13 เมษายน 2565
3k
Share on
 

ความสำคัญของปีใหม่เมืองที่มีต่อชาวล้านนา

 

ปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ คือ

ก่อนที่จะรับเอาปีตามปฏิทินสากล คนไทยและล้านนา ถือเอาช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปี ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อชำระสิ่งไม่ดีออกไป และรับสิ่งเป็นมงคลในวันปีใหม่

การปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์

1. วันสังขารล่อง เป็นวันที่ต้องทำความสะอาดบ้าน ชะล้างสิ่งไม่ดี 

วันที่ปีเก่าจะผ่านพ้นไป หากจะกล่าวในแง่ของดาราศาสตร์ คือวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป คำว่า“ล่องในภาษาล้านนา หมายถึง ล่วงไป หรือ ผ่านไปนั่นเอง

วันสังขานต์ล่องของชาวล้านนา เป็นวันที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นเพื่อรอต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ วันสังขานต์ล่องจึงเป็นวันที่ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรอดูปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ที่เล่ากันว่าจะหอบข้าวของพะรุงพะรังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ หรือบางทีก็ล่องเรือไปตามลำน้ำ 

ชาวล้านนามีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ“การดำหัวหรือสระผมของตนเองด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาดและเป็นมงคลเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากชีวิต 

2. วันเน่า ห้ามทำในสิ่งไม่ดี ห้ามพูดไม่ดี และต้องเตรียมทำขนมไปวัด ขนทราย เตรียมของถวายพระ

ศัพท์โหราศาสตร์เรียกวันเน่าว่า "วันปูติ" และ ซึ่งคำว่าปูตินั้น มีความหมายว่าเน่า ดังนั้นเราจึงเรียกกันว่า "วันเน่า" ไม่เรียกวันเนาว์ที่เหมือนกับภาคอื่น

ในวันเน่าสำหรับวิถีปฏิบัติของคนล้านนา ถือเป็น“วันดาคือวันที่เตรียมการสำหรับการไปทำบุญใหญ่ที่วัดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นวันพญาวัน ดังนั้น กิจกรรมหลักที่นิยมถือปฏิบัติกันในช่วงเช้าของวันนี้ คือการจัดเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ เช่น การเตรียมอาหารหม้อใหญ่ เนื่องจากต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา ตามสายตระกูลของตน และยังทำบุญเพื่อหวังกุศลผลบุญให้กับตัวเองในภายภาคหน้าอีกด้วย

อาหารที่คนล้านนานิยมจัดเตรียมไว้ทำบุญมักเป็นอาหารที่ค่อนข้างพิเศษกว่าอาหารปกติทั่วไป อาทิ แกงฮังเล ต้มจืดวุ้นเส้น ต้มส้มไก่(ต้มข่าไก่)ห่อนึ่ง(ห่อหมก)แกงเผ็ดต่างๆ ตามแบบภาคกลาง(ยุคปัจจุบัน) โดยบางบ้านอาจเตรียมอาหารหลากหลายชนิดตามฐานะและศรัทธาของตนเอง

3. วันพญาวัน ไปทำบุญที่วัดตอนเช้า สรงน้ำพระ และเริ่มดำหัวญาติผู้ใหญ่

วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ถือเป็นวันมงคล ช่วงเช้าของวันพญาวัน ควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศล วิญญาณ ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ไปทำบุญที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ พร้อมอุทิศถึงเทวดา เจ้ากรรมนายเวร แล้วสรงน้ำพระเจดีย์พระพุทธรูป และปักตุงที่ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง โดยแบ่งเป็นตุงประเภทต่างๆ ซึ่งความหมายส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญกุศลและเรื่องของวิญญาณทั้งสิ้น 

4. วันปากปี ทำบุญส่งเคราะห์ สืบชะตา กินอาหารที่ทำจากขนุน เพื่อให้หนุนนำชีวิตให้ดีขึ้น

เป็นวันถัดจากวันพญาวัน ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดีหลายพื้นที่จะประกอบพิธีสืบชาตาหมู่บ้าน ผู้คนไปร่วมงานกันพร้อมหน้า ตกเย็นจะมีการประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดการหนุนส่งให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม บ้างเสริมบารมี ด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา หลีกเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น