สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่

สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
 
วันปี๋ใหม่เมืองล้านนา

 

วันสังขานต์ล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่าจะผ่านพ้นไป หากจะกล่าวในแง่ของดาราศาสตร์ คือวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป คำว่า“ล่องในภาษาล้านนา หมายถึง ล่วงไป หรือ ผ่านไปนั่นเอง

วันสังขานต์ล่องของชาวล้านนา เป็นวันที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นเพื่อรอต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ วันสังขานต์ล่องจึงเป็นวันที่ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรอดูปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ที่เล่ากันว่าจะหอบข้าวของพะรุงพะรังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ หรือบางทีก็ล่องเรือไปตามลำน้ำ

 

กิจกรรมสำคัญ ที่ชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันในวันสังขานต์ล่องนี้คือ การปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหยากไย่ใยแมงมุมและฝุ่นตามซอกมุมบ้าน ตลอดจนทำการซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม และนำเครื่องนอนออกมาตาก ตบฝุ่นให้สะอาดไม่เหม็นอับ เพราะปีหนึ่งจะมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่สักครั้งหนึ่ง การซักผ้าเครื่องนอนจำนวนมากเช่นนี้ บางทีจะหาบใส่ตะกร้าไปซักตามแม่น้ำใหญ่ ถือเป็นการชำระสิ่งสกปรก เสนียดจัญไรให้ไหลล่องไปตามลำน้ำตลอดจนชำระกายใจให้สะอาดและนุ่งผ้าใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลเตรียมต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ชาวล้านนามีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ“การดำหัวหรือสระผมของตนเองด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาดและเป็นมงคลเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากชีวิต 

 

ในวันเน่าสำหรับวิถีปฏิบัติของคนล้านนา ถือเป็น“วันดาคือวันที่เตรียมการสำหรับการไปทำบุญใหญ่ที่วัดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นวันพญาวัน ดังนั้น กิจกรรมหลักที่นิยมถือปฏิบัติกันในช่วงเช้าของวันนี้ คือการจัดเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ เช่น การเตรียมอาหารหม้อใหญ่ เนื่องจากต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา ตามสายตระกูลของตน และยังทำบุญเพื่อหวังกุศลผลบุญให้กับตัวเองในภายภาคหน้าอีกด้วย

อาหารที่คนล้านนานิยมจัดเตรียมไว้ทำบุญมักเป็นอาหารที่ค่อนข้างพิเศษกว่าอาหารปกติทั่วไป อาทิ แกงฮังเล ต้มจืดวุ้นเส้น ต้มส้มไก่(ต้มข่าไก่)ห่อนึ่ง(ห่อหมก)แกงเผ็ดต่างๆ ตามแบบภาคกลาง(ยุคปัจจุบัน) โดยบางบ้านอาจเตรียมอาหารหลากหลายชนิดตามฐานะและศรัทธาของตนเอง

วันเน่า 

ถือเป็นวันสุกดิบ ตามความเชื่อแต่โบราณ คือ งดเว้นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อาทิ การด่าทอ ทะเลาะวิวาท ส่วนในช่วงเย็น เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการจัดเตรียมของทำบุญแล้ว สมาชิกในครอบครัวทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และหนุ่มสาวจะพากันถือภาชนะไปตักทรายที่ท่าน้ำใกล้บ้านเพื่อขนไปรวมกันที่วัด ซึ่งทางวัดมักทำที่สำหรับเททรายลง โดยทำเสวียน(สังเวียน)สานด้วยไม้ไผ่ เพื่อเป็นเจดีย์ทรายสำหรับให้ผู้คนขนทรายใส่ คนส่วนใหญ่จะนิยมขนกันคนละ ๓ เที่ยว ตามคติที่ยึดถือในพระรัตนตรัย และจะอธิษฐานขอกุศลผลบุญจากการขนทรายเข้าวัดเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งในช่วงวันขึ้นปีใหม่

วันพญาวัน

วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ถือเป็นวันมงคล ช่วงเช้าของวันพญาวัน ควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศล วิญญาณ ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ไปทำบุญที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ พร้อมอุทิศถึงเทวดา เจ้ากรรมนายเวร แล้วสรงน้ำพระเจดีย์พระพุทธรูป และปักตุงที่ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง โดยแบ่งเป็นตุงประเภทต่างๆ ซึ่งความหมายส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญกุศลและเรื่องของวิญญาณทั้งสิ้น 

วันปากปี 

วันปากปี เป็นวันถัดจากวันพญาวัน ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดีหลายพื้นที่จะประกอบพิธีสืบชาตาหมู่บ้าน ผู้คนไปร่วมงานกันพร้อมหน้า ตกเย็นจะมีการประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดการหนุนส่งให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม บ้างเสริมบารมี ด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา หลีกเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น 

 

- สงกรานต์ล้านนาปี๋นี้ ฮ่วมกั๋นสืบสานป๋าเวณี อยู่ตี้บ้านกั๋นเน้อเจ้า -

 

 
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
9
4
4
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 12 เมษายน 2563 • การดู 6,206 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด