“บ่าโก้ยเต้ด” เขียนให้เคียงกับความหมายว่า “บ่ากล้วยเทส” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Carica papaya L. ในวงศ์ CARICACEAE ชื่อสามัญ Papapaya, Pawpaw, Tree melon มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโกตอนใต้แล้วแพร่กระจายสู่ประเทศแถบร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ไม้พรรณนี้เข้ามาในสมัยอยุธยา ชื่อของไม้ชนิดนี้เรียกได้หลายชื่อตามที่มาหรือลักษณะที่มองเห็น ที่เรียก “บ่ากล้วย” เพราะมีผลคล้ายกล้วย และมาจากต่างประเทศ จึงเติม”เทส” (บาลี) ต่อท้ายเป็น “บ่ากล้วยเทส” ชาวไทยองเรียก “บ่ากล้วยสะเปา” ต่อมา เพี้ยนเสียงเป็น “บ่ากล้วยสีเปา” เพราะนำเข้ามาทางเรือ (ล้านนาเรียกรือว่า “สะเปา”) ชาวลาวและภาคอีสานเห็นใบคล้ายละหุ่งจึงเรียก “บังหุ่ง” คนภาคใต้บางแห่งเห็นผลคล้ายแตงแต่มิใช่พืชเถา จึงเรียก “แตงต้น” ส่วนไทยภาคกลางมอง เห็นผลมะระ แต่มิใช่พืชเถาเฉกเช่น มะระ จึงให้ชื่อว่า “มะระกอ” (กอ-ต้น) แต่คงเขียนตามเสียงเป็น “มะละกอ” ไปเป็นคุณประโยชน์ของพืชชนิดนี้มีมากมาย อาทิ ยอดและใบอ่อนใช้เผาหรือทอดกินกับลาบ ผลกินเป็นผลไม้และตำรับประทานและเป็นยาระบายได้ด้วย ยางใช้หมักแช่เนื้อให้นุ่ม และใช้ใส่แผลที่หนามปักคา หนามจะหลุดออกมาอย่างง่ายดาย รากต้มทานขับปัสสวะ เป็นต้น ส่วนด้านความเชื่อล้านนาไม่นิยมปลูกไว้ในเขตรั้วบ้าน เพราะคุณสมติที่ผลเป็นยาระบายยางทำให้เนื้อไม่เหนียว และทำให้หนามถอดถอนออก เหตุเหล่านี้อาจทำให้อาคมในตัวเสื่อมถอยได้
ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ
การดู 2,208 ครั้ง