13 กุมภาพันธ์ 2566
3k
Share on
 

พิธีส่งสการ

 

พิธีส่งสการ(อ่าน ส่งสะก๋าน)

ส่งสการ มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํสการ” เป็นพิธีการปลงศพของชาวล้านนา โดยในขบวนพิธีส่งสการที่เดินทางไปยังป่าเฮ่ว(ฌาปนสถาน) ซึ่งในอดีตการเผาศพชาวล้านนา จะลากจูงปราสาทศพจากบ้านไปยังฌาปนสถานเพื่อประกอบพิธีเผากลางแจ้ง ประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ ดังนี้

ตุงสามหาง เป็นธงสัญลักษณ์รูปศพ คล้ายคลึงกับร่างกายมนุษย์ที่มีชายตุง 3 หาง สื่อถึงไตรวัฏ หรือ ไตรลักษณ์ เป็นของสิ่งแรกที่อยู่หน้าขบวน

ถงข้าวด่วน คือถุงย่ามที่บรรจุอาหารที่พร้อมสำหรับบริโภค จำพวกข้าวปลาอาหาร ผลไม้ เมี่ยง พร้อมให้ผู้ตายได้นำไปเป็นเสบียงใช้ในปรโลก และให้ผู้ที่ถือตุงสามหางเป็นผู้สะพายถุงย่ามไปด้วย

หม้อไฟ เป็นหม้อดินเผาใส่เชื้อไฟนำไปป่าช้า อยู่ถัดจากตุงสามหาง

พระสงฆ์บนเสลี่ยง มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์นั่งบนเสลี่ยงคนหาม อ่านคัมภีร์อภิธรรม ซึ่งอาจเป็นพระอภิธัมมัตถสังคหะ บ้างก็เรียกอภิธัมม์ 7

ปังสุกุลจีวร(บังสุกุลจีวร)

เสลี่ยงเครื่องบูชาศพ ประกอบด้วยตุงเหล็กตุงตอง ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง นอกจากนั้นก็มีมะพร้าว และบาตร

สามเณรบวชจูงศพ สามเณรนี้มักเป็นญาติผู้ตายที่บวชชั่วคราวในพิธีศพโดยเฉพาะ และช่วยกันลากจูงศพไปยังสุสาน

ปราสาทศพ ขนาดของปราสาท และการตกแต่งประดับประดา ขึ้นอยู่ตามกำลังทรัพย์ของครอบครัว และฐานะของผู้ตาย ในอดีตการใช้ปราสาทศพมักทำตามลำดับชั้นในสังคม ซึ่งปราสาทที่มีลำดับชั้นสูงสุดคือ ปราสาทหลังก๋าย เป็นปราสาทที่มีเรือนยอดสูง สำหรับกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ซึ่งบางครั้งอาจทำอยู่บนหลังกูบ หมายถึงการเทินปราสาทบนหลังสัตว์หิมพานต์ จึงมักเห็นปราสาทนกหัสดิลิงค์ ใช้กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ รองลงมาคือปราสาทหลังเปียง หรือปราสาทแบบปากบาล ใช้กับขุนนาง คหบดี หรือผู้มีฐานะ ส่วนคนธรรมดามักใช้ “แมว” เป็นโครงไม้ไผ่สานแล้วติดกระดาษโดยรอบ เพื่อครอบปกปิดศพ บางครั้งก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แล้วยกเสาขึ้น 4 หรือ 6 เสา

ดนตรีพื้นเมือง เป็นวงดนตรีที่ใช้แห่ในขบวน โดยมักบรรเลงเพลงโศกเศร้า เช่น เพลงปราสาทไหว

ผู้นำศพ เป็นญาติ และครอบครัวของผู้ตาย ช่วยลากจูงศพมายังฌาปนสถาน รวมถึงมีการโปรยทานให้ตามทางเดิน

บอกไฟ(บ้องไฟ) คือดอกไม้ไฟที่ใช้จุดในขณะเผาศพ นิยมใช้บอกไฟหล่อ บอกไฟเทียน ปอกไฟจักจ่า(จักจั่น) บอกไฟดาว และบอกไฟช้างร้อง เป็นต้น

ภาพถ่าย : ชุติมา พรหมาวัฒน์ , วาสนา มาวงศ์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 13