รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)

รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
 

รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)

          ลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงเช่นเดียวกันกับเรือนไทดำ  แต่ไม่สามารถระบุส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน  เพราะรูปแบบเรือนมีหลากหลายมากกว่าไทดำมาก  มีการประยุกต์และดัดแปลง  ต่อเติมส่วนต่างๆของเรือนมากกว่า  กล่าวคือการต่อเติมเรือนของไทดำจะขยายออกไปในแนวยาวอย่างเป็นแบบแผนตายตัว  แต่บ้านไทด่อนมีการขยายเรือนออกไปทั้งด้านข้างและด้านหลังของตัวเรือน  หากมองโดยรวมแล้วก็สามารถจำแนกออกมาได้เป็นระเบียงและตัวเรือน

  1. ในส่วนที่เป็นระเบียง  จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงบันไดทางขึ้นหน้าเรือน  ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างตัวเรือนกับบันได
  2. ตัวเรือนเป็นโถงยาวและกว้าง  คนไทด่อนไม่นิยมแบ่งห้องโดยใช้ผ้าม่านเหมือนไทดำที่แบ่งห้องอย่างชัดเจน  แต่ใช้ไม้จริงหรือฝาไม้ไผ่กั้นห้องแทนหรือบางหลังก็ต่อเติมเรือนออกไปอีกส่วนให้เป็นเรือนนอน
  3. ส่วนที่เป็นชานไม่ค่อยพบมากนัก  เนื่องจากถูกดัดแปลงกลายเป็นเรือนครัวที่แยกออกมาอย่างเป็นสัดส่วน แต่เตาไฟของไทดำและไทด่อนยังคงใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิงเหมือนกัน  จึงสร้างกระบะทรงสี่เหลี่ยมไว้รองรับภาชนะในการหุงต้ม

 

วิธีการปลูกเรือนของไทด่อนใช้ทั้งเทคนิคการเข้าเดือยและตอกตะปู  ส่วนวัสดุที่ใช้ในการสร้างนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากเรือนไทดำเลย  เนื่องจากไม้ในเขตเวียดนามเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีมากพอในการสร้างเรือน  ส่วนรูปทรงเรือนของไทด่อนนั้นมีมากมายหลายแบบและมีขนาดใหญ่  เพราะต่อเติมส่วนต่างๆ  ของเรือนมาก  จึงพอที่จะจำแนกได้ดังนี้

  1. เรือนที่สร้างจากไม้ไผ่  เป็นเรือนที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท  มีโครงสร้างเป็นไม้จริง  แต่ส่วนประกอบอื่นๆ  อาทิ ฝาเรือน  พื้นเรือน  บันได  จะทำมาจากไม้ไผ่
  2. เรือนแบบจั่วเดียว  มีลักษณะเป็นเรือนขนาดกลางถึงใหญ่  แต่มีเพียงจั่วเดียว  บางทีมีการขยายต่อเติมบ้านออกไปทางด้านข้างและด้านหลัง  ใช้ไม้จริงเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนมาก
  3. เรือนแบบสองจั่ว  เป็นเรือนขนาดใหญ่ที่มีการต่อเติมเรือนจั่วเดียวอีกหลังหนึ่งให้อยู่ด้านข้าง  ตรงกลางระหว่างชายหลังคาทั้งสองหลังมีรางรินไว้รองรับน้ำฝนไม่ให้เข้าตัวเรือน  วัสดุส่วนใหญ่จะใช้ไม้จริงมากกว่าไม้ไผ่

ส่วนประกอบของเรือนไทด่อน

  1. บันได  เรือนไทด่อนจะมีทั้งบันไดที่ไม่มีราวจับและมีราวจับเป็นลายไม้ฉลุประดับอยู่ บันไดขึ้นเรือนมีทั้งหน้าเรือนและหลังเรือน  บันไดหน้าเรือนเชื่อมกับระเบียง  ส่วนบันไดหลังเรือนเชื่อมกับเรือนครัว
  2. หลังคา  วัสดุที่ใช้ทำหลังคานั้นมีทั้งหญ้าคา  กระเบื้องว่าว  กระเบื้องลอน  กระเบื้องดินเผา  แต่สิ่งที่น่าสนในมากคือการใช้หญ้าคามุงหลังคาในปริมาณที่มาก  โดยจะวางซ้อนทับกันจนเป็นแผ่นหนาหลายนิ้ว  ซึ่งน่าจะให้ความอบอุ่นภายในตัวเรือนมากกว่าการมุงชั้นเดียว
  3. เสา  ใช้ไม้ซุงทั้งท่อน สูงจากพื้นจนถึงชายหลังคาเช่นเดียวกันกับเรือนไทดำ  แต่จะเริ่มมีการตกแต่งให้เป็นทรงเหลี่ยม  การวางของเสาไม่ใช้วิธีการฝังแต่จะวางบนวัสดุที่รองรับจำพวก  ก้อนหินขนาดใหญ่  ปูนซีเมนต์ที่หล่อเป็นฐาน  เรือนบางหลังก็จะยึดไม้ให้ติดกับปูนที่เป็นฐานรองเลย
  4. คาน  การวางคานของเรือนไทดำและไทขาวมีความคล้ายคลึงกัน  กล่าวคือมีการใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเป็นคานวางโครงสร้างภายในเรือน และใช้วิธีการทำลิ่มเข้าเดือยในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน  ส่วนไม้ที่ใช้ยึดหลังคาก็จะเป็นไม้ไผ่ที่ใช้ทั้งปล้อง ในเรือนบางหลังของไทด่อนจะมีภาพเขียนเป็นลวดลายต่างๆ บนคาน   
  5. ฝาเรือนและพื้นเรือน  วัสดุที่ใช้ทำฝาเรือนนั้นจะมีหลากหลายมาก  จำพวก  ไม้จริงหรือไม้กระดาน  ไม้ไผ่สานลายต่างๆและดินผสมกับฟาง ส่วนพื้นเรือนนั้นคนไทด่อนนิยมใช้ไม้ไผ่สับเป็นผืนแล้วนำมาวางเรียงกันเป็นผืน
  6. ระเบียง  เรือนไทดำและไทด่อนแตกต่างกันเล็กน้อย  ระเบียงของไทดำจะสร้างไว้ตลอดแนวยาวของเรือน ส่วนระเบียงของไทด่อนเป็นระเบียงเล็กๆ ที่เชื่อมระหว่างบันไดกับด้านหน้าเรือน  ซึ่งมีพื้นที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับระเบียงของชาวไทดำ 
  7. หน้าต่าง  รูปแบบของหน้าต่างจะสูงในแนวตั้ง  ประมาณ 1.5-2 เมตร  จากชายคาถึงพื้นเรือน  ซึ่งด้านในกั้นด้วยไม้ระเบียงความสูงประมาณ  50 เซนติเมตร  บานหน้าต่างจะเรียงติดกันหลายบาน  เมื่อเปิดหน้าต่างออกในตอนกลางวันก็จะมีลักษณะคล้ายระเบียงทำให้ตัวบ้านเปิดโล่ง  เมื่อเวลาปิดหน้าต่างในตอนกลางคืนก็จะเหมือนฝาเรือน

 

     จะเห็นว่าเรือนของไทด่อนและไทดำนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย  ทั้งนี้เนื่องจากอาศัยอยู่ในคนละเมือง  มีระยะทางที่ห่างไกลกันออกไป  แล้วแต่รสนิยมหรือความชอบของแต่ละกลุ่มว่าจะออกแบบตกแต่งเรือนของตนให้เป็นอย่างไร  ซึ่งแสดงออกจากการที่ไทด่อนมีรูปแบบเรือนที่หลากหลาย  ทั้งในเรื่องของการตกแต่ง  วัสดุที่ใช้และขนาดของเรือน  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มไทด่อนมีการปรับตัวตามสมัยนิยมมากกว่ากลุ่มไทดำที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเคร่งครัด สังเกตจากเรือนของชาวไทดำทุกหลังต้องมีห้องผีตั้งอยู่ในห้องแรกของเรือน  ก่อนที่จะเป็นห้องนอนของผู้อาวุโส  แสดงให้เห็นถึงการเคารพผีอย่างสูงสุดมีความหมายในเชิงสัญญะว่าผีบรรพบุรุษเป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด  ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวทุกคนจึงควรเคารพและประพฤติตนตามจารีต แม้ว่าผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนหรือผู้อาวุโสจะมีสิทธิและอำนาจอันชอบธรรมแต่ก็ต้องยอมรับอำนาจที่เป็นนามธรรมของผี  การที่ชาวไทดำมีห้องผีไว้ในเรือนจึงหมายถึงการอยู่ร่วมกันของเชื้อสายเครือญาติเดียวกันแม้จะอยู่ในสถานะใดก็ตาม  ดังนั้นผีในโลกทัศน์ของขาวไทดำจึงเปรียบเสมือนเสาหลักของตระกูล  เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและสามารถปกปักรักษาสวัสดิภาพของลูกหลานได้ 

     นอกจากห้องผีจะเป็นที่สิงสถิตของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  ก็ยังเป็นที่เก็บ “ถุงไต้”  หรือถุงใส่วันเดือนปีเกิดของผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น  เสมือนกับการฝากให้ผีบรรพบุรุษเป็นผู้รักษาขวัญของลูกหลานให้ปลอดภัย   ดังนั้นความสำคัญของห้องผีในกลุ่มไทดำไม่ใช่เพียงแค่สถานที่กราบไหว้เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษเท่านั้น แต่ยังหมายถึงใจกลางหรือขวัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรือนด้วย

จะเห็นได้ว่ารูปแบบเรือนและการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไทด่อนและไทดำในเวียดนามนั้น  ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความคิดเรื่องผีเป็นอย่างมาก  เพราะกลุ่มไทนี้ยังไม่มีแนวคิดความเชื่อด้านศาสนาจากภายนอกเข้ามาปะปนมากนัก แตกต่างจากคนไทกลุ่มอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมร่วมของคนไททุกกลุ่มที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนหรือเขตประเทศใดๆ  ก็จะนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง  รวมถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ริมแม่น้ำและภูเขา  ที่ถือว่าเป็นชัยภูมิที่ดี  ในปัจจุบันกลุ่มไทในเวียดนามถูกแบ่งออกเป็น  12  หัวเมืองตามเขตจังหวัดต่างๆ  ซึ่งบางเมืองก็ถูกเรียกตามภาษาเวียดนาม  แต่กลุ่มไทเหล่านี้ยังไม่ค่อยเปิดรับวัฒนธรรมของคนภายนอกเพราะการนับถือผียังมีความมั่นคงมาก 

 


[1] สรุปผลงานวิจัยโครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัย สกว. โครงการภูมิปัญญา พัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรือนพื้นภิ่นไทย-ไท : คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมในเรือนพื้นถิ่น. หน้า 13-14.

[2] สรุปผลงานวิจัยโครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัย สกว. โครงการภูมิปัญญา พัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรือนพื้นภิ่นไทย-ไท : คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมในเรือนพื้นถิ่น. หน้า 12-13.

 

เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
2
4
0
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2565 • การดู 2,193 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด