เงินตราล้านนา

เงินตราล้านนา
 

เงินตรา ล้านนา

ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรล้านนาเริ่มก่อรูปขึ้นโดยมีชนชาติลัวะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนไท เป็นผู้วางรากฐานทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนถึงเศรษฐกิจการค้าที่ใช้หอยเบี้ย และโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง และสำริด เป็นเงินตราในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้า จนเมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่และสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1839 ได้มีการใช้เงินตราในการค้าขายภายในอาณาจักรด้วยการกำหนดมาตรฐานระบบเงินตราของตนขึ้น

          ระบบการค้าและเศรษฐกิจของล้านนาเริ่มรุ่งเรืองมากขึ้นในช่วงสมัยพญากือนา โดยล้านนาได้ผลิตเงินตราที่สำคัญขึ้นชนิดหนึ่ง คือ เงินเจียง ซึ่งถือเป็นเงินที่มีค่าสูงสุดในระบบเงินตราล้านนา ในระหว่างนั้นก็ใช้เงินเจียงร่วมกับเงินอื่นๆ ด้วย เช่น หอยเบี้ย เงินท้อก เงินวงตีนม้า เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู เรื่อยมาจนสมัยที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า มีการรับเอาเทคนิคการทำเงินแบบพม่า ไทใหญ่ เป็นเงินดอกไม้หรือเงินผักชี มาใช้ปะปนร่วมกับเงินล้านนาแบบเดิม ตลอดระยะเวลา 200 กว่าปีที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

จนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ และได้นำเอาเหรียญเงินของอังกฤษเข้ามาใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าในล้านนา ผ่านการปกครองของราชบัลลังก์บริเตนในอนุทวีปอินเดีย จึงมีเหรียญเงินรูปีอินเดียเข้ามาใช้เพิ่มอีก ต่อมาเมื่อล้านนาได้ผนวกเข้ากับไทยสยามเป็นมณฑลพายัพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เริ่มใช้เหรียญเงินของสยามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          “เงิน” ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าในยุคโบราณ ถือเป็นของมีค่าที่ใช้แทนสินค้าได้ เพราะตัวเงินทำมาจากเนื้อเงินแท้เปอร์เซ็นสูง ในอดีตมีการทำเงินด้วยเทคนิคหล่อและหลอมโลหะ ซึ่งอาจมีแร่อื่นๆ ผสมบ้าง เพื่อให้ตัวเงินคงรูป โดยเงินตราที่ใช้ในล้านนา มีดังนี้

 

เงินเจียง มีลักษณะเหมือนกับเกือกม้าสองวงปลายต่อกัน เป็นเงินตราสำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุดของอาณาจักรล้านนา ทำจากเนื้อเงินเปอร์เซ็นสูง มีการตอกตราสำคัญบนตัวเงิน ได้เเก่ ตราตัวเลขบอกจำนวนราคา ตราชื่อเมืองแหล่งผลิต และตราจักร เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าเมือง

 

เงินท้อก ผลิตมาจากเนื้อโลหะผสม มีลักษณะทรงกลม ซึ่งเงินในกลุ่มนี้ เช่น เงินท้อก เงินใบไม้ หรือเงินเส้น เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู โดยแต่ละชนิดก็มีลักษณะพื้นผิวที่ต่างกัน

เงินท้อก มีหลายแหล่งผลิตโดยเรียกตามพื้นที่ เช่น เงินท้อกเชียงใหม่ เงินท้อกน่าน เงินท้อกลำปาง เงินท้อกเชียงแสน ซึ่งผลิตใช้ขึ้นในพื้นที่เมืองนั้นๆ โดยมีรูปแบบ และส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไปตามแหล่งแร่โลหะในท้องถิ่น ลักษณะของเงินท้อกมักจะมีขอบงอโค้งขึ้นมาเล็กน้อยโดยรอบ ด้านล่างมีรูขนาดใหญ่เป็นโพรงลึกเข้าไปแล้วดันอีกด้านนูนสูงขึ้นมา ทำให้เงินท้อกมีลักษณะคล้ายเปลือกหอยจึงเรียกกันว่า “เงินหอย” บางครั้งก็เรียกว่า “เงินขวยปู” เพราะมีลักษณะเหมือนกับมูลดินขรุขระที่ปูขุดขึ้นมา

 

เงินใบไม้ หรือเงินเส้น จัดอยู่ในกลุ่มเงินท้อก เป็นเงินที่มีมูลค่าน้อยที่สุด เพราะทำมาจากจากสำริด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม นูนด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นรอยบุ๋มลึกลงไปจึงมีลักษณะเหมือนเปลือกหอย ด้านที่นูนออกมานั้นมีทั้งแบบเรียบไม่มีลวดลาย มีลวดลายเป็นเส้นเดียวผ่ากลาง และแบบที่มีกิ่งแยกออกไปคล้ายด้านหลังของใบไม้จึงนิยมเรียกกันว่า “เงินใบไม้” “เงินเส้น” หรือ “เงินเปลือกหอย” เงินเหล่านี้มีการเจาะรูไว้ที่ริมขอบสำหรับร้อยรวมเข้าด้วยกันเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน

 

          เงินหอยโข่งและเงินปากหมู มีลักษณะและวิธีการผลิตเช่นเดียวกับเงินท้อกล้านนา แต่มีขนาดใหญ่กว่า หนักกว่า และมูลค่าสูงกว่า เพราะผลิตจากโลหะเงิน โดยเฉพาะเงินปากหมูมีหลายขนาดและน้ำหนักด้านล่างมีช่องกลวงลึกเข้าไปช่องนี้มีลักษณะคล้ายช่องบริเวณปากหมู จึงเป็นที่มาของชื่อนี้

 

เงินดอกไม้หรือเงินผักชี

เป็นเงินที่ผลิตขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 เนื้อเงินมีส่วนผสมของโลหะเงินสูงกว่าโลหะชนิดอื่น เหตุที่เรียกเงินผักชีเพราะลวดลายที่อยู่บนพื้นผิวคล้ายกับใบผักชีหรือดอกไม้ เกิดจากการใช้หลอดไม้ยาวเป่าลมลงในเบ้าที่มีแผ่นเงินหลอมละลายอยู่ อาจเป่าเป็นแห่งๆ หมุนไปโดยรอบเบ้าหลอม ทำให้เกิดเป็นลวดลาย เงินชนิดนี้ชาวล้านนาผลิตขึ้นใช้เอง โดยนำเทคนิควิธีการผลิตมาจากไทยใหญ่ และมอญในประเทศพม่าในยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บางเหรียญพบว่ามีการเจาะรูเนื่องจากชาวเขานิยมนำไปทำเป็นเครื่องประดับห้อยคอ

 

ข้อมูลจาก

วารสารร่มพยอมปีที่ 20 ฉบับที่ 2 สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ โดย กรมธนารักษ์ (คลิกที่นี่)

พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(คลิกที่นี่)

 

 
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
เงินตราล้านนา
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
0
4
0
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 16 มีนาคม 2566 • การดู 2,599 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด