30 ตุลาคม 2565
3k
Share on
 

ผีในความเชื่อชาวล้านนา

 

"ผี" ในความเชื่อล้านนา

.

ผี ใกล้ชิดกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนล้านนา ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายเรื่องมีวิธีปฏิบัติในอันที่จะสื่อสารระหว่างคนกับผีเพื่อหาข้อตกลง ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขผ่านพิธีกรรมความเชื่อที่ยึดถือกันมา

โดยจะมีผีที่เเตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ผีพราย

ผีพราย
ผีหรือวิญญาณที่ชอบแฝงเร้นสิงสู่ในร่างคนประเภทหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นผีในสายตระกูลของผู้ที่ถูกสิง ผีนั้นไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จึงมาอาศัยร่างของลูกหลานหากิน การเข้าสิงมีวัตถุประสงค์เพื่ออาศัยหากินของสดของคาว ขณะเดียวกันก็เกาะกินเลือดเนื้อและอวัยวะของผู้ถูกสิง ทำให้ผู้ถูกสิงมีอาการผอม อ่อนเพลีย สีผิวซีดเซียว แต่ถ้าปลอดคนจะมีแววตาแจ่มใส กระฉับกระเฉง และลุกจากที่นอนไปกินของสดในครัว หากหาของคาวไม่ได้จะควักกินปลาร้า กะปิ เศษกระดูก อีกประเภทหนึ่งหมายถึงวิญญาณของหญิงที่ตายเนื่องจากการคลอดลูก เชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายมีความรัก และผูกพันต่อลูกและผัวเป็นอย่างยิ่ง จึงเฝ้าเวียนพยายามหาทางเอาลูกและผัวไปอยู่กับตนในเมืองผี

2. ผีโพรง

ผีโพรง
เป็นผีชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่กับคน ชอบกินของคาว โดยเฉพาะของคาวที่เป็นเมือกจากตัวเขียด จึงออกหากินตามทุ่งนาในยามค่ำคืน เวลาออกหากินจะมีแสงไฟออกจากจมูกเป็นแสงสีขาวปนเขียววูบวาบสำหรับส่องสว่างหาเหยื่อ
คนที่ถูกผีโพรงแฝงอยู่ บ้างว่าสืบทอดมาจากตระกูลของบรรพบุรุษ บ้างว่าเป็นเพราะรับของจากผีโพรง และบ้างก็ว่าเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อน

3. ผีสือ

ผีสือ
เป็นผีชนิดหนึ่งที่มักเข้าสิงคนแล้วออกหากินในยามวิกาล คนที่ถูกผีสือสิงบางแห่งว่าเป็นเพศชาย บางแห่งว่าเป็นเพศหญิง พฤติกรรมที่ชอบทำคือ สูดดม เลีย กินหรือลูบคลำ สัมผัสโสโครก

4. ผีม้าบ้อง

ผีม้าบ้อง
รูปร่างเป็นม้า ชอบออกหากินเวลากลางคืน โดยออกขโมยกินไข่ไก่ ไข่เป็ดของชาวบ้าน บางทีก็ซากสัตว์ตามทุ่งนา เวลาหากินบางครั้งแปลงกายเป็นม้าขาว ม้าดำบ้าง ใครก็ตามที่พบเห็นผีม้าบ้องจะถูกไล่ทำร้าย คืนไหนได้ยินเสียงม้าร้อง ม้าวิ่ง คนโบราณจะไม่ลงจากเรือนไปไหน
ความจริงแล้ว ผีม้าบ้องเป็นคนธรรมดานี่เอง แต่ถูกวิญญาณม้าเข้าสิงในเวลากลางคืน โดยปกติคนที่ถูกสิงก็มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป เมื่อออกหากินกลางคืนแปลงเป็นม้า ใกล้สว่างก็กลายร่างเป็นคนกลับไปนอนที่บ้าน และเชื่อว่าหากกลับบันไดบ้านจากด้านบนเป็นด้านล่าง คนที่เป็นผีม้าบ้องจะขึ้นบ้านไม่ได้และจะต้องตายเมื่อฟ้าสาง

5. ผีสองนาง

ผีสองนาง
เป็นอมนุษย์หรือรุกขเทวดา หรือนางไม้ มีวิมานทิพย์สำหรับสถิตบนต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นไม่ที่มีลักษณะแตกกิ่งออกเป็นสองลำต้นใหญ่ หากมีชายหนุ่มรูปงามเดินผ่านบริเวณที่นางสถิตและเป็นที่พึงพอใจ ก็จะปรากฏกายให้ชายเห็น โดยเฉพาะในคืนวันขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ เมื่อผีสองนางปรากฏกายจะสะกดให้ชายลุ่มหลง ชายใดขาดสติร่วมเสพสมจะนั่งเพ้อคลั่งอยู่บริเวณโคนต้นไม้นั้น รอวันที่จะมีคนมาพบและพากลับบ้าน หากไม่มีใครพบชายโชคร้ายนั้นจะสิ้นใจตายด้วยผ่ายผอมและอ่อนเพลียในที่สุด

6. ผีปกกะโหล้ง

ผีปกกะโหล้ง
มักปรากฏตัวเป็นชายแก่มีผมและหนวดเครายาวรุงรัง หากเด็กคนใดแอบหนีไปเที่ยวโดยปราศจากผู้ใหญ่ไปด้วย ผีปกกะโหล้งจะปรากฏตัวพร้อมบังคับให้หาเห็บเหาในหนวดเคราและเส้นผม เห็บเหาที่หาได้แท้จริงเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะขาบ แมงป่อง งู หนอน เป็นต้น หากเด็กคนใดกล้าหาญเข้าไปหาเห็บเหาจนมันพอใจ มันจะให้เข็มทองเล่มหนึ่ง แต่หากเด็กคนไหนขี้ขลาด แสดงอาการกลัวและวิ่งหนีมันจะจับฉีกขาแล้วล้วงกินตับไตจนหมด

7. ผีตาวอด

ผีตาวอด
บางท้องถิ่นว่า "ผีบ้าตาวอด" คือคนที่ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นครึ่งคนครึ่งผี หรืออมนุษย์จำพวกยักษ์ ตาของมันอาจเห็นว่าตาบอด แต่สามารถมองเห็นได้ดี จะมีถุงหรือย่ามเท่ากระสอบข้าวประจำกายอยู่เสมอ

8. ผีปู่ดำย่าดำ

ผีปู่ดำย่าดำ
เป็นผีประจำอุปกรณ์ในการนึ่งข้าวเหนียว ได้แก่หม้อนึ่ง และไหข้าวในครัวเรือนของแต่ละครอบครัว โดยทั่วไปผีปู่ดำย่าดำนี้ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นผีที่คอยดูแลทรัพย์สินในบ้านและคุ้มครองคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังสามารถพยากรณ์เรื่องราวบางประเภทที่มนุษย์ต้องการทราบอีกด้วย
ดังนั้นยามที่คนในครอบครัวจะออกเดินทางออกนอกบ้านไปต่างถิ่นหรือแดนไกล มักบอกกล่าวแก่ผีปู่ดำย่าดำ ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ โดยเฉพาะเด็กอ่อนนั้น เมื่อกล่าวขอความคุ้มครองแล้ว มักเอาดินเขม่าหม้อนึ่งป้ายที่หน้าผากเด็กด้วย ประหนึ่งว่าเด็กคนนี้มีผู้คุ้มครอง ผีอื่นอย่าได้มารังควาน
ส่วนในด้านการพยากรณ์จะมีพิธีเชิญผีมาลงเพื่อตอบคำถามเรื่องราวต่างๆ เช่นพิธี “ไกวข้าว” พิธี “ลงผีหม้อนึ่ง”

9. ผีปู่แถน ย่าแถน

ผีปู่แถน ย่าแถน
เป็นผีที่สถิตอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นฟ้า เป็นที่รวมของวิญญาณของผู้ที่จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์ โดยชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์เมื่อตายจากโลกนี้แล้วจะไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรหม เทวดา ภูตผีปีศาจชาตินรก สัตว์เดรัจฉาน หรือกลับมาเป็นมนุษย์ เมื่อตายจากภพภูมินั้นๆ ดวงวิญญาณจะรวมกันอยู่ที่เมืองแถน อันมีผีปู่แถน ย่าแถน ซึ่งเป็นมหาเทพสูงสุดดูแลอยู่ ดวงวิญญาณดวงใดถึงกำหนดได้ลงเวลามาเกิดเป็นมนุษย์ จะไปสิงสถิตอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายผีปู่แถน ย่าแถนก่อน เมื่อถึงเวลาลงมาเกิดผีปู่แถน ย่าแถนจะส่งดวงวิญญาณที่อยู่ตามร่างกาย ซึ่งบางดวงถูกส่งจากหัว บางดวงจากปาก หรือบางดวงจากเท้า แต่ก่อนที่จะส่ง ปู่แถน ย่าแถน จะสั่งกำชับว่าหากผู้ใดได้ไปเกิดแล้ว “ลืมพ่อเก๊าแม่เดิม” หมายถึงไม่นึกถึงปู่แถน ย่าแถน ไม่ยอมส่งเครื่องเซ่นสังเวย ผู้นั้นจะได้รับผลร้ายนานาต่างๆ หนักเข้าจะเอาชีวิตในที่สุด และหากผู้ใดรำลึกส่งเครื่องเซ่นสังเวยให้ผีปู่แถน ย่าแถน ก็จะบันดาลให้อยู่ดีมีสุข อายุมั่นยืนยาว ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ควรหาโอกาสประกอบพิธี “ส่งแถน” อันเป็นพิธีบูชาสังเวยผีปู่แถนย่าแถน เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างเป็นสุข

10. ผีพ่อเกิดแม่เกิด

ผีพ่อเกิดแม่เกิด
เป็นผีซึ่งเคยเป็นพ่อแม่ ครั้งเมื่ออยู่เมืองผี ชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก่อนจะมาเกิดในโลกมนุษย์นั้น ต่างเคยอยู่เมืองผี และมีพ่อแม่อยู่เมืองผีมาก่อน เมื่อตายจากเมืองผีมาเกิดในเมืองคน พ่อแม่ที่อยู่เมืองผียังมีความผูกพันอาลัยรัก จึงตามมาราวีเบียดเบียนทำร้าย โดยเฉพาะเด็กช่วงปฐมวัยอายุไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้เด็กตายจากสภาพเป็นคน กลับไปเป็นลูกของตนในเมืองผีอีก ดังนั้นเมื่อเด็กเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาไม่หาย จึงต้องมีการเจรจาต่อรองพร้อมใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกับผี โดยผ่านพิธี “ส่งพ่อเกิด แม่เกิด”

11. วานเกิด

วานเกิด
คำว่า “วาน” หมายถึงญาติ “วานเกิด” คือญาติในปรภพ เมื่อเด็กเกิดการเจ็บป่วยก็เชื่อกันว่าถูกวาน หรือญาติเก่าในชาติก่อนเบียดเบียน จึงมีการเซ่นสังเวยที่เรียก “ส่งวานเกิด”
ส่งวานเกิด เป็นพิธีกรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับพิธีส่งพ่อเกิดแม่เกิด กล่าวคือมีวัตถุประสงค์เพื่อไถ่เอาชีวิตเด็กที่เจ็บป่วยและเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี แต่ในส่วนของรายละเอียดการส่งพ่อเกิดแม่เกิดจะระบุชื่อแม่เกิด พร้อมกำหนดทิศทางและเวลาในการส่งเครื่องบัตรพลีตลอดจนเครื่องในพิธีไม่ค่อยซับซ้อน ส่วนการส่งวานเกิดไม่ได้ระบุชื่อผี ไม่กำหนดเวลาในการส่ง แต่เครื่องประกอบพิธีค่อนข้างซับซ้อน โวหารในการเจรจาต่อรองชีวิตเด็กดูหนักแน่น เต็มไปด้วยเหตุผลที่น่าฟัง

12. ผีไร่นา

ผีไร่นา
ชาวไร่ชาวนาโบราณ เชื่อกันว่าถ้าพืชพรรณในไร่นาถูกศัตรูพืช อาทิ นก หนู บุ้ง แมลงและเพลี้ย เป็นต้น เข้ารบกวนทำลาย ให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นเพราะการกระทำของผีอันเป็นบริวารของเทวาธิราช อันมีพระอินทร์เป็นประธาน ผีดังกล่าวมีชื่อขึ้นต้นด้วย “อ้าย” มีทั้งหมด 10 ตน
ผีเหล่านี้อาจถูกหัวหน้าผีใช้ให้มาดูแลตรวจตราดูความสงบเรียบร้อยในโลกมนุษย์ แต่เมื่อถึงโลกมนุษย์แล้ว ผีอาจคึกคะนอง หรือมีพฤติกรรมเป็นผีพาล เพราะขาดหัวหน้าคุมประพฤติ เที่ยวกลั่นแกล้งคนให้ได้รับความเดือดร้อน อย่างเช่น การแปลงกายเป็นนก หนู หมู่หนอน และแมลงลงจิกกัดทำลายพืชผลข้าวกล้าในนา เป็นต้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำให้พืชพรรณเสียหาย ชาวล้านนาจะประกอบพิธี เซ่นผีที่ลงมาทำลาย เรียกชื่อพิธีว่า “ส่งผีไร่นา” “ส่งฮ่าลงนา” หรือ “ส่งบ้งส่งเพรี้ยง” 

13. ผีอ้ายม่วง

ผีอ้ายม่วง
เป็นผีที่อยู่ประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งมีชื่อปรากฏตามทิศต่างๆ เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวล้านนาเชื่ออย่างหนึ่งว่ามีสาเหตุจากการกระทำของผีดังกล่าว หากต้องการให้หายจากโรคภัยควรจัดให้มีพิธี “ส่ง” คือเซ่นสังเวยบูชาเรียกว่า “ส่งเคราะห์อ้ายม่วง” สาเหตุที่เรียกดังนี้เพราะผีอ้ายม่วงเป็นผีที่ถูกกล่าวผีตนแรก ดังปรากฏในตำราโบราณของ พ่อน้อยมูล นวลตา บ้านย่าพาย ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “ลูกอ่อนก็ดี ฅนแก่ก็ดีคันเป็นพยาธิ์หื้อส่งเคราะห์อ้ายม่วงเสีย แม่นหล้างเป็นหนักก็หน้อย แม่นเป็นหน้อยก็จักหาย แม่นหล้างตายก็บ่ตาย เท่าเว้นไว้แต่กัมม์สิ่งเดียว พระเจ้าก็บ่ห้ามได้แล” ความว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามหากโรคภัยเบียดเบียน ให้ประกอบพิธีส่งเคราะห์อ้ายม่วงเสีย จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา เมื่อทุเลาแล้วจะหาย แม้อาการหนักปางตาย ก็อาจรอดชีวิต เว้นไว้แต่เป็นเพราะผลแห่งกรรมเท่านั้น ซึ่งแม้นแต่พระผู้เป็นเจ้าก็มิอาจห้ามความเจ็บและความตายได้ 

14. ผีเข็ญหลวง

ผีเข็ญหลวง
ชาวล้านนา มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าช่วงใดที่ประสบกับความลำบากยากเข็ญ มีแต่ความสูญเสียหรือเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายรักษาไม่หาย อาจเป็นเพราะถูกผีประจำทิศทั้งสี่บันดาลให้เป็นไป ซึ่งผีดังกล่าว มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “อ้าย”
ผีทั้งสี่นี้เรียกกันทั่วไปว่า “ผีเข็ญ” หรือ “ผีเข็ญหลวง” หากจะให้พ้นภัยอันเกิดจากการกระทำของผีเข็ญ ต้องประกอบพิธี “บูชาเข็ญ หลวง” คือเซ่นสรวงบูชาผีเข็ญด้วยเครื่องบัตรพลีตามที่โบราณกำหนด 

 

ฮาโลวีนวันปล่อยผีของล้านนา จะเรียกได้ว่า เป็นวันสิบสองเป็ง (วันเปตพลี) เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับ ในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ เพราะเชื่อกันว่าในวันดังกล่าว พญายมราชได้ปลดปล่อยวิญญาณของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน