พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 (ปีที่ 2)
ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ เเละวัฒนธรรม
"รางวัลดีเด่น 3 ด้าน"
- ด้านกิจกรรมเเละกระบวนการเรียนรู้
- ด้านการอนุรักษ์เเละสืบสาน และ
- ด้านการดูแลสุขอนามัยเเละความปลอดภัย
โดยรางวัลดังกล่าว ได้ดำเนินการคัดเลือกโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) หน่วยงานภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยดำเนินการคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทย เพื่อเข้ารับรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่นประจำปี หรือ รางวัล “Museum Thailand Awards” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้ง “คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้” และ “มาตรฐานพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล”
ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2564 หรือ Museum Thailand Awards 2021 ได้ใช้หลักการของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ(International Council of Museums : ICOM) มาเป็นแนวทางในความคิดพื้นฐานและกำหนดหลักเกณฑ์ตามบริบทของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาและเป็นคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลฯ เพื่อให้ครอบคลุมการพิจารณาภายใต้แนวความคิด “Reimage Relearn Reinvent : เปลี่ยนร่าง เปลี่ยนรู้ เปลี่ยนชีวิต ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19”
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 (ปีที่ 2) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ เเละวัฒนธรรม รางวัลดีเด่นด้านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน และด้านการดูแลสุขอนามัยเเละความปลอดภัย โดยจะมีการถ่ายทอดสดพิธีมอบรางวัลฯ ผ่าน Facebook Live Museum Thailand ในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2564 เวลา 13.00-14.30 น.
สำหรับพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. จัดแสดงเรือนและอาคารโบราณซึ่งมาจากหลากกลุ่มชนคนไท (ไต) ในล้านนา (แถบลุ่มแม่น้ำปิง) เคลื่อนย้ายจากแหล่งปลูกสร้างเดิมมาจัดแสดงในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มีความร่มรื่นของต้นไม้เก่าแก่นานาพรรณ โดยเรือนที่นำมาจัดแสดงได้รับการบริจาคจากทายาทเจ้าของเรือน โดยมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ทั้งนี้ เรือนแต่ละหลังที่ได้รับมาจะใช้วิธีการชะลอนำมาอนุรักษ์ซ่อมแซมและปลูกสร้างในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ซึ่งอยู่ในความดูแลของของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ให้คงสภาพโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเดิมมากที่สุด เรือนแต่ละหลังมีลักษณะเฉพาะและมีความต่างยุคสมัยในช่วงระยะเวลาที่ได้ปลูกสร้าง มีอายุประมาณเกือบและกว่าร้อยปี อันทรงคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม ดังนั้น การจัดแสดงฯ มีความประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่น (แถบลุ่มแม่น้ำปิง) วิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเรือนเหล่านี้ ผ่านการเข้ามาเยี่ยมชม และศึกษาข้อมูลความรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท (ไต) ในล้านนา มาสัมผัส เรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ จากการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเข้าร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Short course) และอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับบริการสาธารณชน ทั้งจากสถาบันการศึกษา นักท่องเที่ยว และชุมชนในทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและนานาชาติ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ยังมุ่งเน้นการดำเนินการบูรณาการกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ วารสารสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกทางหนึ่งด้วย
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. สามารถติดต่อได้ที่ 053 943625-6
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |