บ่าหนุน

บ่าหนุน
 

“บ่าหนุน” ภาษาไทยเรียก “ขนุน” ภาษาไทยสมัยพ่อขุนรามฯ และไทใหญ่เรียก “หมากลาง” ลาวเรียก “บักมี้” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Artocarpus heterophyllus Lam. ในวงศ์ MORACEAE ชื่อสามัญ Jack fruit tree ชาวล้านนานิยมปลูกไว้ทิศตะวันตกเพื่อความเป้นสิริมงคล ใช้ใบผูกติดหรือรองก้นหลุมเสาเอกไม้ขนุนถ้านำมาแกะเป็นพระพุทธรูปบูชาจะเกิดความมั่งมีศรีสุข เมล็ดขนุนถ้ามีลักษณะเป็นหิน (แสงบ่าหนุน-คด) ใช้เป็นเครื่องรางด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม งานแต่งงานนิยมแกงขนุนเพื่อเอาเคล็ดให้รักกันเหนียวแน่นดุจยางขนุนในวันปากปี คือวันที่ถัดจากวันพญาวัน (เถลิงศก) ล้านนาทุกครัวเรือนจะแกงขนุนเพื่อให้เกิดความรุ่งโรจน์เพราะมีสิ่งค้ำหนุน ยางบ่าหนุนใช้ทำเป้นตังดักนก ดักแมลงไม้ บ่าหนุน ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ซึง ระนาด รากและแก่นไม้ใช้ย้อมจีวร ใบอ่อนเป็นเครื่องรับประทานกับแกงโฮะ เพื่อแก้และกันท้องเสีย

ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ

การดู 2,972 ครั้ง