น้ำต้นกับตำนานและความเชื่อ
น้ำต้น หรือภาษาไทยภาคกลางเรียกว่าคนโท เป็นเครื่องปั้นดินเผา ประเภทที่เผาด้วยไฟแรงต่ำ ใช้สำหรับใส่น้ำดื่ม ความพิเศษของน้ำที่ใส่ในน้ำต้น คือจะมีความเย็นกว่าอุณหภูมิห้องปกติเล็กน้อย เพราะเนื้อดินเผามีรูพรุนเล็กๆ สามารถระบายอากาศได้ดี โดยความร้อนที่อยู่ในน้ำต้นจะซึมออกมาตามรูพรุนนี้ เมื่อความชื้นเจอกับความร้อนก็จะเกิดการระเหยของน้ำ ทำให้ผิวภาชนะดินเผาเย็นลง โมเลกุลน้ำที่อยู่ในภาชนะน้ำต้นก็เย็นลงตาม การดื่มน้ำจากน้ำต้นจึงให้ความสดชื่น และมีกลิ่นของดินผสมอยู่
ลักษณะน้ำต้นเป็นรูปทรงขวด มีส่วนฐาน ส่วนลำตัวที่กลมป่องออกมา ส่วนคอและปากน้ำต้น คาดว่าน่าจะพัฒนาการมาจากน้ำเต้า ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำดื่ม ทำมาจากผลน้ำเต้า ผ่านกรรมวิธีนำเมล็ดและเนื้อภายในออกจนกลวง เหลือเพียงแต่ผิวภายนอกที่เป็นเปลือกแข็งและแห้ง ส่วนหัวตัดขั้วออกพอให้รินน้ำดื่มกินได้ ทั้งนิยมสานหวายหรือไม้ไผ่ครอบผลน้ำเต้า เพื่อให้ตั้งวางกับพื้นได้ และสะดวกในการพกพายามเดินทางไปค้าขายหรือเดินทางไปที่ต่างๆ
ทั้งนี้ความน่าสนใจของผลน้ำต้น ยังเชื่อมโยงไปถึงจุดเริ่มต้นของการกำเนิดบรรพบุรุษของคน ซึ่งมีตำนานความเชื่อของกลุ่มคนไทดำ ไทขาว และคนลาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ “น้ำเต้าปุง” โดยมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ทั้งในจดหมายเหตุของชาวไทดํา ในพงศาวดารเมืองแถง และพงศาวดารล้านช้าง ของลาว ที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากน้ำท่วมโลก แล้วพญาแถนเอาหมากน้ำเต้าปุงลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งในผลน้ำเต้ามีมนุษย์อาศัยอยู่ข้างใน บางตำนานก็เล่าว่าพญาแถนเอาเหล็กแหลมจี้ลงไปในผลน้ำเต้า จากนั้นก็มีมนุษย์ออกมาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนในตำนานของชาวไทลื้อสิบสองปันนา กล่าวถึงปู่สังกะสา ย่าสังกะสี นำผลน้ำเต้าลงมายังโลก ทุบน้ำเต้าจนแตกแล้วโยนขึ้นบนฟ้า แล้วหว่านลงดิน สอนคนให้เพาะปลูกเป็น ทั้งนี้ในเรื่องของการกำเนิดขึ้นของมนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว ที่กล่าวถึงการตีข้าว และการแบ่งข้าวเป็นส่วนๆ อาจพออนุมานได้ว่า หากผลน้ำเต้าและข้าวถูกบรรจุในตำนานเมื่อครั้งโบราณกาลแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ว่า น้ำเต้าและข้าวต้องเป็นพืชพันธุ์อาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนในอดีตหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว จึงมีความสำคัญต่อการสร้างอารยธรรมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่อารยธรรมยุคโบราณเริ่มอิ่มตัว เกิดศาสนาและจารีตที่เป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมในสังคมให้เกิดระเบียบ จะมีสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์นี้แฝงอยู่ในรูปแบบงานศิลปกรรมทางศาสนา ในพุทธศาสนาภาพความอุดมสมบูรณ์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับน้ำ เพราะน้ำเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตที่ก่อกำเนิดสรรพสิ่งในโลก รวมถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา โดยมีตัวแทนหรือวัตถุสิ่งของเป็นภาพจำให้สื่อถึงความเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นนาค และหม้อบูรณะกฏะ
หม้อบูรณะกฏะ หรือหม้อน้ำ หรือแจกัน(ในปัจจุบัน) เป็นสัญลักษณ์สำคัญในพุทธศาสนา มีความหมายครอบคลุมถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งมวล ถือเป็นความงามในอุดมคติ มีการใช้สัญลักษณ์นี้อย่างแพร่หลายในกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนา ทั้งพุทธนิกายเถรวาท และมหายาน ส่วนรูปลักษณ์ของน้ำเต้าและน้ำต้นมีความคล้ายคลึงกับหม้อปูรณะกฏะ ในช่วงตัวที่กลมป่องเพื่อใช้ใส่น้ำ จึงสื่อความหมายใกล้เคียงกับความดีงาม ชุ่มชื่น สดชื่น มีชีวิต
โดยภาพรวมแล้วพัฒนาการของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันกับสังคมมีความสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม เริ่มจากการทำเครื่องใช้ประเภทต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยทุ่นแรงและตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวัน ระหว่างทางของกาลเวลาก็มีพัฒนา ประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดมายังรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น เมื่อสังคมมีพัฒนาการเป็นอารยธรรมเกิดความซับซ้อนของวิธีคิด มีการนำเอาปรัชญาและศาสนาเข้ามาเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวัน เกิดการจำกัดความและให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว มีการให้ความหมายเชิงสัญญะกับวัตถุข้าวของเครื่องใช้จนกลายมาเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา
เขียนโดย : ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
Meher McArthur. Reading Buddhist Art an Illustrated Guide to Buddhist Signs and Symbols. United Kingdom : Thames & Hudson Ltd. 2002. P.118-119.
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |