นาค กับ ลวง เหมือนหรือต่าง
ในวัด และอาคารศาสนาสถานมักใช้รูปลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาออกแบบเป็นส่วนโครงสร้าง และส่วนประดับตกแต่ง นอกจากจะเกี่ยวข้องกับส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังสอดคล้องกับความเชื่อที่ถูกถอดออกมาเป็นระบบสัญลักษณ์อีกด้วย โดยรูปสัตว์ พืช หรือวัตถุต่าง ๆ ที่ใช้มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดในของพุทธศาสนาในด้านของการมีตัวตนที่มีการระบุในคัมภีร์ทางศาสนา รวมถึงความหมายอันเป็นมงคล เช่น ดอกบัว ต้นโพธิ์ เทวดา หงส์ นาค ฯลฯ
“นาค” ในบริบทของความเชื่อดั้งเดิมในอุษาคเนย์เป็นสัตว์ที่เชื่อมสวรรค์กับโลก และบันดาลให้เกิดฝน ในความหมายของคนโบราณนาคจึงถูกยกให้เป็นเทพที่นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลกด้วยการให้น้ำให้ฝน ส่วนในบริบททางพุทธศาสนา เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ จอมปลวก ป่าไม้ ต้นไม้ ภูเขา และยังอาศัยในเมืองบาดาลที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุด้วย ในทางพุทธศาสนานาคถูกนำไปโยงเข้ากับผู้ปกป้อง และผู้ทำนุบำรุงศาสนา เพราะเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวถึงในชาดก พระไตรปิฎก ในวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก เช่น ในพุทธประวัติที่กล่าวถึงนาคมุจลินท์ ได้แผ่พังพานกำบังพายุลมฝนให้พระพุทธเจ้าในขณะเสวยวิมุติสุขใต้ต้นมุจลินท์ จึงกลายมาเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และภูริทัตตชาดกที่กล่าวถึงครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นนาคภูริทัตตบำเพ็ญศีลบารมีอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมให้หมองูจับไปทรมานโดยไม่ตอบโต้ เพราะมีใจตั้งมั่นต่อศีลของตน ซึ่งจะเห็นภาพวาดบนฝาผนังในวัด เป็นต้น เรื่องราวที่ปรากฏขึ้นนั้นได้จึงมีการนำนาคมาสร้างเป็นงานพุทธศิลป์ และงานศิลปกรรมตกแต่งอาคารศาสนาสถาน
รูปทรงของนาค เป็นงูใหญ่ที่มีหงอน ลำตัวยาวมีเกล็ดเหมือนงู ในการนำมาออกแบบงานพุทธศิลป์และงานตกแต่งอาคารจึงใช้นาคกับพื้นที่ที่เป็นเส้นยาว เช่น บันไดนาค ป้านลม หรือบางครั้งก็นำนาคหลายตัวมาเกี้ยวพันกัน เรียกว่า “ลายนาคเกี้ยว” พบลวดลายนี้ตามซุ้มประตูโขง ซุ้มปราสาท เพดาน เป็นต้น
“ลวง” เป็นสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนกับมังกรจีน(เล้ง หรือหลงในภาษาจีน) เป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดเมฆและฝน มีความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ มีลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือมีเขาเหมือนกวาง หูเหมือนวัว ปีกคล้ายนก ตัวยาวเหมือนนาค ตามลำตัวมีเกล็ด มี 4 ขาและกงเล็บที่แข็งแรง คนจีนเชื่อว่ามังกรเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณความดี สัญลักษณ์แทนความโชคดีสูงสุด และเป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง ในอดีตจักรพรรดิจีนใช้รูปมังกรมาเป็นตัวแทนตราประทับ และนำมาประดับเครื่องใช้เครื่องนุ่งห่ม สื่อถึงการเป็นผู้ที่กำเนิดมาจากมังกร หรือสวรรค์
ในด้านของความเชื่อ นาค และ ลวง ต่างก็ให้ความหมายสื่อถึงการให้น้ำให้ฝน จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการหล่อเลี้ยงชีวิต พืชพรรณธัญญาหาร ส่วนด้านศิลปกรรมในล้านนามีทั้งการใช้ลายนาค และลายลวงประดับตกแต่งอาคารศาสนสถาน ซึ่งมักพบว่าบันไดนาคมีทั้งนาค และลวง โดยสังเกตจากลักษณะของเขา ปีก และกงเล็บของลวง ต่างจากนาคที่ไม่มี ทั้งนี้ในกลุ่มศิลปกรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อนิยมใช้ลวดลายลวงมาก อาจเนื่องจากการรับเอาวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่กลุ่มชาวไทลื้อที่อยู่ในสิบสองปันนา หลังจากที่มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจึงถ่ายทอดมาถึงกลุ่มไทลื้อเมือง อื่น ๆ นอกจากนี้ ล้านนายังรับเอาลายดอกโบตั๋น และลายเมฆมาจากจีนจากการติดต่อค้าขายด้วย โดยพบหลักฐานในภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ซึ่งมีอายุประมาณ 500 ปี
ฐาปนีย์ เครือระยา ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์
บรรณานุกรม
จิตกร เอมพันธ์. (2545). พญานาค เจ้าแห่งแม่น้ำโขง : พิธีกรรมกับระบบความเชื่อพื้นบ้านแห่งวัฒนธรรม
อีสาน . กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภันธกานต์ กิ้มทอง. (2544). พญานาคกับพระอริยสงฆ์ไทย 3. กรุงเทพฯ : บริษัท ทริปเปิ้ลโค้ตติ้ง จํากัด.
อำพล สัมมาวุฒธิ. (2565). เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “นาคในวัฒนธรรมไทย”. กรุงเทพฯ
: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
อรพิมพ์ บุญอาภา. (2524). คัมภีร์ปุรณะกําเนิดพญานาค. กรุงเทพมหานคร: แสงศิลป์การพิมพ์.
เออ ซูจิง, เออ ตู่อี้, เออ อิ๊งซุย. (2537). รูปแบบสิริมงคงจากสวรรค์ของประเทศจีน.(พิมพ์ครั้งที่ 2). (แปลจาก
เครื่องรางของขลัง โดย เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด.
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |