รูปแบบและลักษณะบ้านของไทดำ
จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นสองทาง คือด้านหน้าเรือนและด้านหลังของเรือน วัสดุที่ใช้สร้างจากไม้จริงและไม้ไผ่ผสมกัน มีส่วนประกอบอยู่ 3 ส่วนที่ชัดเจน คือเฉลียง หรือ “กว้าน” อยู่ทางด้านหัวเรือน ส่วนกลางเรือนจะเป็นที่อยู่หลับนอน มีการกั้นผนังด้วยไม้อย่างแน่นหนาและส่วนท้ายเรือนจะเป็นชาน ภายในตัวเรือนเป็นที่โล่งตามแนวยาว จำนวนของห้องเสาจะเป็นเลขคี่ตามความเชื่อที่เป็นมงคล มีการแบ่งส่วนของห้องนอนไว้ตามช่วงเสาในแนวยาวด้วย การแบ่งห้องนอนจะกั้นตามช่วงเสาซึ่งจะทราบจำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่ตามห้องที่กั้นด้วยผ้าม่าน ห้องแรกของบ้านจะเป็นห้องของผีประจำตระกูล ส่วนห้องนอนของผู้อาวุโสหรือพ่อแม่จะอยู่ถัดมา จากนั้นก็จะเป็นห้องของลูกคนโตไล่มาจนถึงลูกคนเล็ก
ในอดีตชาวไทดำนิยมทำเรือนแบบหลังคาโค้งทรงกระดองเต่า ซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นแบบดั้งเดิมที่มีการใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนเรือนแบบหลังคาตรง เป็นรูปทรงของเรือนในสมัยนี้ ใช้ไม้จริงเป็นโครงสร้างผสมกับไม้ไผ่ที่ใช้เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ฝาเรือน ระเบียง เป็นต้น
การแบ่งห้องนอนของชาวไทดำ
ส่วนประกอบของเรือนไทดำ
- บันได เรือนไทดำจะมีทางขึ้นเรือนทั้งด้านหน้าและด้านหลังเรือน หากในสังคมที่เคร่งครัดผู้หญิงจะสามารถใช้ได้เพียงบันไดทางหลังเรือนเท่านั้น ส่วนใหญ่บันไดของเรือนที่อยู่ในชนบทจะไม่มีราวบันได แต่บันไดของเรือนที่อยู่ในเมืองจะเพิ่มความปลอดภัยและความสวยงาม ในการตกแต่งราวบันไดด้วยการฉลุไม้อย่างง่ายๆ
- หลังคา วัสดุที่ใช้ทำหลังคาจะเป็นหญ้าคา กระเบื้องทรงเหลี่ยมหรือกระเบื้องว่าว และกระเบื้องลอน บางทีก็จะพบกระเบื้องที่ทำมาจากหินชนวน ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะประยุกต์ใช้ตามสิ่งแวดล้อมและความนิยมของแต่ละเมือง ในเขตชนบทจะนิยมใช้หญ้าคามุงหลังคา ส่วนเขตเมืองก็จะใช้กระเบื้องแทน เหนือจั่วเรือนด้านหน้าเรือนจะมี “เขากุด” ประดับอยู่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเขาควาย ทำจากไม้เป็นรูปแบบที่ต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของเรือนและช่าง ซึ่งสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมของเจ้าของเรือน ปัจจุบันจะทำมาจากไม้สองชิ้นวางไขว้กันแล้วแกะลวดลาย
รูปแบบของเขากุดที่ทำมาจากไม้แกะเป็นลวดลายต่างๆ
เสา ทำมาจากไม้จริงทั้งท่อน เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทานสูงกว่าไม้ไผ่ รูปทรงของเสาเป็นทรงกระบอก มีความยาวตั้งแต่พื้นจนถึงชายหลังคา ลักษณะการตั้งเสาจะไม่ใช้วิธีการฝังแต่จะวางบนก้อนหินขนาดใหญ่โดยไม่มีการยึด ปัจจุบันมีการปรับมาใช้ฐานรองที่ทำได้สะดวกโดยการหล่อเทปูนซีเมนต์ให้สูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง แล้วจึงนำเสาวางไว้บนฐานซีเมนต์นั้น
- คาน โครงสร้างของคานใช้ไม้จริงเช่นเดียวกับเสา ซึ่งมีทั้งการใช้ไม้ทรงกลมทั้งท่อนและแบบปรับแต่งไม่ให้เป็นทรงสี่เหลี่ยม วิธีการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ นั้นจะใช้ลิ่มและเดือย โดยช่างจะใช้สิ่วในการเจาะรูไม้และทำสลักเพื่อประกอบไม้เข้าด้วยกัน วิธีการนี้จะทำให้โครงสร้างของเรือนแข็งแรง ในส่วนของโครงสร้างหลังคาจะใช้ไม้ไผ่ในการยึดกระเบื้องและหญ้าคาเพราะเป็นวัสดุที่มีขนาดเล็กและเบา ช่วยลดน้ำหนักของหลังคาได
โครงสร้างของเสาและคานของเรือน เมื่อมองจากภายในเรือน
- ฝาเรือนและพื้น เรือนแต่ละหลังจะมีการผสมผสานของวัสดุในการทำฝาเรือนหลากหลายชนิด วัสดุที่นิยมใช้มี 3 ชนิดคือ ไม้กระดาน ไม้ไผ่สานและฝาที่ทำมาจากดินผสมกับฟางซึ่งมีลักษณะคล้ายปูน นิยมใช้มากในส่วนที่เป็นครัว ไม้ที่ใช้ทำพื้นเรือนจะเป็นไม้จริงที่แต่งทรงให้เป็นแผ่น บางหลังก็ใช้ไม้ไผ่ทั้งปล้องแล้วสับไม้ให้เป็นผืน
- เรือนครัว เดิมทีชาวไทดำไม่มีเรือนครัวแยกออกมาอย่างเป็นสัดส่วนเหมือนปัจจุบันที่สร้างเรือนครัวแทนชาน เพราะเตาหรือจี่ไฟในภาษาไทดำนั้นจะอยู่ภายในตัวเรือน โดยเตามีลักษณะเป็นกระบะทรงสี่เหลี่ยม มีก้อนหินวางอยู่ ใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเตาแบบนี้เหมือนกับที่คนไทยใช้กันในสมัยก่อน เหนือเตาขึ้นไปจะมีไม้ไผ่สานเป็นแผงห้อยอยู่ เพื่อเก็บข้าวของเครื่องใช้ และวัตถุดิบเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร
เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่