสารมองเห็นเป็นสีขาว เรียก “ดอยเงิน” ส่วนกองข้าวเปลือกเห็นเป็นสีเหลืองเรียก “ดอยคำ” ลักษณะการทำบุญนอกจากจะทำบุญด้วยผลิตผลซึ่งเป็นเมล็ดข้าวล้วนๆแล้ว ยังมีการแปรสภาพข้าวถวายเช่น นำข้าวไปนึ่งสุกแล้วปั้นปิ้งไฟเป็นข้าวจี่ หรือใส่กระบอกไม้เผาไฟให้สุกเป็นข้าวหลามไปถวายพระ จึงมีคำเรียกติดปากอีกชื่อว่า “ทานข้าวจี่ข้าวหลาม” ส่วนการทานข้าว จะนึ่งข้าวใหม่ถวายพร้อมอาหารปรุงรสพิเศษและพืชผลตามฤดูกาลอาทิ ถั่ว งา หัวมัน เป็นต้น           หนึ่งในวันเดียวกัน มีประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่ง เรียกว่าประเพณี “ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า” จะมีการจัดเตรียม “หลัว” คือฟืนสำหรับเผาถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีจุดมุ่งหมายให้ “พระเจ้า” หมายถึงพระพุทธเจ้าได้ “หิง” คือผิงให้เกิดไออุ่น ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากความรู้สึกของคนที่คิดว่าในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น พระพุทธเจ้าก็คงจะหนาวเช่นกัน จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้น สำหรับฟืนที่ใช้มักเป็นไม้ที่มีเนื้อสีขาว เช่น ไม้คนทา ไม้ตะคร้อ ไม้มะขาม เป็นต้น ฟืนที่หาได้จะถูกตัดให้ยาวประมาณ 1 วาของเจ้าภาพแล้วมัดรวมกันให้ได้ 80 ท่อน เท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้าคือ 80 พรรษา นอกจากนี้ อาจมีท่อนไม้ไผ่สดใส่เข้าไปในกองไฟ เพื่อให้เกิดระเบิดเสียงดังตูมตาม และพิธีกรรมนี้จะมีขึ้นในเช้ามืดของวันนั้น           ประเพณีทานข้าวใหม่ก็ดี ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าก็ดี เป็นประเพณีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในสังคมเกษตร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในอดีต ปัจจุบันแม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เพราะหากมองดูแก่นแท้แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นประเพณีที่ส่งเสริมคุณธรรมชั้นสูงอันได้แก่ “กตัญญูกตเวทิตาธรรม” น้อมนำจิตใจให้อ่อนโยน เคารพและเทิดทูนคุณค่าของบุพพการีชน จึงถือเป็นสิ่งจรรโลงศีลธรรม อันจะนำผลให้คนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ข้อมูลจาก อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา
เผยแพร่เมื่อ 6 มกราคม 2566 • การดู 1,928 ครั้ง
ผีในความเชื่อชาวล้านนา
ผีในความเชื่อชาวล้านนา
"ผี" ในความเชื่อล้านนา . ผี ใกล้ชิดกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนล้านนา ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายเรื่องมีวิธีปฏิบัติในอันที่จะสื่อสารระหว่างคนกับผีเพื่อหาข้อตกลง ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขผ่านพิธีกรรมความเชื่อที่ยึดถือกันมา โดยจะมีผีที่เเตกต่างกันออกไป ดังนี้ 1. ผีพราย ผีพราย ผีหรือวิญญาณที่ชอบแฝงเร้นสิงสู่ในร่างคนประเภทหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นผีในสายตระกูลของผู้ที่ถูกสิง ผีนั้นไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จึงมาอาศัยร่างของลูกหลานหากิน การเข้าสิงมีวัตถุประสงค์เพื่ออาศัยหากินของสดของคาว ขณะเดียวกันก็เกาะกินเลือดเนื้อและอวัยวะของผู้ถูกสิง ทำให้ผู้ถูกสิงมีอาการผอม อ่อนเพลีย สีผิวซีดเซียว แต่ถ้าปลอดคนจะมีแววตาแจ่มใส กระฉับกระเฉง และลุกจากที่นอนไปกินของสดในครัว หากหาของคาวไม่ได้จะควักกินปลาร้า กะปิ เศษกระดูก อีกประเภทหนึ่งหมายถึงวิญญาณของหญิงที่ตายเนื่องจากการคลอดลูก เชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายมีความรัก และผูกพันต่อลูกและผัวเป็นอย่างยิ่ง จึงเฝ้าเวียนพยายามหาทางเอาลูกและผัวไปอยู่กับตนในเมืองผี 2. ผีโพรง ผีโพรง เป็นผีชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่กับคน ชอบกินของคาว โดยเฉพาะของคาวที่เป็นเมือกจากตัวเขียด จึงออกหากินตามทุ่งนาในยามค่ำคืน เวลาออกหากินจะมีแสงไฟออกจากจมูกเป็นแสงสีขาวปนเขียววูบวาบสำหรับส่องสว่างหาเหยื่อ คนที่ถูกผีโพรงแฝงอยู่ บ้างว่าสืบทอดมาจากตระกูลของบรรพบุรุษ บ้างว่าเป็นเพราะรับของจากผีโพรง และบ้างก็ว่าเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อน 3. ผีสือ ผีสือ เป็นผีชนิดหนึ่งที่มักเข้าสิงคนแล้วออกหากินในยามวิกาล คนที่ถูกผีสือสิงบางแห่งว่าเป็นเพศชาย บางแห่งว่าเป็นเพศหญิง พฤติกรรมที่ชอบทำคือ สูดดม เลีย กินหรือลูบคลำ สัมผัสโสโครก 4. ผีม้าบ้อง ผีม้าบ้อง รูปร่างเป็นม้า ชอบออกหากินเวลากลางคืน โดยออกขโมยกินไข่ไก่ ไข่เป็ดของชาวบ้าน บางทีก็ซากสัตว์ตามทุ่งนา เวลาหากินบางครั้งแปลงกายเป็นม้าขาว ม้าดำบ้าง ใครก็ตามที่พบเห็นผีม้าบ้องจะถูกไล่ทำร้าย คืนไหนได้ยินเสียงม้าร้อง ม้าวิ่ง คนโบราณจะไม่ลงจากเรือนไปไหน ความจริงแล้ว ผีม้าบ้องเป็นคนธรรมดานี่เอง แต่ถูกวิญญาณม้าเข้าสิงในเวลากลางคืน โดยปกติคนที่ถูกสิงก็มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป เมื่อออกหากินกลางคืนแปลงเป็นม้า ใกล้สว่างก็กลายร่างเป็นคนกลับไปนอนที่บ้าน และเชื่อว่าหากกลับบันไดบ้านจากด้านบนเป็นด้านล่าง คนที่เป็นผีม้าบ้องจะขึ้นบ้านไม่ได้และจะต้องตายเมื่อฟ้าสาง 5. ผีสองนาง ผีสองนาง เป็นอมนุษย์หรือรุกขเทวดา หรือนางไม้ มีวิมานทิพย์สำหรับสถิตบนต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นไม่ที่มีลักษณะแตกกิ่งออกเป็นสองลำต้นใหญ่ หากมีชายหนุ่มรูปงามเดินผ่านบริเวณที่นางสถิตและเป็นที่พึงพอใจ ก็จะปรากฏกายให้ชายเห็น โดยเฉพาะในคืนวันขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ เมื่อผีสองนางปรากฏกายจะสะกดให้ชายลุ่มหลง ชายใดขาดสติร่วมเสพสมจะนั่งเพ้อคลั่งอยู่บริเวณโคนต้นไม้นั้น รอวันที่จะมีคนมาพบและพากลับบ้าน หากไม่มีใครพบชายโชคร้ายนั้นจะสิ้นใจตายด้วยผ่ายผอมและอ่อนเพลียในที่สุด 6. ผีปกกะโหล้ง ผีปกกะโหล้ง มักปรากฏตัวเป็นชายแก่มีผมและหนวดเครายาวรุงรัง หากเด็กคนใดแอบหนีไปเที่ยวโดยปราศจากผู้ใหญ่ไปด้วย ผีปกกะโหล้งจะปรากฏตัวพร้อมบังคับให้หาเห็บเหาในหนวดเคราและเส้นผม เห็บเหาที่หาได้แท้จริงเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะขาบ แมงป่อง งู หนอน เป็นต้น หากเด็กคนใดกล้าหาญเข้าไปหาเห็บเหาจนมันพอใจ มันจะให้เข็มทองเล่มหนึ่ง แต่หากเด็กคนไหนขี้ขลาด แสดงอาการกลัวและวิ่งหนีมันจะจับฉีกขาแล้วล้วงกินตับไตจนหมด 7. ผีตาวอด ผีตาวอด บางท้องถิ่นว่า "ผีบ้าตาวอด" คือคนที่ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นครึ่งคนครึ่งผี หรืออมนุษย์จำพวกยักษ์ ตาของมันอาจเห็นว่าตาบอด แต่สามารถมองเห็นได้ดี จะมีถุงหรือย่ามเท่ากระสอบข้าวประจำกายอยู่เสมอ 8. ผีปู่ดำย่าดำ ผีปู่ดำย่าดำ เป็นผีประจำอุปกรณ์ในการนึ่งข้าวเหนียว ได้แก่หม้อนึ่ง และไหข้าวในครัวเรือนของแต่ละครอบครัว โดยทั่วไปผีปู่ดำย่าดำนี้ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นผีที่คอยดูแลทรัพย์สินในบ้านและคุ้มครองคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังสามารถพยากรณ์เรื่องราวบางประเภทที่มนุษย์ต้องการทราบอีกด้วย ดังนั้นยามที่คนในครอบครัวจะออกเดินทางออกนอกบ้านไปต่างถิ่นหรือแดนไกล มักบอกกล่าวแก่ผีปู่ดำย่าดำ ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ โดยเฉพาะเด็กอ่อนนั้น เมื่อกล่าวขอความคุ้มครองแล้ว มักเอาดินเขม่าหม้อนึ่งป้ายที่หน้าผากเด็กด้วย ประหนึ่งว่าเด็กคนนี้มีผู้คุ้มครอง ผีอื่นอย่าได้มารังควาน ส่วนในด้านการพยากรณ์จะมีพิธีเชิญผีมาลงเพื่อตอบคำถามเรื่องราวต่างๆ เช่นพิธี “ไกวข้าว” พิธี “ลงผีหม้อนึ่ง” 9. ผีปู่แถน ย่าแถน ผีปู่แถน ย่าแถน เป็นผีที่สถิตอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นฟ้า เป็นที่รวมของวิญญาณของผู้ที่จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์ โดยชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์เมื่อตายจากโลกนี้แล้วจะไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรหม เทวดา ภูตผีปีศาจชาตินรก สัตว์เดรัจฉาน หรือกลับมาเป็นมนุษย์ เมื่อตายจากภพภูมินั้นๆ ดวงวิญญาณจะรวมกันอยู่ที่เมืองแถน อันมีผีปู่แถน ย่าแถน ซึ่งเป็นมหาเทพสูงสุดดูแลอยู่ ดวงวิญญาณดวงใดถึงกำหนดได้ลงเวลามาเกิดเป็นมนุษย์ จะไปสิงสถิตอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายผีปู่แถน ย่าแถนก่อน เมื่อถึงเวลาลงมาเกิดผีปู่แถน ย่าแถนจะส่งดวงวิญญาณที่อยู่ตามร่างกาย ซึ่งบางดวงถูกส่งจากหัว บางดวงจากปาก หรือบางดวงจากเท้า แต่ก่อนที่จะส่ง ปู่แถน ย่าแถน จะสั่งกำชับว่าหากผู้ใดได้ไปเกิดแล้ว “ลืมพ่อเก๊าแม่เดิม” หมายถึงไม่นึกถึงปู่แถน ย่าแถน ไม่ยอมส่งเครื่องเซ่นสังเวย ผู้นั้นจะได้รับผลร้ายนานาต่างๆ หนักเข้าจะเอาชีวิตในที่สุด และหากผู้ใดรำลึกส่งเครื่องเซ่นสังเวยให้ผีปู่แถน ย่าแถน ก็จะบันดาลให้อยู่ดีมีสุข อายุมั่นยืนยาว ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ควรหาโอกาสประกอบพิธี “ส่งแถน” อันเป็นพิธีบูชาสังเวยผีปู่แถนย่าแถน เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างเป็นสุข 10. ผีพ่อเกิดแม่เกิด ผีพ่อเกิดแม่เกิด เป็นผีซึ่งเคยเป็นพ่อแม่ ครั้งเมื่ออยู่เมืองผี ชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก่อนจะมาเกิดในโลกมนุษย์นั้น ต่างเคยอยู่เมืองผี และมีพ่อแม่อยู่เมืองผีมาก่อน เมื่อตายจากเมืองผีมาเกิดในเมืองคน พ่อแม่ที่อยู่เมืองผียังมีความผูกพันอาลัยรัก จึงตามมาราวีเบียดเบียนทำร้าย โดยเฉพาะเด็กช่วงปฐมวัยอายุไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้เด็กตายจากสภาพเป็นคน กลับไปเป็นลูกของตนในเมืองผีอีก ดังนั้นเมื่อเด็กเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาไม่หาย จึงต้องมีการเจรจาต่อรองพร้อมใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกับผี โดยผ่านพิธี “ส่งพ่อเกิด แม่เกิด” 11. วานเกิด วานเกิด คำว่า “วาน” หมายถึงญาติ “วานเกิด” คือญาติในปรภพ เมื่อเด็กเกิดการเจ็บป่วยก็เชื่อกันว่าถูกวาน หรือญาติเก่าในชาติก่อนเบียดเบียน จึงมีการเซ่นสังเวยที่เรียก “ส่งวานเกิด” ส่งวานเกิด เป็นพิธีกรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับพิธีส่งพ่อเกิดแม่เกิด กล่าวคือมีวัตถุประสงค์เพื่อไถ่เอาชีวิตเด็กที่เจ็บป่วยและเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี แต่ในส่วนของรายละเอียดการส่งพ่อเกิดแม่เกิดจะระบุชื่อแม่เกิด พร้อมกำหนดทิศทางและเวลาในการส่งเครื่องบัตรพลีตลอดจนเครื่องในพิธีไม่ค่อยซับซ้อน ส่วนการส่งวานเกิดไม่ได้ระบุชื่อผี ไม่กำหนดเวลาในการส่ง แต่เครื่องประกอบพิธีค่อนข้างซับซ้อน โวหารในการเจรจาต่อรองชีวิตเด็กดูหนักแน่น เต็มไปด้วยเหตุผลที่น่าฟัง 12. ผีไร่นา ผีไร่นา ชาวไร่ชาวนาโบราณ เชื่อกันว่าถ้าพืชพรรณในไร่นาถูกศัตรูพืช อาทิ นก หนู บุ้ง แมลงและเพลี้ย เป็นต้น เข้ารบกวนทำลาย ให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นเพราะการกระทำของผีอันเป็นบริวารของเทวาธิราช อันมีพระอินทร์เป็นประธาน ผีดังกล่าวมีชื่อขึ้นต้นด้วย “อ้าย” มีทั้งหมด 10 ตน ผีเหล่านี้อาจถูกหัวหน้าผีใช้ให้มาดูแลตรวจตราดูความสงบเรียบร้อยในโลกมนุษย์ แต่เมื่อถึงโลกมนุษย์แล้ว ผีอาจคึกคะนอง หรือมีพฤติกรรมเป็นผีพาล เพราะขาดหัวหน้าคุมประพฤติ เที่ยวกลั่นแกล้งคนให้ได้รับความเดือดร้อน อย่างเช่น การแปลงกายเป็นนก หนู หมู่หนอน และแมลงลงจิกกัดทำลายพืชผลข้าวกล้าในนา เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำให้พืชพรรณเสียหาย ชาวล้านนาจะประกอบพิธี เซ่นผีที่ลงมาทำลาย เรียกชื่อพิธีว่า “ส่งผีไร่นา” “ส่งฮ่าลงนา” หรือ “ส่งบ้งส่งเพรี้ยง”  13. ผีอ้ายม่วง ผีอ้ายม่วง เป็นผีที่อยู่ประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งมีชื่อปรากฏตามทิศต่างๆ เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวล้านนาเชื่ออย่างหนึ่งว่ามีสาเหตุจากการกระทำของผีดังกล่าว หากต้องการให้หายจากโรคภัยควรจัดให้มีพิธี “ส่ง” คือเซ่นสังเวยบูชาเรียกว่า “ส่งเคราะห์อ้ายม่วง” สาเหตุที่เรียกดังนี้เพราะผีอ้ายม่วงเป็นผีที่ถูกกล่าวผีตนแรก ดังปรากฏในตำราโบราณของ พ่อน้อยมูล นวลตา บ้านย่าพาย ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “ลูกอ่อนก็ดี ฅนแก่ก็ดีคันเป็นพยาธิ์หื้อส่งเคราะห์อ้ายม่วงเสีย แม่นหล้างเป็นหนักก็หน้อย แม่นเป็นหน้อยก็จักหาย แม่นหล้างตายก็บ่ตาย เท่าเว้นไว้แต่กัมม์สิ่งเดียว พระเจ้าก็บ่ห้ามได้แล” ความว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามหากโรคภัยเบียดเบียน ให้ประกอบพิธีส่งเคราะห์อ้ายม่วงเสีย จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา เมื่อทุเลาแล้วจะหาย แม้อาการหนักปางตาย ก็อาจรอดชีวิต เว้นไว้แต่เป็นเพราะผลแห่งกรรมเท่านั้น ซึ่งแม้นแต่พระผู้เป็นเจ้าก็มิอาจห้ามความเจ็บและความตายได้  14. ผีเข็ญหลวง ผีเข็ญหลวง ชาวล้านนา มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าช่วงใดที่ประสบกับความลำบากยากเข็ญ มีแต่ความสูญเสียหรือเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายรักษาไม่หาย อาจเป็นเพราะถูกผีประจำทิศทั้งสี่บันดาลให้เป็นไป ซึ่งผีดังกล่าว มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “อ้าย” ผีทั้งสี่นี้เรียกกันทั่วไปว่า “ผีเข็ญ” หรือ “ผีเข็ญหลวง” หากจะให้พ้นภัยอันเกิดจากการกระทำของผีเข็ญ ต้องประกอบพิธี “บูชาเข็ญ หลวง” คือเซ่นสรวงบูชาผีเข็ญด้วยเครื่องบัตรพลีตามที่โบราณกำหนด    ฮาโลวีนวันปล่อยผีของล้านนา จะเรียกได้ว่า เป็นวันสิบสองเป็ง (วันเปตพลี) เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับ ในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ เพราะเชื่อกันว่าในวันดังกล่าว พญายมราชได้ปลดปล่อยวิญญาณของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน          
เผยแพร่เมื่อ 30 ตุลาคม 2565 • การดู 19,950 ครั้ง
แผ่นดินบอกเหตุ
แผ่นดินบอกเหตุ
แผ่นดินบอกเหตุ . เหตุการณ์ผิดปกติบนแผ่นดิน เช่น แผ่นดินแยก แผ่นดินถูกน้ำเซาะ ตลอดจนแผ่นดินไหว ล้วนมีคำทำนายดังปรากฎในเอกสารโบราณประเภท พับสาวัดมหาวัน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ว่า "ดินแตกยะในเมืองนอกเมืองก็ดี ในบ้านในไร่ก็ดี หื้อปั้นรูปช้าง ม้าวัวฅวายสัตว์สิ่งพร้อมผ้าขาวผ้าแดง ผ้าดำ ผ้าเหลือง ช่อตามนั้น ธูปเทียน ข้าวตอก ดอกไม้ปูชา จักมีโชคลาภมากนักชะแล" ความว่า ถ้าแผ่นดินแยกออกเป็นรอยแตก ไม่ว่าบริเวณจะอยู่ในเมือง นอกเมือง ในเขตบ้านหรือในไร่ ให้ปั้นรูปข้าง ม้า วัว ควาย รูปสัตว์ประเภทต่างๆ จัดหาผ้าขาว ผ้าแดง ผ้าดำ และผ้าเหลือง ช่อ(ธงสามเหลี่ยม) สีขาว แดง ดำ เหลือง พร้อมตอกไม้ธูปเทียนบูชา จะบังเกิดโชคลาภ "น้ำถุดินเป็นร่อมใหม่ เอาช้างม้างัวควายปูชา จักได้ลาภะแล" แปลความว่า หากแผ่นดินถูกกระแสน้ำเซาะเป็นร่องขึ้นใหม่ ให้เอารูปปั้นช้าง ม้า วัว ควาย ทำการบูชา จะได้ลาภ "(แผ่นดิน) ไหวเดือน 6 ฅนทังหลายอยู่วุฑมิ ไหวเดือน 7 ตนทังหลาย อยู่ดีมีสุขชนะศัตรู บ่มีเสิกแล ไหวเดือน 8 เดือน 9 พยาธิลงท้องจักมีแล ไหวเดือน 10 รสดินบ่มีหลายแล ไหวเดือน 11 ฅนทังหลาย จักเป็นทุกข์ชะแล ไหวเดือน 12 สรมณ์พราหมณ์อยู่บ่วุฑฒิร้อนบ้านร้อนเมืองชะแล" ความหมายคือ เเผ่นดินไหว - เดือน 6 ผู้คนอยู่สุขสบาย - เดือน 7 ผู้คนอยู่ดีมีสุข มีชัยชนะ ไร้ข้าศึกราวี - เดือน 8 เดือน 9 ผู้คนจะเจ็บป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร - เดือน 10 ผืนดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ - เดือน 11 อาณาประชาราษฎร์จะทุกข์เข็ญ - เตือน 12 จะไม่มีความสงบสุขในหมู่สมณพราหมณ์ บ้านเมือง จะทุกข์ร้อน "ไหววันอาทิตย์ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ไหววันจันทร์ รสดินมีมาก พิชชะข้าวกล้าถั่วงาลูกไม้ดกดี ลูกอ่อนเกิดวันนั้น เป็นผู้ประเสริฐแล ไหววันอังคาร ฅนทังหลายจักฝืนฝ่าด้วยกัน เสิกแลโจรลักมีมากแล ไหววันพุธช้างนางขุน ต่างอื่นจักมารอดแล ไหววันผัส หน่อพระเจ้าหน่อพระปัจเจกหน่ออรหันตา จักกวัตติเจ้าตนบุญ อันใด อันนึ่ง มาเอาปฏิสันธิแล ไหววันศุกร์ แพ้ผู้ใหญ่ ผู้มีบุญจักเลี้ยงอายุแล ไหววันเสาร์ สะฅ่วยสัฏฐิ สมณพราหมณ์ ช้างแก้ว ม้าแก้ว จักตายแล" ความว่า เเผ่นดินไหว - วันอาทิตย์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข - วันจันทร์ ดินอุดม ปลูกพืชผลงาม พืชพันธุ์ธัญญาหารขึ้นงาม ผลไม้มีลูกดก เด็กเกิด ในวันที่แผ่นดินไหวนี้ เป็นเด็กผู้ประเสริฐ - วันอังคาร ผู้คนเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ข้าศึกและโจร ขโมยมาก - วันพุธ กษัตริย์ ขุนนาง หรือผู้ใหญ่ต่างแดนจะมาเยือน - วันพฤหัสบดี ผู้เป็นหน่อพุทธางกูร หน่อพระปัจเจกพุทธเจ้า หน่อพระอรหันต์ หรือหน่อพระมหาจักรพรรดิ์ อย่างใดอย่างหนึ่งจะลงมา ปฏิสนธิ - วันศุกร์ เป็นอัปมงคลต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้มีบุญจะสิ้นอายุขัย - วันเสาร์ คหบดี เศรษฐี สมณพราหมณ์ ช้างแก้ว และม้าแก้ว จะล้มตาย . ข้อมูลจาก : หนังสือร้อยสาระ สรรพล้านนาคดี เล่มที่ 4 เขียนโดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ต้องการเพียงนำเสนอข้อมูลที่เคยมีการบันทึกคำทำนายของชาวล้านนาโบราณไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณาญาณของผู้อ่านในการวิเคราะห์ตีความต่อไป  
เผยแพร่เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 • การดู 1,681 ครั้ง
ประเพณีสิบสองเป็ง
ประเพณีสิบสองเป็ง
ประเพณีสิบสองเป็ง เดือน 12 ออก 15 ค่ำ เสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 ตำนาน ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้สดับ พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล ทรงถวายไทยธรรมแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกเป็นประจำ แต่ไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับครั้งหนึ่งฝูงเปรตผู้เป็นญาติรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับส่วนกุศล วันหนึ่งพอตกเพลาราตรีก็สำแดงกายส่งเสียงร้องโหยหวนเป็นที่น่าสะพรึงกลัวตลอดราตรีนั้น เหตุการณ์นี้พระเจ้าพิมพิสารมิทราบเหตุจึงทรงทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงสำแดงเหตุให้ทราบตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพิมพิสารก็อุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งเมื่อถวายไทยธรรม โดยผ่านการหลั่งน้ำทักษิโณทก เปรตทั้งหลายได้รับแล้วพ้นจากทุกขภาวะนา ที่มา และความหมาย ประเพณีสิบสองเป็งเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ  โดยเชื่อกันว่า  ในวันดังกล่าวพญายมราชได้ปลดปล่อยวิญญาณของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงนิยมไปทำบุญที่วัดอย่างมากมายเป็นกรณีพิเศษ ประเพณีนี้ตรงกับกิจกรรมของไทยภาคอื่น กล่าวคือภาคกลางมีประเพณีที่คล้ายกันเรียกว่า “ตรุษสารท” ภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีชิงเปรต” ส่วนภาคอีสานเรียกว่า “ประเพณีบุญข้าวประดับดิน” การปฏิบัติในวันสิบสองเป็ง เช้ามืดของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่วัดจะคราคร่ำไปด้วยผู้คน ต่างคนต่างจัดอาหารและสิ่งของเป็นสำรับ แต่ละสำรับอุทิศให้ผู้ตายเป็นคน ๆ ซึ่งบางครั้งถวายหลายครั้งตามจำนวนคน และการถวายจะต้องเขียนชื่อเจ้าภาพพร้อมชื่อผู้ตายให้พระ เพราะเวลาพระให้พรจะได้กล่าวชื่อได้ถูกต้อง นอกจากการทำบุญด้วยอาหารและไทยทานแล้วสิ่งที่นิยมปฏิบัติ คือ นิมนต์พระแสดงพระธรรมเทศนา ประกอบการรับไทยทาน พระธรรมเทศนาดังกล่าว มักเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาที่เอื้อต่อการได้รับกุศล เช่น ธรรมเปตพลี ธรรมมาลัยโปรดโลก ธรรมนิพพานสูตรเป็นต้น  
เผยแพร่เมื่อ 9 กันยายน 2565 • การดู 8,974 ครั้ง
ประเพณีตานเข้า คนเถ้าจ๋ำศีล
ประเพณีตานเข้า คนเถ้าจ๋ำศีล
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมดภาระงานทางบ้านจะไปนอนที่วัดในวันธรรมสวนะเพื่อประพฤติปฏิบัติถืออุโบสถศีลตลอดระยะเวลาของวันและค่ำคืนนั้น จนกระทั่งรุ่งสางถึงจะลาอุโบสถศีลเช้าวันใหม่ดังกล่าว ผู้มีฐานะดีนิยมทำบุญเลี้ยงอาหารและให้ทานจตุปัจจัยแด่ผู้ออกจากการถือศีลมาใหม่ๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้อานิสงส์มาก เหตุนี้จึงยึดถือปฏิบัติจนเป็นประเพณี เรียกว่า “ประเพณีตานเข้าคนเถ้าจ๋ำศีล” ความหมายคือเสียสละบริจาคอาหารและสิ่งของเป็นทานแด่ผู้เฒ่าผู้จำศีลและพร้อมกันนี้อาจถือโอกาสทำบุญเลี้ยงพระไปด้วยก็ได้ ทั้งนี้เจ้าภาพบางรายนิยมทำที่วัดเพื่อเลี้ยงพระสงฆ์ สามเณรทั้งหมด แต่บางรายนิยมจัดงานที่บ้านเพื่อเป็นการทำบุญบ้านให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัวและเหตุที่มีการจัดงานต่างสถานที่นี้เองจึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวต่างกันโดยรายละเอียด กล่าวคือ การจัดงานที่วัด           เนื่องจากวัดมีสถานที่กว้างขวางพร้อมสิ่งของที่จะต้องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วย ชาม จึงไม่ยุ่งยากในด้านสถานที่และของใช้ หากแต่ต้องจัดเตรียมในสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมตามความประสงค์ของเจ้าภาพ อาทิ เช่น เครื่องพิธีกรรมสืบชาตา ในกรณีที่จะทำบุญสืบอายุ กัณฑ์เทศน์ ในกรณีที่ประสงค์จะฟังเทศน์ตามพิธี ไทยทานที่นอกเหนือจากการทำบุญส่วนตัว ในกรณีที่มีการ  “ฮ่ายฮอม” คือร่วมกันทำบุญเป็นกรณีพิเศษ เช่น ทอดผ้าป่า แต่ที่ต้องเตรียมเป็นหลัก คือ จตุปัจจัยไทยทานและอาหารสำหรับเลี้ยงผู้เฒ่าและพระสงฆ์รวมทั้งฆราวาสที่มาร่วมงาน และงานนี้จะมีเพียงวันเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า การจัดงานที่บ้าน           การจัดงานที่บ้านจะมีภาระที่ซับซ้อนมากขึ้น คือต้องเตรียมงานโดยอาศัยญาติมิตรและเพื่อนบ้านช่วยจัดสถานที่ สิ่งของและไทยทานสำหรับงานอาจมีสองวันหรือวันเดียวก็ได้ ที่มีสองวันคือ วันแรก สวดมนต์และฟังเทศน์ โดยการเทศน์มักเป็นการเทศน์เพื่อความเป็นศิริมงคลหรือเทศน์พิเศษ เช่น เทศน์มัทรี เทศน์ชูชก หรือเทศน์มหาราช เป็นต้น ส่วนวันต่อมาจะเริ่มแต่หัวรุ่ง มีการขึ้นท้าวทั้งสี่ สืบชาตาและทำบุญถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์   พิธีกรรม           พิธีกรรมในงานแบ่งเป็น พิธีกรรมหลัก และ พิธีกรรมรอง โดยที่พิธีกรรมหลักจะเน้นที่การให้ทานแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนพิธีกรรมรอง เป็นกิจกรรมที่พ่วงเข้ามา อาทิ การทำบุญสืบชาตา การฟังเทศน์ การทำบุญเลี้ยงพระหรือทำบุญบ้าน เป็นต้น การให้ทานแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ จะเริ่มตั้งแต่เวลาเช้ามืด เจ้าภาพจะจัดเตรียมอาหารเช้า สิ่งของที่จะให้ทาน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าขะม้า ผ้าห่ม ร่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ แล้วแต่กำลังศรัทธา พร้อมปัจจัยเป็นเงินใส่ซองแนบไปด้วย หลังจากที่ผู้เฒ่าเลิกจากวัตรสวดมนต์แล้ว ก็จะเชิญท่านเหล่านั้นมาร่วมรับประทานอาหารเสร็จแล้วจะมอบสิ่งของด้วยอาการเคารพเหมือนประเคนของถวายพระจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายจะอวยชัยให้พรและอาจมีการผูกข้อมือให้แก่เจ้าภาพด้วย           ส่วนพิธีกรรมรองที่พ่วงเข้ามา จะมีขึ้นหลังจากที่ทานผู้เฒ่าจนแล้วเสร็จก่อน ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง ประเพณี “ทานขันข้าวฅนเถ้าจำศีล” เป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน เป็นการให้ทานที่อบอุ่น อิ่มเอิบ ทั้งผู้ให้และผู้รับ น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวดูจะเลือนรางจากหายไปจากสังคมล้านนากิจกรรมอันทรงค่า น่าจะฟื้นฟูให้ดำรงอยู่คั่งคมไปให้ยาวนานที่สุด   ข้อมูลจาก : หนังสือประเพณีสำคัญล้านนา เขียนโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา 
เผยแพร่เมื่อ 12 กรกฎาคม 2565 • การดู 1,862 ครั้ง
ทิศทางการสร้างหลองข้าว
ทิศทางการสร้างหลองข้าว
หลองเข้าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความหมายต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง การปลูกสร้างจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะในแง่ของทิศทาง ด้วยเชื่อว่าการสร้างจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะในแง่ของทิศทาง ด้วยเชื่อว่าการสร้างให้ถูกทิศทางจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้มีตำราโบราณกำหนดให้พิจารณาจากเจ้าของหลองเข้าว่าเป็นลูกคนที่เท่าไรของพ่อแม่ ดังนี้  ลูกคนแรก       หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน ลูกคนที่สอง     หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกของเรือน        ลูกคนที่สาม     หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรือน ลูกคนที่สี่       หลองเข้าอยู่ทิศใต้ของเรือน ลูกคนที่ห้า       หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกของเรือน ลูกคนที่หก       หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน ลูกคนที่เจ็ด      หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเรือน ลูกคนที่แปด     หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเรือน ลูกคนที่เก้า      หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน ลูกคนที่ 11, 12 ,13... ให้ไล่วนไปตามลำดับที่กล่าวไว้แล้วนั้น   ข้อมูลโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา 
เผยแพร่เมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 • การดู 953 ครั้ง
สวยดอก
สวยดอก
สวยดอก คือกรวยดอกไม้ ใช้เป็นที่บรรจุเครื่องใช้ที่แสดงความเคารพบูชาหรือการยกย่องแก่ผู้รับ สวยดอกนั้นเป็นบรรจุภัณฑ์ที่กะทัดรัดประเกทที่ใช้เพียงครั้งเดียว แทนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่อย่างพานหรือภาชนะอื่น เช่น ใช้ประกอบกับเครื่องไทยทาน การนิมนต์พระ การไหว้ครู การเชิญหมอพื้นบ้านรักษาโรค การเลี้ยงผี การกล่าวแช่ง และแม้กระทั่งการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาที่ตายจากกันสวยดอกจะประกอบด้วยสวยหรือกรวยซึ่งจะทำจากชิ้นใบตองเย็บเป็นทรงกรวยเรียวแหลมที่ส่วนก้น ส่วนด้านปากนั้นผายเปิด ยาวจากก้นถึงปากประมาณ ๘-๑- นิ้ว ปากกรวยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ นิ้ว ภายในกรวยใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปและเทียน โดยให้ดอกไม้ ธูปและเทียนโผล่พ้นปากกรวย ทั้งนี้ ดอกไม้ที่ใช้บรรจุในสวยมักจะเปีนดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามบ้าน เช่น ดอกพุด ดอกหางนกยูง ดอกพวงทองและแม้กระทั่งใบโกสนก็ใช้บรรจุในสวยดอกได้ สวยดอกอาจเรียกตามลักษณะเป็น ๒ ชนิดคือ สวยธรรมดา และสวยกาบ   ชาวล้านนาใช้สวยดอกในวิถีชีวิตสีบทอดกันมาอย่างยาวนาน และพบว่ามีการใช้สวยดอกในโอกาสต่างๆ เช่น 1. ใช้ในการไหว้ครู ก่อนจะมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่างหรือก่อนจะใช้วิชาอาคมความรู้ต่างๆ ผู้ประกอบพิธีมักจะทำพิธีไหว้ครู ซึ่งเรียกว่าขึ้นขันตั้ง และเครื่องบูชาครูจะต้องมีสวยดอกประกอบอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งขันตั้งในพิธีแต่ละอย่างจะมีจำนวนสวยดอกและเครื่องบูชาอื่น ๆ ที่ใช้จะกำหนดจำนวนตามขันครูหรือพานเครื่องคำนับครู บางขันกำหนดจำนวน ๘ คือมีของบูชาอย่างละ ๘ ซึ่งจำนวนสวยดอกก็จะมี ๘ สวย บางขันมีกำหนดว่าเป็นขัน ๑๒ ขัน ๑๖ หรือชัน ๓๒ เป็นต้นนอกจากนี้ยังพบว่าผู้ปกครองนักเรียนมักทำสวยดอกให้บุตรหลาน นำไปไหว้ครูในพิธีไหว้ครูที่โรงเรียนด้วย 2. ใช้ในการแบ่งครู การแบ่งครู จะทำกันหลังจากที่ครูได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ลูกศิษย์หรือฝึกหัดลูกศิษย์จบสิ้นลง โดยจะจัดเตรียมเครื่องบูชาครูและไหว้ครูเค้า (อ่าน "คูเก๊า") คือครูต้นตำรับ สวยดอกจะเป็นเครื่องบูชาที่ขาดไม่ได้ จำนวนของสวยดอกที่ใช้ก็จะกำหนดจำนวนที่แน่นอนตามข้อกำหนดของขันครูแต่ละขันด้วยเช่น ๘, ๑๒, ๑๖, หรือ ๓๒ อันเป็นต้น เมื่อไหว้ครูเสร็จสิ้นลงจะมีการแบ่งเครื่องบูชาทุกอย่างไว้ให้ครูที่ได้ถ่ายทอดวิซาการ นั้นครึ่งหนึ่งและมอบให้ศิษย์อีกครึ่งหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายก็จะนำเครื่องบูชาเหล่านี้ไปวางไว้ในพานบนหิ้งพระที่บ้านของตนต่อไปการแบ่งเครื่องบูชาครูระหว่างศิษย์กับครูดังกล่าวนี้เรียกว่า แบ่งครู เช่น แบ่งครูปี คือการแบ่งครูของนักเป่าปี เป็นต้น 3. ใช้ในการถวายเครื่องไทยทาน เครื่องไทยทานต่าง ๆ ที่ชาวบ้านถวายแด่พระสงฆ์นั้นจะมีสวยดอกติดไปกับเครื่องไทยทานเหล่านั้นเสมอ เช่น จะถวาย "สำรับไทยทาน" ๑ สำรับ ก็จะต้องมีสวยดอกอยู่ในสำรับ ๑ สวย หรือถ้าจะถวายกวยสลาก (อ่าน "โก๋ยสะหลาก") ๑ กวย จะต้องมีสวยดอกอยู่ที่ส่วนยอดของกวยสถากนั้น ๑ อัน ซึ่งในการถวายเครื่องไทยทานนี้ ชาวบ้านนิยมถวายเงินหรือธนบัตรด้วย ซึ่งนิยมพับธนบัตรสอดในไม้หนีบที่ทำด้วยไม้ไผ่ปักไว้ในสวยดอก และมักเรียกธนบัตรนี้ว่า ยอด 4. ใช้ในการทานขันเข้าอุทิศให้แก่ผู้ตาย ขันเข้า คือพานสำรับอาหาร การทานขันเข้า (อ่าน"ตานขันเข้า") อุทิศให้แก่ผู้ตาย ได้แก่ การนำอาหารที่จัดเป็น สำรับไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยระบุเจตนาเจาะจงว่าจะอุทิศหรือทานไปให้ใครในขันเข้าทุกขันจะต้องมีสวยดอกประกอบอยู่ด้วยเสมอและนิยมปฏิบัติดังนี้ คือถ้ามีเจตนาจะถวายขันเข้า ๑ ขันในการถวายเครื่องไทยทานนี้ ชาวบ้านนิยมถวายเงินหรือธนบัตรด้วย ซึ่งนิยมพับธนบัตรสอดในไม้หนีบที่ทำด้วยไม้ไผ่ปักไว้ในสวยดอก และมักเรียกธนบัตรนี้ว่า ยอดอุทิศไปให้ผู้ตาย ๑ คน ก็จะใช้สวยดอกไว้ในขันเข้า ๑ สวย ถ้ามีเจตนาจะถวายทานขันเข้า ๑ ขัน แต่อุทิศไปให้ผู้ตายหลายคนก็จะใส่สวยดอกไว้ในขันข้าวเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนผู้ตายตามที่ได้ระบุไว้ในเจตนาทาน 5. ใช้ในการนิมนต์พระ ในเวลาที่ชาวบ้านจะไปนิมนต์พระนั้น ชาวบ้านจะทำสวยดอก ๑ สวย ไปถวายแด่พระรูปที่ตนประสงค์จะนิมนต์พร้อมทั้งบอกความละเอียดเกี่ยวกับกิจที่นิมนต์พระรูปนั้น เช่นนิมนต์ไปสวดและฉันเช้าในงานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น 6. ใช้ในการลงอุโบสถ ในระหว่างพรรษาทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำพระสงฆ์จะเข้าโบสถ์หรือลงโบสถ์ เพื่อทำพิธีสวด ก่อนจะเริ่มสวด พระทุกรูปจะนำสวยดอก รูปละ ๑ สวย ไปใส่รวมกันไว้ในพานเป็นพุทธบูชา สวยดอกที่ใช้ในการลงโบสถ์นี้เรียกว่าสวยโบสถ 7. ใช้ในการเชิญหมอพื้นบ้านไปรักษาโรค ในเวลาที่ชาวบ้านไปเชิญหมอมารักษาญาติพี่น้องของตนหรือไปขอให้หมอรักษาโรคให้แก่ตนเองนั้น ผู้ไปเชิญจะทำสวยดอก 1 สวยไปมอบให้หมอ และหมอท่านนั้นจะรับสวยดอกไว้ ซึ่งอาจจะเก็บไว้ในขันดอกไม้ (พาน) หรือเหน็บไว้ตามชายคาบ้านก็แล้วแต่ความสะดวก เพียงแต่ต้องเก็บไว้ในที่สูงเท่านั้น การใช้สวยดอกในลักษณะนี้จึงเสมือนเป็นการเชื้อเชิญด้วยความเคารพ 8. ใช้ในการกล่าวแช่ง ในกรณีที่ชาวบ้านสองคนทะเลาะกันรุนแรง โดยต่างกล่าวหากันว่าเป็นผู้ผิดจนหาข้อยุติไม่ได้ เช่น คนที่หนึ่งกล่าวหาว่าคนที่สองขโมยเงิน คนที่สองปฏิเสธและกล่าวหาคนที่หนึ่งว่ากล่าวร้ายให้ร้ายตน ถ้าทั้งสองต้องการให้เรื่องยุติก็มักจะท้ากันทำพิธีกล่าวแช่งในการกล่าวแช่งนี้คู่กรณีจะทำสวยดอกคนละ ๑ สวยไปกล่าวแช่งกันต่อหน้าพระประธานในวิหาร โดยไปเชิญผู้ที่มีความสามารถในการกล่าวถ้อยคำแช่งมาเป็นผู้กล่าวแช่ง ก่อน หน้าการกล่าวแช่งนั้น ทั้ง ๒ ฝ่ายจะนำสวยดอกไปไว้บนฐานชุกชีแล้วมานั่งพนมมืออยู่ข้างๆ ผู้กล่าวคำแช่งและให้ผู้กล่าวคำแช่งนั่งอยู่ตรงกลางแล้วกล่าวคำแช่งให้ผู้ผิดมีอันต้องเป็นไปต่าง ๆ จนกระทั่งเสร็จการกล่าวแช่งนั้น 9. ใช้ในพิธีการเลี้ยงผี ในแต่ละปีเมื่อถึงวันกำหนดตามประเพณีแล้วชาวบ้านจะชุมนุมกันจัดเครื่องเช่นเพื่อบวงสรวง "เทพ" ประจำตระกูลหรือเลี้ยงผีที่กลุ่มสกุลของตนนับถือ ในการจัดเตรียมเครื่องเช่นบูชาบวงสรวงนั้น จะต้องมีสวยดอกประกอบอยู่ด้วยเสมอสวยดอกที่ใช้จะมีจำนวนแตกต่างกันไปตามลักษณะ เช่น เลี้ยงผีหลักเมืองใช้สวยดอก ๑๐๔ สวย เลี้ยงผีขุนน้ำ (ต้นน้ำ) ใช้สวยดอก ๔ สวย เลี้ยงผีปูยำใช้สวยดอก ๑๒ สวย (บางแห่งใช้ ๒๔ สวย บางแห่งใช้ ๓๒ สวย) เป็นต้น 10. ใช้ในการแบ่งผี ในกรณีที่ชาวบ้านมีการย้ายถิ่นไปอยู่ไกลจากถิ่นฐานเดิมมาก ทำให้ไม่สามารถจะมาทำพิธีเลี้ยงผีร่วมกับญาติพี่น้องในชุมชนเดิมได้ แต่ผู้ที่ย้ายไปอยู่ไกลนั้นมีความความต้องการจะเลี้ยงผี ผู้นั้นอาจจะทำพิธีแบ่งผี จากชุมชนเดิม ไปจัดพิธีเลี้ยงในชุมชนใหม่ที่เขาอาศัยอยู่ ในการแบ่งผีเช่นนี้ ผู้ทำพิธีจะจัดเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น หมาก พลู กล้วย พร้าว และสิ่งที่ขาดไปได้คือ สวยดอก ตามจำนวนที่กำหนด เช่น ๑๒ หรือ๒๔ สวย เป็นต้น ไปบูชาหอศาลผีประจำชุมชนเดิม พร้อมกล่าวอัญเชิญผีไปรับเลี้ยงที่ชุมชนใหม่ของตน 11. ใช้ในการบอกความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ที่ตายจากกันในโอกาสที่สามีภรรยาเสียชีวิตลง สามีหรือภรรยาที่มีชีวิตอยู่มักทำพิธี ปันเข้าตอกดอกไม้ หรือพิธีมอบข้าวตอกดอกไม้ดังกล่าวจะทำดังนี้ คือสามีหรือกรรยาที่มีชีวิตอยู่จะทำสวยดอกขึ้น ๒ สวย และไปขอให้ผู้ทำพิธี 1 คนทำพิธีให้ ผู้ทำพิธีจะนำสวยทั้งสองไปกล่าววาจาต่อหน้าศพในทำนองว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว ก็ถือว่าอยู่คนละภพ ขออย่าได้มีความห่วงอาลัยเกี่ยวข้องกันอีกเลย จากนั้นเอาสวยดอก ๑ สวย มอบให้แก่ผู้ตายโดยวางไว้บนโลงศพ อีก ๑ สวยมอบให้แก่สามีหรือภรรยาที่มีชีวิตอยู่   นอกจากการใช้สวยดอกดังกล่าวแล้วยังพบว่าบางท้องที่มีการใช้สวยดอกผูกติดบอกไฟหรือบั้งไฟ และใช้สวยดอกในการบนผี แต่ในบางท้องที่ไม่ใช้สวยดอกในกรณีดังกล่าว เช่นในแถบเชียงใหม่จะมีการนำสวยดอกผูกติดกับบอกไฟแล้วแห่ไปจุด แต่ในแถบลำปางจะไม่ใช้สวยดอก มักใช้เฉพาะดอกไม้หรือพวงมาลัยเท่านั้น ในการบนผีก็เช่นกัน บางแห่งใช้สวยดอกผูกติดกับเครื่องบนผี แต่ในบางแห่ง เช่น แถบลำปางจะไม่ใช้สวยดอก คือจะใช้เฉพาะดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น   ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ   
เผยแพร่เมื่อ 30 มิถุนายน 2565 • การดู 6,234 ครั้ง
แมงสี่หูห้าตา
แมงสี่หูห้าตา
       วรรณกรรมจากคัมภีร์ใบลานของล้านนา และจากนิทานมุขปาฐะที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา มีจำนวนมากมายที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและได้สาระจากคติธรรมคำสอนหรือข้อคิดที่โบราณาจารย์ได้สอดแทรกไว้ นิทานเรื่อง “แมงสี่หูห้าตา” เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่แพร่หลายมาก เป็นที่รู้จักกันดี ชาวบ้านที่เล่ามักบอกว่าเป็นเรื่องที่แสดงเหตุที่มาว่าทำไมผู้ชายจึงรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง           คำว่า “แมง” นอกจากจะใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์เล็ก ๆ แล้ว ยังใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์ใหญ่ ๆ ในเชิงตลกขบขันได้อีกด้วย “แมงสี่หูห้าตา” เป็นสัตว์ใหญ่คล้ายหมี มีหู  ๔  หู มีตา  ๕  ตา ในความเป็นจริงไม่ปรากฏสัตว์ประเภทนี้ในโลก แต่มีเรื่องเล่าในล้านนามาแต่โบราณกาล และมีการบันทึกในรูปแบบของวรรณกรรมลายลักษณ์ในเอกสารประเภทใบลาน ซึ่งมีปรากฏให้พบเห็นตามวัดโดยทั่วไป ตัวอย่างของเรื่องนี้ได้เนื้อความจากคัมภีร์ใบลานชื่อ “ธัมม์สี่หูห้าตา”  ของวัดแช่ช้าง  ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง  จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนา จำนวน  ๑  ผูก (๖๑  หน้าลาน) ผู้จารคือ “พิมมสารภิกขุ”  เมื่อ จุลศักราช  ๑๒๗๖  (พ.ศ. ๒๔๕๗)  ความในคัมภีร์ดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องแมงสี่หูห้าตาโดยสังเขปดังนี้           มีเมือง ๆ หนึ่งชื่อเมือง “พันธุมติ” กษัตริย์ผู้ครองเมืองชื่อ “ท้าวพันธุมติ” ซึ่งมีมเหสีอยู่  ๗  องค์ ทิศเหนือของเมืองนี้มีครอบครัวหนึ่งมีสามพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ สองสามีภรรยาเป็นยาจกมีบุตรชายคนเดียว เมื่อบุตรมีอายุ  ๗  ขวบ มารดาสิ้นชีวิตลง ต่อมาเมื่ออายุ  ๑๑  ขวบบิดาก็สิ้นชีวิต ก่อนสิ้นใจบิดาได้สั่งเสียว่าให้เอาศพฝังไว้ใกล้ ๆ กระท่อม นานเข้าศีรษะของบิดาก็จะหลุดให้นำเอาศีรษะไปสักการะบูชาทุกค่ำเช้าถ้าอายุครบ  ๑๖ ปี ให้ผูกศีรษะนั้นลากไปสู่นครพันธุมติ ซึ่งมีภูเขาอยู่ หากศีรษะไปติดข้องที่ใดให้ทำแร้วเป็นกับดักสัตว์ที่นั้น           เมื่อบิดาสิ้นชีวิตบุตรชายได้ฝังศพไว้ใกล้กระท่อมแล้วไปขออาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นนายจ่าบ้าน โดยอาศัยเลี้ยงวัวหาฟืนให้เป็นสิ่งตอบแทน จนอายุได้  ๑๖  ปี จึงได้ทำตามที่บิดาสั่งไว้โดยลากศีรษะบิดาไปสู่นครพันธุมติจนไปถึงภูเขา เมื่อลากศีรษะขึ้นภูเขาไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่งศีรษะไปติดข้องอยู่ปากถ้ำ จึงทำแร้วดักสัตว์ใหญ่ ณ ที่นั้นแล้วกลับบ้าน           รุ่งเช้าเขาไปดูแร้วที่ดักไว้ ปรากฏว่ามีสัตว์ใหญ่ติดอยู่สัตว์นั้นรูปร่างคล้ายหมีมีหูสี่หู มีดวงตาห้าดวง เขาได้ตัดเอาเถาวัลย์ผูกสัตว์นั้นนำกลับมาบ้าน แล้วหาสิ่งกำบังอย่างมิดชิด จากนั้นไปหาหญ้าและใบไม้มาให้กิน สัตว์สี่หูห้าตาไม่ยอมกินเอาแต่นอนหลับ ตกกลางคืนเขาก่อไฟผิง บังเอิญสะเก็ดถ่านไฟกระเด็นออกนอกกองไฟ แมงสี่หูห้าตาก็กินถ่านไฟเป็นอาหาร เมื่อเขาเห็นดังนั้นจึงหาฟืนมาเผาแล้วเอาถ่านไฟให้กินเป็นจำนวนมาก รุ่งเช้าแมงสี่หูห้าตาถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ           เมื่อพบว่าแมงสี่หูห้าตากินถ่านไฟแล้วถ่ายเป็นทอง เขาจึงหาถ่านไฟให้กินเรื่อย ๆ แมงสี่หูห้าตาก็ถ่ายออกมาเป็นทองคำจำนวนมาก เขานำทองที่ได้ไปฝังไว้ทุกวัน           กล่าวถึงท้าวพันธุมติผู้ครองนครมีราชธิดาองค์หนึ่งชื่อ “สิมมา” อายุได้  ๑๖  ปี มีรูปโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของบรรดากษัตริย์หัวเมืองต่าง ๆ และมีหลายเมืองต่างส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อขอราชธิดาไปเป็นมเหสี ท้าวพันธุมติรู้สึกลำบากใจ จึงหาทางออกโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าหากเจ้าเมืองใดสามารถสร้างลินคำ (รางน้ำทองคำ) ตั้งแต่เมืองของตนมาจนถึงวังของราชธิดาได้ก็จะยกราชธิดาให้เจ้าเมืองนั้น เงื่อนไขนี้ไม่มีเจ้าเมืองใดสามารถทำได้           ฝ่ายชายกำพร้าผู้ยากได้ทราบข่าว จึงไปขอให้ลุงไปทูลราชธิดาของท้าวพันธุมติ ส่วนลุงก็ได้แต่เวทนา วันหนึ่งมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อกลุ่มหนึ่งมาพักแรมที่บ้านชายนั้น เขาจึงได้ว่าจ้างให้พ่อค้าเหล่านั้นสร้าง ลินคำตั้งแต่บ้านตนจนไปถึงวังของราชธิดาสิมมาจนสำเร็จภายในคืนเดียว           