ประเพณีบูชาเสาอินทขีล

ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
 

ประเพณีบูชาเสาอินทขีล หรือที่เรียกว่า “เข้าอินทขีล” นับเป็นประเพณีของชาวเชียงใหม่ที่โดดเด่นเป็นประจำทุก ๆ ปีซึ่งหากจะกล่าวโดยสังเขปแล้ว เสาอินทขีล เป็นเสาปูนปั้นตั้งอยู่กลางวิหารอินทขีลในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เดิมมีเฉพาะเสาล้วน ๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้สวยงาม แล้วนำพระพุทธรูป ขึ้นประดิษฐานบนเสานั้น

ด้านความเป็นมา  มีตำนานเล่าว่าเดิมเสาอินทขีลเป็นเสาหินที่อยู่บนสวรรค์ พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์สองตนนำมาตั้งไว้ในเมืองนพบุรี(เชียงใหม่) เพื่อบันดาลโชคลาภและป้องกันภัย ต่อมาผู้คนกระทำการอันเป็นการไม่ให้ความเคารพต่าง ๆ นานา กุมภัณฑ์ไม่พอใจจึงหามกลับเมืองสวรรค์ เมื่อชาวเมืองเดือดร้อนก็ไปขอพระอินทร์อีก คราวนี้พระอินทร์แนะนำชาวเมืองก่อเองโดยให้หล่ออ่างขาง (กะทะ) ขนาดใหญ่ แล้วให้หล่อรูปคนให้ได้ “ร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา” คือผู้คนนานาชาติพันธุ์ หล่อรูปสัตว์ต่าง ๆ อาทิ ช้าง ม้า  วัว  ควาย  เป็ด  ไก่   หมู  หมา  แพะ  แกะ  กวาง  ลิง  รวมทั้งปลา  ปู  หอย  กุ้ง  จระเข้  มังกร  ตลอดจนตะขาบ  แมลงป่อง  ลงใส่ในอ่างขางจากนั้นให้ขุดดินฝังอ่างขางนั้นลึกลงดินถึง  ๙  ศอก แล้วก่อรูปเสาอินทขีลบนดินนั้น เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่ชาวเมือง

            เมื่อได้รับคำแนะนำเช่นนั้น ชาวเมืองจึงพากันสร้างเสาอินทขีลขึ้นใหม่  แล้วกระทำการสักการบูชาเป็นประจำทุกปีในช่วงต่อกันระหว่างเดือนแปดกับเดือนเก้าเหนือที่เรียก “เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก”            โดยที่การบูชาจะเน้นใช้ดอกไม้วางบน “ขัน” คือ พานดอกไม้  จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ใส่ขันดอก”

            กล่าวถึงในแง่ของการปฏิบัติ นอกจากจะมีการบูชาเสาอินทขีลแล้ว ประชาชนจะสักการบูชารูปเคารพอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณวัด เช่น รูปกุมภัณฑ์ รูปช้าง รูปฤาษี พระสังกัจจายน์ พระนอน ตลอดจนสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวงในโอกาสเดียวกันด้วย  ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้นี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชาวเชียงใหม่จวบกระทั่งปัจจุบัน

 

บทความโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา

 
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ประเพณีบูชาเสาอินทขีล
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
4
4
0
3
1
2
0
1
1
เผยแพร่เมื่อ 26 เมษายน 2565 • การดู 1,846 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด