พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด)
เรือนหม่อนตุด เป็นเรือนของชาวไทลื้อ ที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทยวน โดยกลุ่มชาวไทลื้อจากมณฑลยูนาน ตอนใต้ของจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต ซึ่งแต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 โดย พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เริ่มจากการซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ที่มีรูปทรงเรียบง่ายตามแบบเรือนสามัญชน
ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ตั้งอยู่ภายในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาในรูปแบบต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ซึ่งเรือนแต่ละหลังเป็นเรือนโบราณที่ได้รับการสนับสนุนให้รื้อย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ จากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรือนล้านนา ในปัจจุบันมีเรือนอยู่จำนวน 10 หลังและยุ้งข้าวอีก 4 หลัง แต่ละหลังก็มีที่มาและประวัติของตนเอง นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาภูมิปัญญาเชิงช่างในอดีต
เข้าชมเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์
เรือนชาวเวียงเชียงใหม่(พญาปงลังกา)
เรือนพญาปงลังกาเป็นเรือนพื้นเมืองในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ มีรูปแบบเรือนคลี่คลายมาจากเรือนกาแลดั้งเดิม เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรือนของผู้มีฐานะ ลักษณะเป็นเรือนแฝดสองจั่ว ยกพื้นเรือนสูง เรือนใหญ่เป็นเรือนนอน เรือนหลังเล็กเป็นเรือนครัว ไม่มีส้วม (ห้องน้ำ) บนเรือน ด้านหน้าเรือนมีเติ๋นขนาดใหญ่และมีชานถัดออกมาด้านหน้า
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ยุ้งข้าวเปลือย
เป็นหลองข้าวขนาดเล็ก มี ๖ เสา แตกต่างจากหลองข้าวทั่วไปที่มีจำนวน ๘ เสาขึ้นไป สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๒ โดยใช้เสาหลองข้าวเก่าและไม้ที่เหลือจากการซ่อมแซมเรือนในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มาสร้างตามต้นแบบหลองข้าวทรงแม่ไก่ในบ้าน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นรูปแบบหลองข้าวประเภทที่ไม่มีฝาปิด ซึ่งเก็บข้าวโดยใส่ข้าวเปลือกไว้ในเสวียนที่ทำมาจากไม้ไผ่สาน พอกทับด้วยมูลวัวผสมยางไม้
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เสวียน
เสวียน เป็นเครื่องสานขนาดใหญ่ โดยปกติมักทำเป็นทรงกลมไม่มีก้นและไม่มีฝา สานด้วยซีกไม้ไผ่ ขนาดกว้างประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร เป็นลายข้าม ตัวเสวียนมักจะกว้างประมาณ 1- 2 เมตร ตามประโยชน์ใช้สอย ในกรณีที่ใช้เสวียนเป็นเครื่องป้องกันดินขอบบ่อน้ำถล่มนั้น ชาวบ้านมักจะเริ่มสานเสวียนจากก้นบ่อจนสูงพ้นผิวดิน
ดูรูปภาพ
อ่านนิทานเรื่องการสานเสวียน
เรือนกาแล (อุ๊ยผัด)
เอกลักษณ์ของเรือนที่โดดเด่นคือ “กาแล” ตรงส่วนยอดของป้านลมที่ไขว้กันเป็นทรงตรงหรือโค้งมีการแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายเครือเถา ลายกนกสามตัว หรือลายเมฆไหล สำหรับที่มาของกาแลหรือส่วนป้านลมที่ไขว้กันนี้ ยังค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าทำเพื่อกันแร้งกามาจับเกาะหลังคา เพราะถือว่าขึด หรือบ้างว่าพม่าบังคับให้ทำเมื่อสมัยเป็นเมืองขึ้นเพื่อให้ดูต่างกับเรือนพม่า
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนเครื่องผูก
เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ ตัวเรือนขนาดเล็ก มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วเดียวยกพื้นสูงเล็กน้อย ในอดีตเรือนเครื่องผูกเป็นของชาวบ้านทั่วไปที่สร้างขึ้นกันเอง โดยการตัดไม้ไผ่มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของเรือน แล้วใช้ตอกยึดให้ติดกัน อาจมีการใช้เสาเรือนด้วยไม้จริงบ้าง แต่โดยรวมแล้วองค์ประกอบของเรือนส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ไผ่ เช่น โครงสร้างหลังคา ฝาและพื้นเรือนที่ทำมาจากฟาก เป็นต้น นอกจากนั้น เรือนเครื่องผูกยังเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ มักสร้างเป็นเรือนเครื่องผูกแบบชั่วคราวก่อนที่จะเก็บเงิน และไม้จริงได้มากพอสำหรับขยายเรือนต่อไป
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนกาแล(พญาวงศ์)
เรือนพญาวงศ์เป็นเรือนที่มีลักษณะเป็นเรือนแฝด ประกอบด้วยเรือนสองหลังชายคาชนกัน จุดเชื่อมต่อของชายคามีฮางลิน (รางระบายน้ำ) ใต้ฮางลินมีฮ่อมลิน (ชานเดินระหว่างเรือนสองหลัง) เชื่อมต่อ ชานด้านหน้าและหลังเรือน เรือนแฝดทั้งสองถูกจัดเป็นเรือนนอนเนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ เรือนหลังเล็กบริเวณชานด้านหลังสร้างเพิ่มเป็นเรือนครัว ไม่มีส้วมบนเรือน พื้นที่หน้าเรือนใต้ชายคาเรียกว่าเติ๋น (ชานร่มยกระดับ) เป็นพื้นที่ทำงานพักผ่อน และเป็นที่นอนของลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม ผนังเรือนที่เลยมาจากห้องนอนมาที่เติ๋นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเวลาที่ลูกสาวเจ้าของเรือนนั่งทำงานเรียกว่าฝาลับนาง
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
ชานหน้าเรือนนอนยกระดับเป็นเติ๋น โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน แต่เนื่องมาจากเครื่องผูกที่ใช้ยกใต้ถุนเตี้ย จึงทำให้เรือนลักษณะนี้เตี้ยตาม ทำให้ประหยัดไม้โครงสร้าง ระบบโครงสร้างรับพื้นเรือนเป็นระบบการบากเสาและฝากคานแล้วปูตงและพื้นไม้แผ่น พื้นเรือนปูตามแนวขวาง เป็นยุคสมัยที่เริ่มนิยมใช้ตะปูในการยึดประกอบโครงสร้างมากขึ้นเพราะสร้างได้รวดเร็ว ในยุคนี้มีการทำฝาไหล (ช่องเปิดผนังเลื่อน) ใช้กันอย่างแพร่หลาย นิยมใช้ฝาขี้หล่าย (ฝาไม้ไผ่สาน) มาประกอบเรือนเหมือนเรือนโบราณ โดยเฉพาะส่วนครัว เพื่อการระบายอากาศที่ดีและประหยัด
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์(เลาหวัฒน์)
ยุ้งข้าวหรือหลองข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา สร้างจากไม้ทั้งหลัง ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี หลองข้าวของเรือนกาแลยกพื้นสูงจั่วเดียว ทำหลังคาซ้อนเป็นสองระนาบ หลังคาส่วนบนเป็นจั่วสูงชันรองรับด้วยหลังคาปีกนกที่ยื่นออกมาคลุมตัวเรือนหลองข้าว การตั้งเสาจะวางเรียงกันเป็นคู่แล้วสอบเข้าหากันเพื่อให้รับน้ำหนักได้ดี โครงสร้างหลองข้าวเหมือนกับเรือนพักอาศัยแต่ไม่มีบันได หากต้องการข้าวก็จะใช้ “เกิ๋น” เป็น เหมือนบันไดลิงพาดกับหลองข้าวขึ้นไป
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนพื้นถิ่นแม่แตง
แบบของเรือนพัฒนามาจากเรือนพื้นถิ่นที่เป็นเรือนเครื่องผูกแบบเรือนเดี่ยว ลักษณะของเรือนเป็นเรือนจั่วแฝดที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง ตัวเรือนยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าและหลังเรือน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ สองจั่วหลักเชื่อมต่อกัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ยุ้งข้าวสารภี
ยุ้งข้าวสารภี มีวิธีทำโครงสร้างแบบโบราณ เสาไม้กลมจำนวน ๘ ต้น ยกใต้ถุนสูงเอาไว้เก็บอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร มีระเบียงทางเดินโดยรอบห้อง ที่ใช้เก็บข้าวเปลือก โครงสร้างหลังคาใช้วิธีเจาะเพื่อเข้าเดือยปลายเสา หลังคาเป็นทรงจั่วลาดต่ำ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายตัด
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ต๊อมอาบน้ำ
ต๊อมอาบน้ำ
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
การสร้างบ้านเรือนที่ประยุกต์รูปแบบของยุโรปให้เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นนี้ ผ่านการนำรูปแบบเข้ามาโดย มิชชันนารี พ่อค้าไม้ชาวอังกฤษ และข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เป็นการสร้างเรือนในยุคที่มีเครื่องมือก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้การตัดผ่าไม้เพื่อทำเสาเหลี่ยม โครงสร้างคาน ขื่อ และฝาผนัง ทำได้ง่ายและมีความเรียบเกลี้ยง การประกอบโครงสร้างเรือนและการเข้าไม้ทำได้เรียบร้อยสมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับการใช้ตะปูและน๊อตมาช่วยยึดโครงสร้างทำให้สะดวกและลดเวลาการก่อสร้างได้มากขึ้น
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง
เรือนไม้หลังนี้มีลักษณะเฉพาะ คือมีฝาผนังของเรือนโดยรอบทั้งสี่ด้านเป็นฝาไม้แบบบานเลื่อน ที่เรียกว่า “ฝาไหล” เพื่อการระบายอากาศของเรือนได้ดี เรือนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัยของหลวงอนุสารสุนทร และแม่นายคำเที่ยง โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของห้องนอน และส่วนพื้นที่โล่งที่เรียกว่า “เติ๋น” ไว้สำหรับใช้สอยและกินข้าว ส่วนชั้นล่างของเรือนใช้สำหรับเก็บสินค้าของอาคารตึก
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ยุ้งข้าวป่าซาง(นันทขว้าง)
หลองข้าวป่าซาง(นันทขว้าง) เป็นหลองข้าวขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากอายุรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแล้ว ประมาณอายุได้ ๑๕๐ - ๑๗๐ ปี บริเวณเสาช่วงกลางหลองข้าวมีร่องรอยบากไม้ เพื่อนำแผ่นไม้มาใส่กั้นเป็นห้องเก็บข้าว ด้านงานศิลปกรรมมีความโดดเด่น ด้วยลวดลายแกะสลักรูปนกยูงหน้าจั่วทั้งสองด้าน ในอดีตมีการปรับปรุงใส่ไม้ฉลุบริเวณระเบียง และดัดแปลงทางขึ้นหลองข้าวจากรูปแบบดั้งเดิม โดยต่อเติมบันไดถาวรขึ้นลงทางด้านหน้า ซึ่งโครงสร้างหลองข้าวเดิมไม่มีทางขึ้นไปบนหลองข้าวได้นอกจากใช้บันไดไม้พาด
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
บ้านหลังนี้เป็นอาคารที่ปลูกสร้างในปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยอยู่บนพื้นที่นี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นบ้านทรงอาณานิคม ซึ่งเป็นลักษณะของอาคารพักอาศัยที่เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ การปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคสมัยอาณานิคมหรือโคโลเนียลในจังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก