ดอกสัก

ประวัติสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทํานุบํารุงและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม รวบรวมและค้นคว้าข้อมูลวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยการจัดประชุม อบรม สัมมนา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจอันถูกต้อง เพื่อสร้างมาตรฐานทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปวัฒนธรรมล้านนา การดําเนินงานในระยะเริ่มต้นประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ แต่ก็ยังมีงานด้านศิลปวัฒนธรรมอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและอนุรักษ์ เพราะประสบปัญหาด้านงบประมาณและอัตรากำลัง จึงทำให้ไม่สามารถขยายขอบข่ายงานออกไปได้ ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้ประกาศยกฐานะ “โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม” เป็น “สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม” ขึ้นเป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 110 ตอนที่ 87 โดยจัดตั้งขึ้นตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2530 มาตรา 7

พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 44 ก ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมาตรา 5 กําหนดให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย และตามมาตรา 2 วรรคสอง รวมทั้งมติสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ได้ประกาศจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 โดยให้ “สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม” เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2551 โดยดําเนินงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ "มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาสมบูรณ์แบบทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและเกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นส่วนรวม บริการทางวิชาการแก่สังคม ทะนุบํารุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"

ต่อมา พระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 29 ง ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ได้มีประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้ “สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม” เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์” เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานในปัจจุบัน