วันอาสาฬหบูา 24 กรกฎาคม 2564
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ อาสาฬหเป็นชื่อเดือน ๘ อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหบูรณ มีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลังจากสมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง จึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ ประเภท (บัว ๔ เหล่า) คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
๒. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ
๓. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
๔. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม
จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง ๒ ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่ พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาในครั้งนี้มีชื่อธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีอริยสัจสี่หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการได้แก่
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์
หลังจากแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก ได้กราบทูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็น "ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น ในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาจะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์สำคัญๆ ในวันนี้มีถึง ๔ ประการ ด้วยกันคือ
๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
๓. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสามเป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ
วันเข้าพรรษา 25 กรกฎาคม 2564
วันเข้าพรรษา ตรงกับ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ความเป็นมาของวันเข้าพรรษาสมัยพุทธกาลพระภิกษุมีหน้าที่เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าต้องออกเดินทางไปในที่ต่างๆ ไม่ได้อยู่กับที่เหมือนสมัยปัจจุบัน เมื่อถึงฤดูฝนชาวบ้านทำการเกษตรปลูกพืชผัก ธัญญาหาร พระภิกษุเดินธุดงค์ได้ไปเหยียบพืชผักของชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่กับที่ในช่วงฤดูฝน ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนเพิ่มเติมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
1. ช่วงวันเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูฝน ชาวบ้านทำการเกษตรปลูกพืชผัก หากพระภิกษุสงฆ์ออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ก็จะเหยียบย่ำทำให้พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย
2. พระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่ธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้พักอาศัยอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษานี้จะเป็นช่วงที่พระภิกษุได้หยุดพักผ่อนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
3. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ตลอดจนถือศีลฟังเทศน์ ฟังธรรมในช่วงเข้าพรรษา
4. เป็นช่วงที่ได้เผยแพร่พระพุทธศานาให้กับบุคคลทั่วไป และบวชให้กับบุตรที่อายุครบบวช
การถวายเทียนเข้าพรรษา
ตามประเพณีเราจะถวายเทียนในช่วงเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อใช้จุดบูชาพระประทานในโบสถ์ เป็นการสร้างกุศลให้กับตัวเองอย่างหนี่งในการให้แสงสว่างแด่พระสงฆ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การถวายเทียนมีน้อยลง เป็นการประกวดแกะสลักเทียนแล้วแห่ทั้งทางบกและทางน้ำหรือจะเป็นการถวายหลอดไปเพื่อให้แสงสว่าง
ผ้าอาบน้ำฝน
พระภิกษุจะมีเครื่องอัฏฐบริขารที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน เมื่อต้องอาบน้ำฝนก็มีเพียงสบงผืนเดียวเท่านั้น จึงต้องเปลือยกายอาบน้ำทำให้ดูไม่งามเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขาจึงถวายผ้า “ผ้าวัสสิกสาฏก” เพื่อใช้ในการผลัดเปลี่ยนเวลาอาบน้ำ นับแต่นั้นมาจึงมาการถวายผ้าอาบน้ำฝนในช่วงวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมการศาสนา https://www.dra.go.th
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |