นิทรรศการภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทางพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ได้ทำการเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 โดยมีนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการฯพร้อมด้วย ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีนายฌอน โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีดังกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า นิทรรศการภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สืบเนื่องมาจากที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ได้รับมอบทุนจากโครงการกองทุนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หรือชื่อย่อ AFCP โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จำนวน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อดำเนินงานการ “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณในจังหวัดเชียงใหม่” ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตกผลึกการทำงานของโครงการตลอดระยะเวลา 2 ปี ผ่านการนำเสนอข้อมูล เรื่องเล่า องค์ความรู้ด้านวิถีชีวิต ภูมิปัญญาเชิงช่าง (สล่า) ในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนา ในการเป็นฐานข้อมูลองค์ความรู้ นำมาจัดแสดง เพื่อเผยแพร่ ถ่ายทอดให้ความรู้ และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับผู้มาเยี่ยมชม ภายใต้บริเวณชั้น 1 เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) ที่ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา
ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วย 3 หัวข้อในการจัดแสดง ได้แก่ โซนที่ 1 วิถีชีวิตกับเรือนล้านนา โซนที่ 2 ภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน และโซนที่ 3 เข้าใจในไม้
วิถีชีวิตกับเรือนล้านนา Lanna Houses and Way of Life บอกเล่าวิถีชีวิตของคนล้านนาที่ส่วนใหญ่อยู่อาศัยบนเรือน และมีพื้นที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยบนเรือนมีส่วนของที่นอน ที่รับแขก ทำงานบ้าน ทำอาหาร ซึ่งแต่ละส่วนถูกแบ่งโดยใช้ผนังกั้น และการยกระดับพื้น เพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้อย่างชัดเจน ประกอบด้วยเรือนนอน เติ๋น หรือโถงหน้าเรือนนอน ห้องครัว และชาน ส่วนใต้ถุนเป็นเพียงที่เก็บของกับเลี้ยงสัตว์ และภายในบริเวณบ้านก็จะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ประเภทหมู เป็ด ไก่ และหาอาหารตามธรรมชาติ เช่น ปลาตามหนองบึง หน่อไม้ เห็ด สัตว์ในป่า เป็นต้น
ภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน Local Wisdom and the Building of Lanna Houses เป็นส่วนที่จัดแสดงเครื่องมือช่างที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน โดยในอดีตเครื่องมือช่างเหล่านี้ใช้แรงงานคนเป็นหลัก สล่าหรือช่างจำเป็นต้องใช้กำลังและระยะเวลาเป็นอย่างมาก ซึ่งแบ่งประเภทออกตามลักษณะการใช้งาน 5 ประเภท คือ 1.เครื่องมือไสแต่งผิว 2.เครื่องมือตัด
3.เครื่องมือบากเจาะ 4.เครื่องมือจับยึด 5.เครื่องมือวัด
เข้าใจในไม้ Understanding Woods - The Usages of Woods บอกเล่าถึงชนิดของไม้ที่คนล้านนา นิยมนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ไม้สัก ไม้ประดู่ป่า ไม้แดง ไม้เต็ง (ไม้แงะ) ไม้รัง (ไม้เปา) โดยโซนนี้ผู้เข้าชมจะสามารถเรียนรู้การจำแนกกลิ่นของเนื้อไม้แต่ละชนิดได้อีกด้วย
สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการนิทรรศการภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน สามารถติดต่อได้ที่จุดบริการข้อมูล พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053 943 625-6 หรือติดต่อได้ทาง Facebook Page :CMU Lanna House Museum พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. https://www.facebook.com/CMULHM
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |