ผ้าม่าน แต่เดิมหมายถึงผ้าที่ใช้แขวนในกรอบประตูห้องนอน ซึ่งเป็นจุดแบ่งพื้นที่ภายในส่วนตัวของเรือนกับพื้นที่รับแขกด้านหน้าตัวเรือนบุคคลภายนอกปกติจะไม่ล่วงล้ำผ่านผ้าม่านประตูเข้าไปในห้อง ถือเป็นการบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวผิดผีเรือน จะต้องมาขอขมาหรือทำพิธีเซ่นไหว้ตามจารีตประเพณี มิฉะนั้นจะเกิดอาเพศและความอัปมงคลต่างๆ ตามมา ผ้าม่านนิยมทอเป็นผ้าลายตกแต่งตามรสนิยมของชุมชน บางทีมีการเพลาะให้กว้างขนาดพอดีกับประตูห้อง มีหูหรือเชือกร้อยผูกกับวงกบประตู
ผ้ากั้ง เป็นผ้าที่ใช้แบ่งพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่หลับนอนในห้องนอนของครอบครัว หรือบริเวณหน้าเรือนในกรณีที่มีแขกมาพักที่บ้าน ผ้ากั้งนิยมทอเป็นผ้าลายแบบต่างๆ ต่อขอบผ้าด้านบนด้วยผ้าสีแดง มีหูสำหรับสอดไม้ไผ่ แขวนจากเสาหรือฝาเรือนอีกทีหนึ่ง บางทีทอเป็นผ้าบางคล้ายผ้ามุ้งเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ตามต้องการ บ่อยครั้งเป็นผ้ายกหรือผ้าพิมพ์ราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ
แต่ละหลังคาเรือนอาจมีผ้ากั้งหลายผืน ตามจำนวนที่นอนของครอบครัว นอกจากจะใช้แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนแล้ว บางครั้งก็ใช้กำหนดที่นั่งของพระสงฆ์ทั้งในวัดและบ้าน โดยแขวนไว้ด้านหลังของอาสน์สงฆ์ ชาวบ้านจะกางผ้ากั้นไปตลอดไม่นิยมปลดลงหรือเปลี่ยนจนกว่าจะเปื่อยขาดเอง ในสมัยต่อมาเมื่อนิยมสร้างห้องนอน แบบตะวันตกทำให้ความสำคัญของผ้ากั้นลดลงไปปัจจุบันแทบจะไม่พบการใช้ผ้าชนิดนี้แล้ว แต่ที่มีมาแทนก็คือ ผ้าม่านหน้าต่าง ที่ใช้สำหรับหน้าต่างขนาดใหญ่ ผ้าม่านหน้าต่างแต่เดิมไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไท-ลาว เนื่องจากบ้านเรือนสมัยก่อนมีช่องหน้าต่างขนาดเล็กมากที่เรียกว่า “ป่อง” มีหน้าที่เพียงให้คนในบ้านมองไปด้านนอกว่ามีใครมาหาหรือใช้สังเกตเหตุการณ์นอกบ้าน ไม่ได้เปิดหน้าต่างไว้ตลอดเวลาอย่างปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง เนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างบ้านที่เป็นเครื่องสานซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าต่างเพื่อให้ลมเข้า-ออก จนเมื่อมีการสร้างบ้านหลังใหญ่อย่างตะวันตกที่ใช้วัสดุกันลมและแดด จึงต้องมีหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อถ่ายเทอากาศ ขณะเดียวกันการเปิดหน้าต่างก็ทำให้มีแสงเข้ามามากเกินต้องการจึงต้องใช้ผ้าม่านช่วยกันแสงไว้ระดับหนึ่ง จะสังเกตได้ว่ารูปแบบและลวดลายของผ้าม่านหน้าต่าง ต่างจากผ้ากั้ง เพราะใช้ผ้าที่ทอด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และเน้นสีสะอาดคือสีขาว ครีมหรือสีอ่อนเป็นหลัก ลวดลายของผ้าม่านนิยมลายลูกไม้ปักฉลุที่ใช้ด้ายสีเดียวกับผ้าทำให้ดูเรียบสง่าเมื่อมองจากภายนอก
ภาพเเละข้อมูลจาก : หนังสือผ้าและสิ่งถักทอไท โดยอาจารย์วิถี พานิชพันธ์
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |