เรือนพื้นถิ่น

เรือนพื้นถิ่น
 

“เรือนพื้นถิ่น”

มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” (Vernacular Architecture)  หมายถึงรูปแบบของอาคารที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในแต่ละท้องถิ่น  และเน้นเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัย  หรือตัวเรือน  โดยรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นในแต่ละแห่งจะมีรูปร่าง  วัสดุ  ขนาด  และวิธีการก่อสร้างคล้ายคลึงกัน  เพราะไม่ใช่เป็นงานออกแบบเฉพาะของสถาปนิก  แต่เป็นการออกแบบจากการใช้ชีวิตที่มีลักษณะร่วมกันของแต่ละสังคมที่ใช้เวลาในการคิดค้นและสร้างสรรค์  ให้เป็นไปตามธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันของประชาชนทั้งหมดทุกคนในสังคม หรืออาจหมายถึงงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เกิดจากการออกแบบโดยตรง แต่เกิดจากการแก้ไขปัญหาและประสบการณ์เชิงประจักษ์  เพื่อให้การกิน   การอยู่สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐาน 

ดังที่นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาให้ความสำคัญกับเรือนพื้นถิ่น  ที่สะท้อนสภาพวัฒนธรรมของแต่ละสังคม  จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ขณะที่อาศัยอยู่ในเรือนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจึงแสดงออกถึงประสบการณ์และความชำนาญของกลุ่มชนในการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นจนเป็นมรดกทางสังคมที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา หรืออาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมของสามัญชน หรือชาวบ้าน และหมายรวมถึงสถาปัตยกรรมทุกประเภท ทั้งอาคารพักอาศัย ทั้งชั่วคราวและถาวร อาคารสำหรับอาชีพ เช่น ยุ้งข้าว โรงเก็บของ โรงสี โรงปั้นหม้อ ฯลฯ ทั้งอาคารสาธารณะ วัดวาอารามในชุมชน ศาลากลางบ้าน ศาลาท่าน้ำ ศาลาริมทาง ฯลฯ 

ในสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นจะเห็นว่าเรือนแต่ละแบบแม้จะมีลักษณะ ร่วมบางอย่างอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน แต่ในส่วนประกอบปลีกย่อยก็ยังมีความเด่นชัดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ตามที่แต่ละกลุ่มเชื้อชาติหรือชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ 

ซึ่งสถาปัตยกรรมที่เกิดจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้สอนในด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ แต่เป็นการตกตะกอนทางความคิดที่สืบทอดมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนนั้นๆ  ตาม สัญชาตญาณการดำรงชีวิตแบบช้าๆ  ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมช้าตามไปด้วย  ดังนั้นรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นจึงยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองได้มากกว่าสถาปัตยกรรมของสังคมชั้นสูงโดยทั่วไป

1.การสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมกับสัญชาตญาณ  ที่เป็นการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ในการกิน  นอน  ให้ความอบอุ่น  ป้องกันฝน 

2.การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโดยได้รับอิทธิพลของสังคมและสภาพแวดล้อม เป็นลักษณะ งานสถาปัตยกรรมที่มีปัจจัยในด้านต่างๆ 

สำหรับคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่มักมองว่าเรือนพื้นถิ่นเป็นงานฝีมือที่ไม่ค่อยละเอียด พบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่เห็นทุกวันจนคุ้นเคย  จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและมองข้ามความสำคัญไป แต่หากศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง  ดังนั้นการศึกษาเรือนพื้นถิ่น  ควรวิเคราะห์ตีความจากการสังเกต  ให้เห็นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมจากการศึกษารูปทรงของอาคาร  ความสัมพันธ์ในการจัดวางเนื้อที่ใช้งานที่ตอบสนอง  หรือสอดคล้องกับกิจกรรมในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม  และความงามของการวางพื้นที่ได้อย่างประสานกลมกลืน  ตลอดจนการใช้วัสดุก่อสร้างที่แสดงถึงสัจจะของธรรมชาติของวัสดุที่นำมาจากท้องถิ่นนั้นๆ

 

เขียนโดย : ฐาปนีย์ เครือระยา


 อนุวิทย์  เจริญศุภกุล. “เรือนลานนาไทย” วารสารบ้าน  วารสารรายเดือนของการเคหะแห่งชาติ  ฉบับที่  22  ปีที่  2  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2518.                                                      


อรศิริ  ปาณินท์. มนุษย์กับการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2521 หน้า 13.


วิวัฒน์  เตมียพันธ์. เรือนพักอาศัย : รูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง  เอกลักษณ์เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ  โดย  คณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ  ร่วมกับหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น 17 จังหวัดภาคเหนือ  ณ  สำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  8-9  สิงหาคม  2539.  หน้า  6.


ยศพร ปุณวัฒนา, รศ. วีระ อินพันทัง. แนวคิดและการจัดการภูมิทัศน์สรรค์สร้างบริเวณที่อยู่อาศัยท้องถิ่นไทย กรณีศึกษาริมแม่น้ำเพชรบุรี. วารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 27. คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ : บริษัท อี.ที. พับลิชชิ่ง จำกัด. 2556. หน้า 113.

 
เรือนพื้นถิ่น
เรือนพื้นถิ่น
เรือนพื้นถิ่น
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
20
4
1
3
0
2
0
1
1
เผยแพร่เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 • การดู 6,789 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด