ชาตา คือลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและชั่ว เช่น ชะตาดี ชะตาร้าย หรือรูปราศีที่มีดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้นในเวลาเกิดของคน เรียกว่าชะตาคน
การแก้ไขชะตาร้ายชะตาขาดของคนโบราณมีด้วยกันหลายวีธี เช่น การส่งกิ่ว การบูชานพเคราะห์หรือการทำพิธีสืบชะตา เป็นต้น
โดยสิ่งที่ใช้ในประกอบพิธีจะประกอบด้วย
บายสรี มาจากคำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ข้าว” ส่วนคำว่า “สรี” มาจากภาษาสันสกฤตตรงกับภาษาบาลีว่า “สิริ” ซึ่งแปลว่ามิ่งขวัญหรือสิริมงคล ดังนั้น คำว่าบายสรี จึงแปลว่า “ข้าวขวัญ” หรือข้าวที่จัดเพื่อเป็นสิ่งมงคล โดยในรูปภาพนี้คือบายสรีนมแมว เป็นบายสรีพิเศษสำหรับใช้กับทุกคนทุกชั้น โดยเฉพาะในพิธีเรียกขวัญลูกแก้ว คือการนำใบตองมาพับให้ปลายเรียวแหลมหลายๆอัน แล้วนำมาทับซ้อนทับให้เหลื่อมล้ำกันขึ้นไป จะมีกี่อันก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ ซึ่งใบตองที่ซ้อนกันนี้เรียกว่า “นมแมว”
ไม้ค้ำ คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้โตเร็ว ตัดให้ปลายมีง่ามเรียกว่าไม้ค้ำจำนวน 2 อัน ไม้ไผ่บง 2 ท่อน เจาะใส่สลักให้ติดกันทำเป็นสะพานคู่ ไม้ไผ่เรี้ยหรือไม้ซางของภาคกลาง 2 ท่อน ท่อนแรกด้านหนึ่งใส่น้ำแล้วปิดรูด้วยใบตองแห้ง ด้านหนึ่งใส่ทรายแล้วปิดรู อีกท่อนหนึ่ง ด้านหนึ่งใส่ข้าวเปลือกแล้วปิดรู ด้านหนึ่งใส่ข้าวสารแล้วปิดรู เรียกว่า บอกน้ำ บอกซาย บอกเข้าเปลือก(ข้าวเปลือก) บอกเข้าสาน(ข้าวสาร) ทั้งนี้ความยาวของไม้ค้ำ สะพานและกระบอกต่างๆนี้ ให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่า ยาวค่าฅิง ผู้ชายยังต้องเป็นฝ่ายจัดหาหน่ออ้อย หน่อกล้วย กล้าหมาก กล้ามะพร้าวมาเข้าพิธีด้วย และจะต้องมีก้านกล้วยมา 2 ก้าน สูงเท่ากับไม้ค้ำใช้ตอกแข็งเสียบก้านกล้วย 2 อัน ทำคล้ายกับบันไดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตรแล้วผูกฝ้ายดึงจากบนลงล่าง จำนวน 6 สาย แล้วผูกหอยเบี้ยสายหนึ่ง หมากพลูสายหนึ่ง ข้าวตอกสายหนึ่ง เงินสายหนึ่ง ทองคำสายหนึ่ง กล้วยอ้อยสายหนึ่ง รวมเรียกว่า ลวดเงินลวดฅำ(ทอง)
ฟั่นเทียนที่เรียกว่า สีเทียนด้วยขี้ผึ้ง 1 เล่ม โตเท่ากับหัวแม่มือ ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา เรียกว่าเทียนค่าฅิง เอากระดาษสากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา มาตัดเป็นทุงโดยทำเป็นดั่งหัวคน เป็นลำตัว เป็นหาง เรียกว่า ทุงค่าฅิง(ตุงค่าคิง) เอากระดาษสามาตัดเป็นธง 3 เหลี่ยม กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร จำนวนเท่าอายุของเจ้าชะตา แล้วปักกับก้านกล้วย และจะต้องมีของบูชาขันตั้งขันครู ให้กับอาจารย์ที่จะมาประกอบพิธีคือ แต่งเบี้ย หมากไหม ผ้าแดง ผ้าขาว เทียนเหล้มบาท หมาก 4 ก้อม เสื่อใหม่ หม้อใหม่ ข้าวเปลือกประมาณ 1.5 กิโลกรัม เรียกว่า เข้าเปลือกหมื่นเข้าสารพัน
สิ่งที่จะต้องเตรียมในการทำพิธีสืบชะตาคน
1.นิมนต์พระ 9 รูปหรือมากกว่า หากจัดสวดพร้อมกันทุกจุดก็จะต้องใช้พระสงฆ์แจ่งบ้านละ 9 รูป รวมทั้งส่วนกลางด้วยเป็น 45 รูป (หากไม่มีเหตุร้ายแรงจริงๆก็จะนิมนต์พระเพียง 9 รูป)
2.เตรียมเครื่องสังเวยท้าวทั้งสี่ เครื่องบูชาเสื้อบ้าน หรือเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน
3.เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำพิธี เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว หมาก พลู เครื่องขบเคี้ยว ฯลฯ
4.เตรียมเครื่องคำนับครูของอาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งจะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน เบี้ย 108 ข้าวเปลือกข้าวสารอย่างละกระทง ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละ 2 ศอก เงิน 6 บาทหรือตามแต่อาจารย์กำหนด
5.เตรียมเครื่องสืบชาตา เช่น ไม้ค้ำ ขัวไต่ ลวดเงิน ลวดทอง กระบอกน้ำ ฯลฯ
6.ขันหรือกระบุงใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร และทราย
7.ให้ทุกครอบครัวเตรียมน้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอมและทรายมาร่วมพิธี ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้วจะได้นำกลับไปโปรยที่บ้านเรือนของตน
8.ตาแหลว หรือเฉลวและเชือกที่ฟั่นด้วยหญ้าคาสด
ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 7
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |