“บ่านาว” ไทยว่า “มะนาว” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Citrus aurantifonia (Christm.) Swingle ในวงศ์ RUTACEAE ชื่อสามัญ Common Lime ล้านนาโบราณเรียก “หมากฟ้า” ดังเช่นตัวอย่างชุดคำที่เป็นชื่อผลไม้ในบทซอเรื่อง “เจ้าสุวัตรนางบัวคำ” ที่ว่า “หมากเฟืองไฟฟ้า..” อันหมายถึง มะเฟือง มะไฟ และมะนาว ไทใหญ่ออกเสียงเป็น “หมากพ่า” หรือ “มะพ่า” ดังนั้น “ปางมะพ่า” จึงแปลว่า “ปางมะนาว” แต่ไทยสมัยใหม่ไพล่ไปสะกดตามเสียงที่ได้ยินเป็น “ปางมะผ้า” ไป จึงทำให้เลือนไปจากความหมายเดิม หรือหลายคนอาจไม่รู้ความหมายด้วยซ้ำ “บ่านาว” ถือกันว่าเป็นไม้มงคล นิยมปลูกทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเรือน เชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ชาวอินเดียเชื่อว่าพริกสดกับบ่านาวเป็นสิ่งนำโชค สามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ เปลือกสดของผลบ่าน่าวชงน้ำร้อนรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม น้ำบ่านาวแก้ไอ ขับเสมหะ และน้ำบ่านาวผสมดินสอพองทาแก้ฟกช้ำ บวม แก้สิวอักเสบ บางท้องถิ่นดื่มน้ำมะนาวเมื่อถูกงูกัดและบีบน้ำมะนาวใส่แผลที่ถูกงูกัด โดยเชื่อว่าสามารถแก้พิษงูได้
ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ
การดู 1,093 ครั้ง