ไม้ค้ำ คือไม้ที่มีง่าม หรือมีสองเเฉกในส่วนปลาย ใช้สำหรับการค้ำยันสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องสูงให้ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงประคองตัวอยู่ได้ สะหรี หรือ สรี หมายถึงต้นศรีมหาโพธิ์
ไม้ค้ำสะหรี หมายถึง ไม้ค้ำส่วนของต้นศรีมหาโพธิ์ตามวัดต่างๆ ไม้ค้ำดังกล่าวได้จากการนำมาถวายของพุทธศาสนิกชนตามความศรัทธาของความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปได้เป็นสามประการหลักๆ ได้แก่ประการแรก เพื่ออธิษฐานขอพรตามที่ปรารถนา ประการต่อมาเพื่อค้ำหนุนให้ชีวิตประสบความเจริญ ไม่ตกต่ำ และประการสุดท้ายถือเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนนาน
ความเชื่อประการเเรก มีปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุงว่า หากผู้ใดนำไม้ค้ำไปค้ำกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์เเล้วอธิษฐาน จะได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา เเต่ต้องค้ำให้ถูกทิศทาง กล่าวคือหากต้องการมีบุตรให้ค้ำกิ่งด้านทิศตะวันออก ต้องการทรัพย์สฤงคารให้ค้ำด้านทิศเหนือ ถ้าต้องการให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง ให้ค้ำทิศตะวันตก หากปรารถนาโลกุตตรธรรม มรรคผล เเละพระนิพพานให้ค้ำด้านทิศใต้ เเละหากผู้ใดประสงค์จะได้ทั้งโลกิยสมบัติเเละโลกุตตรสมบัติ ให้นำไม้ไปค้ำต้นศรีมหาโพธิ์ให้ครบทั้งสี่ด้าน ประการต่อมาปรากฎอยู่ควบคู่กับพิธีกรรมอันเนื่องมาจากสืบชาตา คือภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมสืบชะตาเเล้ว ไม้ค้ำในพิธีกรรมจะถูกนำไปพิงหรือค้ำต้นศรีมหาโพธิ์อย่างหนึ่ง เเละอีกอย่างหนึ่งเป็นการนำไม้ค้ำไปถวายในช่วงสงกรานต์ โดยมีวัตถุประสงค์หรือมุ่งหวังในความเป็นสิริมงคลและการสืบต่ออายุ
ประการสุดท้ายเป็นความหมายที่ซ้อนทับกับความเชื่อทั้งสองประการข้างต้น คือ มีวัตถุประสงค์อันที่จะค้ำจุนพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความคิดแฝงในพิธีกรรมอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นจึงมีการจัดขบวนแห่เอิกเกริกโดยให้มีในช่วงสงกรานต์ของทุกๆปี
ข้อมูลโดย : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |