วิถีชีวิตล้านนา

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของล้านนา ที่แสดงออกจากการใช้ชีวิตประจำวัน

พบทั้งหมด 26 รายการ
 
 
ครกมอง
ครกมอง
ครกกระเดื่อง เป็นของใช้พื้นบ้านซึ่งใช้สำหรับตำข้าว ตำถั่ว ตำข้าวโพด และตำแป้ง เป็นต้น บางทีก็เรียกครกกระดก หรือเรียกว่า มอง ก็มี ปัจจุบันการใช้ครกกระเดื่องมีใช้กันน้อยมาก จะมีอยู่ในบางหมู่บ้านที่ไม่มีโรงสีข้าว หรืออาจจะอยู่ห่างไกล พวกชนกลุ่มน้อยบางพวก เช่น พวน โซ่ง แม้ว อีก้อ ซึ่งอยู่ในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังคงใช้ครกกระเดื่องกันอยู่มากพอสมควร ตัวครกทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ ตัดให้เป็นท่อน สูงประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ขุดส่วนที่สำหรับใส่เพื่อตำข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ ให้เป็นเบ้าลึกลงไป ให้สามารถบรรจุเมล็ดข้าวเปลือกได้ครั้งละเกือบ ๑ ถัง ทำคานไม้ยาวประมาณ ๓ - ๔ เมตร เพื่อใช้สำหรับเจาะรูเส้าหรือสากไว้ตำข้าวตั้งเสา ๒ ต้นฝังดินให้แน่น อยู่ในแนวเดียวกัน กลางเสาทั้ง ๒ ต้นใช้สิ่วเจาะรู หรือบากไม้ให้เป็นร่อง แล้วสอดคานที่รูยึดเสาทั้ง ๒ ต้นให้ขนานกับพื้นดิน วางคานเส้าหรือสากให้ค่อนไปอยู่ปลายคานด้านตรงข้ามกับสาก ใช้คานสากตอกยึดกับคานไม้ที่ยึดเสา ๒ ต้น วิธีใช้ จะวางครกไม้ให้ตรงกับเส้าหรือสาก เมื่อใส่ข้าว ข้าวโพดที่เป็นฝักๆไปแล้ว จะใช้แรงเหยียบที่ปลายคาน ด้านที่ยึดติดกับเสา ๒ ต้น เมื่อใช้แรงเหยียบกดลงไป สากจะยกขึ้นเหมือนการเล่นไม้หก เวลาจะให้ตำสิ่งที่ต้องการก็ยกเท้าลง สากจะตำสิ่งของที่เราต้องการในเบ้าครก การตำข้าว ตำฝักถั่ว ตำฝักข้าวโพด จะต้องมีคนช่วยกัน คนหนึ่งเป็นคนเหยียบ อีกคนหนึ่งจะเป็นคนกวนหรือพลิกกลับมาให้สากทุบตำได้ทั่วถึง หากเมล็ดข้าวถูกแรงตำด้วยท่อนไม้สากบ่อย ๆ จะทำให้ข้าวเปลือกกะเทาะหลุดออกจากเมล็ด ชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวสารไปใส่กระด้งอีกทีหนึ่ง เพื่อฝัดให้เศษผงต่าง ๆ ปลิวออกไป แล้วเลือกเมล็ดข้าวเปลือกหรือเศษกรวดดินออก ก่อนที่จะนำไปหุงต่อไป (ขอขอบคุณข้อมูล: http://www.openbase.in.th/node/6892) (ภาพวาด: สุขธรรม โนบาง นักช่างศิลป์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เผยแพร่เมื่อ 8 กรกฎาคม 2564 • การดู 7,363 ครั้ง
การทำนาแบบล้านนาโบราณ (อุปกรณ์ เครื่องใช้ และขั้นตอนการทำนาล้านนาโบราณ)
การทำนาแบบล้านนาโบราณ (อุปกรณ์ เครื่องใช้ และขั้นตอนการทำนาล้านนาโบราณ)
1. ชาวนาจะถือเคียวด้วยมือข้างที่ถนัด แล้วใช้เคียวเกี่ยวตะหวัดกอข้าวทีละกอ ในขณะเดียวกันก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับกอข้าวนั้นและออกแรงดึงเคียวให้คมเคียวตัดลำต้นข้าวให้ขาดออกมา 2. “หลาวหาบข้าว” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับหาบฟ่อนข้าวหรือฟางข้าว มีลักษณะเป็นไม้เสี้ยมปลายทั้งสองด้าน มีขาหยั่งรองรับน้ำหนัก 3. กองข้าว การขนย้ายฟ่อนข้าวหรือเฟ่าเข้ามารวมกัน มีวิธีกองรวมเป็นกระจุก เรียกว่า "กองพุ่ม" กองเรียงตาลางเรียกว่า "กองรอม" 4. การตีข้าว เป็นการฟาดรวงข้าวให้เมล็ดหลุดจากรวงนั้น โดยฟาดใน "คุ" โดยอุปกรณ์หลักคือ "ไม้หีบ" หรือ "ไม้หนีบ" ช่วงต้นมีสายรัด สำหรับรัดฟ่อนข้าว เเละช่วงปลายสำหรับจับ 5.การหะข้าว คือการตักข้าวเปลือกด้วยช้อนไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ผาก” แล้วสาดหรือซัดให้กระจายไป ขณะเดียวกันก็จะมีคนคอยพัดเอาเศษฟางหรือข้าวลีบให้ปลิวออก ซึ่งเรียกว่า “กาหรือกาวี” มีลักษณะกลมแบน สานด้วยไม้ไผ่ กว้างประมาณ 2 คืบ มีด้ามจับยาวประมาณหนึ่งศอก โดยมีเสื่อปูรองพื้นสำหรับใส่เมล็ดข้าว เรียกว่า "สาดกะลา" เป็นเสื่อที่สานจากไม้ไผ่ 6. การขนย้ายข้าวเปลือกหากไม่หาบก็บรรทุกเกวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกเกวียนว่า “ล้อ” ใช้เทียมวัว เรียกว่า “ล้อวัว” การขนย้ายข้าวเปลือกที่ได้จากการนวด เรียกว่า “ลากเข้า” 7.การขนข้าวขึ้นหลอง โดยการนำเกวียนมาเทียบหลองข้าว และทำการขนย้ายข้าวขึ้นบน “หลอง”เพื่อจัดเก็บ   ภาพประกอบโดย : สุขธรรม โนบาง  จัดทำโดย : พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 22 มิถุนายน 2564 • การดู 8,167 ครั้ง
ความร้อนบำบัดโรค ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน
ความร้อนบำบัดโรค ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน
ความร้อนบำบัดโรค ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน                 นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า ร่างกายมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเมื่อตอบสนองต่ออุณหภูมิที่แตกต่างกัน และรู้ว่าความร้อนนั้นจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น เช่น หากร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่นไวรัสหรือแบคทีเรีย ร่างกายจะกระตุ้นตัวมันเองให้สร้างความร้อนขึ้นมา อุณหภูมิสูงกว่า 37 เซลเซียส จะกระตุ้นกระบวนการของภูมิต้านทานให้ทำงานได้ดีกว่า ดังนั้นการเป็นไข้ เท่ากับการจุดชนวนของปฏิกิริยาของภูมิต้านทาน นับเป็นปฏิกิริยาแบบธรรมชาติแท้ๆ ที่ร่างกายปรับตัวสู้กับเชื้อโรคหรืออาการอักเสบ                  ในสมัยก่อนที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะใช้ คนไทยโบราณมีวิธีใช้ความร้อนเพิ่มภูมิต้านทานให้กับตนเอง ภาคเหนือมีการขางแม่จีไฟ การนั่งดินจี่ ใช้ความร้อนไปกระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น                 การอยู่ไฟในภาคเหนือ ในเมื่อการคลอดในสมัยโบราณเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย มีการเสียเลือดมากมาย ทางคลอดเกิดการฉีกขาดเป็นทางเข้าของแบคทีเรีย เกิดการติดเชื้อ พิธีกรรมในการคลอด การอยู่ไฟจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ผู้หญิงโบราณยึดถือกันอย่างเคร่งครัด สำหรับการอยู่ไฟของภาคเหนือ แม่ก๋ำเดือน จะต้องอยู่เดือน ”เข้าเส้า” อยู่กับความร้อนแต่ในห้องโดยเชื่อว่า เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ห้ามไม่ให้ออกไปไหน ต้อง “ก๋ำกิ๋น” คือห้ามกินของแสลงและไม่ให้ได้กลิ่นฉุน เพราะจะทำให้ป่วยเป็นโรค “ลมผิดเดือน” ได้ แต่สำหรับเวลาของการอยู่เดือนคือ ถ้าเป็นลูกสาว ต้อง ”เผื่อกี่เผื่อด้าย” แม่ก๋ำเดือนต้องอยู่ไฟ 30 วัน เนื่องจากหากลูกสาวโตขึ้นจะต้องเรียนรู้การปั่นด้าย ทอผ้า ถ้าเป็นลูกชาย ให้อยู่ไฟ 28 วัน ถือเป็นเคล็ดให้หยุดคมหอก คมดาบ จึงจะเห็นได้ว่าร่างกายของเราต้องการระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อฟื้นสุขภาพตัวเองให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม                 การใช้ความร้อนเฉพาะที่ในการรักษาโรค การใช้ความร้อนประคบ เหมาะสำหรับอาการปวดข้อต่างๆ ปวดกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดขา ปวดเข่า ซึ่งการประคบแบบนี้ เป็นการักษาเฉพาะที่ 1.การใช้ลูกประคบ เป็นการใช้สมุนไพรพื้นบ้านของไทยหลายๆชนิด มาห่อรวมกันด้วยผ้าขาว เอาลูกประคบ 2 ลูกไปนึ่งให้ชุ่มไอน้ำ แล้วเอาลูกประคบมานวดบริเวณที่ปวด อาศัยความร้อนจากลูกประคบทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เป็นการบรรเทาปวดที่ได้ผลทันที ความร้อนทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณที่นวดขยายตัว ทำให้ตัวยาสมุนไพรสามารถซึมเข้าไปในร่างกายมากขึ้น อาการอักเสบจะลดลง 2.การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนสลับเย็นประคบ เป็นการใช้ความร้อนประคบเฉพาะที่ปวด ที่อักเสบเรื้อรัง โดยไม่ได้ใช้สมุนไพร การประคบร้อนวิธีนี้ จะเรียกเอาเลือดมาเอ่ออยู่ในบริเวณนั้น เป็นการเอาความร้อนไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้ทำงานมากขึ้น อาการอักเสบและอาการปวดแทบจะลดลงทันที ส่วนการประคบเย็นจะทำให้หลอดเลือดบีบตัวไล่เลือดเก่าที่คั่งอยู่บริเวณนั้นกลับสู่ส่วนกลาว เพื่อเอาขยะและพิษจากการอักเสบไปกำจัดทิ้ง 3.การนวดย่ำข่าง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา (น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด   ข้อมูลจาก : พญ.ลลิตา ธีระสิริ รูปภาพจาก : https://jobschiangrai.com
เผยแพร่เมื่อ 9 มิถุนายน 2563 • การดู 5,134 ครั้ง
ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันจากตำรายาแผนโบราณ
ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันจากตำรายาแผนโบราณ
        การแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นระบบการดูแลรักษาสุขภาพ ที่มีมาตรฐาน มีจุดเด่นคือการใช้ เทคโนโลยีในการหาสาเหตุแห่งโรค และอาการ แบ่งระบบที่ชัดเจน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร แพทย์มีความรู้ทั่วไปและความรู้ความชำนาญเฉพาะทางตามระบบ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ได้การยอมรับ เป็น ระบบที่พัฒนาต่อเนื่อง มีเหตุผล อธิบายชัดเจน ต่อยอดหรือทำการศึกษาซ้ำ และนักวิจัยคนอื่นสามารถพัฒนาต่อไปได้  ส่วนการแพทย์ล้านนา การแพทย์อาข่า เมี่ยน ม้ง เย้า และอื่นๆ (ทั้งสิ้นประมาณ ๔๐ ชนเผ่า) เป็นการแพทย์ประสบการณ์ อ้างอิงธรรมชาติ ถ่ายทอดจากปากต่อปาก องค์ความรู้ในการรักษาอยู่ที่เฉพาะตัวหมอหรือผู้ที่รับถ่ายทอด ไม่มีตำราเป็นทางการ มีเอกสารอ้างอิงหรือพับสา ใบลานและสมุดบันทึก ใช้หลักของศาสนาพุทธและองค์รวมในการดูแลเยียวยาร่างกายเอง เห็นว่ามนุษย์แตกต่างในเรื่องของธาตุ เมื่อปกติต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อน  โรคจึงจะหายหรือรักษาได้ โบราณใช้หลักการแพทย์ เช่นการปล่อยปลิง การถอนพิษด้วยยาสมุนไพร และการถอนพิษด้วยการขับถ่าย แม้ความเจริญทางการแพทย์แผนปัจจุบันล้ำหน้ากว่าการแพทย์แผนโบราณ แต่ปัจจุบัน มนุษย์กลับมาแสวงหาการใช้ธรรมบำบัด หรือใช้สมุนไพรบำบัด เนื่องจากเกรงอันตรายจากสารเคมี และอาการข้างเคียงของยา แต่การนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์ล้านนามาใช้ ต้องผ่านการศึกษาด้านองค์ความรู้ในใบลาน พับสาและเอกสารโบราณ ความเข้าใจในเวชกรรม หลักการตั้งตำรับยาซึ่งต้องเข้าใจตัวยาแต่ละชนิด คัดเลือก ปรับใช้ให้สามารถประยุกต์กับยุคสมัยจึงจะสามารถพัฒนาต่อยอดจากฐานรากได้     เภสัชกรหญิง รศ.ดร. พาณี  ศิริสะอาด
เผยแพร่เมื่อ 21 เมษายน 2563 • การดู 5,518 ครั้ง
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
หมู่บ้านของชาวล้านนามีรูปแบบอยู่  2  ลักษณะคือ  หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ขนานกับเส้นทางสัญจร  และหมู่บ้านที่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม  ซึ่งในลักษณะแรกมักเป็นหมู่บ้านที่ติดกับเส้นทางการค้า  รองรับการค้าขาย  ส่วนหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม  ตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากเส้นทางสัญจรหลัก  เกิดจากการสร้างบ้านเรือนกระจายออกจากจุดศูนย์กลางของตัวหมู่บ้านออกไปเรื่อยๆ  ตามการขยายตัวของคนในชุมชน  ปัจจุบันเราไม่สามารถเห็นขอบเขตของหมู่บ้านแต่ละกลุ่มในเมืองใหญ่ได้อย่างชัดเจน  เพราะการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม  หมู่บ้านต่างๆ อยู่ติดๆ กันเป็นผืนใหญ่  แต่ในชนบทบางแห่งยังคงพบว่าหมู่บ้านแต่ละที่มีระยะห่างไกลกันพอสมควร  จึงเห็นเขตของหมู่บ้านอย่างชัดเจน  โดยมีที่นาหรือป่าชุมชนตั้งอยู่ระหว่างแต่ละหมู่บ้าน  ผังหมู่บ้านของชาวล้านนาในอดีต  ค่อนข้างที่จะมีแบบแผนชัดเจน  โดยทำเลที่เหมาะสมกับการตั้งหมู่บ้านที่ดีที่สุดคือต้องมีแหล่งน้ำ  หากบริเวณนั้นมีพื้นที่ดอนและที่ราบแม่น้ำไหลผ่าน  ก็จะตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่สันดอน  ส่วนที่ราบนั้นจะจำกัดไว้สำหรับการเพาะปลูก  เพราะเป็นบริเวณที่น้ำชุ่มตลอดทั้งปี  เหมาะแก่การปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง              ใจบ้าน  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของหมู่บ้านชาวล้านนาคือ  ใจบ้านเปรียบได้กับขวัญของหมู่บ้าน  ที่มีเทวาอารักษ์หรือเสื้อบ้านสถิตอยู่เพื่อคอยดูแลป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านได้  นิยมกำหนดให้อยู่ในบริเวณต้นไม้ใหญ่  หรือสร้างหอเสื้อบ้านขึ้นมา หรือปักเสาหลักเป็นเสื้อบ้านก็ได้  ซึ่งใจบ้านส่วนใหญ่จะอยู่กลางหมู่บ้านบริเวณเดียวกับข่วงบ้าน  เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในหมู่บ้านร่วมกัน           หอผีเสื้อบ้านหรือหอเจ้าบ้าน  มักอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่พิเศษแตกต่างไปจากพื้นที่โดยทั่วไป  เช่น  บริเวณจอมปลวก  บริเวณที่ดอน  เป็นต้น  มีลักษณะเป็นเรือนจำลองขนาดเล็ก  ในอดีตสร้างด้วยไม้  ตัวหอยกพื้นขึ้นสูงเล็กน้อย  แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านบางแห่งหอผีเสื้อบ้านชำรุด  จึงสร้างใหม่เป็นอาคารก่อปูนชั้นเดียวขนาดใหญ่กว่าแบบเดิม  ภายในหอผีมีชั้นสำหรับวางเครื่องสักการะและของใช้ของผี  คือ  ขันหมาก  น้ำต้น  ดาบ  รูปปั้นม้าหรือช้าง  ฯลฯ   ทุกปีก็จะมีพิธีเซ่นไหว้ถวายเครื่องสังเวยให้ผีเสื้อบ้าน  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและร้องขอให้ช่วยดูแลรักษาหมู่บ้านให้ปลอดภัย                       ข่วงบ้าน  เป็นลานโล่งกว้าง  ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือต้นไม้ขึ้นมากีดขวาง  มักอยู่บริเวณหน้าหอผีเสื้อบ้านหรือใจบ้าน  เป็นพื้นที่สาธารณะของคนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เดิมทีใช้เป็นที่สำหรับจัดพิธีกรรมในการเลี้ยงผีบ้าน  ภายหลังรูปแบบของหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลง  จากการขยายตัวของชุมชน  ทำให้บางหมู่บ้านแทบไม่เหลือพื้นที่นี้ไว้           กลุ่มเรือน  ลักษณะของหมู่บ้านชาวล้านนาในอดีตหรือชนบท  จะกระจุกตัวรวมกันอย่างหนาแน่นบริเวณกลางหมู่บ้านแล้วก็เบาบางลงบริเวณท้ายบ้าน  จากนั้นก็จะเป็นที่นาคั่นระหว่างหมู่บ้าน  ถนนที่ใช้ในหมู่บ้านก็จะมีขนาดเล็กแคบและคดเคี้ยว  ทางเข้าบ้านมีการแบ่งซอยย่อยออกไป  แต่หมู่บ้านในเมืองที่มีกลุ่มเรือนกระจายตัวทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านจนไม่มีพื้นที่ว่าง  มักมีการกำหนดเขตโดยใช้ถนน  หรือแม่น้ำแบ่งเขตหมู่บ้านแทน              วัด  ในแต่ละหมู่บ้านต้องมีวัดประจำของตัวเอง เพื่อให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่สำหรับการทำบุญและฟังเทศน์ธรรม  อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมร่วมกันของชุมชนในพิธีกรรมประเพณีต่างๆ  ส่วนใหญ่หมู่บ้านแต่ละแห่งจะมีเพียงหนึ่งวัด  แต่หากเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  หรือเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากหมู่บ้านเดิม  จะสร้างวัดใหม่เพิ่มขึ้น  เพื่อให้คนในชุมชนได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างทั่วถึง  ในอดีตวัดประจำหมู่บบ้านจะตั้งชื่อเหมือนกับหมู่บ้านนั้นๆ  แต่ปัจจุบันบางแห่งอาจมีการตั้งชื่อใหม่อีกชื่อเพื่อความสวยงามทางภาษา  อย่างไรก็ตามคนในหมู่บ้านก็ยังคงมีบทบาทในการทำนุบำรุงวัด  และพระสงฆ์ในหมู่บ้านของตนเอง  ซึ่งผู้ที่ทำบุญและเข้าร่วมพิธีสงฆ์ในวัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา  จะเรียกตนเองว่าเป็น “ศรัทธาวัด”  ของวัดนั้นๆ  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นศรัทธาวัดในหมู่บ้านนั้นเอง             ที่นา  เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวหรือพืชอื่นๆ  มักอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มหรือใกล้กับแหล่งน้ำในแต่ละหมู่บ้านจะมีอาณาเขตที่นาอยู่รอบๆ ใจกลางของหมู่บ้าน    ซึ่งหมู่บ้านก็จะมีเรือนหลายๆ หลังอยู่กระจุกรวมกันเป็นกลุ่ม  ถัดออกไปก็จะเป็นที่นาผืนใหญ่  ซึ่งเจ้าของที่นาแต่ละคนจะจำที่ของตนเองได้  โดยแบ่งที่นาแต่ละที่ออกจากกันด้วยคันนา 
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 • การดู 10,749 ครั้ง
การตั้งถิ่นฐานของชาวล้านนา
การตั้งถิ่นฐานของชาวล้านนา
สภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม             สภาพสิ่งแวดล้อมมีผลต่อวิถีชีวิตของคนแต่ละพื้นที่เป็นอย่างมาก ในท้องถิ่นต่างๆ  มักรู้จัก การประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมในที่ตั้งถิ่นฐานนั้นด้วย ถือเป็นการกลั่นกรองทางด้านความคิด  ภูมิปัญญา      และการปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสมกับท้องถิ่นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี คำว่า  บ้านและเรือน  ในความหมายของชาวล้านนาในอดีตมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน  เพราะ “บ้าน” จะหมายถึง  “หมู่บ้าน”  ที่มีการกำหนดอาณาเขต  ทำเลที่ตั้งของเรือนที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  ส่วนคำว่า “เรือน”  คือ  “อาคารที่อยู่อาศัย”  ของมนุษย์  ในแต่ละหมู่บ้านต่างก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การตั้งชื่อหมู่บ้านตามแหล่งน้ำที่มี  ห้วย  หนอง  ท่า  สบ  การตั้งชื่อหมู่บ้านบริเวณ  โคก  สัน  ดอย  หลิ่ง  การตั้งชื่อตามพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีในแถบนั้น  เช่น  บ้านขี้เหล็ก  บ้านสันคะยอม  บ้านสันผักหวาน  ท่าส้มป่อย  หรือบางครั้งอาจตั้งชื่อหมู่บ้านตามประวัติศาสตร์  เรื่องเล่าและตำนาน  เช่นบ้านนางเหลียว  ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่นางจามเทวีเหลียวหลังกลับไป  เป็นต้น เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของล้านนาตั้งอยู่ทางตอนปลายของแนวเทือกเขาที่ทอดลงมาจากประเทศจีน  ทำให้มีพื้นที่ราบสลับกับเทือกเขาสูง    ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานของชาวล้านนาจึงขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์  ซึ่งมักสร้างเมืองตาม  “ แอ่ง”  ใหญ่ๆ  เช่น  แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน  แอ่งลำปาง  เป็นต้น  แอ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขา  มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่และมีแม่น้ำไหลผ่าน  ซึ่งการเกิดขึ้นของเมืองก็จะกระจุกตัวอยู่ตามเส้นทางแม่น้ำสายหลัก  และแม่น้ำสาขา  เพื่อใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคตลอดจนใช้ในการเพาะปลูก
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 • การดู 10,302 ครั้ง