4 พฤศจิกายน 2564
3k
Share on
 

ลอยกระทง

 

ลอยกระทง เป็นประเพณีหนึ่งที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทย หากกลับไปสืบค้นหลักฐานในศิลาจารึกและเอกสารโบราณต่างๆ ไม่พบประเพณีลอยกระทง แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ “ชักโคม ลอยโคม” และแขวนโคม  คำว่า “ลอยกระทง” เริ่มปรากฏหลักฐานเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือ “ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์” โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย จึงเกิดการทำกระทงด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ จุดประสงค์ของการลอยกระทงก็เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา

การลอยกระทงในล้านนา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีไทย ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๗๐ ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากสยาม โดยการจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะชาวล้านนายังปฏิบัติตามจารีตประเพณีเดิม ด้วยการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัดตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน "เพ็ญเดือนยี่" ตามประเพณีดั้งเดิมอยู่

ตามวิถีล้านนานั้น ในเทศกาลยี่เพงที่ตรงกับเพ็ญเดือนสิบสองของไทยนี้ กิจกรรมที่นิยมทำคือการตั้งธัมม์หลวง หรือเทศนาธรรมเรื่องเวสสันดรชาดก หน้าวัดตกแต่งด้วยซุ้มประตูป่าพร้อมประดับโคมไฟ ส่วนภายในวิหารก็มีการนำพืชพันธุ์ ของแห้ง และเครื่องพิธีมาจัดวางจนเต็มในวิหาร บางวัดทำเขาวงกต ซึ่งจำลองเหตุการณ์ครั้งที่พระเวสสันดรถูกขับให้ออกจากเมือง แล้วเดินเข้าป่าเพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมี โดยก่อนที่จะเข้าไปต้องผ่านเขาวงกตก่อน เพื่อให้ผู้มาฟังธรรมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ช่วงกลางวันมักจะเป็นมีการปล่อยว่าวรม หรือว่าวตะวัน(ควัน) คือลูกโป่งกระดาษขนาดใหญ่ที่ใช้ความร้อนจากควันไฟทำให้ลอยขึ้นสู่ฟ้า ส่วนกลางคืนมีการจุดบอกไฟชนิดต่างๆ และตามผางประทีป(จุดประทีป) โคมไฟ และปล่อยว่าวไฟ ซึ่งในการจุดประทีปโคมไฟนี้ ได้มีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีปเป็นเครื่องรับรองถึงคตินิยมในการจุดประทีปโคมไฟ สังเกตได้ว่าประเพณียี่เป็งดั้งเดิมของชาวล้านนา มีพื้นที่ในการจัดพิธีจะอยู่ในวัด และให้ความสำคัญกับการสร้างอานิสงส์ผลบุญในวันศีลหลวง(วันพระใหญ่)

          เทศกาลลอยกระทงของเชียงใหม่ หรือประเพณียี่เป็ง เริ่มเมื่อครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ นั้น ก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมในการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพโดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน ประเพณีการลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็ก และในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ แต่ภายหลังมีการยอมรับและนำไป "ลอยกระทง" กันทั่วไป

รูปแบบกระทงในช่วงแรกจัดทำกระทงหรือแพหยวกกล้วย ให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ เมื่อจุดธูปเทียนแล้วจึงปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ ถ้ากระทงนั้นทำด้วยชิ้นกาบกล้วยขนาดฝ่ามือ มีเทียนปักแล้วหรือวางประทีปแล้วจุดปล่อยให้ลอยตามกันไปเป็นสายก็เรียกว่า กระทงสาย ถ้าทำเป็นแพหยวกกล้วยหรือกระทงใบตองขนาดกว้างประมาณ ๑ คืบถึง ๑ ศอก ก็อาจมีการประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อความสวยงามและอาจใส่เงินลงไปด้วย กระทงดังกล่าวนิยมเรีอกระทงหน้อย ส่วนกระทงขนาดใหญ่ซึ่งนิยมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ โดยเจตนาให้เป็นทานนั้นเรียกว่า สะเพา คือสำเภา และกระทงทำขึ้นเพื่อการประกวดนั้นมักตกแต่งเป็นรูปต่างๆ และมี "นางนพมาศ" เป็นจุดสนใจประจำแต่ละกระทงนิยมเรียกว่ากระทงใหญ่

          ภายหลังประเพณียี่เป็งถูกลดทอน และนำเพียงภาพสัญลักษณ์บางอย่างออกจากวัดและชุมชนไปสู่หน่วยงานราชการ และส่วนกลางของจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยขาดการเชื่อมโยงที่มาของพิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิม เช่น การขอความร่วมมือหน่วยงานจัดทำซุ้มประตูป่า การแข่งขันปล่อยโคม การแห่ขบวนรถกระทง เป็นต้น หัวใจสำคัญของประเพณียี่เป็งล้านนาด้วยการฟังธรรมในพิธีตั้งธัมม์หลวงจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน เปลี่ยนเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริงในการพบปะสังสรรค์ ร้องรำทำเพลง และลอยกระทงริมฝั่งน้ำ ตามสมัยนิยมที่พัฒนาไปพร้อมกับสังคม

 

บทความโดย

นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา

นางสาวปรียาลักษณ์ ใจสัตย์

 

อ้างอิง

ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเพพฯ : มติชน.

2548.

พัชรเวช สุขทอง. ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?. เว็บไซต์ https://www.silpa-mag.com. เผยแพร่

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562

#พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช. #เรือนโบราณ #พิพิธภัณฑ์ฯในเชียงใหม่ #CMULHM #LannaHouseMuseum