ลักษณะเฮือน"ขึด"

ลักษณะเฮือน
 

ขึด หมายถึง เสนียด จัญไร อัปมงคล  ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ขึดมีหลายประเภท เช่น ขึดเกี่ยวกับวัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง  สาธารณประโยชน์  ตลาด  พื้นที่ทางการเกษตร ต้นไม้ สัตว์ ที่อยู่อาศัย  เป็นต้น

เฉพาะที่อยู่อาศัยนั้น การเลือกที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ชาวล้านนาจึงมีการบอกเล่าในเรื่องของเคหสถานผ่านการจดจำและบันทึกเป็นตำรากำหนดไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างหรือเข้าอยู่อาศัยในบ้านเรือนที่มีลักษณะ “ขึด” คือเรือนที่ไม่เป็นมงคลนั่นเอง

ลักษณะเรือนของคนล้านนา      ส่วนหนึ่งเป็นตำแหน่งหรือสถานที่ตั้งอยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของระยะเวลาของการสร้าง และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนประกอบของตัวอาคาร ขนาดและจำนวนของบางสิ่ง รวมทั้งเรือนที่มีประวัติที่ไม่พึงประสงค์   ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ส่วนแรก คือตำแหน่งหรือสถานที่ตั้งที่อยู่อาศัย เช่น เรือนที่สร้างกลางเนินสูงมีสัณฐานเหมือนกระดองเต่า เรือนที่สร้างสูงกว่าพระพุทธรูปที่อยู่วัด เรือนที่สร้างแนวตรงกับพระประธาน เรือนที่สร้างทับหรือปลูกคร่อมแม่น้ำเก่า   คร่อมถนนหนทางเดิม คร่อมหรือทับวัดร้าง ป่าช้าร้าง บ้านร้าง เรือนที่ปลูกคร่อมจวมปลวก ปลักควาย หลัก ตอ บ่อน้ำ สระน้ำ ตาน้ำ  เรือนที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำลำห้วยไหลมารวมกัน เรือนที่ตั้งในบริเวณทางหลวง ทางแยก  เรือนที่มีน้ำไหลบ่าเข้าบ้าน  รวมถึงเรือนที่มียุ้งข้าวอยู่ทิศหัวนอน เรือนที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุ้งข้าวสองหลัง เป็นต้น

ในส่วนที่เป็นระยะเวลา เช่น “เรือนท่าวลุก” คือเรือนหลังเดียวใช้เวลารื้อถอนและสร้างเสร็จในวันเดียว หรือเรือนสองหลังสร้างเสร็จพร้อมกันในวันเดียว  ถือว่าเป็นเรือนที่เข้าลักษณะ “ขึด”

ด้านส่วนประกอบของตัวอาคาร เช่น  “เรือนภิแลกล้ำ” ได้แก่ เรือนกับยุ้งข้าวสร้างติดเป็นเรือนร่วมกัน เรือนหลังหนึ่งมีห้องสองห้องขนาดเท่ากัน โดยที่ห้องหนึ่งอยู่ทิศตะวันออก อีกห้องอยู่ทิศตะวันตก เป็นเรือนขึด  เรือนที่ใช้ไม้เก่าจากเรือนหลายหลังมารวมกันสร้าง เรือนที่ใช้ไม้เก่าและไม้ใหม่คละกันสร้าง เรือนที่ใช้ไม้เก่าจากยุ้งข้าว เรือนที่ถูกขยายให้กว้างออกหรือลดขนาดให้แคบลงที่เรียก “สืบชาน รานเรือน”  เรือนที่ถูกขยายประตูหรือเจาะประตูเพิ่มภายหลัง เรือนที่มีประตู 4 ประตู มีหน้าต่าง 9 ช่อง   เรือนสองหลังมีประตูตรงกัน เรือนที่มีเสาเป็นรูกลวงตั้งแต่โคนเสาถึงปลายเสา เรือนที่มีรอยแตกตั้งแต่โคนถึงปลายเสา  เรือนมีเสา “ตาน้ำย้อย” คือที่เสามีน้ำย้อยออกจากตาไม้    เสามี “ตาไฟยาม” คือเสาที่มีตาไม้อยู่สูงจากคาน 2 ศอก   เรือนที่มีเสาขนาดเล็กกว่าขื่อและแป

          ส่วนเรือนที่มีประวัติไม่พึงประสงค์ เช่น เรือนที่เคยถูกโจรตัดช่องลักของตรงบริเวณเสามงคลหรือบริเวณเสาใหญ่ที่อยู่หัวนอน  และเรือนที่เคยมีคนตายบนเรือนมาแล้ว 3 ศพ เป็น “เรือนขึด” ไม่ควรเข้าอยู่อาศัย

ตัวอย่างเรือนที่กล่าวมา ถ้าผู้ใดปลูกสร้างหรือเข้าอาศัยก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ความหายนะนานัปการ เช่น ประสบเภทภัย โรคร้ายรุมเร้า ทรัพย์สินเงินทองร่อยหรอ เกิดถ้อยคดีความ สมาชิกในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนต่างๆนานา เป็นต้น ดังนั้นชาวล้านนาหากไม่ปรารถนาจะได้รับสิ่งอัปมงคลก็จะพยายามปฏิบัติตามความเชื่อที่ยึดถือสืบต่อกันมา

           ข้อมูลโดย : สนั่น ธรรมธิ

           ภาพประกอบโดย : สุขธรรม โนบาง  

 
ลักษณะเฮือน
ลักษณะเฮือน
ลักษณะเฮือน
ลักษณะเฮือน
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
21
4
4
3
1
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 30 กันยายน 2564 • การดู 3,295 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด