ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา มีแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องผีผสมผสานกับความเป็นพุทธได้อย่างลงตัว เสมือนหนึ่งว่าผีและพุทธร่วมกันสร้างโลกทัศน์ให้ชาวล้านนามีรูปแบบเฉพาะของตนเอง ดังเช่นในขณะที่มีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ก็จะต้องขึงภาพพระบฏเพื่อเป็นสัญลักษณ์การมาถึงของพระพุทธเจ้าด้วย
ผี เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา มีลักษณะเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาอารักษ์ที่คอยดูแลคุ้มครองคนและสถานที่ให้ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย ดังนั้นผีในโลกทัศน์ของชาวล้านนาจึงไม่ได้น่ากลัวหรือคอยหลอกหลอนคน แต่ความรู้สึกที่มีต่อผีจะเป็นเหมือนมิตรที่สร้างความอุ่นใจให้กับตน ทั้งนี้ผีก็มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามสถานที่ที่ดูแล เช่น ผีเสื้อเมืองหรืออารักษ์เมือง จะเป็นผู้ดูแลเมือง ส่วนผีเสื้อบ้านก็จะมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลหมู่บ้านเป็นต้น อีกทั้งยังมีผีที่คอยดูแลคนในครอบครัวโดยตรง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเครือญาติเดียวกันฐานะที่เป็นผีบรรพบุรุษ
แม้ว่ายุคสมัยจะผ่านมานานเพียงใด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผียังคงมีสายใยเชื่อมโยงกันอย่างหนาแน่น เพราะความเชื่อเรื่องผีถูกผนวกกลืนเข้าสู่จารีตประเพณีของชาวล้านนามาช้านาน ดังเช่น ความเชื่อในเรื่องเสียผี เกี่ยวกับสาวล้านนาที่ถูกเนื้อต้องตัวกับผู้ชาย ฉะนั้นฝ่ายชายจะต้องทำการใส่ผีให้กับฝ่ายหญิงทันที ซึ่งความเชื่อดังกล่าวแสดงถึงพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับ “ผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่า” เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการแสดงออกถึงความกตัญญูและเคารพยำเกรงต่อผีปู่ย่า ชาวล้านนาจะจัดพิธีฟ้อนผีขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง (มีนาคม - มิถุนายน) เพื่อถวายเครื่องเซ่นสังเวยให้กับผีปู่ย่าประจำแต่ละตระกูล ทั้งยังเป็นการพบปะพูดคุยกันระหว่างผีปู่ย่ากับลูกหลานของตน หากใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใจหรือมีอาการเจ็บป่วยใดๆ ที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ ก็จะขอความช่วยเหลือจากผีปู่ย่าให้ช่วยรักษาด้วยการเป่ามนต์คาถา อันเป็นวิธีการที่ช่วยเยียวยาจิตใจแก่ผู้ป่วยได้มีกำลังใจที่ดีอีกครั้งหนึ่ง
ขวัญ ในความเข้าใจของชาวล้านนาหมายถึง หมุดหมาย ศูนย์กลาง หรือสิ่งสำคัญที่แสดงถึงความมีตัวตน โดยเชื่อว่าขวัญของคนอยู่กลางกระหม่อม เป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับจิตและกาย คนปกติทั่วไปจะมีขวัญครบสมบูรณ์ทั้ง 32 ขวัญ จะมีสติ มีสุขภาพแข็งแรง แต่หากใครที่ทำขวัญตกหล่นหายไป อาจเกิดจากความตกใจหรืออุบัติเหตุ ก็จะเจ็บป่วยได้ง่าย จึงต้องมีการเรียกขวัญให้คืนกลับมาดังเดิม
เช่นกันกับตัวคน เมืองก็ต้องมีขวัญเช่นกัน แต่ขวัญของเมืองจะอยู่ในรูปของ “เสาหลักเมือง” ในจังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เสาอินทขิล” หากเป็นหมู่บ้านต้องมี “เสาใจบ้าน” ปักอยู่กลางหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
พุทธศาสนา เป็นอีกหนึ่งศรัทธาความเชื่อของชาวล้านนาที่ไม่เคยจางหายไป นับตั้งแต่ครั้งที่พระสุมณะเถระนำพุทธศาสนาเถรวาทมายังดินแดนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 จิตวิญญาณของความเป็นชาวพุทธทำให้เกิดงานศิลปกรรมทางศาสนาที่มีความงามและมีเสนห์อย่างลึกซึ้ง ผ่านแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานโดยใช้ระบบสัญลักษณ์ที่แฝงไปด้วยปริศนาธรรมทางศาสนา
วัด รูปแบบวัดล้านนามีวิหารเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยมีพระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะอยู่ในแนวเดียวกัน รวมทั้งซุ้มประตูโขงที่เป็นประตูทางเข้าด้านหน้าวัดด้วย นอกจากวัดจะมีคุณค่าในด้านศิลปกรรมล้านนาแล้ว วัดยังมีความสำคัญกับชาวล้านนา ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจมาแต่อดีต เพราะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทั้งในทางธรรมและในทางวิชาการอื่นๆ ดังจะเห็นว่าภายในวัดมีการสอนภาษาบาลี สอนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงเป็นแหล่งรวมรวมและเผยแพร่งานศิลปกรรมทางศาสนา ที่สะท้อนให้เห็นความงามจากพลังแห่งความศรัทธาที่เหนือการประเมินค่าเป็นเงินตราได้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนาในชาวล้านนา คือประเพณีต่างๆ ทั้ง 12 เดือน ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น แม้กระทั้งกิจกรรมต่างๆ ในช่วงชีวิตหนึ่งก็ยังมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาด้วย อาทิ การขึ้นบ้านใหม่ การบวช การสืบชะตา เป็นต้น ชาวล้านนานิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงวันพระ เพื่อเป็นการรักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทั้งยังเชื่อว่าการทำบุญจะช่วยส่งกุศลให้ตนไปเกิดบนสวรรค์หรือได้เกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตร หากไม่สามารถไปวัดได้ก็จะสวดมนต์ไหว้พระที่บ้านเป็นประจำ ดังนั้นเรือนทุกหลังจึงต้องมีหิ้งพระไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเตือนสติตนให้อยู่ในศีลในธรรม
นอกจากการทำบุญในช่วงวันพระและวันสำคัญทางศาสนาแล้ว ชาวล้านนายังเชื่อว่าการทำทานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างผลบุญกุศลได้ จึงเกิดประเพณีปอยหลวงขึ้นในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีอีกครั้งหนึ่งที่เกือบทุกหมู่บ้านได้จัดขึ้น โดยมีการถวายปัจจัยไทยทาน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับวัด เช่น ไม้ กระเบื้อง จานชาม กาละมัง เป็นต้น
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |