สะบันงาเครือ

สะบันงาเครือ
 

“สะบันงาเครือ” ภาษาไทยถิ่นอื่นว่า กระดังงาเถา กระดังงาเถา กระดังงาป่า กระดังงางัว หรือหนามควายนอน ภาษาไทยมาตรฐานว่า “การเวก” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Artabotrys siamensis Miq. ในวงศ์ ANNONACEAE สรรพคุณตำรับยาโบราณ ท่านใช้ใบเป็นยาขับปัสสาวะ ดอกปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน ใช้ทำบุหงาร่ำและน้ำหอม อันที่จริง “การเวก” เป็นชื่อนกในวรรณคดี นกดังกล่าวมีเสียงไพเราะมาก มวลมนุษย์เทวดาหรือสิงสาราสัตว์เมื่อได้สดับเสียงเป็นอันคลั่งไคล้ใหลหลง ถึงกับหยุดกิจกรรมทั้งปวง ดอกสะบันงาเครือเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาก จนคนไทยโบราณต้องยืมชื่อนกการเวกมาตั้งชื่อให้ เพื่อสื่อความหมายว่าหอมมากจนเป็นที่ตราตรึงหลงใหลลืมโลก ส่วนชาวล้านนา ถ้าสาวเหม็นขี้หน้าหนุ่มที่มาบ้านมักใช้ดอกสะบันงาเครือในเชิงสัญลักษณ์ เช่น กล่าวว่า “…เหม็นดอกสะบันงาเครือแต๊” คำว่า “เครือ” แทนคำว่า “เมือ” ที่แปลว่า “กลับ” วลีนี้จึงมีความหมายว่า “เมื่อไรคุณจะกลับสักที” 

ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ

การดู 4,384 ครั้ง