ลาบ

ลาบ
 

ลาบ สุรา นารี

             ลาบ โดยเฉพาะ “ลาบชิ้น” เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสดคลุกเคล้ากับเลือดๆ  เป็นของดิบแดง หลายคนถึงกับกล่าวว่าเป็นมังสาหารของยักษ์  ยักษ์ตัวใหญ่ มีเขี้ยว ดุร้ายใจกล้า ทรงไว้ซึ่งมนตราเข้มขลัง มีพลังมหาศาลไม่ครั่นคร้ามต่อผู้ใด ชายที่เป็นชายชาตรีจริงต้องกินของดิบแดงได้ดั่งยักษ์ มีคุณสมบัติคล้ายยักษ์ ถึงจะได้รับการยอมรับของสังคม ชายที่ไม่กินลาบดิบถือเป็นคนไม่กล้า หน้าตัวเมีย หนักเข้าถึงกับไล่ให้ไปเอาผ้าซิ่นมานุ่ง และไม่ยอมให้สุงสิงเข้ากลุ่มกับผู้ชาย

            ในคุณสมบัติของยักษ์อย่างหนึ่งคือมีมนตราเข้มขลัง ลูกผู้ชายก็ควรทรงไว้ซึ่งมนตราเข้มขลังเช่นกัน การทำลาบจึงต้องทำกันหมู่ผู้ชายด้วยกันเท่านั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้มีเหตุผลว่าถ้าให้ผู้หญิงทำลาบอาจเผลออ้าขาตำน้ำพริก หรือคลุกขยำยำลาบ เป็นเหตุให้ลาบนั้นเกิดอาถรรพณ์ทำให้มนต์คาถาเสื่อมคลาย  อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงมีประจำเดือนซึ่งเลือดประเดือนมีสีแดงสดเหมือนลาบ หากประจำเดือนปนเปื้อนไปกับลาบจะทำให้เสื่อมมนต์ขลังเช่นกัน 

คุณสมบัติของลูกผู้ชายอีกประการหนึ่งคือต้องดื่มเหล้าเป็น การบริโภคลาบมักมีเหล้าอยู่คู่กันเสมอ กล่าวกันว่าวงใดที่กินลาบไม่มีเหล้าถือเป็น “ลาบแม่” คือลาบตัวเมีย ดังนั้นลูกผู้ชายกินลาบต้องดื่มเหล้าได้ด้วย นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าถ้าดื่มเหล้าในปริมาณที่พอเหมาะก่อนกินข้าวกับลาบดิบจะทำให้ชายนั้นทรงพลังสามารถประกอบกามกิจได้อย่างมีคุณภาพ

 ในเมื่อลาบเป็นเรื่องของผู้ชาย แต่ในครอบครัวไม่ได้มีเฉพาะผู้ชาย การบริโภคลาบจึงมีพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนในการบริโภค บรรดาชายที่แข็งแรงมักตั้งวงรับประทานลาบดิบบน “เติน” คือบริเวณโถงรับแขกหรือประกอบพิธีกรรมของตัวเรือน ส่วนคนชรา ผู้หญิงและเด็ก จะตั้งวงแยกออกมา ลาบที่รับประทานมักเป็น

“ลาบขั้ว” (ลาบคั่ว) คือลาบที่นำไปผัดให้สุกแล้ว วงลาบอย่างหลังนี้มักเรียก “ลาบแม่” ไปด้วย เพราะนอกจากไม่มีเหล้าแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก

 

ลาบ - ลาภ 

ด้วยเหตุที่คำว่า “ลาบ” มีเสียงพ้องกับคำว่า “ลาภ” เมื่อล่าได้ฟาน(เก้ง)จากป่าซึ่งนานทีมีหนก็ถือเป็นลาภ  จึงนิยมนำมาทำลาบ หากถูกหวยรวยทรัพย์ หรือได้รับประโยชน์มากเป็นกรณีพิเศษ เช่นขายที่ดินได้ หรือประสบผลสำเร็จในชีวิตก็เลี้ยงฉลองด้วยลาบ  ในเทศกาล งานประเพณี โอกาสพิเศษหรืองานเลี้ยงอื่นๆ เช่น สงกรานต์ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ปอยหลวง ปอยน้อย กินสลาก เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงส่ง เลี้ยงแสดงความยินดี เลี้ยงขอบคุณ เป็นต้น ต้องมีลาบเป็นอาหารหลักเพื่อให้เกิดโชคลาภตามชื่อของลาบนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและค่านิยมที่กล่าวมา ปัจจุบันเจือจางลงไปมาก หญิงชายสามารถทำลาบได้ และบริโภคได้เสมอกัน อีกทั้งยังมีร้านขายลาบ ร้านลาบ และมีจำหน่ายตามตลาดโดยทั่วไป แต่ถึงอย่างไร ลาบก็ยังเป็นลาบซึ่งเป็นอาหารชั้นสูง เป็นอาหารยอดนิยมคู่กับสังคมล้านนามาช้านาน และตลอดไป

บทความผักกับลาบ : ผักกับลาบ

เขียนโดย : สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา

 
ลาบ
ลาบ
ลาบ
ลาบ
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
9
4
0
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2565 • การดู 2,226 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด