ขั้นตอนในการก่อสร้างและประกอบเรือนไม้
ในอดีตการสร้างเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง หากเป็นคหบดีที่มีฐานะดีจะสร้างเรือนใหญ่ด้วยไม้จริงทั้งหลัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้ไผ่ผสมกับไม้จริง โดยมีโครงสร้างเรือน เช่น เสา ขื่อ แวง เป็นไม้จริง ส่วนฝาและพื้นเรือนทำมาจากไม้ไผ่สับฟาก ในอดีตการประกอบเรือนไม้จะใช้การตอกลิ่มและสวมเดือย ซึ่งต้องมีการเจาะช่องหรือบากไว้ก่อน
1.ขุดหลุมปกเสา และเบงเสา
หลังจากที่ขึ้นเสาทุกต้นเรียบร้อยแล้ว ใช้ลูกดิ่งวัดความตรงของเสาให้ตั้งฉาก 45 องศากับพื้นแล้วนำไม้ไผ่มายึดเสาทุกต้นให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องคนล้านนาเรียกว่า “เบงเสา” จะช่วยยึดและค้ำยันเสาไว้อย่างชั่วคราวไม่ให้ล้มหรือเอียงขณะที่เริ่มประกอบส่วนอื่นๆของเรือนแล้วจึงขึ้นเสานางและเสาบริวารทั้งหมดตามลำดับ
2.ประกอบโครงสร้างเรือน
นำส่วนประกอบของเรือนที่เป็นโครงสร้างหลักคือ ขื่อแป๋หัวเสา ต๋ง แวง(รอด)มาประกอบกันตามช่องที่เจาะไว้โดยส่วนที่เป็นโครงสร้างด้านบนคือ ขื่อ วางในแนวขวาง แป๋วางในแนวยาวของเรือน และส่วนที่อยู่กลางเรือน คือแวง วางในแนวขวางและต๋งเป็นไม้ขนาดเล็กกว่าแวงวางในแนวยาวตามเรือนเพื่อรองรับไม้พื้นเรือน
3.ขึ้นโครงหลังคา
วางไม้ดั้งที่มีลักษณะเป็นแท่งไม้ตั้งวางไว้ขนานกับขื่อ 90องศา จากนั้นจึงประกอบตั้งโย้ (จันทัน)ให้เป็นจั่วสามเหลี่ยมแล้วใส่แปจ๋องด้านบนสุดเพื่อยึดโครงหลังคา เพิ่มก้าบ(แปลาน) วางในแนวยาวตามตัวเรือนเพื่อช่วยรับน้ำหนักหลังคา
4.ใส่ก๋อน ใส่ไม้ก้านฝ้า
ไม้ก๋อนมีขนาดเล็กและบางกว่าไม้ก้าบ วางซ้อนตัดกับก้าบเพื่อช่วยถ่ายเทน้ำหนักของหลังคา
ใส่ไม้ก้านฝ้า ไม้ก้านฝ้าเป็นแท่งไม้มีขนาดเล็กและบางมาก วางยึดติดกับก๋อนในแนวตัดกัน เว้นระยะช่องว่างไม่มากนัก เพื่อนำหลังคาดินขอมาเกาะกับไม้ก้านฝ้าได้
5.มุงหลังคา
ลักษณะของดินขอเป็นแผ่นบางๆ ตรงหัวดินขอมีที่สำหรับยึดเกาะติดกับไม้ได้นำกระเบื้องดินขอมาวางซ้อนกันจนเต็ม
6. เก็บรายละเอียดหลังคาและปูไม้แป้น
นำไม้มาปิดในส่วนที่เป็นจั่วหลังคาให้เรียบร้อย และทำกันสาดยื่นออกมาด้านหน้าจั่ว เพื่อป้องกันลมและฝน พร้อมกับปูพื้นด้วยไม้กระดาน โดยวางตามแนวขวางของตัวเรือน
7. ตีฝา เก็บรายละเอียดของชานบ้านและส่วนของบันได
มักจะทำหลังสุด เมื่อตัวบ้านสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามโบราณยึดถือปฏิบัติมาก็จะต้องหาฤกษ์ยามหรือ “มื้อจั๋นวันดี” สำหรับพิธีขึ้นเรือนใหม่ เพื่อให้สมาชิกในบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป อีกทั้งยังถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณผู้อุทิศแรงงานมาช่วยกันสร้างเรือนให้จนแล้วเสร็จอีกทางหนึ่งด้วย
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |