ในชุมชนต่างๆ หรือหมู่บ้านหนึ่งๆ มักมีวัดประจำสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา และในละแวกอาณาเขตที่เป็นวงกว้างออกไป ก็มักจะมีวัดสำคัญที่มีพระเจดีย์ ซึ่งเรียกทั่วไปว่า “ธาตุ” หรือ “พระธาตุ” ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ วัดดังกล่าวส่วนใหญ่พบว่าตั้งอยู่บนภูเขาหรือเนินเขา เมื่อถึงฤดูกาลว่างเว้นจากภารกิจด้านการเกษตร ชุมชนที่มีวัดสำคัญนั้น จะกำหนดให้มีงานเพื่อสักการบูชา ซึ่งแต่ละปีมักถือเอาวันเพ็ญเดือนแปด หรือ เดือนเก้าเหนือ เป็นวันจัดงานจนกลายเป็นประเพณีเรียกว่า “ป๋าเวณีธาตุ”
การไปสักการะบูชาพระธาตุ สำหรับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล จะนัดหมายกันไปเป็นหมู่คณะ มีทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวรวมทั้งเด็กร่วมเดินทางด้วย บางคณะอาจเตรียมเสบียงอาหาร อุปกรณ์การหุงต้ม เพื่อปรุงอาหารรับประทานระหว่างทางหรือช่วงพักค้างแรม พร้อมกับเตรียมอาหารทำบุญ ตักบาตรด้วย
เมื่อเดินทางไปถึงวัดแล้วชาวบ้านจะช่วยกันทำความสะอาดบริเวณลานพระเจดีย์โดยรอบ แล้วทำการสักการบูชาด้วยน้ำขมิ้น ส้มป่อย ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจะมีการสวดมนต์โดยเฉพาะพระสงฆ์จะสวดพระปริตร์มีทั้งสวดเจ็ดตำนานหรือสิงสองตำนานที่เรียกว่า “สูตรตั้งลำ” และสวดเบิกพระเนตรเป็นทำนองเสนาะที่เรียกว่า “สูตรเบิก” ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์
เวลาสายจะมีการจุดบ้องไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งแต่ละแห่งนิยมให้มีการแข่งขันเป็นที่สนุกสนานและบางท้องที่มีการจัดงานฉลองสมโภชด้วยมหรสพพื้นบ้าน เช่นการขับซอและการละเล่นอื่น ๆ ที่เป็นศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปะประจำท้องถิ่น
งานป๋าเวณีธาตุ ถือเป็นงานที่ชาวล้านนาให้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้วยความเชื่อว่า หากได้ไปสักการะบูชาจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีอานิสงส์แรงกล้านำพาดวงวิญาณสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในที่สุด
ปัจจุบัน งานป๋าเวณีธาตุที่มีคนรู้จักและมาร่วมกิจกรรมนับหมื่นคนคืองาน “ประเพณีเตียวขึ้นดอย” เพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพที่มักจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 คืน โดยจะมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุ มีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังผลจากอานิสงส์ในการเดินขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพในแต่ละปี
ข้อมูลจาก หนังสือประเพณีสำคัญล้านนา โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |