ในช่วงใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมทำเทียนขี้ผึ้งไปถวายเป็นเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระรัตนตรัย โดยมุ่งหวังว่าอานิสงส์แห่งการให้ทานจะบันดาลให้รับความสุข มีสติปัญญาสว่างไสว ชีวิตรุ่งโรจน์สดใส ดุจแสงไฟจากแท่งเทียนที่ส่องสว่าง การทำเทียนเพื่อถวายช่วงเทศกาลเข้าพรรษามีมาช้านานแล้ว ในส่วนบุคคลอาจทำถวายเป็นการส่วนตัวหรือถวายในส่วนของครอบครัวโดยไม่มีพิธีรีตองซับซ้อนแต่อย่างใด แต่กรณีที่มีเจ้าภาพร่วมกันจัดทำหรือทำเป็นหมู่คณะ เช่น สถานบัน องค์กร ชุมชน เป็นต้น กรณีนี้มักจะมีพิธีกรรมในการหล่อเทียน ซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อนพิถีพิถัน มีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน
อันดับแรก ก่อนที่จะทำการหล่อเทียนจะมีการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น ขี้ผึ้ง ไส้เทียน เบ้าหลอม กระทะ เป็นต้น เมื่อจัดเตรียมแล้วจึงตั้งเตาอั้งโล่และกระทะขี้ผึ้ง ใกล้ ๆ กันนั้นจะเป็นเบ้าหลอมที่มีไส้เทียนขึงอยู่ส่วนกลางของเบ้าหลอม ในส่วนด้านปากของเบ้าหลอมอาจมีแท่นหรือบันไดให้คนขึ้นไปเทเทียนเหลวเพื่อหล่อได้โดยสะดวก จากนั้นจึงขัดรั้วทำเป็นราชวัตรล้อมรอบบริเวณเบ้าหลอมนั้นให้เป็นปริมณฑล เฉพาะรั้วราชวัตรจะมีทางเข้าทั้งสี่ด้าน มุมของรั้วจะประดับประดาด้วยฉัตรและธงทิว รอบๆรั้วมีการนำเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นข่า มาประดับด้วย
เมื่อถึงเวลาหล่อเทียนมักนิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีสวดชัยมงคลคาถา โดยขณะที่ประธานในพิธีขึ้นไปเริ่มหล่อเทียนเหลวลงในเบ้า พระสงฆ์จะเริ่มสวดและสวดไปเรื่อย ๆ เมื่อคนอื่น ๆ ที่มาร่วมพิธีตักขี้ผึ้งหล่อตามกันไป หลังจากที่เทียนเย็นสนิทและแข็งตัวแล้ว จะถูกแกะออกจากเบ้าเพื่อนำไปแกะสลักหรือตกแต่งให้สวยงาม จนได้เวลาเหมาะสมจึงจัดริ้วขบวนแห่เทียนไปถวายที่วัดต่อไป
การหล่อเทียนเพื่อถวายเป็นเทียนพรรษา นับเป็นกิจกรรมที่ดีงาม เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้รับความเอิบอิ่มในกุศลบุญที่จะได้เทียนเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชาแล้ว ผลพลอยที่ได้ตามมาคือ ได้แสงสว่างเพื่ออำนวยประโยชน์สำหรับพระภิกษุสามเณรในการประกอบศาสนกิจในยามรัตติกาล และที่สำคัญ คือ ได้ความสมัครสมานสามัคคีของหมู่คณะ นับเป็นผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
เขียนโดย : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |