พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 (Museum Thailand Awards 2020) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน
พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2564 (Museum Thailand Awards 2021)  ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ เเละวัฒนธรรม รางวัลดีเด่น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน และด้านการดุแลสุขอนามัยและความปลอดภัย
Thailand Tourism Gold Awards สาขาแหล่งท่องเทียวเพื่อการเรียนรู้
สำนักงานสีเขียว (Green Office) ประจำปี 2564 ระดับดีเยี่ยม (ทอง)
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565  ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดี
มาตรฐาน SHA พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.
มาตรฐาน SHA  PLUS พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.
Safe Travel พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.

 
Virtual Museum 360 พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเสมือนจริง
เข้าชมนิทรรศการเรือนทรงอาณานิคมคิวรีเปอล์แบบออนไลน์

ลงทะเบียนเข้าชมรอบฉาย
นิทรรศการเรือนทรงอาณานิคมคิวรีเปอล์
ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

 
นิทรรศการเรือนทรงอาณานิคมคิวรีเปอล์คืออะไร? คลิกที่นี่
 
*
*
*
*
*
 

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ตั้งอยู่ภายในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาในรูปแบบต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ซึ่งเรือนแต่ละหลังเป็นเรือนโบราณที่ได้รับการสนับสนุนให้รื้อย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ จากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรือนล้านนา ในปัจจุบันมีเรือนอยู่จำนวน 10 หลังและยุ้งข้าวอีก 4 หลัง แต่ละหลังก็มีที่มาและประวัติของตนเอง นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาภูมิปัญญาเชิงช่างในอดีต

 

เรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ ตัวเรือนขนาดเล็ก มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วเดียวยกพื้นสูงเล็กน้อย ในอดีตเรือนเครื่องผูกเป็นของชาวบ้านทั่วไปที่สร้างขึ้นกันเอง โดยการตัดไม้ไผ่มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของเรือน แล้วใช้ตอกยึดให้ติดกัน อาจมีการใช้เสาเรือนด้วยไม้จริงบ้าง แต่โดยรวมแล้วองค์ประกอบของเรือนส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ไผ่ เช่น โครงสร้างหลังคา ฝาและพื้นเรือนที่ทำมาจากฟาก เป็นต้น นอกจากนั้น เรือนเครื่องผูกยังเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ มักสร้างเป็นเรือนเครื่องผูกแบบชั่วคราวก่อนที่จะเก็บเงิน และไม้จริงได้มากพอสำหรับขยายเรือนต่อไป

เรือนชาวเวียงเชียงใหม่(พญาปงลังกา)

“เรือนพญาปงลังกา” ตั้งตามชื่อของผู้เป็นต้นตระกูล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2439 โดยพ่อน้อยถาและแม่หน้อย ซึ่งเป็นลูกเขยและลูกสาวของ พญาปงลังกา ต่อมาเรือนหลังนี้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังแม่อุ๊ยคำใส ถาวร ลูกสาวพ่อน้อยถาและแม่หน้อย จนถึงรุ่นหลานในยุคปัจจุบัน คือคุณจรัส มณีสอน ทายาทรุ่นโหลนของพญาปงลังกา เรือนหลังนี้สร้างเมื่อ แม่อุ๊ยคำใส ถาวร อายุประมาณ 3 ขวบ เมื่อเวลาผ่านไปความทรุดโทรมของสภาพเรือนก็เพิ่มมากขึ้น คุณพูนสวัสดิ์ ทองประดี และคุณจรัส มณีสอน ทราบว่าสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มีการอนุรักษ์เรือนโบราณ จึงตัดสินใจมอบเรือนหลังนี้ให้ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเรือน จากบ้านเลขที่ 769 หมู่ 4 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วนำมาปลูกสร้างใหม่ตามแบบพิธีกรรมทางล้านนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรือนหลังนี้สร้างจากไม้เนื้อแข็งทั้งหลังมุงหลังคาด้วย “ดินขอ” มีขนาดใหญ่ปานกลาง ถือเป็นเรือนของผู้มีฐานะ รูปแบบของเรือนคลี่คลายมาจากเรือนกาแลดั้งเดิม แต่ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังคงไม่แตกต่างไปจากเรือนรุ่นก่อนมากนัก โดยสร้างเป็นเรือนขนาดสองจั่วยกพื้นสูง เรือนใหญ่เป็น “เฮือนนอน” และมี “เติ๋น” เป็นพื้นที่โล่งกว้างเปิดฝาผนังด้านเดียวอยู่ด้านหน้าเรือน สำหรับนั่งทำงาน รับรองรับแขก และใช้พักผ่อนในเวลากลางวัน ส่วนเรือนเล็กทางด้านตะวันออกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว มีประตูด้านหน้าออกไปยังชานระเบียงขนาดเล็กที่เชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน

เรือนกาแล(พญาวงศ์)

เรือนพญาวงศ์ เป็นชื่อที่ได้มาจากเจ้าของเรือนคือ พญาวงศ์ นายแคว่นหรือกำนันแห่งบ้านสบทา แขวงปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เรือนหลังนี้ปลูกสร้างโดยลูกเขยของพญาวงศ์ ชื่อว่า พญาอุด ซึ่งเป็นนายแคว่นบ้านริมปิง ได้สร้างเรือนหลังนี้ให้กับพญาวงศ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 เมื่อพญาวงศ์เสียชีวิตลงก็ไม่มีผู้สืบทอดหรืออาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อ จนกระทั่ง พระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตฺตสนฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้าและเจ้าคณะอำเภอป่าซางในขณะนั้น ได้พบเห็น จึงได้ติดต่อขอซื้อเรือนแล้วทำการรื้อย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านก็เป็นเจ้าอาวาสของวัดนี้ด้วยอีกแห่งหนึ่ง จากนั้น นายแฮรี่ วอง ชาวสิงค์โปร์ได้ซื้อไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิ ดร.วินิจ–คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้สนับสนุนการรื้อถอนและมอบเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรือนพญาวงศ์ เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วย “ดินขอ” หลังคาทรงจั่วแฝด หรือ “สองหลังร่วมพื้น” ยอดจั่วมี “กาแล” เป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากป้านลมวางไขว้กันอยู่ จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า “เรือนกาแล” ซึ่งเป็นเรือนล้านนาดั้งเดิมที่นิยมทำในช่วงประมาณ 100 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ฝาเรือนพญาวงศ์ก็เป็นแบบล้านนาโบราณที่ทำเป็นฝาผายออกเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาที่ป้านและลาดต่ำ ลักษณะการแบ่งพื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย 4 ส่วน คือ “ชาน” อยู่ด้านหน้าของเรือนพร้อมบันไดทางขึ้น เป็นส่วนที่เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม มีขนาดพื้นที่ 1 ใน 3 ของตัวเรือนทั้งหมด ถัดจากชานเป็น “เฮือนนอน” มีอยู่ 2 หลังคู่กัน โดยเรือนด้านตะวันออกจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือนด้านตะวันตกเล็กน้อย เพราะความเชื่อของชาวล้านนาจะไม่สร้างจั่วเรือนให้มีขนาดเท่ากัน ดังนั้นเจ้าของเรือนจึงอาศัยอยู่ในเรือนใหญ่ ส่วนเรือนเล็กก็มักจะจัดให้เป็นห้องของลูกสาวที่แต่งงานแล้ว เหนือประตูห้องนอนมี “หัมยนต์” ติดอยู่ ด้านหน้าเรือนนอนทั้งสองคือ “เติ๋น” ทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้เชื่อมต่อกับชาน แต่ยกพื้นขึ้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ตรงกลางระหว่างเรือนแฝดมีทางเดินเชื่อมไปยังด้านหลังเรือน ซึ่งมี “เฮือนไฟ” เป็นเรือนเรือนขนาดเล็กวางแนวขวาง ทำด้วยฝาไม่ไผ่สานขัดกัน และมีบันไดทางขึ้นต่อจากชานหลังเรือน เดิมทีช่างได้สร้างเรือนพญาวงศ์ด้วยวิธีการเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดีแทบไม่ปรากฏรอยตะปู อันเป็นความสามารถเชิงช่างในอดีต แต่ปัจจุบันผลจากการรื้อย้ายและการซ่อมแซมทำให้ปรากฏรอยตะปูให้เห็นบ้าง ยกเว้นบางส่วนที่ยังคงสภาพดี จากรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนพญาวงศ์ จึงถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของเรือนกาแลล้านนาที่สมบูรณ์หลังหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การศึกษาทั้งในด้านเทคนิคการสร้างและพื้นที่ใช้สอยภายในเรือน

เรือนกาแล(อุ๊ยผัด)

เรือนอุ๊ยผัด เป็นของ อุ๊ยผัด โพธิทา อยู่ที่ตำบลป่าพลู อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2456 โดยทาง มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และ อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนนี้ จึงได้สนับสนุนการรื้อย้ายจากอำเภอจอมทองมาปลูกไว้ในบริเวณที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2537 ลักษณะเป็นเรือนกาแลขนาดเล็กยกพื้นสูง ทำด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” หรือ กระเบื้องไม้ ตัวเรือนมี 3 จั่ว คือ “เฮือนนอน” ทำเป็นจั่วขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออก ส่วน “เฮือนไฟ” มีขนาดเล็กอยู่ทางด้านตะวันตก และจั่วขวางขนาดเล็กด้านหน้าเรือนเป็นที่วางหม้อน้ำดื่ม มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและหลังเรือน บันไดด้านหน้าเรือนเชื่อมต่อกับชาน หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ชานฮ่อม” ถัดจากชานเข้าไปด้านซ้ายมือมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นไม้ยกระดับติดกับข้างฝา เป็นที่สำหรับตั้งหม้อน้ำไว้บริการแขกผู้มาเยือนและคนในเรือน ถัดจากชานฮ่อม เป็นบริเวณของ “เติ๋น” ซึ่งถูกยกระดับให้สูงกว่าพื้นชานฮ่อมราวหนึ่งคืบและอยู่ภายในชายคาเรือน พื้นที่ส่วนนี้มีความกว้างมากพอสำหรับใช้ประโยชน์ได้ตามเอนกประสงค์ ด้านตะวันออกของเติ๋นจะตีฝาไม้คั่นระหว่างเติ๋นกับชานฮ่อมเพื่อกั้นเป็น “หิ้งพระ” โดยทำชั้นไม้ติดกับผนังฝั่งขวา ตรงกลางเติ๋นเป็นทางเดินยาวทะลุไปถึงชานด้านหลังเรือน ภายในเรือนถัดจากเติ๋นคือห้องนอน ภายในเป็นห้องโถงกว้างแบ่งเป็นห้องเล็กๆ โดยใช้ “ผ้ากั้ง”ตรงส่วนบนของกรอบประตูห้องนอนจะมีแผ่นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ เรียกว่า “หัมยนต์” อันเป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปิศาจมารบกวน

เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)

เรือนหม่อนตุด เป็นเรือนของชาวไทลื้อ ที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทยวน โดยกลุ่มชาวไทลื้อจากมณฑลยูนาน ตอนใต้ของจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต ซึ่งแต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 โดย พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เริ่มจากการซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ที่มีรูปทรงเรียบง่ายตามแบบเรือนสามัญชน ปลายปี 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ทราบเรื่องการประกาศขายเรือนของหม่อนตุดจาก ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ จึงตัดสินใจซื้อไว้แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนทั่วไปได้ศึกษา เรือนหม่อนตุดเป็นเรือนไม้ขนาดกลางมุงหลังคา “แป็นเกล็ด” ลักษณะเป็น “เรือนสองหลังหน้าเปียง” หมายถึงมีเรือนจั่วสองหลังวางต่อกันในระนาบเดียวกัน องค์ประกอบของเรือน 2 หลัง คือ ห้องด้านตะวันออกเป็น “เฮือนนอน” โล่งกว้าง สำหรับสมาชิกในครัวเรือนจะนอนรวมกันในห้องนี้ โดยใช้ “ผ้ากั้ง” มีลักษณะเป็นเหมือนผ้าม่าน ใช้กั้นแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ตามช่วงเสา ส่วนเรือนที่อยู่ทางด้านตะวันตกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว อยู่ระดับเดียวกับพื้นเรือนนอน ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันทำเป็นรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่อมริน” ด้านข้างเรือนไฟทำเป็นระเบียงยาวเชื่อมกับชานหลังบ้าน มีบันได 2 ด้าน คือที่ชานหน้าและชานหลังบ้าน หน้าเรือนทั้งสองเป็นพื้นที่โล่งไม่มีผนังกั้นเรียกว่า “เติ๋น” เป็นที่ทำงานบ้าน เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย จักสาน และเป็นที่นั่งพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน ฝาเรือนด้านตะวันออกของเติ๋นมี “หิ้งพระ” ทำเป็นชั้นวางเพื่อสักการะบูชาพระพุทธรูปหรือเก็บรักษาเครื่องรางของขลัง ถัดจากเติ๋นออกมานอกชายคาคือ “ชาน” เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาแล้วเชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน ด้านข้างชานมี “ฮ้านน้ำ” วางหม้อน้ำสำหรับดื่ม ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง สร้างคอกวัวควายและมีครกมองตำข้าว

เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)

เรือนหลังนี้เดิมเป็นของอุ๊ยอิ่นและอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ตั้งอยู่ที่บ้านสันต๊กโต (สันติธรรม) หรือบริเวณแจ่งหัวลิน ใกล้ๆ กับถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ซื้อเรือนหลังนี้ไว้ โดยมีมูลนิธิ มร. ยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโต เซกะ ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนในการอนุรักษ์ แล้วนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2540 เรือนพื้นถิ่นเมืองเหนือ เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ก่อสร้างอย่างธรรมดาตามแบบชาวบ้านทั่วไป มีขนาดเล็กกะทัดรัดสำหรับครอบครัวเดี่ยว ตัวเรือนยกพื้นไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเรือนล้านนาในยุคก่อน ถือเป็นรูปแบบที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ หลังคาเรือนมีสองจั่ววางต่อกันเป็นผืนคลุมทั้งตัวเรือน จึงไม่มีชานโล่งด้านหน้าเรือน แต่ทำฝาไม้ระแนงโปร่งปิดทุกด้านแทน ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังคงมีความคล้ายคลึงกับเรือนยุคก่อน ซึ่งมี “เติ๋น” อยู่ส่วนกลางของเรือน ทำเป็นพื้นยกระดับขึ้นมาจากทางขึ้นหน้าประตู ด้านตะวันออกของเติ๋นเป็น “หิ้งพระ” สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากเติ๋นเข้าไปมีห้องนอน 2 ห้อง อยู่ทางด้านตะวันออกและตะวันตก ตรงกลางเป็นทางเดินทะลุไปยัง “ครัวไฟ” หรือห้องครัวด้านหลังเรือน

เรือนพื้นถิ่นแม่แตง

เรือนพื้นถิ่นแม่แตงปลูกสร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2460 ที่บ้านป่าไผ่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ. เชียงใหม่ เดิมเป็นเรือนของ พ่อน้อยปิง แล้วตกทอดมาถึง นางขาล ตาคำ จากนั้นได้ย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2551 รูปแบบเป็นเรือนพื้นถิ่นที่มีการจัดพื้นที่ใช้สอยตามการใช้งานของครอบครัวในชนบท ตัวเรือนเป็นจั่วแฝดยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง โครงสร้างเป็นระบบเสาและคานใช้ประกอบแบบเจาะช่องสอดเข้าเดือย บาก พาดผนังเรือนเป็นไม้แผ่นตีซ้อนแนว ส่วนพื้นเรือนปูด้วย “ไม้แป้น” หรือไม้กระดาน โดยยกพื้นห้องนอนและเติ๋นขึ้นมาหนึ่งระดับเพื่อแบ่งส่วนพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งตรงบริเวณจุดต่างระดับของพื้นอีกด้วย ส่วนหลังคาสองจั่วหลักเชื่อมต่อกันโดยมุงกระเบื้องดินขอ มี “ฮ่อมลิน” คือทางเดินระหว่างเรือนสองหลังเป็นแนวยาวระหว่างเรือนนอน จากพื้นที่เติ๋นไปยังด้านหลังเรือน เหนือฮ่อมรินเป็น “ฮางริน” หรือรางระบายน้ำฝนวางในจุดเชื่อมต่อระหว่างชายคาสองจั่วชายคา ด้านหน้าเรือนใกล้กับบันไดในส่วนของชานมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นยื่นออกมา พื้นที่ของเติ๋นและชานทำหลังคายื่นออกมาคลุมทั้งหมดไว้ แล้วกั้นด้านหน้าเรือนด้วย “ฝาไหล” เป็นเหมือนฝาที่สามารถเลื่อนเปิดหรือปิดช่องว่างระบายอากาศได้ รอบๆ เรือนทำระเบียงไม้ระแนงกั้นไว้ เพื่อให้ตัวเรือนดูมิดชิดขณะเดียวกันก็ช่วยถ่ายเทอากาศได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากเรือนล้านนาโบราณที่เปิดโล่งในส่วนของเติ๋นและชาน

เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)

เดิมเป็นเรือนของ หลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา ที่สร้างให้กับบุตรชาย คือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2467 เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของบริษัทสุเทพ จำกัด ต่อมาทายาทได้มอบเรือนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2547 มีลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่จำนวนสองชั้น เป็นรูปแบบเรือนของคหบดีหรือผู้มีฐานะนิยมสร้างขึ้นในช่วงสมัยที่ยังคงได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เกิดเป็นรูปแบบที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในยุคโคโลเนียลกับเรือนพื้นถิ่นล้านนา จึงมีหลังคาทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัวผสมผสานกับหลังคาทรงจั่วที่ยังคงมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอ ชั้นบนเป็นระเบียงมุขยื่นออกมาด้านหน้า เชื่อมด้วยระเบียงยาวที่ทำล้อมรอบตัวเรือน ตั้งแต่โถงบันไดทางขึ้นด้านข้างยาวจนจรดด้านหลังเรือน ภายในตัวเรือนชั้นบนเป็นห้องโถงที่มีบันไดลงสู่ชั้นล่าง พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างปิดผนังด้วยฝาไม้ทุกด้าน ระหว่างผนังเจาะช่องหน้าต่างเพื่อระบายอากาศและให้แสงเข้าถึงในห้อง

เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง

เรือนหลังนี้เดิมเป็นเรือนไม้ที่ปลูกสร้างต่อเติมในตัวอาคารตึกสองชั้นของหลวงอนุสารสุนทร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนไม้หลังนี้มีลักษณะเฉพาะ คือมีฝาผนังของเรือนโดยรอบทั้งสี่ด้านเป็นฝาไม้แบบบานเลื่อน ที่เรียกว่า “ฝาไหล”เพื่อการระบายอากาศของเรือนได้ดี เรือนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัยของหลวงอนุสารสุนทร และแม่นายคำเที่ยง โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของห้องนอน และส่วนพื้นที่โล่งที่เรียกว่า “เติ๋น” ไว้สำหรับใช้สอยและกินข้าว ส่วนชั้นล่างของเรือนใช้สำหรับเก็บสินค้าของอาคารตึก หรือที่เรียกกันว่า บ้านตึก หลวงอนุสารสุนทร และแม่นายคำเที่ยง ได้พักอาศัยในเรือนหลังนี้ จนกระทั่งแม่นายคำ เที่ยงถึงแก่กรรมเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๓ และหลวงอนุสารสุนทรถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ภายหลังในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลูกหลานได้มอบและย้ายเรือนนี้ให้มาปลูกสร้าง ณ วัดสวนดอก พระ อารามหลวง ทางวัดจึงปรับใช้เรือนเป็นอาคารสำนักงาน ทั้งนี้ด้วยรูปแบบของเรือนที่สร้างเดิมที่บ้านตึกนั้นมีบันได ที่เคย ใช้เป็นทางขึ้นติดอยู่กับตัวอาคารตึก เมื่อย้ายมาทางวัดจึงได้สร้างส่วนบันไดทางขึ้นให้อยู่ข้างนอกตัวเรือน ด้านหน้าทั้งด้านซ้ายและขวาขึ้นไปเชื่อมต่อกับระเบียงเข้าตัวเรือนชั้นบนได้ เมื่อวันที่๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ทางวัดสวนดอก พระอารามหลวง ได้พิจารณาเห็นว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของล้านนา จึงขอมอบอาคาร เรือนฝาไหล ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำไปปลูกสร้าง ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการอนุรักษ์ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการรื้อถอนและปลูกสร้างให้คงสภาพเดิม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และกลุ่มบริษัทในเครืออนุสาร (บริษัทอนุสารเชียงใหม่ จำกัด บริษัทคำเที่ยงพัฒนา จำกัด และ บริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด) ได้จัดทำพิธียกเสามงคล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ปลูกสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และจัดพิธีทำบุญเรือน วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)

อาคารที่มีรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก เรียกว่าแบบโคโลเนียล (Colonial) หรือเรือนในยุคอาณานิคม ได้รับการอนุรักษ์ไว้จากบ้านที่เคยเป็นของนายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ (Mr. Arther Lionel Queripel) สร้างไว้ในราว พ.ศ. 2469 ลักษณะของเรือนสร้างตามแบบตะวันตก เป็นอาคารทรงตึกสองชั้น โครงเป็นอิฐและปูน พื้นและเพดานเป็นไม้ ด้านหน้าอาคารมีระเบียงยาวตลอดแนว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเรือนในยุคนี้ ภายในเรือนแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วน มีห้องต่างๆ ตามการใช้สอย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ ทางเข้าเรือนชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างและมีเตาผิงไว้สำหรับให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว ในปี พ.ศ. 2506 ที่ดินผืนนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการอนุรักษ์เรือนไว้ให้คงสภาพเดิม

 

ยุ้งข้าวเปลือย

เป็นหลองข้าวขนาดเล็ก มี 6 เสา แตกต่างจากหลองข้าวทั่วไปที่มีจำนวน 8 เสาขึ้นไป สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยใช้เสาหลองข้าวเก่าและไม้ที่เหลือจากการซ่อมแซมเรือนในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มาสร้างตามต้นแบบหลองข้าวทรงแม่ไก่ในบ้าน อ.วิถี พานิชพันธ์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นรูปแบบหลองข้าวประเภทที่ไม่มีฝาปิด ซึ่งเก็บข้าวโดยใส่ข้าวเปลือกไว้ในเสวียนที่ทำมาจากไม้ไผ่สาน พอกทับด้วยมูลวัวผสมยางไม้

ยุ้งข้าวสารภี

หลองข้างหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 เจ้าของคือ พ่อโต (เศรษฐี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 Professor Dr. Hans Langholz และภรรยา Dr. Med. Dr. Phil Agnes Langholz ได้ให้การสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายหลองข้าวหลังนี้มาไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม หลองข้าวสารภีเป็นอาคารไม้ขนาดกลาง ใต้ถุนสูงพอประมาณ ใช้วิธีการสร้างแบบโบราณ โดยทำโครงสร้างหลังคาใช้วิธีเจาะเพื่อเข้าเดือยปลายเสา แล้วเจาะช่องกลางเสาสอดไม้แวง(รอด) ทะลุส่วนที่เป็นหลังคาจั่วลาดต่ำ ตัวเรือนตีไม้ปิดทึบเป็นห้องเอาไว้เก็บข้าว ล้อมรอบด้วยระเบียงชั้นนอก

ยุ้งข้าวป่าซาง(นันทขว้าง)

หลองข้าวขนาดใหญ่ของตระกูลนันทขว้าง เดิมตั้งอยู่ในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยคุณโสภา เมืองกระจ่าง (นันทขว้าง) เจ้าของหลองข้าวป่าซาง บริจาคให้อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณการรื้อถอนและชะลอมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ให้คงสภาพเดิม จากงบประมาณรายได้ปี พ.ศ.2559 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนร่วมจากคณะกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ให้กับพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบพื้นที่หลองข้าวป่าซางให้งดงาม โดยในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบ 25 ปี ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ได้จัดพิธีทำบุญขึ้นหลองข้าวที่ได้นำมาปลูกสร้างขึ้นในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา และพิธีมอบหลองข้าวอย่างเป็นทางการ หลองข้าวป่าซาง(นันทขว้าง) เป็นหลองข้าวขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากอายุรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแล้ว ประมาณอายุได้ 150-170 ปี บริเวณเสาช่วงกลางหลองข้าวมีร่องรอยบากไม้ เพื่อนำแผ่นไม้มาใส่กั้นเป็นห้องเก็บข้าว ด้านงานศิลปกรรมมีความโดดเด่น ด้วยลวดลายแกะสลักรูปนกยูงหน้าจั่วทั้งสองด้าน ในอดีตมีการปรับปรุงใส่ไม้ฉลุบริเวณระเบียง และดัดแปลงทางขึ้นหลองข้าวจากรูปแบบดั้งเดิม โดยต่อเติมบันไดถาวรขึ้นลงทางด้านหน้า ซึ่งโครงสร้างหลองข้าวเดิมไม่มีทางขึ้นไปบนหลองข้าวได้นอกจากใช้บันไดไม้พาด การรื้อถอน และปลูกสร้างใหม่ คำนึงถึงวิธีการอนุรักษ์เป็นสำคัญ โดยส่วนประกอบดั้งเดิมของเรือนต้องเสียหายจากการรื้อถอนขนย้ายให้น้อยที่สุด หากส่วนไหนแตกหักชำรุด หรือผุพัง ก็จะสกัดชิ้นส่วนผุพังออก แล้วตัดต่อ ปะไม้ชิ้นใหม่ให้เข้ากับไม้เดิมอย่างกลมกลืน เมื่อประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของหลองข้าวเสร็จสมบูรณ์แล้ว สุดท้ายทาน้ำมันขี้โล้เพื่อรักษาเนื้อไม้ ตามความนิยมในการทาสีเรือนไม้ช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์(เลาหวัฒน์)

ยุ้งข้าวของเรือนกาแล (พญาวงศ์) นำมาปลูกสร้างใหม่พร้อมกันกับเรือนโดยได้รับการสนับสนุนการอนุรักษ์จาก คุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ และครอบครัว และรื้อย้ายมาปลูกขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2542 ยุ้งข้าวหรือหลองข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา สร้างจากไม้ทั้งหลัง ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี หลองข้าวของเรือนกาแลยกพื้นสูงจั่วเดียว ทำหลังคาซ้อนเป็นสองระนาบ หลังคาส่วนบนเป็นจั่วสูงชันรองรับด้วยหลังคาปีกนกที่ยื่นออกมาคลุมตัวเรือนหลองข้าว การตั้งเสาจะวางเรียงกันเป็นคู่แล้วสอบเข้าหากันเพื่อให้รับน้ำหนักได้ดี โครงสร้างหลองข้าวเหมือนกับเรือนพักอาศัยแต่ไม่มีบันได หากต้องการข้าวก็จะใช้ “เกิ๋น” เป็น เหมือนบันไดลิงพาดกับหลองข้าวขึ้นไป ผนังตีในแนวตั้งปิดทึบทุกด้าน ลักษณะพิเศษของตัวหลองนี้มีขนาดใหญ่และตกแต่งป้านลมอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นว่าเจ้าของบ้านมีฐานะ เพราะมีที่นามาก ดังนั้นผลิตข้าวในแต่ละปีจึงมีมากเช่นกัน