สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
และล้านนาสร้างสรรค์
Center for The Promotion of
Art Culture and Creative Lanna
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์
ไทย-EN
หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
ประวัติความเป็นมา
ปณิธาน/วิสัยทัศน์/พันธกิจ/ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร
โครงสร้างองค์กรและการบริหารงาน
สำนักงานสีเขียว (Green Office)
ทำเนียบผู้บริหาร
คณะกรรมการอำนวยการ
คณะกรรมการบริหาร
บุคลากร
ข้อมูลสาธารณะ
หน่วยงาน
ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
สำนักงานสำนัก
- รายงานประจำปี
- ผลการปฏิบัติงานผู้อำนวยการ
- งานบริหารทั่วไป
- งานบริการและประกันคุณภาพ
ข่าวสารและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
งานบริการวิชาการชุมชน
ทัศนศึกษา/ศึกษาดูงาน
ข่าวเด่นและความภาคภูมิใจ
ข่าวผู้บริหาร
ข่าวบุคคลเด่น
ข่าวลักษณะงาน/จัดซื้อจัดจ้าง
กิจกรรมสำนัก
รวมข่าวทั้งหมด
คลังความรู้ล้านนา
ภาษาและวรรณกรรม
- ลานคำ
- ถ้อยคำสำนวน
ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ
ศิลปหัตถกรรมล้านนา
ดนตรีและนาฏยกรรมล้านนา
ภูมิปัญญาเชิงช่าง
อาหารล้านนา
วิถีชีวิตล้านนา
ชาติพันธุ์ล้านนา
วีดิทัศน์ล้านนา
วารสารร่มพยอม
ดูทั้งหมด
ติดต่อเรา
ติดต่อเรา
ขอใช้พิพิธภัณฑ์
ขอใช้ห้องประชุมสำนัก
แจ้งข้อร้องเรียน/เสนอแนะ
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา
English Version
วิถีชีวิตล้านนา
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของล้านนา ที่แสดงออกจากการใช้ชีวิตประจำวัน
พบทั้งหมด
26
รายการ
1
(current)
2
>
เงินตราล้านนา
เงินตรา ล้านนา ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรล้านนาเริ่มก่อรูปขึ้นโดยมีชนชาติลัวะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนไท เป็นผู้วางรากฐานทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนถึงเศรษฐกิจการค้าที่ใช้หอยเบี้ย และโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง และสำริด เป็นเงินตราในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้า จนเมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่และสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1839 ได้มีการใช้เงินตราในการค้าขายภายในอาณาจักรด้วยการกำหนดมาตรฐานระบบเงินตราของตนขึ้น ระบบการค้าและเศรษฐกิจของล้านนาเริ่มรุ่งเรืองมากขึ้นในช่วงสมัยพญากือนา โดยล้านนาได้ผลิตเงินตราที่สำคัญขึ้นชนิดหนึ่ง คือ เงินเจียง ซึ่งถือเป็นเงินที่มีค่าสูงสุดในระบบเงินตราล้านนา ในระหว่างนั้นก็ใช้เงินเจียงร่วมกับเงินอื่นๆ ด้วย เช่น หอยเบี้ย เงินท้อก เงินวงตีนม้า เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู เรื่อยมาจนสมัยที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า มีการรับเอาเทคนิคการทำเงินแบบพม่า ไทใหญ่ เป็นเงินดอกไม้หรือเงินผักชี มาใช้ปะปนร่วมกับเงินล้านนาแบบเดิม ตลอดระยะเวลา 200 กว่าปีที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ และได้นำเอาเหรียญเงินของอังกฤษเข้ามาใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าในล้านนา ผ่านการปกครองของราชบัลลังก์บริเตนในอนุทวีปอินเดีย จึงมีเหรียญเงินรูปีอินเดียเข้ามาใช้เพิ่มอีก ต่อมาเมื่อล้านนาได้ผนวกเข้ากับไทยสยามเป็นมณฑลพายัพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เริ่มใช้เหรียญเงินของสยามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เงิน” ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าในยุคโบราณ ถือเป็นของมีค่าที่ใช้แทนสินค้าได้ เพราะตัวเงินทำมาจากเนื้อเงินแท้เปอร์เซ็นสูง ในอดีตมีการทำเงินด้วยเทคนิคหล่อและหลอมโลหะ ซึ่งอาจมีแร่อื่นๆ ผสมบ้าง เพื่อให้ตัวเงินคงรูป โดยเงินตราที่ใช้ในล้านนา มีดังนี้ เงินเจียง มีลักษณะเหมือนกับเกือกม้าสองวงปลายต่อกัน เป็นเงินตราสำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุดของอาณาจักรล้านนา ทำจากเนื้อเงินเปอร์เซ็นสูง มีการตอกตราสำคัญบนตัวเงิน ได้เเก่ ตราตัวเลขบอกจำนวนราคา ตราชื่อเมืองแหล่งผลิต และตราจักร เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าเมือง เงินท้อก ผลิตมาจากเนื้อโลหะผสม มีลักษณะทรงกลม ซึ่งเงินในกลุ่มนี้ เช่น เงินท้อก เงินใบไม้ หรือเงินเส้น เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู โดยแต่ละชนิดก็มีลักษณะพื้นผิวที่ต่างกัน เงินท้อก มีหลายแหล่งผลิตโดยเรียกตามพื้นที่ เช่น เงินท้อกเชียงใหม่ เงินท้อกน่าน เงินท้อกลำปาง เงินท้อกเชียงแสน ซึ่งผลิตใช้ขึ้นในพื้นที่เมืองนั้นๆ โดยมีรูปแบบ และส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไปตามแหล่งแร่โลหะในท้องถิ่น ลักษณะของเงินท้อกมักจะมีขอบงอโค้งขึ้นมาเล็กน้อยโดยรอบ ด้านล่างมีรูขนาดใหญ่เป็นโพรงลึกเข้าไปแล้วดันอีกด้านนูนสูงขึ้นมา ทำให้เงินท้อกมีลักษณะคล้ายเปลือกหอยจึงเรียกกันว่า “เงินหอย” บางครั้งก็เรียกว่า “เงินขวยปู” เพราะมีลักษณะเหมือนกับมูลดินขรุขระที่ปูขุดขึ้นมา เงินใบไม้ หรือเงินเส้น จัดอยู่ในกลุ่มเงินท้อก เป็นเงินที่มีมูลค่าน้อยที่สุด เพราะทำมาจากจากสำริด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม นูนด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นรอยบุ๋มลึกลงไปจึงมีลักษณะเหมือนเปลือกหอย ด้านที่นูนออกมานั้นมีทั้งแบบเรียบไม่มีลวดลาย มีลวดลายเป็นเส้นเดียวผ่ากลาง และแบบที่มีกิ่งแยกออกไปคล้ายด้านหลังของใบไม้จึงนิยมเรียกกันว่า “เงินใบไม้” “เงินเส้น” หรือ “เงินเปลือกหอย” เงินเหล่านี้มีการเจาะรูไว้ที่ริมขอบสำหรับร้อยรวมเข้าด้วยกันเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน เงินหอยโข่งและเงินปากหมู มีลักษณะและวิธีการผลิตเช่นเดียวกับเงินท้อกล้านนา แต่มีขนาดใหญ่กว่า หนักกว่า และมูลค่าสูงกว่า เพราะผลิตจากโลหะเงิน โดยเฉพาะเงินปากหมูมีหลายขนาดและน้ำหนักด้านล่างมีช่องกลวงลึกเข้าไปช่องนี้มีลักษณะคล้ายช่องบริเวณปากหมู จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ เงินดอกไม้หรือเงินผักชี เป็นเงินที่ผลิตขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 เนื้อเงินมีส่วนผสมของโลหะเงินสูงกว่าโลหะชนิดอื่น เหตุที่เรียกเงินผักชีเพราะลวดลายที่อยู่บนพื้นผิวคล้ายกับใบผักชีหรือดอกไม้ เกิดจากการใช้หลอดไม้ยาวเป่าลมลงในเบ้าที่มีแผ่นเงินหลอมละลายอยู่ อาจเป่าเป็นแห่งๆ หมุนไปโดยรอบเบ้าหลอม ทำให้เกิดเป็นลวดลาย เงินชนิดนี้ชาวล้านนาผลิตขึ้นใช้เอง โดยนำเทคนิควิธีการผลิตมาจากไทยใหญ่ และมอญในประเทศพม่าในยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บางเหรียญพบว่ามีการเจาะรูเนื่องจากชาวเขานิยมนำไปทำเป็นเครื่องประดับห้อยคอ ข้อมูลจาก วารสารร่มพยอมปีที่ 20 ฉบับที่ 2 สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ โดย กรมธนารักษ์ (คลิกที่นี่) พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(คลิกที่นี่)
เผยแพร่เมื่อ 16 มีนาคม 2566 • การดู 2,581 ครั้ง
ผ้าทุ้ม (ผ้าตุ๊ม)
ล้านนาในอดีต เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว มีอากาศเย็นในช่วงเช้า คนสมัยก่อนไม่มีการตัดเย็บเสื้อกันหนาวมาใส่เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทั้งหญิงและชายจะใช้ผ้าทุ้ม (ผ้าคลุมไหล่) ทำมาจากผ้าฝ้าย ที่มีความหนานุ่มมาห่มคลุมร่างกาย ผ้าทุ้ม (อ่าน “ผ้าตุ๊ม”) ผ้าทุ้ม หมายถึงผ้าที่ใช้คลุมไหล่ของชาวบ้านทำด้วยผ้าหน้ากว้างประมาณ 15-25 นิ้ว ยาวประมาณ 2 เมตร แบบเดียวกับผ้าทวบ เพียงแต่เป็นผ้าชั้นเดียว ตรงส่วนชายอาจจะมีการทอหรือตกแต่งลวดลายประทับ ชาวบ้านจะใช้ผ้าทุ้มนี้ คลุมไหล่ในหน้าหนาว โดยผู้หญิงล้านนาจะเป็นคนทำ ด้วยการนำฝ้ายมาถักทอเป็นผืน แล้วใช้กันเองภายในครอบครัว ระยะหลังชาวบ้านนิยมใช้ผ้าขนหนูแบบผ้าเช็ดตัวแทนผ้าทุ้มแบบโบราณ โดยกล่าวว่า ผ้าทุ้มแบบใหม่นี้ให้ความอบอุ่นได้มากกว่า ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ
เผยแพร่เมื่อ 26 ธันวาคม 2565 • การดู 1,822 ครั้ง
วัฒนธรรมการนอนล้านนา
วัฒนธรรมการนอนล้านนา การนอน หมายถึงการเอนกายลงนอนที่แนวราบซึ่งจะหลับหรือไม่ก็ตาม เรื่องของการนอน ชาวล้านนามีวัฒนธรรมในการนอนหลายประการ ทั้งพฤติกรรมในการนอน บริเวณที่ควรนอน บริเวณหรือสถานที่ที่ไม่ควรนอน ตลอดจนความเชื่ออื่นๆ อีกมากมาย พฤติกรรมในการนอนโบราณสั่งสอนมาแต่ปางบรรพ์ไว้ อาทิ คำกล่าวว่า อย่านอนเหล้นดาบ อย่าคาบนมเมีย คือ เวลานอนไม่ควรนำของมีคมอย่างดาบมาเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้เสมอ ความหมายแฝง คืออย่าวางใจหรือเลินเล่อต่อท่าทีของศัตรู ส่วนอย่าคาบนมเมียนั้นท่านหมายถึงว่า อย่ามัวแต่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับกามคุมจนไม่มีเวลาปฏิบัติภารกิจอื่น อย่านอนกินข้าว เหตุผลคงเป็นเพราะอาการนอนนั้นคงไม่เหมาะที่จะรับประทาน เพราะสรีระไม่พร้อมที่จะรับอาหารเข้าสู่ร่างกาย คำกล่าวนี้มักมีการขู่เด็กๆ ว่าถ้านอนกินข้าวจะกลายเป็นงู กินข้าวแล้วนอน ผีปันพรวันเจ็ดเทื่อ คำกล่าวนี้ หลายท่านเข้าใจว่า เป็นคำสำนวนที่มีความหมายเชิงประชดประชันว่า กินอิ่มแล้วเอาแต่นอนสบาย ไม่ยอมทำงาน ผีจะสาปแช่งวันละเจ็ดครั้ง แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “ผี” โบราณหมายถึง “เทวดา” “ผีให้พร” คือเทวดาให้พร เพราะฉะนั้นจึงแปลความหมายว่า กินข้าวแล้วควรพักผ่อนก่อนลงมือทำงาน สุขภาพจะแข็งแรงเหมือนได้รับพรจากเทวดาวันละเจ็ดครั้ง เพราะถ้าลงมือทำงานทันที สุขภาพจะทรุดโทรมเร็วก่อนวัยอันควร หื้อดักเมื่อกินข้าว หื้อดักเมื่อเข้านอน คำกล่าวนี้มีเหตุผล อย่างน้อยสองประการ กล่าวคือ ประการแรก ขณะทานข้าวเมื่อส่งเสียงผีตามอยได้ยินจะรู้ตำแหน่งและจะมาแย่งกิน ทำให้อาหารสิ้นเปลืองหรือหากมีเสียงดังตอนเข้านอน ผีอาคันตุกะ คือ สัมภเวสี จะรู้ตำแหน่งที่นอน อาจมาทำร้ายได้ ประการที่สองไม่ว่าผีร้ายหรือคนร้าย เมื่อทราบตำแหน่งขณะกินข้าวหรือเข้านอน จะถือโอกาสทำร้าย เพราะคำว่า "ข้าว"หรือ "เข้า" เป็นคำที่เหมาะสมที่จะกระทำร้ายได้โดยสะดวก คือ เข้าสิงก็สะดวก ยิงก็เข้า แทงหรือฟันก็เข้า ไม่ว่าจะมีเครื่องรางหรืออาคมขลังเป็นเข้าทั้งนั้น แม้กระทั่งคุณไสยที่มีคนมุ่งร้ายปล่อยมาก็เข้าสู่ร่างกายโดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้ อย่านอนเอาตีนไปทางหัว คือ อย่านอนในลักษณะเอาเท้าชี้ขึ้นทิศหัวนอน เอาหัวลงมาปลายที่นอน เพราะสิ่งที่เคารพนับถือตลอดจนเทวดาที่คุ้มครองอยู่หัวนอน ลักษณะการนอนเช่นนี้ แสดงว่าไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ไม่เคารพแม้กระทั่งตัวเอง ดังนั้นหากผู้ใดมีพฤติกรรมการนอนเช่นนี้ ย่อมไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา อย่านอนเบ่นหัวไปทางเหนือแลวันตก ชาวล้านนาเชื่อว่าทิศเหนือเป็นทิศแห่งความตายที่เรียกว่า “ทิศผีตาย” เป็นทิศสีดำมีท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณณ์เจ้าแห่งผีสถิตอยู่ สังเกตได้ว่า กองฟอน (ล้านนาเรียก “เตาเอ่า”) ทุกป่าช้าจะหันด้านหัวศพไปทางทิศเหนือ ส่วนทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งการตกต่ำ ทิศแห่งการอำลาและสูญสิ้น จึงมีข้อห้ามว่า อย่านอนหันหัวไปทิศเหนือเละทิศตะวันตก ยิงนอนซ้าย ชายนอนขวา เป็นคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่าผู้หญิงต้องนอนด้านซ้าย ผู้ชายต้องนอนด้านขวา เป็นต้น บริเวณที่ควรนอน ในเคหสถานควรนอนใน “ห้องหอ เฮือนคำ” คือห้องนอน หรือบริเวณเติ๋น คือบริเวณโล่งที่เสมอกับห้องนอน และหากเป็นนอกเคหสถานควรนอนในที่จัดไว้สำหรับเป็นที่นอน บริเวณที่ไม่ควรนอน สถานที่หรือบริเวณที่ไม่ควรนอน โบราณกำหนดไว้ดังปรากฎในเอกสารโบราประเภทพับสาวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ว่า “อันบ่ควรนอนมีหนทางหลวง ๑ ทางแยก ๑ ที่เกาะดอนซาย ๑ ป่าช้า ๑ ที่ท้าวพระยา ๑ ที่พระเจ้าที่พระสังฆะเจ้า ๑ พื้นเยียข้าว ๑ เรือนแม่กำลัง ๑ ที่อันท่านเหล้นพันธนันนึ่งแล” แปลความว่า สถานที่ที่ไม่ควรนอนได้แก่ ทางเส้นใหญ่ ทางแยก เกาะดอนทราย ป่าช้า ที่อันท้าวพระยาผู้มีอำนาจอยู่อาศัย ที่อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ที่นั่งที่นอนของพระสงฆ์ ใต้ถุนยุ้งข้าว บ้านเรือนหรือที่อยู่ของโสเภณี และบริเวณที่เป็นบ่อนการพนันหนทางหลวงเป็นที่สัญจรของสรรพสิ่งทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ยิ่งเป็นทางแยกก็ยิ่งเป็นที่สัญจรขวักไขว่ มีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีชุมนุมกันอยู่ เกาะดอนทรายก็เช่นกันย่อมมีสิ่งทั้งเป็นมงคลและอัปมงคลไหลมาตามน้ำแล้วมารวมกันอยู่ ส่วนป่าช้าเป็นที่รวมพลของผีทั้งปวง บริเวณทั้งหมดดังกล่าวจึงไม่เหมาะสำหรับเป็นสถานที่อันควรนอน ด้านที่อยู่ของท้าวพระยาผู้มีอำนาจ เป็นที่อันเต็มไปด้วยอันตรายจากอำนาจอาชญาของท้าวพระยา และบริเวณที่ถูกจัดให้เป็นที่ประทับของพระบรมศาสดาหรือที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นสถานอันสูงส่งไม่ควรนอนที่อันเป็นสถานอโคจร ได้แก่ บ้านเรือนหรือที่รับแขกของหญิงโสเภณีบ่อนการพนันทุกชนิด ย่อมไม่เหมาะที่จะเป็นที่หลับนอน ข้อมูลจาก หนังสือ ร้อยสาระสรรพล้านนาคดี เล่มที่ 3 เขียนโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ
เผยแพร่เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 • การดู 2,604 ครั้ง
หิ้งพระ
หิ้งพระภายในเรือนล้านนาสมัยก่อนนั้น นิยมทำ 2 แบบ คือแบบเป็นกล่องยื่นออกไปจากตัวเรือน และแบบที่ยื่นออกมาจากฝาเรือน อยู่บริเวณเติ๋นด้านตะวันออก ใช้วางภาพพระธาตุเจดีย์ ภาพพระเกจิอาจารย์ พระธรรมคัมภีร์ ปั๊บสา เครื่องราง ของขลัง และเครื่องสักการะ เพื่อกราบไหว้บูชา แต่ชาวล้านนาไม่นิยมบูชาพระพุทธรูปไว้ในเรือน เพราะเชื่อว่าพระพุทธรูปต้องอยู่ในวัดเท่านั้น เขียนโดย : ฐาปนีย์ เครือระยา (สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เผยแพร่เมื่อ 4 ตุลาคม 2565 • การดู 1,584 ครั้ง
ขันหมาก
ขันหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมากที่ประกอบด้วย ยาฉุน หมากแห้ง หมากสด ปูน สีเสียด ใบพลู เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมการกินหมากในเอเชียอาคเนย์รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย และยังคงเป็นที่นิยมจนกระทั่งในปัจจุบัน สมัยก่อนชาวล้านนากินหมากแบบเป็น ของกินเล่น จนกลายเป็นกิจกรรมในสังคม ดังนั้น ทุกครัวเรือนต่างก็มีขันหมากหรือเชี่ยนหมากประจำบ้านและบางครอบครัวอาจมีขันหมากมากกว่าหนึ่งชุด นอกจากจะมีขันหมากใช้สำหรับชีวิตประจำวันแล้ว ในด้านพิธีกรรมทางความเชื่อหรือทางศาสนา ยังใช้ขันหมากเป็นองค์ประกอบในพิธีสำคัญด้วย เช่น งานบวชพระและงานแต่งงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ในการแสดงสถานภาพหรือบรรดาศักดิ์ของชนชั้นสูงต้องมีขันหมากเป็นเครื่องแสดงฐานันดรเช่นเดียวกับขุนนางภาคกลางของไทย เมื่อเจ้านายเดินทางไปที่ใดจำต้องมีขบวนเครื่องยศ ที่แต่ละชิ้นมีพนักงานถือประคองเสมอ ทำให้เกิดขบวนยาวในการเดินทาง และการจัดที่นั่ง ลำดับของขบวนเครื่องยศเริ่มจาก ช่อธงดาบหอกนำหน้าขบวน ตามด้วย ขันหมาก แอ็บยา กระโถน คนโท และเจ้านายนั่งเสลี่ยงคานหามตามมา มีร่มกั้น จากความสำคัญดังกล่าว เป็นผลให้รูปแบบและลวดลายของขันหมากล้านนามีการพัฒนาออกไปอย่างมากมาย ขันหมากมีโครงไม้ไผ่ขดหรือสาน เคลือบรักและชาด มีขนาดใหญ่มากกว่าเชี่ยนหมากของภูมิภาคอื่นๆ เพราะเป็นภาชนะสำคัญในการต้อนรับแขก อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความมั่งคั่ง มีกินมีใช้ เป็นหน้าตาของผู้เป็นเจ้าของ กล่องตัวขันที่ใหญ่เอื้อสำหรับเก็บใบพลูให้สดได้นาน เพราะอากาศทางล้านนาแห้งกว่าที่อื่นจะทำให้ใบพลูเฉาเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้ง ขันหมาก เป็นภาชนะทรงกระบอกกว้าง ประกอบด้วยโครงสร้าง ๓ ส่วน คือ ส่วนล่างเรียก ตีนขัน ส่วนกลางเรียกว่า ตัวขันหรือเอวขัน และส่วนบนเป็นถาดซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า ตาด ต่อขอบสูงขึ้นมาเล็กน้อย เรียกว่า ปากขัน แม้จะมีโครงสร้างและรูปทรงรวมใกล้เคียงกัน แต่หลายชุมชนก็มีเอกลักษณ์และความนิยมเฉพาะถิ่น (ข้อมูลจากหนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา โดยอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เผยแพร่เมื่อ 2 กันยายน 2565 • การดู 1,700 ครั้ง
หลังคาจากใบค้อ
ต้นค้อ ภาคเหนือเรียกว่า “ก๊อ” หรือ “ตองก๊อ” เป็นปาล์มแบบต้นเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่และลำต้นสูงชะลูด พบในภูเขาและป่าดิบชื้น ความสูงระดับน้ำทะเล -300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขนาดของลำต้นประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ใบยาว 140-160 เซนติเมตร เป็นรูปใบพัดจักเว้าลึก ตัวใบเป็นผืนใหญ่ติดกัน ก้านใบยาวประมาณ 2 เมตร มีหนามสีเหลืองยาวตลอดก้านใบ ช่วงการออกดอกและติดผลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม โดยช่อดอกจะออกบริเวณซอกกาบใบ ในภาคเหนือของประเทศไทย พบต้นค้อขึ้นตามภูเขาสูงเกือบทุกจังหวัด บางชนิดก็เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ค้อชนิดนี้เป็นพืชที่หายากพบเฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จนมีชื่อเรียกว่า “ค้อเชียงดาว” หรือค้อดอย และปาล์มรักเมฆ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นกระจายตามเขาหินปูน บริเวณที่โล่งลาดชัน ที่ระดับความสูง 1,700-2,150 ม. ชาวไทยภูเขา และกลุ่มชุมชนคนล้านนาที่ตั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่สูงเรียนรู้วิธีการนำใบค้อมาสานเป็นหลังคา โดยการเก็บใบค้อสดจากต้น ตัดก้านใบออกแล้วแบ่งใบก๊อให้เป็น 3-4 ส่วน เอามาสานขัดเข้ากับก้านไม้ไผ่ แล้วนำไปมุงหลังคา ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ(ออนไลน์). 2022, แหล่งที่มา : http://srdi.yru.ac.th/bcqy/view/61_%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%AD (27 กรกฎาคม 2565) องค์การสวนพฤกษศาสตร์(ออนไลน์). 2022, แหล่งที่มา: http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1236 รูปภาพ : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 27 กรกฎาคม 2565 • การดู 2,443 ครั้ง
ฮูฮ่อง (รูร่อง)
ช่องไม้ที่เปิดปิดได้ ส่วนใหญ่ในล้านนาไม่มีชื่อเรียก บางที่เช่น ในแม่แจ่ม เรียกว่า “ฮูฮ่อง”(รูร่อง) ใช้เป็นที่ปัสสาวะของเด็ก และผู้สูงอายุ ที่ขึ้นลงเรือนลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืน ซึ่งเรือนในสมัยอดีตเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ไม่มีการอยู่อาศัยใต้ถุน พราะด้านล่างเรือนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ จึงกวาดทิ้งสิ่งปฏิกูลลงพื้นเรือนได้อย่างสะดวก ภายหลังบางเรือนอาจมีหลายช่องไว้สำหรับประยุกต์ใช้งานแตกต่างกันไป ทั้งใช้สอดส่องดูด้านล่างเรือน บ้างก็ใช้กวาดขยะทิ้งลงไปใต้ถุน เขียนโดย นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 23 มิถุนายน 2565 • การดู 899 ครั้ง
วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต
นาฬิกาวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต 05.30 น. : ตื่นเช้า ทำอาหาร (เป็นหน้าที่ของแม่บ้าน ของผู้หญิงเป็นหลัก) ตีข้าว (ผู้ชาย) 06.30 น. : ทำงานที่บ้าน ให้อาหารไก่ (ผู้ชาย) 07.00 น. : เอาวัวควายออกเเหล่งไปกินหญ้า 08.00 น. : กินข้าวเช้า 09.00 น. : ทำงานบ้าน ซักผ้า ตากผ้า (ผู้หญิง) ให้ข้าวหมู (ผู้ชาย) 10.00 - 12.00 น. : เด็กๆ เล่นกัน - ผู้ใหญ่ทำการเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว 12.00 น. : กินข้าวกลางวัน 13.00 - 17.00 น. : ทำเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว - ผู้ชายตำข้าว ผู้หญิงฝัดข้าว - เด็กๆ เล่นกัน 17.00 น. : เอาวัวควายกลับเข้าเเหล่ง 17.00 น. : ทำอาหาร (เป็นหน้าที่ของเเม่บ้าน ของผู้หญิงเป็นหลัก) 18.00 น. : กินข้าวเย็น 19.00 - 20.00 น. ทำงานก่อนเข้านอน ปั่นฝ้าย (ผู้หญิง) จักสาน (ผู้ชาย) 20.00 น. : สวดมนต์ก่อนเข้านอน ภาพวาดโดย นายสุขธรรม โนบาง นักช่างศิลป์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 2 มิถุนายน 2565 • การดู 4,588 ครั้ง
เฮือนนอน (ห้องนอน)
อยู่ด้านตะวันออก เป็นห้องนอนขนาดใหญ่ ห้องเดียวยาวตลอดตัวเรือน เเต่จะเเบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ ให้กับลูกๆ โดยใช้ ผ้าม่านหรือผ้ากั้ง ขึงไว้ตามช่วงเสา การนอนต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก บริเวณฝาผนังด้านปลายเท้าเป็นที่วางหีบหรือซ้าสำหรับใส่เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัว เเละมี "แป้นท่อง" ที่ทำจากไม้กระดานวางเป็นเเนวยาวตลอดตัวเรือน เพื่อเป็นทางเดินออกไปด้านนอกห้องนอน โดยให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่นน้อยที่สุด บริเวณหัวเสาเอกหรือเสาพญามี "หิ้งผีเรือน" เป็นชั้นไม้ใช้วางของสักการะ ข้อมูลจาก หนังสือเรือนล้านนากับวิถีชีวิต โดยนางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 21 เมษายน 2565 • การดู 1,959 ครั้ง
เฮือนไฟ (ห้องครัว)
ใช้เป็นพื้นที่ประกอบอาหารเเละเก็บของใช้ต่างๆ ในอดีตมีเตาไฟเป็นก้อนหินสามเส้าวางบนกระบะสี่เหลี่ยมต่อาจึงใช้เตาอั้งโล่เเทน เหนือตาไฟมีชั้นวางของทำมาจากไม้ไผ่สานโปร่งๆ ใช้วางเครื่องใช้ประเภทงานจักสาร เเละเก็บเครื่องปรุงจำพวกหอม กระเทียม ฯลฯ จะช่วยป้องกันมอด เเมลงต่างๆได้ ฝาผนังของเรือนครัวจะทำแบบห่างๆ หรือทำเป็นไม้ระเเนงเพื่อช่วยระบายอากาศจากควันไฟ ข้อมูลจาก หนังสือเรือนล้านนากับวิถีชีวิต โดยนางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 21 เมษายน 2565 • การดู 1,477 ครั้ง
ต๊อมอาบน้ำ
ต๊อมอาบน้ำ เป็นห้องสำหรับอาบน้ำ ในอดีตไม่นิยมทำหลังคาคลุม และไม่มีประตู ปิดผนังด้วยไม้ไผ่หรือก่ออิฐสูงประมาณสายตา ภายในมีโอ่งหรือตุ่มใส่น้ำ พร้อมขันน้ำใช้ตักอาบ เวลาอาบน้ำ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุงกระโจมอก ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้า(ดังภาพประกอบ) ส่วนห้องส้วม(อธิบายเพิ่มเติม) ในอดีตเป็นส้วมหลุมที่ขุดหลุมลึก แล้วถ่ายของเสียลงในหลุมจนเต็มจึงจะกลบ ด้วยเหตุนี้ เรือนชาวล้านนาจึงไม่นิยมสร้างต๊อมน้ำ(ห้องน้ำ) ห้องส้วมไว้บนตัวเรือน แต่จะสร้างต๊อมน้ำไว้หลังเรือน ส่วนห้องส้วม ต้องขุดหลุมไกลจากตัวเรือนไปประมาณ ๔๐ เมตร (ข้อมูล: ฐาปนีย์ เครือระยา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ภาพ: ต่อพงษ์ เสมอใจ นักช่างศิลป์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.)
เผยแพร่เมื่อ 20 เมษายน 2565 • การดู 1,373 ครั้ง
ลูกมะพร้าวขัดพื้น
ภูมิปัญญาของชาวล้านนาในสมัยก่อนนั้น จะนำลูกมะพร้าวแก่ มาผ่าครึ่ง แกะกะลา และเนื้อมะพร้าวออก แล้วนำเฉพาะเปลือกไปจุ่มน้ำมัน หลังจากนั้นนำมาขัดพื้น เพื่อให้พื้นนั้นเรียบ มันวาว และให้เสี้ยนบนแผ่นไม้นั้นหายไป จากลักษณะการใช้งาน จะเห็นว่าเหมาะกับการนั่งบนพื้นแล้วขัด จึงเหมาะที่จะเป็นกิจกรรมยามว่างของผู้สูงอายุ ให้ได้ขยับ ออกกำลังกาย
เผยแพร่เมื่อ 27 มีนาคม 2565 • การดู 2,796 ครั้ง
ล้อ เกวียน
ในภาษาล้านนามีคำที่ใช้เรียกยานพาหนะ ดังที่ภาษาไทยกลางเรียกว่า "เกวียน" นั้นถึงสองคำ คือเรียกว่า ล้อ และ เกวียนอย่างเช่น "อย่าไพเทิกทางล้อ อย่าไพป้อทางเกวียน ล้อเพิ่นจักเวียน เกวียนเพิ่นจักหล้ม" แต่โดยทั่วไปแล้วมักเรียกว่าล้อ มากกว่าเรียกว่าเกวียน และเรียกวงล้อว่า แหว้นล้อ หรือ เหวิ้นล้อ โดยมิได้เรียกว่า "ล้อ" เฉยๆ และเรียกวงล้อของรถยนต์เป็นต้น ว่า เเหว้นล้อ ส่วนวงล้อของเกวียนซึ่งมีขนาดการที่เรียกว่า ล้อ น่าเป็นการเรียกชื่อดามวงล้อที่มีรูปกลม โดยที่ล้อหรือเกวียนซึ่งใช้ในด้านนาระยะหลังนี้ มีผู้กล่าวว่าเป็นแบบที่รับมาจากเมืองเมาะตะมะ แต่ก็มีร่องรอยว่ามีการใช้เกวียนในล้านนามาตั้งแต่โบราณ อย่างเช่น ล้อ "ตะลุมพุก"โดยที่วงล้อได้จากการตัดหั่นท่อนไม้ตามขวาง เจาะรูตรงกลางใส่แกนเพลาตรงกลาง มี ๒ ล้อ มีไม้คานต่อออกจากแกน เพลาสำหรับดึงลาก ล้อชนิดนี้แต่เดิมคงใช้บรรทุกของหนักอย่างขนปืนใหญ่ไปออกศึกสงครามในศิลาจารึกหลักหนึ่งกล่าวถึงดำแหน่งข้าราชการสมัยนั้น มีตำแหน่งหนึ่ง คือ "พวกงัดหล่ม"เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มคนที่มีหน้าที่ใช้ไม้งัดล้อที่ตกหลุมติดหล่ม ต่อมามีการใช้ล้อตะลุมพุก ในการลากไม้ปราสาทศพพระภิกษุผู้ใหญ่ กษัตริย์ และราชวงศ์ล้อเกวียน เป็นล้อที่ใช้สัตว์เทียมในการชักลาก มีใช้กันทั่วโลก แต่สำหรับในเอเชียอย่างประเทศไทย จะใช้วัวและควายเทียมเกวียน โดยมักใช้ควายเทียมเกวียนเมื่อมีการบรรทุกหนัก หรือทางขึ้นเนินสูง เพราะควายมีกำลังดีกว่าวัว แต่ถ้าเทียมเกวียนไปทางไกลและมีแดดจัดก็จะใช้วัวเทียมเพราะวัวทนแดดดีกว่าควาย แต่ส่วนมากใช้วัวเทียม จึงนิยมเรียกเกวียนว่า ล้องัวส่วนประกอบต่าง ๆ ของล้อเกวียน ส่วนประกอบหลักของเกวียน ได้แก่ ส่วนที่เป็นล้อและ ตัวเรือน โดยในส่วนที่เป็นล้อนั้นจะมี คุม เหล็กปลอกคุม สื้-ซี่ไม้ฝักขาม และ เหล็กตื่น ในส่วนอื่น ๆ นั้นจะประกอบด้วยเหล็กแกน (อ่าน "เหล็กแก๋น") หมอน หรือ กะหลก ไม้ ดันคอ ไม้ขอแพะ สายอก ไม้คันชัก (อ่าน "ไม้กันจั๊ก") หีบเรือนล้อ (อ่าน "เฮือนล้อ" ไม้กงคิ้ว (อ่าน "ไม้ก๋งกิ๊ว")ตาดหน้า ตาดหลัง ไม้ค้ำ (อ่าน "ไม้ก็") และ ไม้ห้ามล้อ ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ
เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2565 • การดู 6,932 ครั้ง
กัวะเข้า
กัวะเข้า กัวะเข้า หรือบางแห่งเรียกว่า ฝ่าเข้า เป็นภาชนะทำด้วย ไม้สักคล้ายขันโตก แต่ไม่มีเชิงหรือตีนเหมือนขันโตก ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นถาดรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วใหม่ๆ ใช้ด้ามพายคนข้าวสุกนั้นระบายความร้อนออกไปบางส่วน เมื่อนำข้าวสุกบรรจุเก็บไว้ใน กล่องเข้า (กระติบข้าว) แล้วข้าวจะได้ไม่แฉะจากเหงื่อข้าวเพราะความร้อนที่มีมากเกินไป ซึ่งชาวล้านนา เรียกการนี้ว่า ปงไหเข้า หรือ ปลดไหเข้า กัวะเข้า มีใช้กันทั่วไปในถิ่นล้านนา มี 2 ลักษณะ คือกัวะเข้า ที่ทำขึ้นด้วยไม้จริง นั้นให้ตัดไม้สักให้เป็นท่อนบาง ขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร กว้างตามความต้องการหรือตามที่จะหาไม้ได้ โดยมากจะเลื่อยตัดเอาส่วนของโคนไม้สัก ขนาดใหญ่หรือเลื่อยเอาจากตอไม้สัก เมื่อได้แผ่นไม้มาแล้ว ก็ขีดเส้นในให้เป็นวงกลม แล้วขุดเจาะตามรอยขีดให้ส่วนปากกว้างกว่าส่วนก้นเล็กน้อย ขุดลึกลงประมาณ 6 เซนติเมตร เมื่อขุดส่วนในเสร็จแล้วก็มาถึงส่วนนอก ไม้ส่วนไหนที่หนา และยื่นออกไปมากที่สุดกก็กันเอาไว้สำหรับทำเป็นที่จับถือหรือทำเป็นที่แขวน แล้วจึงจากส่วนอื่นให้กลมตามส่วนใน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็น กัวะเข้า ที่ใช้การได้ นอกจากรูปทรงกลมแล้วบางแห่งยังทำรูปสี่เหลี่ยมด้วย ส่วนกัวะเข้าไม้ไผ่ ได้จากการสานจักตอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร เป็นลายสองเข้าด้วยกันส่วนปากของด้วยไม้ไผ่ที่เหลาเป็นปาก ขอบทั้ง 2 ด้านคือด้านนอกและด้านใน โดยให้ปากสูงประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร รูปร่างลักษณะของกัวะเข้า ไม้ไผ่คล้ายกับกระด้งฝัดข้าว กัวะเข้า ใช้เป็นภาชนะรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งเทออกจากไห เพื่อคนข้าวที่นึ่งนั้นกลับไปกลับมาเพื่อให้ข้าวสุกนิ่ม และเพื่อให้ข้าวเหนียวเย็นลงจะได้ไม่แฉะในเวลาที่เก็บไว้ โดยก่อนที่จะเทเข้าจากไหนึ่งลงไปนั้น ใช้น้ำประพรมให้ กัวะเข้าเปียกน้ำเสียก่อนเพื่อป้องกันข้าวติด เมื่อคนข้าวเสร็จแล้ว ก็แขวนไว้เพื่อใช้ในวันต่อไป แต่บางครั้งก็พบว่าใช้กัวะเข้า ในการทำขนม เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ เข้าแตนซาย เมื่อจะอัดหรือกดให้เป็นแท่ง ใช้นวดหรือคลุก เข้าหนุกงา เป็นต้น ข้อมูล สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคเหนือ
เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2565 • การดู 1,806 ครั้ง
แซมเสียบเกล้า นบพระเจ้าน้อมเทวา
การเสียบแซมดอกไม้บนมวยผมของชาวล้านนา หาใช่เป็นการประดับให้สวยงามอย่างเดียวไม่ หากแต่เป็นสิ่งแสดงนัยยะแห่งการบูชา คือบูชาขวัญ บูชาเทวดาประจำกายที่สถิตเหนือเกล้า บูชาพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนสถาน ยามได้กรานกราบนบน้อมวันทาด้วยเกล้าด้วยเศียรอีกด้วย (ข้อมูล: สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ภาพ: ฐาปนีย์ เครือระยา ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ )
เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2565 • การดู 1,482 ครั้ง
ต้นดอก หรือสุ่มดอก เครื่องสักการะล้านนา
ต้นดอก หรือสุ่มดอก เป็นเครื่องสักการะชนิดหนึ่ง ขึ้นโครงด้วยไม้จริงแล้วแซมเสียบด้วยบุปผานานาพันธุ์ มักทำขึ้นเป็นพุทธบูชา แต่ก็พบว่าจัดทำขึ้นเป็นเครื่องสักการะชนชั้นระดับเจ้านายอีกด้วย (ข้อมูล: สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2565 • การดู 2,665 ครั้ง
ว่าว
ว่าว ว่าวเป็นเครื่องเล่นชนิดหนึ่งทำด้วยกระดาษสำหรับปล่อยให้ลอยไปตามลม ทั้งนี้ ว่าว ในล้านนามี 2 ประเภท คือชนิดที่ใช้สายเชือกยึดไว้ให้ดึงตัวสูงขึ้นไปในอากาศ เรียกว่า ว่าว หรือ ว่าวลม และชนิดที่ทำเป็นถุงรับความร้อนจากควันไฟ เพื่อพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ ได้เรียก ว่าวฅวั่น ว่าวรม หรือ ว่าวฮม และตอนหลังมักมีผู้เรียกว่า โคมลอย ว่าวฅวัน ว่าวรม (อ่าน “ว่าวฮม” แต่ก็มีผู้ออกเสียงเป็น “ว่าวลม” และเขียนว่าวลมอีกด้วย) เป็นเครื่องเล่นที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง เพราะต้องลงทุนและทำในรูปแบบที่ละเอียด มิฉะนั้นว่าวจะบขึ้น คือไม่ยอมลอยขึ้นไปในอากาศ ว่าวฅวันนิยมทำกันอยู่ 2 แบบคือ ว่าวสี่แจ่ง คือว่าวที่ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม และว่าวมนคือว่าวที่ทำเป็นทรงมนทางด้านหัวและด้านท้าย ว่าวสี่แจ่ง ว่าวสี่แจ่ง ที่นิยมทำกันนั้นจะใช้กระดาษว่าว คือกระดาษสีที่เนื้อบางแน่นและเหนียว โดยใช้กระดาษว่าวนี้จำนวน 36 แผ่นมาต่อกันเข้าเป็นหกด้าน คือด้านข้างทั้งสี่รวมทั้งด้านบนและล่างด้านละ 6 แผ่น ส่วนที่สำคัญที่สุดของว่าวนี้ก็คือด้านปาก ในการทำปากว่าวนั้น ให้พับครึ่งกระดาษสองครั้ง เพื่อหาจุดศูนย์กลาง นำเอาเชือกหรือด้ายมาวัดจากจุดศูนย์กลางไปหาขอบกระดาษ แบ่งเชือกออกเป็นสามส่วน ยกมาใช้เพียงส่วนเดียวแล้วแบ่งเป็นสามส่วนอีกครั้งหนึ่ง แล้วตัดสามส่วนนั้นให้เหลือเพียงสองส่วนเพื่อเป็นความกว้างของปากว่าว ตัดกระดาษออกเป็นวงกลมให้มีขนาดย่อมกว่าปากว่าวเล็กน้อย จากนั้นนำเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 1.20 เมตร มาเหลาเป็นเส้นกลมขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วขดเป็นวงกลมตามขนาดที่กำหนดและผูกยึดไม้ขอบปากว่าวแล้วพับกระดาษขึ้นมาปิดด้วยกาวหรือแป้งเปียก ด้านก้นของว่าวสี่แจ้งนั้น จะทำจุกไว้ตรงกลางเพื่อที่จะใช้ไม้ส้าว(ไม้ที่มีขนาดยาว) สอดไว้ในตอนรมด้วยควันเมื่อจะปล่อยว่าว ทั้งนี้สล่าหรือช่างบางคนอาจไม่ทำหมงหรือจุกดังกล่าวก็ได้ เมื่อได้ส่วนปากและส่วนก้นเรียบร้อยแล้วก็จะนำกระดาษในแต่ละด้านมาต่อขึ้นรูปเป็น ว่าวสี่แจ่ง ว่าวมน ว่าวมน คือว่าวทรงมนนั้นนิยมใช้กระดาษว่าวอย่างน้อย 64 แผ่น สำหรับทำส่วนปากและก้นอย่างละ 12 แผ่น ส่วนด้านข้างนั้นจะต้องใช้กระดาษ 40 แผ่นด้วยกัน หากจะทำให้ใหญ่กว่านี้จะต้องทำให้ได้สัดส่วนที่ลงตัวกันได้พอดี สำหรับผู้ที่เกิดในปีเสีดหรือปีจอ(ปีหมา)นั้น ตามธรรมเนียมชาวล้านนาถือว่าชูธาตุ หรือครั้งที่วิญญาณมาปฏิสนธินั้นจะพักอยู่ที่เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เสียก่อน ดังนั้นผู้ที่เกิดในปีเส็ด(ปีหมา)จะถือว่าพระธาตุประจำปีเกิดของคนคือพระธาตุเจ้าจุฬามณี เมื่อเดินทางไปไหว้พระธาตุปีเกิดของตนไม่ได้ก็มักทำว่าวให้นำเครื่องสักการะของตนไปแทน โดยจัดทำสะทวง (อ่าน "สะตวง") คือกระบะบัตรพลีซึ่งบรรจุเครื่องบูชาต่างๆ ผูกไปกับปากว่าวด้วย และต่อมาก็มีผู้จัดทำกระบะบัตรพลีเช่นเดียวกันฝากไปกับว่าวเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ของตนก็มี ทั้งนี้พบว่ามักจะมีการเขียนที่กระดาษปะไว้ที่บริเวณปากว่าวมีใจความทำนองในที่ว่า บอกชื่อและที่อยู่ของเจ้าของว่าว เหตุผลในการทำว่าวครั้งนั้น และอาจบอกให้นำป้ายดังกล่าวไปรับเงินรางวัลจากเจ้าของว่าวก็มีวาระที่จะปล่อยว่าว หรือรมว่าว (อ่าน "ฮมว่าว") นั้นคือในวันยี่เพง (อ่าน "ญี่เป็ง") คือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทยภาคกลาง พอถึงเวลาสาย น้ำค้างแห้งแล้ว ชาวบ้านจะทำสะทวง (อ่าน "สะตวง") คือกระบะบัตรพลีขนาดเล็กบรรจุเครื่องพลีกรรมห้อยไว้ที่ปากของว่าวโดยกล่าวเป็นสองนัยว่า เพื่อไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุพามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และบ้างก็ว่าเพื่อส่งเคราะห์ให้ลอยไปเสียชาวบ้านมักจะนำว่าวไปรมหรือปล่อยที่ลานหน้าวิหาร ว่าวไฟ ว่าวไฟ เป็นเครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยด้วยหลักเดียวกันกับ ว่าวรม หรือว่าวควัน เพียงแต่จะปล่อยว่าวไฟกันเฉพาะในกลางคืนเท่านั้น วิธีทำว่าวไฟก็เหมือนกับการทำว่าวรม เพียงแต่ว่าวไฟจะมีส่วนปากใหญ่กว่าว่าวรมเท่านั้น ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๙) พบว่ามีวิธีการทำว่าวไฟง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยใช้กระดายว่าวเพียง ๑๒ แผ่นติดกาวต่อกันเป็นทรงกระบอก ส่วนปากนั้นใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร กว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร เหลาให้มีส่วนแบนเล็กน้อย ขดเป็นวงกลมขนาดเท่ากับด้านล่างของว่าวไฟ เมื่อติดเข้ากับขอบล่างดังกล่าวแล้วก็พับกระดาษจากส่วนปากขึ้นประมาณเซนติเมตรเพื่อปิดทับขอบไม้ไผ่ ส่วนหัวของว่าวไฟจะใช้กระดาษว่าว ๒ แผ่นตัดให้เป็นวงกลมต่อเข้ากับส่วนปลายของส่วนปลายเข้าแล้วนำไปตากแดดให้แห้งก็เป็นอันเสร็จเรื่องการทำตัวว่าวไฟ ส่วนแหล่งพลังงานในการยกว่าวไฟให้ลอยขึ้นนั้น แต่เดิมใช้ ขี้ย้า คือชันทำเป็นแท่งกลมหรือทรงกระบอกขนาดประมาณหนึ่งกำมือยาวประมาณหนึ่งศอก ซึ่งเรียกว่า ตวย-ว่าวไฟ หมงขี้ย้า แกนกลาง หรือกระบอง แล้วใช้ลวดมัดให้ฅวยว่าวไฟโผล่เหนือลวดที่มัดสองส่วน และจัดให้ดุ้นชันดังกล่าวไว้ตรงกึ่งกลางของปากว่าวโดยให้ท่อนนั้นหงายขึ้นเมื่อจะปล่อยว่าวไฟนั้นก็ให้นำเอาว่าวไฟที่มีดุ้นชันมัดไว้แล้วนั้นมาวางเอนไว้ เมื่อจุดดุ้นซันมีไฟลุกขึ้นแล้วก็ให้ค่อยๆ ยกว่าวไฟตั้งขึ้นเพื่อให้ส่วนปากของว่าวครอบเอาความร้อนจากดวงไฟไว้ทั้งหมด เมื่อจุดไฟได้ระยะหนึ่งแล้ว อากาศภายในว่าวจะร้อนและเบากว่าภายนอก ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศได้ กล่าวกันว่า ว่าวตวัน หรือว่าวไฟ ที่ตกลงในที่ดินหรือบนบ้านของผู้ใด ผู้นั้นก็มักจะโชคร้ายเพราะถือว่าเจ้าของว่าวดังกล่าวปล่อยเคราะห์ของตนไปกับว่าวดังกล่าวนั้น แด่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวลดน้อยลงแล้ว เพราะมีผู้นิยมปล่อยว่าวควันและว่าวไฟเป็นจำนวนมากในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะการปล่อยว่าวไฟนั้นนิยมปล่อยกันทุกโอกาส เช่น งานฉลองปีใหม่ งานฉลองวันคล้ายวันเกิด ฯลฯ โดยสามารถหาซื้อหรือสั่งซื้อว่าวไฟได้จากแม่ค้าในตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบันนิยมเรียกหรือเรียกเพราะไม่รู้ตามแบบภาคกลางโดยเรียกว่าววันว่า "โคมลอย" และเรียก ว่าวไฟ ว่า "โคมไฟ" ทั้งๆ ที่ "โคม" แปลว่าเครื่องใช้ที่ให้แสงสว่างทั้งนี้ การที่คิดว่าว่าวตวันและว่าวไฟเป็นของเล่นที่เป็นมรดกสืบเนื่องกันมานานแล้วนั้น น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะกรรมวิธีการผลิตกระดาษของล้านนายังไม่สามารถผลิตกระดาษที่บางและเหนียวได้ กระดาษสาซึ่งผลิตได้ในล้านนานั้น แม้จะบางก็จริงแต่ก็มีรูพรุนไปคลอดทั้งแผ่นจนไม่มีทางที่จะอุ้มความร้อนหรือควันไว้ได้นาน หากจะผลิตกระดาบไม่ให้มีรอยรั่วก็จะต้องทำให้มีลักษณะหนาอย่าง "กระดาษหนังสา" ซึ่งไม่อาจนำมาทำว่าวควันหรือว่าวไฟได้ เพราะมีน้ำหนักมากจนเกินไป ดังนั้นหากจะมีการสันนิษฐานแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้ ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่ม 12
เผยแพร่เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564 • การดู 3,028 ครั้ง
ผ้าม่านหรือผ้ากั้ง
ผ้าม่าน แต่เดิมหมายถึงผ้าที่ใช้แขวนในกรอบประตูห้องนอน ซึ่งเป็นจุดแบ่งพื้นที่ภายในส่วนตัวของเรือนกับพื้นที่รับแขกด้านหน้าตัวเรือนบุคคลภายนอกปกติจะไม่ล่วงล้ำผ่านผ้าม่านประตูเข้าไปในห้อง ถือเป็นการบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวผิดผีเรือน จะต้องมาขอขมาหรือทำพิธีเซ่นไหว้ตามจารีตประเพณี มิฉะนั้นจะเกิดอาเพศและความอัปมงคลต่างๆ ตามมา ผ้าม่านนิยมทอเป็นผ้าลายตกแต่งตามรสนิยมของชุมชน บางทีมีการเพลาะให้กว้างขนาดพอดีกับประตูห้อง มีหูหรือเชือกร้อยผูกกับวงกบประตู ผ้ากั้ง เป็นผ้าที่ใช้แบ่งพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่หลับนอนในห้องนอนของครอบครัว หรือบริเวณหน้าเรือนในกรณีที่มีแขกมาพักที่บ้าน ผ้ากั้งนิยมทอเป็นผ้าลายแบบต่างๆ ต่อขอบผ้าด้านบนด้วยผ้าสีแดง มีหูสำหรับสอดไม้ไผ่ แขวนจากเสาหรือฝาเรือนอีกทีหนึ่ง บางทีทอเป็นผ้าบางคล้ายผ้ามุ้งเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ตามต้องการ บ่อยครั้งเป็นผ้ายกหรือผ้าพิมพ์ราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ละหลังคาเรือนอาจมีผ้ากั้งหลายผืน ตามจำนวนที่นอนของครอบครัว นอกจากจะใช้แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนแล้ว บางครั้งก็ใช้กำหนดที่นั่งของพระสงฆ์ทั้งในวัดและบ้าน โดยแขวนไว้ด้านหลังของอาสน์สงฆ์ ชาวบ้านจะกางผ้ากั้นไปตลอดไม่นิยมปลดลงหรือเปลี่ยนจนกว่าจะเปื่อยขาดเอง ในสมัยต่อมาเมื่อนิยมสร้างห้องนอน แบบตะวันตกทำให้ความสำคัญของผ้ากั้นลดลงไปปัจจุบันแทบจะไม่พบการใช้ผ้าชนิดนี้แล้ว แต่ที่มีมาแทนก็คือ ผ้าม่านหน้าต่าง ที่ใช้สำหรับหน้าต่างขนาดใหญ่ ผ้าม่านหน้าต่างแต่เดิมไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไท-ลาว เนื่องจากบ้านเรือนสมัยก่อนมีช่องหน้าต่างขนาดเล็กมากที่เรียกว่า “ป่อง” มีหน้าที่เพียงให้คนในบ้านมองไปด้านนอกว่ามีใครมาหาหรือใช้สังเกตเหตุการณ์นอกบ้าน ไม่ได้เปิดหน้าต่างไว้ตลอดเวลาอย่างปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง เนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างบ้านที่เป็นเครื่องสานซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าต่างเพื่อให้ลมเข้า-ออก จนเมื่อมีการสร้างบ้านหลังใหญ่อย่างตะวันตกที่ใช้วัสดุกันลมและแดด จึงต้องมีหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อถ่ายเทอากาศ ขณะเดียวกันการเปิดหน้าต่างก็ทำให้มีแสงเข้ามามากเกินต้องการจึงต้องใช้ผ้าม่านช่วยกันแสงไว้ระดับหนึ่ง จะสังเกตได้ว่ารูปแบบและลวดลายของผ้าม่านหน้าต่าง ต่างจากผ้ากั้ง เพราะใช้ผ้าที่ทอด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และเน้นสีสะอาดคือสีขาว ครีมหรือสีอ่อนเป็นหลัก ลวดลายของผ้าม่านนิยมลายลูกไม้ปักฉลุที่ใช้ด้ายสีเดียวกับผ้าทำให้ดูเรียบสง่าเมื่อมองจากภายนอก ภาพเเละข้อมูลจาก : หนังสือผ้าและสิ่งถักทอไท โดยอาจารย์วิถี พานิชพันธ์
เผยแพร่เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2564 • การดู 2,115 ครั้ง
หญิงสาวชาวล้านนาในอดีตหวงน่องหวงขา มากกว่าหน้าอก
หญิงสาวชาวล้านนาในอดีตหวงน่องหวงขา มากกว่าหน้าอก จริงหรือไม่ ? ผู้หญิงล้านนาในอดีตนั้นไม่ว่าอยู่ในภูมิภาคไหน ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์ใด ไพร่ชาวบ้านหรือผู้ดี จะไม่นิยมสวมเสื้อ นอกจากอากาศจะร้อนแล้ว การเปลือยหน้าอกเดินโทงเทงยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เต้านมเป็นแค่เพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย จะไม่หวงหน้าอกตัวเอง เป็นเหตุให้หวงช่วงบริเวณน่องขาขาอ่อน มากกว่าหน้าอก หากสาวล้านนาดึงซิ่นให้เห็นบริเวณน่องหรือขาอ่อนนั้น ถือเป็นการเปิดใจยินยอมให้ชายนั้นเป็นเจ้าของได้ทันที ซึ่งภายหลังในช่วงที่ได้รับอิทธิพลค่านิยมมาจากฝั่งตะวันตก ชาวยุโรปที่มาพร้อมกับคำว่า “สุภาพสตรีชั้นสูง” ต้องรู้จักรักนวลสงวนนม การปกปิดหน้าอกเริ่มแพร่หลาย ไปจนถึงการออกกฎหมายให้พสกนิกรหญิงสาวบ่าวไพร่สวมเสื้อกันทุกคน
เผยแพร่เมื่อ 2 กันยายน 2564 • การดู 6,188 ครั้ง
ฝาลับนาง
ฝาลับนาง วิถีชีวิตของชาวล้านนาสมัยก่อน ในยามค่ำคืน ขณะที่คนอื่นๆ เรือนนอนหลับกันในเรือน หญิงสาวจะออกมานั่งทำงานด้านนอก บ้างก็ปั่นฝ้าย นั่งเย็บผ้า และรอต้อนรับชายหนุ่ม ที่มาเยี่ยมเยือนพูดคุยกัน เรียกวัฒนธรรมนี้ว่า “การแอ่วสาว” ซึ่งลูกสาวจะนั่งรอชายหนุ่มอยู่ที่เติ๋น และหากบ้านไหนมีน้องชาย ก็จะอยู่เฝ้าพี่สาว ทำหน้าที่จัดคิวชายหนุ่มที่เข้ามาพูดคุยกับพี่สาว เมื่อถึงชายหนุ่มมานั่งที่เติ๋น ก็จะพูดคุยสัมภาษณ์เรื่องต่าง อาทิว่ามาจากบ้านไหน เมืองไหน บางทีก็เป็นคนต่างถิ่นจากหมู่บ้านอื่น เนื่องจากสมัยก่อนไม่นิยมแต่งงานกับคนในพื้นที่เดียวกัน เพราะรู้จักนิสัยใจคอกันหมดแล้ว ซึ่งแม่จะมาแอบฟังข้อมูลการสัมภาษณ์ด้วย และหากบ้านนั้นมีน้องสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ก็จะใช้ประโยชน์จากการนั่งฟังข้าง “ฝาลับนาง” ที่ยื่นออกมาปิดด้านข้างของเติ๋น โดยการไปหลบหลังฝา ฟังการซักถามพูดคุยกันอย่างไร เพื่อศึกษาเรียนรู้ไว้ในภายภาคหน้า ฝาลับนาง เป็นฝาที่มีลักษณะพิเศษพบได้เฉพาะเรือนกาแลแต่พบเพียงไม่กี่แห่ง มีลักษณะสำคัญคือเป็นฝาที่ยื่นยาวกว่าส่วนที่จะกั้น 40-50 ซม. พบที่ฝาด้านยาวด้านในของเรือน มีความยาวพ้นเสายื่นเลยออกมาจากส่วนที่กั้นห้องนอนไปข้างหน้าบริเวณเติ๋น ส่วนที่ยื่นออกมานี้เลยมีนัยว่าเป็นที่กำบังหญิงสาวขณะทำงานบนเรือน
เผยแพร่เมื่อ 31 สิงหาคม 2564 • การดู 2,423 ครั้ง
1
(current)
2
>