การตั้งธัมม์หลวง

การตั้งธัมม์หลวง
 

การตั้งธัมม์หลวง หมายถึง การฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธัมม์หลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดกอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาเกิดแล้วตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา แต่ถ้าจะแปลว่า "การฟังเทศน์ครั้งใหญ่" ก็จะถูกต้องกับเรื่องและระยะเวลาในการเทศน์ คือเป็นคัมภีร์ชาดกสำคัญและมีขนาดยาวและร่วมกับเป็นเทศกาลฟังธัมม์ที่ยาวนานอีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน การตั้งธัมม์นี้เมื่อเล็งไปถึงคำว่า "ตั้ง" ซึ่งแปลว่าเริ่มต้น การตั้งธัมม์หลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก หรือการเริ่มสดับพระธรรมเทศนาด้วยเรื่องที่สำคัญ อันเป็นกิจวัตรประจำปีของพุทธศาสนิกชนล้านนาได้อีกด้วย แต่ถ้าจะแปลโดยเทียบนัยแล้วก็อาจแปลว่าตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธัมม์หลวงนี้ เห็นได้จากชื่อแล้วว่าเป็นเรื่อง"หลวง" คือเรื่องใหญ่ ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้ก็จำเป็นจะต้องยิ่งใหญ่ตามมา นับตั้งแต่การเตรียมคัมภีร์ที่ใช้เทศน์เตรียมองค์ธรรมกถึกหรือพระนักเทศน์ การเตรียมผู้รับผิดชอบกัณฑ์เทศน์หรือเจ้าของกัณฑ์ การจัดเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์

          การตั้งธัมม์หลวงนี้ จัดเป็นงานปาเวณี (อ่าน "ป๋าเวณี") คืองานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ซึ่งนิยมจัดขึ้นในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลางเนื่องจากเป็นพิธีใหญ่คู่กับงานทานสลากหรืองานทำบุญข้าวสลากภัตต์ ดังนั้นจึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้น ปีใดที่จัดงานทานสลาก ก็จะไม่จัดงานตั้งธัมม์หลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธัมม์หลวง ก็จะไม่จัดงานทานสลากธัมม์ หรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธัมม์หลวงนี้อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติ-ชาดก ปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง "มหาชาติ" หรือเวสสันตรชาดก ซึ่งหากเป็นธัมม์ที่มิใช่เรื่องมหาชาติแล้ว ก็มักจะฟังกันไม่เกิน 3 วัน แต่หากเป็นเวสสันตรชาดกหรือมหาชาติแล้วก็นับเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งอาจมีการฟังธัมม์ต่อเนื่องกันไปถึง 7 วัน การตั้งธัมม์หลวงนี้ บางครั้งก็เป็นเวลาที่ชาวบ้านจัดคัดลอกหรือจารชาดกที่สำคัญมาถวายวัด ก็เลยถือโอกาสตั้งธัมม์ที่คนสร้างนั้นด้วยและส่วนมากมักจะปิดท้ายด้วยเรื่องมหาชาติ คือก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอจะถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็จเอาในเวลาทุ่มเศษ แต่ถ้าเป็นเวสสันตรชาดกที่สั้นหน่อยก็อาจเทศน์เสร็จในเวลาพลบค่ำพอดี

 

ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 10 

รูปภาพจาก : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
การตั้งธัมม์หลวง
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
11
4
0
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564 • การดู 2,294 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด