ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
ตาเเหลว เครื่องหมายบอกอาณาเขตหวงห้าม
ตาเเหลว เครื่องหมายบอกอาณาเขตหวงห้าม
ตาแหลว (อ่าน “ต๋าแหลว”) ตาแหลวนี้จะใช้เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรม มีลักษณะใช้เป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตหวงห้าม เช่น ใช้ติดหน้าบ้านของคนที่ตายอย่างผิดปกติหลังทำพิธีศพเพื่อสร้างเป็นเชตหวงห้ามหรือใช้แขวนกับสายสิญจน์และหญ้าคาฟั่นไว้กลางประตูเมืองหลังพิธีสืบชาตาเมืองเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และใช้เสียบไม้ปักไว้ในบริเวณปลูกข้าวแรกนา เป็นต้น   ตาแหลว หรือ ตะแหลว นั้นจะตรงกับเฉลวของไทยภาคกลางเป็นเครื่องจักสานทำด้วยตอกเส้นเล็กขัดกัน ให้ส่วนกลางเป็นตา 6 เหลี่ยม ปล่อยชายตอกออกไปคล้ายกับรัศมีแสงอาทิตย์ ตาแหลวเจ็ดชั้นนี้จะประกอบด้วยตาแหลว 2 ชุด ที่ทำขึ้นต่อเนื่องกัน โดยที่ชุดล่างจะใช้ตอกเจ็ดเส้นสานพับปลายสอดกันให้เกิดตา 6 เหลี่ยม จำนวน 7 ตา ส่วนชุดที่สอง ซึ่งติดตั้งเหนือตาแหลวแรก จะใช้ตอกจำนวน 9 เส้นสานขัดกันให้มีตา 6 เหลี่ยมจำนวน 3 ตา   ข้อมูล : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรม ภาคเหนือ เล่มที่ 5 
เผยแพร่เมื่อ 1 ธันวาคม 2563 • การดู 10,578 ครั้ง
สืบชะตาคน
สืบชะตาคน
ชาตา คือลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและชั่ว เช่น ชะตาดี ชะตาร้าย หรือรูปราศีที่มีดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้นในเวลาเกิดของคน เรียกว่าชะตาคน การแก้ไขชะตาร้ายชะตาขาดของคนโบราณมีด้วยกันหลายวีธี เช่น การส่งกิ่ว การบูชานพเคราะห์หรือการทำพิธีสืบชะตา เป็นต้น โดยสิ่งที่ใช้ในประกอบพิธีจะประกอบด้วย บายสรี มาจากคำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ข้าว” ส่วนคำว่า “สรี” มาจากภาษาสันสกฤตตรงกับภาษาบาลีว่า “สิริ” ซึ่งแปลว่ามิ่งขวัญหรือสิริมงคล ดังนั้น คำว่าบายสรี จึงแปลว่า “ข้าวขวัญ” หรือข้าวที่จัดเพื่อเป็นสิ่งมงคล โดยในรูปภาพนี้คือบายสรีนมแมว เป็นบายสรีพิเศษสำหรับใช้กับทุกคนทุกชั้น โดยเฉพาะในพิธีเรียกขวัญลูกแก้ว คือการนำใบตองมาพับให้ปลายเรียวแหลมหลายๆอัน แล้วนำมาทับซ้อนทับให้เหลื่อมล้ำกันขึ้นไป จะมีกี่อันก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ ซึ่งใบตองที่ซ้อนกันนี้เรียกว่า “นมแมว” ไม้ค้ำ คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้โตเร็ว ตัดให้ปลายมีง่ามเรียกว่าไม้ค้ำจำนวน 2 อัน ไม้ไผ่บง 2 ท่อน เจาะใส่สลักให้ติดกันทำเป็นสะพานคู่ ไม้ไผ่เรี้ยหรือไม้ซางของภาคกลาง 2 ท่อน ท่อนแรกด้านหนึ่งใส่น้ำแล้วปิดรูด้วยใบตองแห้ง ด้านหนึ่งใส่ทรายแล้วปิดรู อีกท่อนหนึ่ง ด้านหนึ่งใส่ข้าวเปลือกแล้วปิดรู ด้านหนึ่งใส่ข้าวสารแล้วปิดรู เรียกว่า บอกน้ำ บอกซาย บอกเข้าเปลือก(ข้าวเปลือก) บอกเข้าสาน(ข้าวสาร) ทั้งนี้ความยาวของไม้ค้ำ สะพานและกระบอกต่างๆนี้ ให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่า ยาวค่าฅิง ผู้ชายยังต้องเป็นฝ่ายจัดหาหน่ออ้อย หน่อกล้วย กล้าหมาก กล้ามะพร้าวมาเข้าพิธีด้วย และจะต้องมีก้านกล้วยมา 2 ก้าน สูงเท่ากับไม้ค้ำใช้ตอกแข็งเสียบก้านกล้วย 2 อัน ทำคล้ายกับบันไดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตรแล้วผูกฝ้ายดึงจากบนลงล่าง จำนวน 6 สาย แล้วผูกหอยเบี้ยสายหนึ่ง หมากพลูสายหนึ่ง ข้าวตอกสายหนึ่ง เงินสายหนึ่ง ทองคำสายหนึ่ง กล้วยอ้อยสายหนึ่ง รวมเรียกว่า ลวดเงินลวดฅำ(ทอง) ฟั่นเทียนที่เรียกว่า สีเทียนด้วยขี้ผึ้ง 1 เล่ม โตเท่ากับหัวแม่มือ ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่าเทียนค่าฅิง เอากระดาษสากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา มาตัดเป็นทุงโดยทำเป็นดั่งหัวคน เป็นลำตัว เป็นหาง เรียกว่า ทุงค่าฅิง(ตุงค่าคิง) เอากระดาษสามาตัดเป็นธง 3 เหลี่ยม กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร จำนวนเท่าอายุของเจ้าชะตา แล้วปักกับก้านกล้วย และจะต้องมีของบูชาขันตั้งขันครู ให้กับอาจารย์ที่จะมาประกอบพิธีคือ แต่งเบี้ย หมากไหม ผ้าแดง ผ้าขาว เทียนเหล้มบาท หมาก 4 ก้อม เสื่อใหม่ หม้อใหม่ ข้าวเปลือกประมาณ 1.5 กิโลกรัม เรียกว่า เข้าเปลือกหมื่นเข้าสารพัน สิ่งที่จะต้องเตรียมในการทำพิธีสืบชะตาคน 1.นิมนต์พระ 9 รูปหรือมากกว่า หากจัดสวดพร้อมกันทุกจุดก็จะต้องใช้พระสงฆ์แจ่งบ้านละ 9 รูป รวมทั้งส่วนกลางด้วยเป็น 45 รูป (หากไม่มีเหตุร้ายแรงจริงๆก็จะนิมนต์พระเพียง 9 รูป) 2.เตรียมเครื่องสังเวยท้าวทั้งสี่ เครื่องบูชาเสื้อบ้าน หรือเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน 3.เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำพิธี เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว หมาก พลู  เครื่องขบเคี้ยว ฯลฯ 4.เตรียมเครื่องคำนับครูของอาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งจะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน เบี้ย 108 ข้าวเปลือกข้าวสารอย่างละกระทง ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละ 2 ศอก เงิน 6 บาทหรือตามแต่อาจารย์กำหนด 5.เตรียมเครื่องสืบชาตา เช่น ไม้ค้ำ ขัวไต่ ลวดเงิน ลวดทอง กระบอกน้ำ ฯลฯ 6.ขันหรือกระบุงใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร และทราย 7.ให้ทุกครอบครัวเตรียมน้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอมและทรายมาร่วมพิธี ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้วจะได้นำกลับไปโปรยที่บ้านเรือนของตน 8.ตาแหลว หรือเฉลวและเชือกที่ฟั่นด้วยหญ้าคาสด   ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 7
เผยแพร่เมื่อ 27 ตุลาคม 2563 • การดู 12,697 ครั้ง
ศรีมหาโพธิ์
ศรีมหาโพธิ์
ศรีมหาโพธิ์ ที่ชาวล้านนาเรียกว่า "ต้นสรี" หรือ "ต้นสะหรี" โดยทั่วไป หมายถึง ต้นไม้ที่เป็นโพธิฤกษ์ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอาศัยร่มเงาในคืนที่ทรงบำเพ็ญเพียร ก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวล้านนาในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนจึงมีวิธีปฏิบัติต่อต้นศรีมหาโพธิ์ด้วยความเคารพศรัทธา มีการดูแลปัดกวาดบริเวณลานโพธิ์ให้สะอาดสะอ้านเสมอ บางเเห่งตั้งศาลเเละจัดเครื่องสักการะบูชาถวาย ขณะเดียวกันก็มีข้อห้ามมิให้ ตัดทำลายกิ่งก้านหรือต้นศรีมหาโพธิ์ นอกจากนี้ยังมีประเพณี พิธีกรรมเเละความเชื่อตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประเพณีทานไม้ค้ำ ประเพณีบวชต้นศรีมหาโพธิ์การบรรจุต้นศรีมหาโพธิ์ไว้ในเจดีย์เเละความเชื่ออื่น ข้อห้ามในการตัดทำลาย     ข้อปฏิบัติที่ยึดถือกันมาตั้งเเต่โบราณกาล อย่างหนึ่ง คือ ข้อห้ามมิให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าฝืนจะเกิดอัปมงคลที่เรียกว่า "ขึด" ข้อห้ามข้อหนึ่งโบราณว่า ห้าม"รานสะหรี" ในคัมภีร์ที่ชื่อ "ธรรมดาจารีต" อธิบายว่า "รานสะหรี" คือว่า รานไม้เสื้อบ้าน เสื้อเมือง ไม้อารักษ์ ไม้ที่ฅนยั้งร่ม ไม้มิ่งเมือง เเละไม้สรีมหาโพธิ์ หลอนตัดเเละราน จักฉิบหายเเล" หมายความว่า รานสะหรี ได้เเก่ การตัดไม้อารักษ์บ้านเมือง ไม้ที่คนทั่วไปอาศัยร่มเงา ไม้ประจำเมืองเเละไม้ศรีมหาโพธิ์ หากตัดฟันจะพินาศฉิบหาย ส่วนคัมภีร์ชื่อ "พิษณุถามนางธรณี" กล่าวว่า "ไม้ใหญ่อันเป็นสรีเเก่บ้านเเก่วัด บ่ควรดีปล้ำ ไม้สรีมหาโพธิ์ก็บ่ควรดีปล้ำ" คือ ไม้ใหญ่อันเป็นศรีเเก่บ้านเมืองเเละวัดก็ดี หรือไม้ศรีมหาโพธิ์ก็ดี ล้วนไม่ควรตัดทำลายทั้งสิ้น เเต่ถ้าหาก มีความจำเป็นจะต้องตัด ผู้ที่ตัดจะต้องทำพิธีขออนุญาตจากรุกขเทวดาที่คอยรักษาต้นศรีมหาโพธิ์ก่อน มิเช่นนั้น เชื่อกันว่าจะเกิดมหันตภัยต่อผู้ตัดเเละครอบครัวตลอดจนชุมชนเเละบ้านเมืองในไม่ช้า    ข้อมูลจาก : หนังสือไม้เมืองเหนือ ความเชื่อโบราณ
เผยแพร่เมื่อ 15 ตุลาคม 2563 • การดู 2,941 ครั้ง
ประเพณีตักบาตรเทโว
ประเพณีตักบาตรเทโว
            ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากประเพณีการทำบุญออกพรรษา คำว่า “เทโว”  มาจากคำว่า “เทโวโรหณะ”  แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก  หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากเสด็จเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดพรรษที่ ๗ หลังจากทรงตรัสรู้ เรื่องราวดังกล่าวมีตำนานเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประกาศศาสนาทั่วชมพูทวีป ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ พาราณสี สาวัตถีตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพุทธสาวกและพระประยูรญาติทั้งหลายให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละบุคคลมาเป็นลำดับถึง ๖ พรรษา จากนั้นพระองค์ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากทรงตรัสรู้ พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ทรงเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษา ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จลงสู่โลกโดยเสด็จสถิตเหนือยอดเขาสิเนรุราช เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเครื่องสักการบูชาของเหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้วจึงทรงเปิดโลกให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดได้มองเห็นสวรรค์  โลกมนุษย์และนรกภูมิโดยตลอด ดั้งนั้นในวันนี้จึงเรียกว่าวัน “พระเจ้าเปิดโลก” อีกชื่อหนึ่ง             การเสด็จลงจากเทวโลกนั้น ตำนานกล่าวว่ามีปัญจสิงขรคันธัพพเทวบุตรถือพิณดีดขับร้องนำเสด็จในเบื้องหน้ามีบันไดทิพย์ ๓ บันได คือ บันไดทองอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้าย บันไดแก้วอยู่ตรงกลาง เชิงบันไดทั้งสามจรดลงที่เมืองสังกัสสนคร บันไดทองเป็นทางลงของหมู่เทวดา บันไดเงินเป็นทางลงของหมู่พรหม และบันไดแก้ว เป็นทางเสด็จของพระพุทธองค์ เมื่อทรงเสด็จถึงโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร พระพุทธองค์ได้ทรงนำเหล่าพุทธสาวกออกรับบิณฑบาตจากประชาชนที่ไปรอเฝ้ารับเสด็จเพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงถือเอาวันออกพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันคล้ายวันเสด็จลงจากเทวโลก จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันเป็นกรณีพิเศษ มีการจำลองเหตุการณ์ โดยอัญเชิญเอาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนำหน้าพระสงฆ์จำนวนมาก  บิณฑบาตจากวัดที่อยู่ระดับสูง  เช่น วัดที่อยู่เนินเขา แล้วตักบาตรโดยเรียกว่า “ตักบาตรเทโว”  กิจกรรมนี้เป็นที่นิยมยิ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมา สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดงานตักบาตรเทโวต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ปีนี้จะจัดให้มีขึ้นในเช้าของวันเสาร์ที่ ๓ตุลาคม ๒๕๖๓ นี้ ณ ถนนสายวัฒนธรรม ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มงานประมาณ ๐๖.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป งานนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นิมนต์พระสงฆ์ไปรับบิณฑบาตถึง ๕๐๐ รูป             บุญใหญ่อย่างนี้ ปีหนึ่งมีครั้งหนึ่ง จึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะพาครอบครัวไปตักบาตร เพื่อความเป็น สิริมงคลและเป็นมหากุศลผลบุญอันจะนำพาชีวิตให้พบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปตราบซึ่งนานเท่านาน เขียนโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.              
เผยแพร่เมื่อ 2 ตุลาคม 2563 • การดู 9,148 ครั้ง
ประเพณีสิบสองเป็ง
ประเพณีสิบสองเป็ง
ประเพณีสิบสองเป็ง เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับ ในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ เพราะเชื่อกันว่าในวันดังกล่าว พระยายมราชได้ปลดปล่อยวิญญานของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงมีการไปทำบุญที่วัดอย่างมากมายประเพณีดังกล่าว ตรงกับกิจกรรมของไทยภาคอื่น กล่าวคือภาคกลางมีประเพณีที่คล้ายกันเรียกว่า "ตรุษสารท" ภาคใต้เรียกว่า "ประเพณีชิงเปรต" ส่วนภาคอีสานเรียกว่า "ประเพณีบุญข้าวประดับดิน" ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามความเชื่อในแนวคิดเดียวกัน (เขียนโดย อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.)
เผยแพร่เมื่อ 2 กันยายน 2563 • การดู 4,689 ครั้ง
ผางประทีปเเละเรื่องเล่าในล้านนา
ผางประทีปเเละเรื่องเล่าในล้านนา
ผางประทีส หรือผางประทีป (อ่าน “ผางผะดี้ด หรือผางผะตี๊บ”)                    คือถ้วยประทีป หรือถ้วยเล็กๆ ที่ทำด้วยดินเผารูปลักษณะแตกต่างกันตามฝีมือช่างแต่ละยุคสมัย ผางประทีสแบบเก่าที่พบหลายแห่งมีขนาดใหญ่เท่าชามแกงขนาดย่อม ซึ่งผางประทีสที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ก็ก็เพื่อบรรจุเชื้อเพลิงได้มากสำหรับให้แสงสว่างเป็นเวลานาน ส่วนผางประทีสที่ทำขายสำเร็จรูป คือมีทั้งประทีสน้ำมัน และตีนกา มักมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร และขนาดใหญ่คือประมาณ 10 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร ซึ่งผางประทีสขนาดใหญ่นี้อาจทำเป็นชนิดที่ทำเป็นเชิงสูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตรก็มีเช่นกัน ผางประทีสชนิดนี้มักจะมีลายประดับที่ปากถ้วยไว้ด้วย                 ผางประทีปหรือผางประทีส คือประทีปที่เป็นเครื่องจุดตามไฟเป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบชาตาอายุ หรืออีกนัยหนึ่งคือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนในเวลากลางคืน ตัวประถางที่รองรับทำด้วยดินเผาหรือกระเบื้องเคลือบ ตามความหมายดังกล่าวคำว่า ประทีป หมายถึงแสงไฟ ผาง หมายถึงภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป รวมความผางประทีป คือเครื่องจุดตามไฟ  นอกจากถ้วยประทีปแล้ว สิ่งที่สำคัญคู่กันก็คือ น้ำมัน และตีนกาหรือสีสาย ซึ่งน้ำมันที่ใช้เติมลงในถ้วยประทีปนั้น อาจเป็นน้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา รวมถึงน้ำมันที่ได้จากสัตว์อีกด้วย ปัจจุบันนิยมใช้ขี้ผึ้ง (พาราฟีน) แต่ไม่พบว่านิยมใช้น้ำมันจากสัตว์ในประทีปที่บูชาพระ สีสาย ซึ่งอาจอ่านเป็น “สี้สาย” หรืออ่านเคลื่อนเป็น “ขี้สาย” นั้น ทำจากด้ายฟั่นให้เป็นเชือกสองเกลียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วดึงแยกเกลียวทั้งสองออกจากกันโดยเว้นระยะจากปลายเชือกประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อปล่อยมือเชือกเกลียวแต่ละเกลียวก็จะพันกันกลับเป็นเชือกอีกทีหนึ่ง จัดแต่งเชือกทั้ง 4 ชายให้เข้ากัน โดยจัดสามชายแยกออกจากกันเป็นสามแฉก เหมือนตีนกา และอีกชายหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของทั้งสามชาย ก็จะได้ตีนกา หรือสีสายตามต้องการ ในช่วงเทศการยี่เพง (อ่าน “ยี่เป็ง”) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง จะมีการประดับประทีปโคมไฟกันทั่วไป นอกจากการประดับส่วนนี้แล้ว ยังใช้เป็นจุดบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนหนึ่งตามอายุของแต่ละคน ในการตั้งธัมม์หลวง หรือฟังเทศน์มหาชาตินั้นเจ้าของกัณฑ์เทศน์กัณฑ์ใดในหาเวสสันดรชาดกก็จะจุกประทีปตามจำนวนคาถา เช่น กัณฑ์กุมาร 101 คาถา ก็จุดประทีบ 101 ดวง เป็นต้น                ในล้านนา ตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของตีนกาที่ใช้เป็นไส้จุดประทีปหรือดังปรากฏในคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีป เล่าว่าเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์มีแม่กาเผือกกำลังกกไข่อยู่บนต้นไม้ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง เกิดมีลมพายุพัดรังกากระจัดกระจาย ไข่ก็ตกลงไปในแม่น้ำแล้วไหลไป แม่กาก็พลัดไปอีกทางหนึ่ง พอลมสงบแม่กาก็หาไข่ไม่พบ ก็ร้องไห้จนขาดใจตาย แล้วไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ ส่วนไข่ 5 ฟอง ก็ถูกแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ (หรือบางตำราว่าคนซักผ้านำเอาไปเลี้ยง) เอาไข่ไปฟักตัวละฟอง พอโตขึ้นต่างก็ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 มาพบกัน ต่างก็ถามถึงความเป็นมาของกันและกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักแม่ที่แท้จริงของตนเลย จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ของตนร้อนถึงท้าวพกาพรหมต้องลงมาพบเล่าเรื่องอดีตให้ฟังและบอกว่า ถ้าคิดถึงแม่ให้เอาด้ายดิบทำเป็นรูปตีนกาแล้วจุดไฟในประทีปในวันยี่เพง คือวันเพ็ญเดือน 12  จากเรื่องเล่าดังกล่าวจึงมีการบูชาประทีปในฤดูเทศกาลเดือนยี่เป็ง ชาวบ้านจะนำผางประทีปไปจุดตามวัดและฟังพระธรรมเทศนาอานิสงส์ และยีงมีการตามประทีปและจุดบูชาตามรอบรั้วบ้าน หัวบันไดบ้าน บ่อน้ำ ครัวไฟ โดยกำหนดว่าพอพระเริ่มเทศน์ธัมม์ หรือคัมภีร์อานิสงส์ผางประทีป ก็จะจุดประทีปที่บ้านของตนขึ้นพร้อมกัน ในพิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ กล่างถึงการจุดผางประทีปจำนวน 1,000 ดวง ใช้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวเพื่อสืบอายุเมืองและต้องการให้บ้านเมืองประสบความเจริญรุ่งเรือง เพื่อให้เกิดความสวัสดีมงคลโดยทั่วกัน                                                                 (ข้อมูลจากสารานุกรมไทยภาคเหนือ เล่ม 8 หน้า4072-4075)
เผยแพร่เมื่อ 23 กรกฎาคม 2563 • การดู 20,005 ครั้ง