กัวะเข้า
กัวะเข้า หรือบางแห่งเรียกว่า ฝ่าเข้า เป็นภาชนะทำด้วย ไม้สักคล้ายขันโตก แต่ไม่มีเชิงหรือตีนเหมือนขันโตก ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นถาดรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วใหม่ๆ ใช้ด้ามพายคนข้าวสุกนั้นระบายความร้อนออกไปบางส่วน เมื่อนำข้าวสุกบรรจุเก็บไว้ใน กล่องเข้า (กระติบข้าว) แล้วข้าวจะได้ไม่แฉะจากเหงื่อข้าวเพราะความร้อนที่มีมากเกินไป ซึ่งชาวล้านนา เรียกการนี้ว่า ปงไหเข้า หรือ ปลดไหเข้า
กัวะเข้า มีใช้กันทั่วไปในถิ่นล้านนา มี 2 ลักษณะ คือกัวะเข้า ที่ทำขึ้นด้วยไม้จริง นั้นให้ตัดไม้สักให้เป็นท่อนบาง ขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร กว้างตามความต้องการหรือตามที่จะหาไม้ได้ โดยมากจะเลื่อยตัดเอาส่วนของโคนไม้สัก ขนาดใหญ่หรือเลื่อยเอาจากตอไม้สัก เมื่อได้แผ่นไม้มาแล้ว ก็ขีดเส้นในให้เป็นวงกลม แล้วขุดเจาะตามรอยขีดให้ส่วนปากกว้างกว่าส่วนก้นเล็กน้อย ขุดลึกลงประมาณ 6 เซนติเมตร เมื่อขุดส่วนในเสร็จแล้วก็มาถึงส่วนนอก ไม้ส่วนไหนที่หนา และยื่นออกไปมากที่สุดกก็กันเอาไว้สำหรับทำเป็นที่จับถือหรือทำเป็นที่แขวน แล้วจึงจากส่วนอื่นให้กลมตามส่วนใน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็น กัวะเข้า ที่ใช้การได้ นอกจากรูปทรงกลมแล้วบางแห่งยังทำรูปสี่เหลี่ยมด้วย
ส่วนกัวะเข้าไม้ไผ่ ได้จากการสานจักตอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร เป็นลายสองเข้าด้วยกันส่วนปากของด้วยไม้ไผ่ที่เหลาเป็นปาก ขอบทั้ง 2 ด้านคือด้านนอกและด้านใน โดยให้ปากสูงประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร รูปร่างลักษณะของกัวะเข้า ไม้ไผ่คล้ายกับกระด้งฝัดข้าว
กัวะเข้า ใช้เป็นภาชนะรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งเทออกจากไห เพื่อคนข้าวที่นึ่งนั้นกลับไปกลับมาเพื่อให้ข้าวสุกนิ่ม และเพื่อให้ข้าวเหนียวเย็นลงจะได้ไม่แฉะในเวลาที่เก็บไว้ โดยก่อนที่จะเทเข้าจากไหนึ่งลงไปนั้น ใช้น้ำประพรมให้ กัวะเข้าเปียกน้ำเสียก่อนเพื่อป้องกันข้าวติด เมื่อคนข้าวเสร็จแล้ว ก็แขวนไว้เพื่อใช้ในวันต่อไป แต่บางครั้งก็พบว่าใช้กัวะเข้า ในการทำขนม เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ เข้าแตนซาย เมื่อจะอัดหรือกดให้เป็นแท่ง ใช้นวดหรือคลุก เข้าหนุกงา เป็นต้น
ข้อมูล สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคเหนือ
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |