การวาดภาพสีน้ำ

 
 

การเขียนรูปสีน้ำเบื้องต้น สำหรับท่านผู้สนใจทั่วไป โดย อาจารย์ธนกร ไชยจินดา 1. เตรียมตัว เตรียมใจ 2.เตรียมอุปกรณ์ สำหรับวาดภาพสีน้ำ ประกอบด้วย - กระดาน - สีน้ำ - พู่กัน - กระดาษปอนด์สำหรับวาดสีน้ำ - ถังน้ำ - ผ้า การวาดภาพสีน้ำ เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ทักษะ และการฝึกฝน สำหรับมือใหม่ที่เริ่มฝึกเขียนต้องลงสีบางๆใสๆ ก่อน แล้วค่อยเติมน้ำหนักทีหลังเพื่อเน้น มิติของภาพ หลังจากพอรู้อารมณ์สีน้ำเบื้องต้นแล้ว ก็ต้องทดลองระบายสีดู ข้อสำคัญที่สุด คือ “อย่าใจร้อน ค่อยๆฝึก ค่อยๆ วาด เรียนรู้ไปด้วยใจเป็นสุข” ส่วนอุปกรณ์การวาดภาพ มีหลายอย่างพอควร จึงค่อยๆ ซื้อหาสะสมทีละเล็กทีละน้อยเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้กระดาษและสี มีส่วนสำคัญในการวาดสีน้ำ สำคัญที่สุดคือ “ใจ” หากใจชอบก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไปต่อได้ง่าย รวมถึงทฤษฏีทางศิลปะที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว ลักษณะโดดเด่นของสีน้ำต้องเป็นภาพที่มี “ความบางใส ไหลซอฟ ชุ่มฉ่ำ อาจจะมีสีทึบบ้างแต่ไม่มาก” รูปแบบการวาดสีน้ำมีความหลากหลายตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งต้องทดลอง ฝึกฝน และเรียนรู้ตามเทคนิคที่ตนเองชอบ ประกอบด้วย 1. เปียกบนเปียก คือ การใช้พู่กันจุ่มสีที่ผสมน้ำแล้ว ปาดลงบนกระดาษขณะที่ยังเปียกชุ่มน้ำ 2. เปียกบนแห้ง คือ การใช้พู่กันจุ่มสีที่ผสมน้ำแล้ว ปาดลงบนกระดาษขณะที่แห้งอยู่ 3. แห้งบนเปียก คือ การใช้พู่กันจุ่มก้อนสีโดยไม่ผสมน้ำ ปาดลงบนกระดาษขณะที่ยังเปียกชุ่มน้ำ 4. แห้งบนแห้ง คือ การใช้พู่กันจุ่มก้อนสีโดยไม่ผสมน้ำ ปาดลงบนกระดาษขณะที่แห้งอยู่ การวาดสีน้ำ จำเป็นต้องใช้ทฤษฏีสี และหลักองค์ประกอบศิลป์ ในการสร้างรูปทรงต่างๆ และจัดวางภาพให้เกิดความเหมาะสม สวยงาม สื่อถึงอารมณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยการวาดสีน้ำจะเน้นหลักองค์ประกอบศิลป์ที่สำคัญ คือ 1. ขนาดและสัดส่วนรูป เป็นการสร้างรูปทรงที่มีความสัมพันธ์กับระยะใกล้ไกล และมุมมอง ยกตัวอย่างเช่น ภาพขนาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าอยู่ไกล ต่างจากภาพขนาดใหญ่ ที่ให้ความรู้สึกใกล้ ส่วนมุมมองของวัตถุในแต่ละด้านก็มีความต่างกัน เช่น การมองภาพมุมสูง การมองภาพมุมต่ำ การมองภาพในระนาบเดียวกัน เป็นต้น 2. แสงและเงา ทั้งสองอย่างนี้เป็นของคู่กัน ช่วยทำให้ภาพแสดงถึงระยะใกล้ไกล มุมมองของแสงที่ตกกระทบ และมุมมองของเงา โดยใช้สีสว่างหรือสีขาวแทนแสง และสีเข้มหรือสีดำแทนเงา ส่วนพื้นที่ตรงกลางระหว่างแสงและเงาจะเป็นสีเทา 3. จุดเด่นของภาพ การสร้างจุดเด่นของภาพ ช่วยให้ทราบว่าเราต้องการให้จุดไหนของภาพมีความสำคัญ หรือจะเน้นส่วนไหนเป็นตัวเล่าเรื่องราว ซึ่งมักใช้องค์ประกอบหลายอย่างมาผสมผสานกัน เช่น การใช้พื้นที่ว่าง การใช้ความเข้มของสีที่ต่างกัน เป็นต้น 4. ระยะของภาพ ในภาพจะใช้ระยะของรูปทรงเป็นตัวบอกตำแหน่งของวัตถุต่างๆ รวมถึงบอกภูมิทัศน์ของภาพ เช่น การใช้สีเข้มและภาพที่มีรายละเอียดมากบอกระยะใกล้ ส่วนการใช้สีอ่อนและรายละเอียดภาพลางๆ แทนระยะไกล เป็นต้น 5. เรื่องราวของรูป การวาดภาพต้องบอกเล่าเรื่องราว เพื่อให้เกิดภาพที่มีความหมาย สื่อความรู้สึกแทนการอธิบายด้วยตัวอักษร 6. อารมณ์ของรูป เป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราว ให้สะท้อนความรู้สึกของภาพออกมา ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้สีต่าง ที่กระตุ้นความรู้สึกที่หลากหลาย การรวมเอาหลักการต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในแต่ละภาพ ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสมลงตัว โดยอาศัยมุมมอง และการสังเกตจากหุ่นนิ่ง หรือภูมิทัศน์ที่ใช้เป็นแบบในการวาด โดยทักษะทางศิลปะจะเกิดขึ้นจากการได้ฝึกปฏิบัติจนชำนาญ จึงจะสามารถเลือกใช้ เส้น สี ระยะภาพ ความสมดุล พื้นที่ว่าง แสงเงา ฯลฯ มาประกอบเป็นภาพอย่างสวยงามได้ ส่วนทฤษฏีสี มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวาดภาพสีน้ำ เพราะต้องใช้สีในการแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของภาพ โดยนำแม่สีมาผสมกัน การผสมสีตั้งแต่สองสีขึ้นไปก็มักจะเกิดสีใหม่ขึ้นมา ซึ่งบางครั้งการวาดจำเป็นต้องใช้สีที่มีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด จึงต้องเรียนรู้หลักในการการผสมสีให้ถูกต้อง เพื่อการนำไปใช้ได้ตามความต้องการ แม่สี (Primary Color) คือ สีหลักที่นำมาผสมกันแล้วทำให้เกิดสีใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากแม่สีเดิม โดยแม่สีที่ใช้ในการวาดภาพ คือแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีแม่สีหลัก 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน แม่สีเหล่านี้เมื่อนำมาผสมกันจะเกิดวงจรสี (Color Circle) ประกอบด้วย 1. สีขั้นที่ 1 คือ แม่สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน 2. สีขั้นที่ 2 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน ทำให้เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ สีแดง ผสมกับสีเหลือง ได้สี ส้ม สีแดง ผสมกับสีน้ำเงิน ได้สี ม่วง สีเหลือง ผสมกับสีน้ำเงิน ได้สี เขียว 3. สีขั้นที่ 3 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่น ๆอีก 6 สี ได้แก่ สีแดง ผสมกับสีส้ม ได้สี ส้มแดง สีแดง ผสมกับสีม่วง ได้สี ม่วงแดง สีเหลือง ผสมกับสีเขียว ได้สี เขียวเหลือง สีน้ำเงิน ผสมกับสีเขียว ได้สี เขียวน้ำเงิน สีน้ำเงิน ผสมกับสีม่วง ได้สี ม่วงน้ำเงิน สีเหลือง ผสมกับสีส้ม ได้สี ส้มเหลือง กิจกรรมอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านหัตถศิลป์ และวัฒนธรรมล้านนาสร้างสรรค์ ภายใต้พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามีชีวิต แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตล้านนาอย่างสร้างสรรค์ (อบรมหลักสูตรระยะสั้นการวาดภาพสีน้ำภูมิทัศน์และเรือนโบราณล้านนา) ประจำปีงบประมาณ 2563 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เวลา 08.30-16.30 น. ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จัดทำและเผยแพร่โดย พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
2
4
1
3
0
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 16 มีนาคม 2564 • การดู 3,740 ครั้ง
 

เมนู


 
หลักสูตรอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด