ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมดภาระงานทางบ้านจะไปนอนที่วัดในวันธรรมสวนะเพื่อประพฤติปฏิบัติถืออุโบสถศีลตลอดระยะเวลาของวันและค่ำคืนนั้น จนกระทั่งรุ่งสางถึงจะลาอุโบสถศีลเช้าวันใหม่ดังกล่าว ผู้มีฐานะดีนิยมทำบุญเลี้ยงอาหารและให้ทานจตุปัจจัยแด่ผู้ออกจากการถือศีลมาใหม่ๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้อานิสงส์มาก เหตุนี้จึงยึดถือปฏิบัติจนเป็นประเพณี เรียกว่า “ประเพณีตานเข้าคนเถ้าจ๋ำศีล” ความหมายคือเสียสละบริจาคอาหารและสิ่งของเป็นทานแด่ผู้เฒ่าผู้จำศีลและพร้อมกันนี้อาจถือโอกาสทำบุญเลี้ยงพระไปด้วยก็ได้ ทั้งนี้เจ้าภาพบางรายนิยมทำที่วัดเพื่อเลี้ยงพระสงฆ์ สามเณรทั้งหมด แต่บางรายนิยมจัดงานที่บ้านเพื่อเป็นการทำบุญบ้านให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัวและเหตุที่มีการจัดงานต่างสถานที่นี้เองจึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวต่างกันโดยรายละเอียด กล่าวคือ
การจัดงานที่วัด
เนื่องจากวัดมีสถานที่กว้างขวางพร้อมสิ่งของที่จะต้องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วย ชาม จึงไม่ยุ่งยากในด้านสถานที่และของใช้ หากแต่ต้องจัดเตรียมในสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมตามความประสงค์ของเจ้าภาพ อาทิ เช่น
แต่ที่ต้องเตรียมเป็นหลัก คือ จตุปัจจัยไทยทานและอาหารสำหรับเลี้ยงผู้เฒ่าและพระสงฆ์รวมทั้งฆราวาสที่มาร่วมงาน และงานนี้จะมีเพียงวันเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า
การจัดงานที่บ้าน
การจัดงานที่บ้านจะมีภาระที่ซับซ้อนมากขึ้น คือต้องเตรียมงานโดยอาศัยญาติมิตรและเพื่อนบ้านช่วยจัดสถานที่ สิ่งของและไทยทานสำหรับงานอาจมีสองวันหรือวันเดียวก็ได้ ที่มีสองวันคือ วันแรก สวดมนต์และฟังเทศน์ โดยการเทศน์มักเป็นการเทศน์เพื่อความเป็นศิริมงคลหรือเทศน์พิเศษ เช่น เทศน์มัทรี เทศน์ชูชก หรือเทศน์มหาราช เป็นต้น ส่วนวันต่อมาจะเริ่มแต่หัวรุ่ง มีการขึ้นท้าวทั้งสี่ สืบชาตาและทำบุญถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์
พิธีกรรม
พิธีกรรมในงานแบ่งเป็น พิธีกรรมหลัก และ พิธีกรรมรอง โดยที่พิธีกรรมหลักจะเน้นที่การให้ทานแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนพิธีกรรมรอง เป็นกิจกรรมที่พ่วงเข้ามา อาทิ การทำบุญสืบชาตา การฟังเทศน์ การทำบุญเลี้ยงพระหรือทำบุญบ้าน เป็นต้น
การให้ทานแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ จะเริ่มตั้งแต่เวลาเช้ามืด เจ้าภาพจะจัดเตรียมอาหารเช้า สิ่งของที่จะให้ทาน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าขะม้า ผ้าห่ม ร่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ แล้วแต่กำลังศรัทธา พร้อมปัจจัยเป็นเงินใส่ซองแนบไปด้วย
หลังจากที่ผู้เฒ่าเลิกจากวัตรสวดมนต์แล้ว ก็จะเชิญท่านเหล่านั้นมาร่วมรับประทานอาหารเสร็จแล้วจะมอบสิ่งของด้วยอาการเคารพเหมือนประเคนของถวายพระจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายจะอวยชัยให้พรและอาจมีการผูกข้อมือให้แก่เจ้าภาพด้วย
ส่วนพิธีกรรมรองที่พ่วงเข้ามา จะมีขึ้นหลังจากที่ทานผู้เฒ่าจนแล้วเสร็จก่อน ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง
ประเพณี “ทานขันข้าวฅนเถ้าจำศีล” เป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน เป็นการให้ทานที่อบอุ่น อิ่มเอิบ ทั้งผู้ให้และผู้รับ น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวดูจะเลือนรางจากหายไปจากสังคมล้านนากิจกรรมอันทรงค่า น่าจะฟื้นฟูให้ดำรงอยู่คั่งคมไปให้ยาวนานที่สุด
ข้อมูลจาก : หนังสือประเพณีสำคัญล้านนา เขียนโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |