24 มีนาคม 2563
3k
Share on
 

ขนุนในความเชื่อของคนล้านนา

 

“ขนุน”หรือกำเมืองเขาว่า “บ่าหนุน” เป็นไม้ยืนต้นที่พบเห็นโดยทั่วไปนับเป็นต้นไม้ที่มีบทบาทมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ที่มีการนำรากและแก่นขนุนมาต้มเพื่อเป็นน้ำย้อมสบงจีวรของพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยนั้นชื่อเรียกอีกอย่างคือ "หมากลาง"
ประโยชน์ของขนุน
“ราก”ใช้ย้อมผ้าสบงจีวรของพระสงฆ์โดยต้มเคี่ยวให้ได้น้ำสีเหลืองออกมาลที่เรียก "สีย้อมฝาด" (กาสาวพัตร์) แล้วเอาผ้าลงย้อม สรรพคุณทางยาจะดับน้ำกินแก้ท้องเสียแก้ไข้บำรุงเลือดและขี้เถ้าของรากขนุนใช้เป็นยารักษาแผล ได้ด้วย “ลำต้น” ไม้ขนุนนิยมใช้เป็นสิ่งก่อสร้างเพราะปลวกและราไม่ขึ้น แก่นของขนุนเป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง บำรุงเลือดแก้ลมชักเป็นต้น
ส่วนของ“ใบ” ใบอ่อนของขนุนใช้รับประทานกับส้มตำแกงโฮะจิ้มน้ำพริกเป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทลาบใบแก่ใช้ต้มน้ำให้สัตว์กินช่วยขับน้ำนมใช้เผาร่วมกับซังข้าวโพดและกะลามะพร้าวให้ได้ขี้เถ้าเพื่อใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังในสัตว์เลี้ยงและเป็นอาหารสัตว์
ส่วนของ“ผล” ผลดิบที่ยังอ่อนใช้กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกขนาดโตขึ้นใช้ทำอาหารทั้งแกงตำหรือยำที่เรียกว่าแก๊งบ่าหนุนตำบ่าหนุนหรือยำบ่าหนุน สรรพคุณทางยาผลสดใช้เป็นยาฝาดสมานและแก้ท้องเสียผลสุกเป็นอาหารประเภทผลไม้เมล็ดใช้ต้มหรือเผารับประทานเป็นอาหารว่าง

ความเชื่อ เกี่ยวกับขนุนคือชาวล้านนานิยมปลูกขนุนไว้ในบริเวณบ้านโดยปลูกไว้ด้านทิศตะวันตกจะเป็นมงคลด้วยเชื่อว่าจะมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนจุนเจือ ส่วนของไม้ขนุนถ้านำมาแกะเป็นพระพุทธรูปบูชาเชื่อว่าจะเกิดความมั่งมีศรีสุข และที่สำคัญมีการแกงขนุนในโอกาสสำคัญเช่นงานแต่งงานเป็นเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีความเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกันขนุนนั้นมียางเหนียวที่มีความหมายไปถึงการครองชีวิตอยู่อย่างเหนียวแน่นตลอดไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์คือ "วันปากปี" ชาวล้านนาทุกครัวเรือนจะมีการแกงขนุนเนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรุ่งโรจน์ในชีวิตเพราะมีสิ่งคอยคำหนุนจุนเจือโดยถือเคล็ดตามชื่อ "หนุน" ชีวิตจะได้ไม่ตกต่ำไปตลอดปี
(อ้างอิงจาก หนังสือชุดล้านนาคดี ไมเ้มืองเหนือ ความเชื่อโบราณ อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.)