ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
การขึ้นท้าวทั้งสี่
การขึ้นท้าวทั้งสี่
การขึ้นท้าวทั้งสี่ ท้าวทั้งสี่ หมายถึงมหาเทพสี่พระองค์ที่เป็นหัวหน้าของเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นเเรก ท้าวทังสี่พระองค์นี้ทำหน้าที่ดูเเลความสงบสุขของเหล่าสัตว์โลกในทิศต่างๆ อันหมายถึง ท้าวธตรัฎฐะดูเเลทิศตะวันออก เป็นหัวหน้าของพวกคันธัพพะ ท้าววิรุฬหกะดูแลทิศใต้ เป็นหัวหน้าของพวกกุมภัณฑ์ ท้าววิรูปักขะดูเเลทิศตะวันตก เป็นหัวหน้าของพวกนาค และท้าวเวสสุวัณณะดูเเลทิศเหนือเป็นหัวหน้าของยักษ์เเละเป็นหัวหน้าของบรรดามหาเทพกลุ่มนี้  มหาเทพทั้งสี่ยังถือว่าพระอินทร์ยังเป็นหัวหน้าของตน เเละจะต้องเข้าเฝ้าพระอินทร์ในสุธัมมสภาคศาลา ในเเง่พิธีกรรมเเล้ว จะมีการทำพิธีบวงสรวงท้าวทั้งสี่ทุกครั้งที่จะประกอบพิธีมงคล อย่างงานเฉลิมฉลองศาสนสถาน เคหสถาน และงานมงคลทั่วไป ซึ่งจะต้องมีการทำปราสาทหรือเเท่นท้าวทั้งสี่ โดยปักเสาสูงประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง เเล้วมีไม้สองท่อนยาวประมาณ 1 เมตร มาตอกตะปูให้ขวางกันเเละยื่นปลายไปในทิศทั้งสี่ ที่ปลายของไม้เเละหลักนั้นให้หาชิ้นไม้กว้างยาวประมาณหนึ่งคืบมาตีเเปะไว้ ให้จัดสะทวงเครื่องสี่ (อ่านว่า "สะตวง") คือกระบะกาบกล้วยบรรจุเครื่องสังเวยต่างๆ กระบะละสี่ชุด จำนวน 6 สะทวง นำสะทวงดังกล่าว ไปวางไว้ที่ยอดเสากับปลายไม้ทั้งสี่ทิศ เเละวางไว้ที่โคนเสาอีกหนึ่งกระบะ เครื่องบูชาดังกล่าวถือว่า กระบะที่อยู่บนยอดเสานั้น จัดไว้สังเวยเเก่พระอินทร์ ที่ปลายไม้ทั้งสี่ทิศนั้นเป็นกระทงเครื่องสังเวยมหาราชทั้งสี่พระองค์ตามทิศที่ท่านนั้นๆ ดูเเลอยู่เเละกระบะที่โคนเสานั้นถือว่าเป็นเครื่องบูชาเเก่พระเเม่ธรณี ทั้งนี้ อาจารย์ประกอบพิธีจะไปอ่านโองการสังเวยท้าวทั้งสี่ก่อนการมงคล เช่น หากจะจัดงานในตอนเช้า ก็จะประกอบพิธีในตอนเย็นของวันก่อนหน้านั้น ถ้าจัดงานในตอนสายหรือตอนบ่ายก็จะไปประกอบการสังเวยในตอนเช้าของวันงานนั้น     (ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 6)  
เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2563 • การดู 15,130 ครั้ง
ขนุนในความเชื่อของคนล้านนา
ขนุนในความเชื่อของคนล้านนา
“ขนุน”หรือกำเมืองเขาว่า “บ่าหนุน” เป็นไม้ยืนต้นที่พบเห็นโดยทั่วไปนับเป็นต้นไม้ที่มีบทบาทมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ที่มีการนำรากและแก่นขนุนมาต้มเพื่อเป็นน้ำย้อมสบงจีวรของพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยนั้นชื่อเรียกอีกอย่างคือ "หมากลาง" ประโยชน์ของขนุน “ราก”ใช้ย้อมผ้าสบงจีวรของพระสงฆ์โดยต้มเคี่ยวให้ได้น้ำสีเหลืองออกมาลที่เรียก "สีย้อมฝาด" (กาสาวพัตร์) แล้วเอาผ้าลงย้อม สรรพคุณทางยาจะดับน้ำกินแก้ท้องเสียแก้ไข้บำรุงเลือดและขี้เถ้าของรากขนุนใช้เป็นยารักษาแผล ได้ด้วย “ลำต้น” ไม้ขนุนนิยมใช้เป็นสิ่งก่อสร้างเพราะปลวกและราไม่ขึ้น แก่นของขนุนเป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง บำรุงเลือดแก้ลมชักเป็นต้น ส่วนของ“ใบ” ใบอ่อนของขนุนใช้รับประทานกับส้มตำแกงโฮะจิ้มน้ำพริกเป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทลาบใบแก่ใช้ต้มน้ำให้สัตว์กินช่วยขับน้ำนมใช้เผาร่วมกับซังข้าวโพดและกะลามะพร้าวให้ได้ขี้เถ้าเพื่อใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังในสัตว์เลี้ยงและเป็นอาหารสัตว์ ส่วนของ“ผล” ผลดิบที่ยังอ่อนใช้กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกขนาดโตขึ้นใช้ทำอาหารทั้งแกงตำหรือยำที่เรียกว่าแก๊งบ่าหนุนตำบ่าหนุนหรือยำบ่าหนุน สรรพคุณทางยาผลสดใช้เป็นยาฝาดสมานและแก้ท้องเสียผลสุกเป็นอาหารประเภทผลไม้เมล็ดใช้ต้มหรือเผารับประทานเป็นอาหารว่าง ความเชื่อ เกี่ยวกับขนุนคือชาวล้านนานิยมปลูกขนุนไว้ในบริเวณบ้านโดยปลูกไว้ด้านทิศตะวันตกจะเป็นมงคลด้วยเชื่อว่าจะมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนจุนเจือ ส่วนของไม้ขนุนถ้านำมาแกะเป็นพระพุทธรูปบูชาเชื่อว่าจะเกิดความมั่งมีศรีสุข และที่สำคัญมีการแกงขนุนในโอกาสสำคัญเช่นงานแต่งงานเป็นเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีความเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกันขนุนนั้นมียางเหนียวที่มีความหมายไปถึงการครองชีวิตอยู่อย่างเหนียวแน่นตลอดไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์คือ "วันปากปี" ชาวล้านนาทุกครัวเรือนจะมีการแกงขนุนเนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรุ่งโรจน์ในชีวิตเพราะมีสิ่งคอยคำหนุนจุนเจือโดยถือเคล็ดตามชื่อ "หนุน" ชีวิตจะได้ไม่ตกต่ำไปตลอดปี (อ้างอิงจาก หนังสือชุดล้านนาคดี ไมเ้มืองเหนือ ความเชื่อโบราณ อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.)
เผยแพร่เมื่อ 24 มีนาคม 2563 • การดู 12,150 ครั้ง
สะแล
สะแล
สะแล สะแล หรือ สาแล มีชื่อในท้องถิ่นอื่น เช่น แกแล (ปราจีนบุรี) ข่อยย่าน (สงขลา) คันซง ซงแดง (ปัตตานี) แทแล (ชลบุรี) ชะแล (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) เป็นต้น ชื่อทาง วิทยาศาสตร์คือ Broussonetia kurzil Corner. ในวงศ์ MORACEAE สะแลเป็นไม้รอเลื้อย ลําต้นสูง 5-10 เมตร ถ้าอยู่ เดี่ยวๆ จะเป็นพุ่ม ถ้าอยู่กับไม้อื่นจะเลื้อยพันเป็นเถา เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีกิ่งก้านเหนียว เปลือกสีเทาเรียบไม่แตกเป็นสะเก็ด เป็นไม้ผลัดใบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ รูปใบแบบไข่หรือรี ปลายใบแหลม ฐานใบกว้างรูปหัวใจ ขอบใบหยักขนาดกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 6-14 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร ผิวใบสากเนื้อใบหนาและเหนียว เส้นแขนงใบแบบขนนกมีจํานวน 7-8 คู่ ดอกเป็น พืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น ออกบริเวณกิ่ง ดอกเพศผู้เป็นช่อรูปร่างยาว มีดอกย่อยอัดกันแน่นอยู่ ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศเมียจะมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีดอกย่อยอัดกันแน่น มีก้านเกสรเพศเมีย (Style) ชี้ยาวออกมายาว 1.0 -1.5 เซนติเมตร มีขนปกคลุม บริเวณดอกจะมียางสีขาว เวลาออกดอกใบจะร่วงหมด ออกดอกเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ผลจะเป็นผลรวม (Syncarp) จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม เมล็ดมี รูปร่างกลมหรือกลมรีมีสีดํา ออกผลเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มักพบสะแลขึ้นตามสวนและที่ใกล้แหล่งน้ำ ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ ผลอ่อน นิยมนำชนิดผลกลมมาเป็นผักแกงเรียก แกงสะแล แกงใส่ปลาย่าง กระดูกหมูมีรสซ่าและขมเล็กน้อย ประโยชน์อื่นๆ เช่น เปลือกและใบนำมาต้มอาบแก้บวม เนื่องจากโรคไตหรือโรคหัวใจพิการและน้ำเหลืองเสีย เหน็บชา เป็นต้น (ข้อมูล สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓ )
เผยแพร่เมื่อ 24 มีนาคม 2563 • การดู 2,411 ครั้ง
ขั้นไดผี / บันไดพราง : พรางตาพรางใจผี
ขั้นไดผี / บันไดพราง : พรางตาพรางใจผี
ขั้นไดผี/ขั้นไดพราง : พรางตาพรางใจผี เมื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้บนบ้าน ถึงเวลาที่จะนำศพลงจากเรือน ชาวล้านนาโบราณจะทำบันไดเทียมที่ทำจากกาบกล้วยเสียบด้วยซี่ไม้ไผ่ที่เรียกกันทั่วไปว่า "ขั้นไดผี" หรือ "ขั้นไดพราง" บันไดดังกล่าวจะใช้วางทาบบันไดเรือนก่อน แล้วจึงนำศพลงบันได เสร็จแล้วบันไดนี้จะถูกยกใส่ไปกับคานหามศพไปป่าช้าด้วย การทำเช่นนี้เป็นการพรางตาพรางใจผู้ตาย ด้วยเชื่อกันว่าวิญญาณของผู้ตายจะไม่สามารถหวนกลับขึ้นเรือนได้อีก เพราะจำบันไดเรือนของตนไม่ได้นั่นเอง  
เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2563 • การดู 2,473 ครั้ง