รุ่งเช้าท้าวพันธุมติเห็นลินคำเป็นอัศจรรย์ ก็ให้เสนาอำมาตย์ติดตามไปดู เมื่อพบว่าเจ้าของเป็นใครจึงจัดขบวนแห่ไปรับเอาชายเข็ญใจไปเป็นราชบุตรเขย เมื่ออภิเษกให้เป็นคู่ครองราชธิดาสิมมาแล้ว จึงไต่ถามว่าได้ทองคำมาอย่างไร เขาจึงเล่าเรื่องแมงสี่หูห้าตาให้ฟัง ท้าวพันธุมติจึงให้เสนาไปขุดทองในสวนมาไว้ในพระคลังให้หมดและให้ราชบุตรเขยไปนำแมงสี่หูห้าตามา เขาก็ไปจูงเอามาแต่เมื่อจูงมาชาวเมืองต่างมามุงดู แมงสี่หูห้าตาก็ตกใจวิ่งหนีกลับไปอยู่ถ้ำตามเดิม ท้าวพันธุมติก็ให้ตามเอามาอีก คราวนี้ชาวเมืองต่างมามุงดูเป็นจำนวนมากขึ้น แมงสี่หูห้าตาก็ยิ่งตกใจวิ่งหนีไปอีกท้าวพันธุมติเห็นดังนั้นจึงวิ่งไล่ตามจับจนเลยเข้าไปในถ้ำ ครั้งนี้หินถล่มลงปิดปากถ้ำไว้ โดยที่เสนาวิ่งตามไม่ทันทำให้ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำกับแมงสี่หูห้าตา           ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายวันเพราะไม่มีทางออก มีเพียงรูเล็ก ๆ โดยใช้ตาข้างเดียวแนบส่องดูภายนอกได้เท่านั้น ท้าวพันธุมติคิดในใจว่าตนคงต้องตายในถ้ำนี้แน่นอน คงไม่มีโอกาสอยู่กับมเหสีอีก จึงสั่งเสนาไปตามมเหสีทั้งเจ็ดมา เมื่อมเหสีมาแล้วพระองค์จึงขอให้เปิดผ้าถุงให้ดูเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตาย มเหสีตั้งแต่ลำดับที่ ๑ ถึง  ๖  ไม่ยอมเปิดผ้าถุงเพราะความอาย แต่มเหสีองค์ที่เจ็ดรู้สึกเห็นใจ จึงยอมเปิดผ้าถุงให้ดู ทันใดนั้น ก้อนหินที่ปิดปากถ้ำอยู่อดหัวเราะไม่ได้ ก็ระเบิดหัวเราะออกมาปากถ้ำจึงเปิด พระยาพันธุมติจึงออกมาได้           เมื่อกลับมาถึงเมือง ท้าวพันธุมติได้อภิเษกให้บุตรเขยเป็นกษัตริย์ครองเมืองแทน จนถึงอายุขัยพระองค์ก็ถึงแก่พิราลัยบุตรเขยผู้เป็นกษัตริย์ได้ครองเมืองโดยธรรม และได้สร้างโรงทานถึง  ๖  หลัง เพื่อให้ทรัพย์สิ่งของเป็นทานแก่ยาจกคนยากไร้ จากนั้นได้เทศนาสั่งสอนเสนาอำมาตย์และชาวเมืองให้ตั้งอยู่ในธรรมมีมรรคแปดเป็นต้น ชาวเมืองพันธุมติก็ดำรงชีพตามวิสัยอย่างสงบสุข           เรื่องราวที่มเหสีองค์เล็กเปิดผ้าถุงให้ท้าวพันธุมติดูเป็นเหตุให้สามีทั้งหลายรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง และถ้ำดังกล่าวได้ชื่อว่า “ถ้ำยุบ” ตั้งแต่นั้นมา ความตอนนี้ในคัมภีร์กล่าวว่า “ส่วนถ้ำอันนั้น ก็ได้ชื่อว่าถ้ำยุบว่าอั้น ตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล ส่วนท้าวพระยาทังหลายก็ลวดรักเมียปลายเหลือกว่าเมียเค้าตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล”           ในแง่ของความเป็นมาเรื่อง “แมงสี่หูห้าตา” นี้มีข้อน่าสังเกตว่าอาจเป็นนิทานชาวบ้านที่เรียกว่า “เจี้ย” เล่าสืบต่อกันมาจนได้รับความนิยม ต่อมามีนักศาสนานำมาเขียนผูกโยงกับคำสอนทางศาสนาเพื่อดึงดูดความสนใจจนกลายเป็นชาดกนอกนิบาตเรื่องหนึ่ง           ความประทับใจของชาวล้านนาต่อนิทานเรื่องนี้ ทำให้ได้มีการสร้างรูปปั้นของแมงสี่หูห้าตาไว้ที่วัดดอยถ้ำเขาควาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และชื่อเมือง “พันธุมติ” ก็เกี่ยวโยงกับชื่อเก่าแก่ของเมืองเชียงรายด้วย           ปัจจุบันมีการสร้างรูปปั้นขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ให้คนกราบไหว้ขอโชคลาภ ซึ่งบางแห่งสร้างรูปคล้ายหมีตามที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานต้นฉบับ แต่ก็พบว่าหลายแห่งสร้างเป็นรูปคล้ายๆลิงหรือสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการถ่ายทอดเนื้อหาอาจคลาดเคลื่อนไป  และนอกจากนี้ยังมีการสร้างรูปเป็นเครื่องรางให้เช่าบูชา โดยเชื่อว่าแมงสี่หูห้าตาเป็นเครื่องรางนำโชค เนื่องจากถ่ายมูลเป็นทองคำนั่นเอง   ข้อมูลจาก : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา   
เผยแพร่เมื่อ 28 มิถุนายน 2565 • การดู 21,437 ครั้ง
ความเชื่อเกี่ยวกับบอกไฟของชาวล้านนา
ความเชื่อเกี่ยวกับบอกไฟของชาวล้านนา
ความเชื่อเกี่ยวกับบอกไฟของคนล้านนาไทยแต่โบราณกาล ซึ่งผู้รู้ได้สันนิษฐานว่าได้รับเอาต้นแบบมาจาก ประเพณีจิบอกไฟ เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาชาติจีน อย่างไรก็ตามเมื่อวิธีการและประเพณีนี้ได้เข้ามาถึง อาณาจักรล้านนาแล้ว บทบาทของการจิบอกไฟก็ถูกนำมาเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาและโยงไปถึงศาสนาพราหมณ์ด้วยโดยเฉพาะการจุดบอกไฟหมื่น นอกจากจะเป็นการจุดเป็นพุทธ-บูชาแล้ว ก็มีความเชื่อว่าเสียงดังของบอกไฟหมื่นนี้ จะทำให้พระอินทร์ พระพรหม และท้าวจตุโลกบาลได้ทราบถึงการทำบุญสุนทาน การประกอบกรรมดีของมวลหมู่มนุษย์ และจะมีผลดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดม สมบูรณ์ แมงบ้ง คือตัวหนอนและแมลงทั้งหลายไม่มารบกวน"ครัวปลูกลูกฝัง" คือพืชที่ปลูกไว้ ให้บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุขหาโจรมารมาราวีไม่ได้ มีข้าวในนา มีปลาในน้ำ วัวควายแพร่พอกออกหลาย แต่สิ่งที่แฝงอยู่กับประเพณีนี้และมีความยิ่งใหญ่มากนั้นก็คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่รู้จักนำวัสดุใกล้ตัวมาสร้างสรรค์ผลงานรับใช้สังคมในด้านประเพณีวัฒนธรรมรวมถึงความรักความสามัคคีของหมู่คณะที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำบอกไฟ และมีส่วนร่วมในขบวนแห่บอกไฟอันครึกครื้นสนุกสนาน ชาวล้านนาเชื่อว่า ถ้ามีการจุดบอกไฟบูชาแล้วจะมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาไม่ขาดน้ำจนเกิดการ "ตายแดด" พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อว่า วิธีหรืออุปเท่ห์ที่จะทำให้บอกไฟเกิดการระเบิดหรือขึ้นไม่ดีนั้นทำได้โดยเอาดินมาอุดหู เอาเท้าอุดรูปู หรือกสั้นลมหายใจเข้าออกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ การเล่นบอกไฟ เป็นการเล่นที่มีมาแต่โบราณกาล แทบจะกล่าวได้ว่าอยู่คู่กับชนชาติไทยมาเลยก็ว่าได้ ดังจะเห็นว่าในการบัญญัติให้มีกระเสมเมือง (สิ่งที่ทำให้พลเมืองมีความสุข) ของพระญามังรายนั้น ท่านว่าประกอบด้วย ปาเวณีปีใหม่ (งานในเทศกาลสงกรานต์) จิบอกไฟ (จุดบอกไฟ) ไหว้พระธาตุ (งานฉลองพระเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งเป็นงานประจำปี เถี่ยงเรือ (แข่งเรือ) ประเพณีทั้งสี่ยังมีอยู่ไม่จางหาย แม้ว่าจะเเตกต่างไปจากเดิมบ้างก็ตาม แต่ก็ยังพอให้เราได้รู้ ได้เห็นวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ดี การเล่นบอกไฟ เป็นการเล่นที่ต้องใช้เวลานานในการทำ แต่กลับใช้เวลาเล่นสั้นมากเหมือนกับกาเรเข่งขันวิ่งเร็วระยะทางสั้นๆ แต่เสียเวลาซ้อมนานเป็นเดือนๆ ทั้งนี้ต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญ และความสามารถเฉพาะตัวหลายๆ ด้านประกอบกัน ชนิดของบอกไฟ ในล้านนานั้นมีบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟขึ้น บอกไฟเข้าต้ม บอกไฟจักจั่น บอกไฟจักจ่า บอกไฟช้างร้อง บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟต่อ บอกไฟต่อต่าง บอกไฟต่าง บอกไฟท้องตัน บอกไฟเทียน บอกไฟบ่าขี้เบ้า บอกไฟยิง บอกไฟนกขุ้ม บอกไฟหมื่น บอกไฟแสน   ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ  ภาพถ่ายโดย นายต่อพงษ์ เสมอใจ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 16 มิถุนายน 2565 • การดู 2,863 ครั้ง
สืบชะตาเมืองเชียงใหม่
สืบชะตาเมืองเชียงใหม่
             การสืบชาตาเมือง ตามความเชื่อของชาวล้านนา เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะบางครั้งเห็นว่าบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนอันมาจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์มาเบียดเบียน ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะการจลาจล การศึก หรือเกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมือง ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองจึงให้จัดทำพิธีสืบชาตาเมือง เพื่อสืบอายุของเมืองให้ดำเนินต่อเนื่องไป           กรณีเมืองเชียงใหม่นั้น มีการทำพิธีสืบชาตาเมืองเป็นประจำทุกปี โดยกระทำต่อเนื่องกับการเข้าอินทขีลหรือการบูชาหลักเมืองเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนแปดต่อกับเดือนเก้า (ประมาณเดือนกรกฎาคม) ทั้งนี้ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ได้กล่าวถึงพิธีสืบชาตาเมืองในสมัยพระเมืองแก้วแห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 2038 – 2068) ไว้อย่างละเอียดโดยกล่าวว่า พระมหากษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่จะทรงเป็นประธานในพิธีสืบชาตาเมือง เพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีแก่บ้านเมืองและประชากรโดยทั่วไป           โดยคัมภีร์สืบชาตาเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ระบุว่าจะต้องเตรียมการในพิธี ดังต่อไปนี้ นิมนต์พระสงฆ์จำนวนเท่าอายุของเมืองมาสวดมนต์ นิมนต์พระพุทธรูปแก้วเสตังคมณีจากวัดเชียงมั่น ปูชาคัมภีร์ธัมม์สารากริกวิชชานสูตร จากวัดเชียงยืน 3 ผูก ปูชาคัมภีร์ธัมม์มังคละตันติง จากวัดดวงดี 3 ผูก ปูชาคัมภีร์ธัมม์นครฐาน จากวัดโชคิการาม 1 ผูก ปูชาคัมภีร์ธัมม์ปารมี จากวัดสิงหาราม 1 ผูก ปูชาคัมภีร์ธัมม์อุณหัสวิชัย จากวัดชัยชนะสถาน 1 ผูก ทำเจดีย์ทราย 1,000 กอง ทำธงตะขาบขนาดใหญ่สีขาว 1,000 ผืน ทำช่อ (ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) สีขาว 1,000 ผืน ทำประทีป 1,000 ดวง น้ำมันจากพืช (เพื่อเติมประทีป) เงิน ทอง ข้าวตอกดอกไม้ 1,000 กรวย ไม้ค้ำขนาดใหญ่ 9 ท่อน ไม้ค้ำขนาดเล็กจำนวนเท่าอายุเมือง เชือกฟั่นจากหญ้าคาสีเขียว 9 เส้น ทั้งนี้อาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นหัวหน้าของคณะทำงานนั้น จะได้จัดสิ่งของต่างๆ ให้เข้าที่ โดยเฉพาะจะให้เอาเชือกฅาเขียวหรือเชือกทำจากหญ้าคาสดนั้นวางบนเมกเวียง คือใบเสมา เวียนสายสิญจน์รอบกำแพงเมืองแล้วโยงจากประตูช้างเผือก ประตูสวนดอก ประตูเชียงใหม่ และประตูท่าแพ เข้าสู่กลางเวียงและนำส่วนปลายของสายสิญจน์นั้นสอดไว้ใต้อสานะของพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แล้วต่อสายสิญจน์จากอาสนะพาดโยงไปสู่บ้านทุกหลังโดยโยงไว้ให้พ้นจากการเหยียบย่ำ จากนั้นจึงจัดทำตาแหลวพันชั้นหรือเฉลวที่สานอย่างวิจิตรไปติดไว้ที่ประตูเมืองทุกแห่ง แห่งละ 1 อัน   ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ 
เผยแพร่เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 • การดู 2,205 ครั้ง
พระเจ้าฝนเเสนห่า
พระเจ้าฝนเเสนห่า
พระเจ้าฝนแสนห่า หรือพระเจ้าฝน เป็นคำเรียกพระพุทธรูปของล้านนา เช่น พระเจ้าฝน วัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง พระเจ้าฝนแสนห่า วัดช่างแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และพระเจ้าฝนแสนห่า วัดท่าเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวล้านนาเชื่อว่า พระพุทธรูปที่มีอิทธิพลปาฏิหาริย์สามารถบันดาลให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล จากท้องฟ้าที่มีแสงแดดส่องสว่างกลับกลายมีเมฆครึ้มตั้งเค้าเหมือนฝนกำลังจะตก ด้วยอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าฝนแสนห่า จึงทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ต่างเคารพกราบไหว้พระเจ้าฝนแสนห่าด้วยจิตศรัทธา  พระเจ้าฝนแสนห่าองค์ปัจจุบัน เป็นประพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดช่างแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อาราธนามาในประเพณีใส่ขันดอกที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งมีการอาราธนาพระเจ้าฝนแสนห่าประดิษฐานบนรถบุษบก “ศรีเมืองเชียงใหม่” เริ่มต้นแห่ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และแห่ไปรอบเมือง โดยพิธีบูชาพระเจ้าฝนแสนห่านี้ ทำไปพร้อมๆกับประเพณีบูชาเสาอินทขีลและประเพณีใส่ขันดอกที่วัดเจดีย์หลวง ให้ประชาชนมาบูชาสรงน้ำตลอดระยะเวลา 7 วัน   ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ  เรียบเรียงโดย นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
เผยแพร่เมื่อ 31 พฤษภาคม 2565 • การดู 3,570 ครั้ง
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล หรือที่เรียกว่า “เข้าอินทขีล” นับเป็นประเพณีของชาวเชียงใหม่ที่โดดเด่นเป็นประจำทุก ๆ ปีซึ่งหากจะกล่าวโดยสังเขปแล้ว เสาอินทขีล เป็นเสาปูนปั้นตั้งอยู่กลางวิหารอินทขีลในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เดิมมีเฉพาะเสาล้วน ๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้สวยงาม แล้วนำพระพุทธรูป ขึ้นประดิษฐานบนเสานั้น ด้านความเป็นมา  มีตำนานเล่าว่าเดิมเสาอินทขีลเป็นเสาหินที่อยู่บนสวรรค์ พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์สองตนนำมาตั้งไว้ในเมืองนพบุรี(เชียงใหม่) เพื่อบันดาลโชคลาภและป้องกันภัย ต่อมาผู้คนกระทำการอันเป็นการไม่ให้ความเคารพต่าง ๆ นานา กุมภัณฑ์ไม่พอใจจึงหามกลับเมืองสวรรค์ เมื่อชาวเมืองเดือดร้อนก็ไปขอพระอินทร์อีก คราวนี้พระอินทร์แนะนำชาวเมืองก่อเองโดยให้หล่ออ่างขาง (กะทะ) ขนาดใหญ่ แล้วให้หล่อรูปคนให้ได้ “ร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา” คือผู้คนนานาชาติพันธุ์ หล่อรูปสัตว์ต่าง ๆ อาทิ ช้าง ม้า  วัว  ควาย  เป็ด  ไก่   หมู  หมา  แพะ  แกะ  กวาง  ลิง  รวมทั้งปลา  ปู  หอย  กุ้ง  จระเข้  มังกร  ตลอดจนตะขาบ  แมลงป่อง  ลงใส่ในอ่างขางจากนั้นให้ขุดดินฝังอ่างขางนั้นลึกลงดินถึง  ๙  ศอก แล้วก่อรูปเสาอินทขีลบนดินนั้น เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่ชาวเมือง             เมื่อได้รับคำแนะนำเช่นนั้น ชาวเมืองจึงพากันสร้างเสาอินทขีลขึ้นใหม่  แล้วกระทำการสักการบูชาเป็นประจำทุกปีในช่วงต่อกันระหว่างเดือนแปดกับเดือนเก้าเหนือที่เรียก “เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก”            โดยที่การบูชาจะเน้นใช้ดอกไม้วางบน “ขัน” คือ พานดอกไม้  จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ใส่ขันดอก”             กล่าวถึงในแง่ของการปฏิบัติ นอกจากจะมีการบูชาเสาอินทขีลแล้ว ประชาชนจะสักการบูชารูปเคารพอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณวัด เช่น รูปกุมภัณฑ์ รูปช้าง รูปฤาษี พระสังกัจจายน์ พระนอน ตลอดจนสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวงในโอกาสเดียวกันด้วย  ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้นี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชาวเชียงใหม่จวบกระทั่งปัจจุบัน   บทความโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา
เผยแพร่เมื่อ 26 เมษายน 2565 • การดู 1,859 ครั้ง
ป๋าเวณีธาตุ
ป๋าเวณีธาตุ
ในชุมชนต่างๆ หรือหมู่บ้านหนึ่งๆ มักมีวัดประจำสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา และในละแวกอาณาเขตที่เป็นวงกว้างออกไป ก็มักจะมีวัดสำคัญที่มีพระเจดีย์ ซึ่งเรียกทั่วไปว่า “ธาตุ” หรือ “พระธาตุ” ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ วัดดังกล่าวส่วนใหญ่พบว่าตั้งอยู่บนภูเขาหรือเนินเขา เมื่อถึงฤดูกาลว่างเว้นจากภารกิจด้านการเกษตร ชุมชนที่มีวัดสำคัญนั้น จะกำหนดให้มีงานเพื่อสักการบูชา ซึ่งแต่ละปีมักถือเอาวันเพ็ญเดือนแปด หรือ เดือนเก้าเหนือ เป็นวันจัดงานจนกลายเป็นประเพณีเรียกว่า “ป๋าเวณีธาตุ” การไปสักการะบูชาพระธาตุ สำหรับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล จะนัดหมายกันไปเป็นหมู่คณะ มีทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวรวมทั้งเด็กร่วมเดินทางด้วย บางคณะอาจเตรียมเสบียงอาหาร อุปกรณ์การหุงต้ม เพื่อปรุงอาหารรับประทานระหว่างทางหรือช่วงพักค้างแรม พร้อมกับเตรียมอาหารทำบุญ ตักบาตรด้วย           เมื่อเดินทางไปถึงวัดแล้วชาวบ้านจะช่วยกันทำความสะอาดบริเวณลานพระเจดีย์โดยรอบ แล้วทำการสักการบูชาด้วยน้ำขมิ้น ส้มป่อย ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจะมีการสวดมนต์โดยเฉพาะพระสงฆ์จะสวดพระปริตร์มีทั้งสวดเจ็ดตำนานหรือสิงสองตำนานที่เรียกว่า “สูตรตั้งลำ” และสวดเบิกพระเนตรเป็นทำนองเสนาะที่เรียกว่า “สูตรเบิก” ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์           เวลาสายจะมีการจุดบ้องไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งแต่ละแห่งนิยมให้มีการแข่งขันเป็นที่สนุกสนานและบางท้องที่มีการจัดงานฉลองสมโภชด้วยมหรสพพื้นบ้าน เช่นการขับซอและการละเล่นอื่น ๆ ที่เป็นศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปะประจำท้องถิ่น งานป๋าเวณีธาตุ ถือเป็นงานที่ชาวล้านนาให้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้วยความเชื่อว่า หากได้ไปสักการะบูชาจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีอานิสงส์แรงกล้านำพาดวงวิญาณสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในที่สุด           ปัจจุบัน งานป๋าเวณีธาตุที่มีคนรู้จักและมาร่วมกิจกรรมนับหมื่นคนคืองาน “ประเพณีเตียวขึ้นดอย” เพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพที่มักจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 คืน โดยจะมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุ มีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังผลจากอานิสงส์ในการเดินขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพในแต่ละปี     ข้อมูลจาก หนังสือประเพณีสำคัญล้านนา โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ      
เผยแพร่เมื่อ 20 เมษายน 2565 • การดู 1,261 ครั้ง
ความสำคัญของปีใหม่เมืองที่มีต่อชาวล้านนา
ความสำคัญของปีใหม่เมืองที่มีต่อชาวล้านนา
ปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ คือ ก่อนที่จะรับเอาปีตามปฏิทินสากล คนไทยและล้านนา ถือเอาช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปี ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อชำระสิ่งไม่ดีออกไป และรับสิ่งเป็นมงคลในวันปีใหม่ การปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์ 1. วันสังขารล่อง เป็นวันที่ต้องทำความสะอาดบ้าน ชะล้างสิ่งไม่ดี  วันที่ปีเก่าจะผ่านพ้นไป หากจะกล่าวในแง่ของดาราศาสตร์ คือวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป คำว่า“ล่อง”ในภาษาล้านนา หมายถึง ล่วงไป หรือ ผ่านไปนั่นเอง วันสังขานต์ล่องของชาวล้านนา เป็นวันที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นเพื่อรอต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ วันสังขานต์ล่องจึงเป็นวันที่ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรอดูปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ที่เล่ากันว่าจะหอบข้าวของพะรุงพะรังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ หรือบางทีก็ล่องเรือไปตามลำน้ำ  ชาวล้านนามีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ“การดำหัว”หรือสระผมของตนเองด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาดและเป็นมงคลเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากชีวิต  2. วันเน่า ห้ามทำในสิ่งไม่ดี ห้ามพูดไม่ดี และต้องเตรียมทำขนมไปวัด ขนทราย เตรียมของถวายพระ ศัพท์โหราศาสตร์เรียกวันเน่าว่า "วันปูติ" และ ซึ่งคำว่าปูตินั้น มีความหมายว่าเน่า ดังนั้นเราจึงเรียกกันว่า "วันเน่า" ไม่เรียกวันเนาว์ที่เหมือนกับภาคอื่น ในวันเน่าสำหรับวิถีปฏิบัติของคนล้านนา ถือเป็น“วันดา”คือวันที่เตรียมการสำหรับการไปทำบุญใหญ่ที่วัดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นวันพญาวัน ดังนั้น กิจกรรมหลักที่นิยมถือปฏิบัติกันในช่วงเช้าของวันนี้ คือการจัดเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ เช่น การเตรียมอาหารหม้อใหญ่ เนื่องจากต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา ตามสายตระกูลของตน และยังทำบุญเพื่อหวังกุศลผลบุญให้กับตัวเองในภายภาคหน้าอีกด้วย อาหารที่คนล้านนานิยมจัดเตรียมไว้ทำบุญมักเป็นอาหารที่ค่อนข้างพิเศษกว่าอาหารปกติทั่วไป อาทิ แกงฮังเล ต้มจืดวุ้นเส้น ต้มส้มไก่(ต้มข่าไก่)ห่อนึ่ง(ห่อหมก)แกงเผ็ดต่างๆ ตามแบบภาคกลาง(ยุคปัจจุบัน) โดยบางบ้านอาจเตรียมอาหารหลากหลายชนิดตามฐานะและศรัทธาของตนเอง 3. วันพญาวัน ไปทำบุญที่วัดตอนเช้า สรงน้ำพระ และเริ่มดำหัวญาติผู้ใหญ่ วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ถือเป็นวันมงคล ช่วงเช้าของวันพญาวัน ควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศล วิญญาณ ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ไปทำบุญที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ พร้อมอุทิศถึงเทวดา เจ้ากรรมนายเวร แล้วสรงน้ำพระเจดีย์พระพุทธรูป และปักตุงที่ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง โดยแบ่งเป็นตุงประเภทต่างๆ ซึ่งความหมายส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญกุศลและเรื่องของวิญญาณทั้งสิ้น  4. วันปากปี ทำบุญส่งเคราะห์ สืบชะตา กินอาหารที่ทำจากขนุน เพื่อให้หนุนนำชีวิตให้ดีขึ้น เป็นวันถัดจากวันพญาวัน ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดีหลายพื้นที่จะประกอบพิธีสืบชาตาหมู่บ้าน ผู้คนไปร่วมงานกันพร้อมหน้า ตกเย็นจะมีการประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดการหนุนส่งให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม บ้างเสริมบารมี ด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา หลีกเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น     
เผยแพร่เมื่อ 13 เมษายน 2565 • การดู 8,904 ครั้ง
สระเกล้าดำหัว ปีใหม่ล้านนา
สระเกล้าดำหัว ปีใหม่ล้านนา
  "สระเกล้าดำหัว" เป็นการสระผมตนเองและครอบครัวด้วยน้ำส้มป่อยตามพิธี ในวันสิ้นปีคือวันสังขานต์ล่อง(มหาสงกรานต์) เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้หายไปกับปีเก่า โดยใช้ “น้ำส้มป่อย” คือน้ำแช่ฝักส้มป่อย ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นน้ำที่ช่วยชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ "สักการะสระเกล้าดำหัว" เป็นการจัดเตรียมเครื่องสักการะ(ของไหว้) และน้ำส้มป่อยไปสักการะผู้ใหญ่ อันได้แก่พระเถระ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงวัยวุฒิ ตลอดจนถึงผู้มีอุปการะคุณ โดยจะเริ่มทำกันในวันขึ้นปีใหม่ คือวันพญาวัน(เถลิงศก) เพื่อขอขมาในสิ่งที่เคยล่วงเกิน และแสดงความเคารพ เมื่อทำการขอขมา และให้พรแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะนำน้ำส้มป่อยนั้นลูบหัวตัวเอง เสมือนเป็นการรับคำขอขมา และล้างความขุนเคืองที่ผ่านมาออกไป บางครั้งก็มักจะพบคำว่า "รดน้ำดำหัว"  ซึ่งเกิดจากนำเอาคำว่า "รดน้ำ" ของภาษาไทยไปต่อกับคำว่า "ดำหัว" ของภาษาล้านนา สาเหตุเพราะทั้งพิธีรดน้ำภาคอื่นกับดำหัวล้านนาต่างก็อยู่ในช่วงเวลาและธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน  จึงทำให้เกิดการสับสนกันในแง่ภาษาและวิธีปฏิบัติมาโดยตลอด บทความ : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ภาพประกอบ : นายสุขธรรม โนบาง นักช่างศิลป์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.    
เผยแพร่เมื่อ 13 เมษายน 2565 • การดู 2,528 ครั้ง