วันวิสาขบูชา ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓
ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
-------------------------------------
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำว่าวิสาขบูชา หรือ วิสาขบูชา คืองานบูชาในเดือนหกซึ่งชาวล้านนานิยมเรียก“ปาเวณีเดือนแปดเพง” คืองานประเพณีเพ็ญเดือนแปด (เหนือ) เป็นรูปบาลี ย่อมาจากคำว่าวิสาขาปุณณมีบูชาหรือวิสาขาปูรณมีบูชาซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแต่เรียกย่อ ๆ ว่าวิสาขบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนหก (วันเพ็ญเดือนแปดเหนือ)
คำว่า“ วิสาขะหรือไวสาขะ” เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อพระจันทร์ผ่านกลุ่มดาววิสาขะนี้เรียกว่าพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ คำว่า วิสาขะเป็นชื่อเดือนที่ 5 หรือเดือนหกตามจันทรคติ
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน สามสมัยกาลร่วมกัน มีเรื่องย่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสามดังต่อไปนี้
ประสูติ
เมื่อ ๔๐ ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่พรมแดนระหว่าง กรุงกบิลพัสดุและกรุงเทวทหะ ปัจจุบัน คือตำบลลุมมินเอ แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ใต้ต้นสาละในสวนนี้ เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง
ตรัสรู้
จากวันประสูตินั้นมา ๓๕ ปีบริบูรณ์ คือ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันเรียกว่า พุทธคยาจังหวัดคยา แคว้นพิหาร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ เมื่อวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนหกปีระกาเวลารุ่งอรุณ
ปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนศีลธรรมอยู่ ๔๕ ปี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นสาละคู่ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนหกปี มะเส็ง เวลาใกล้รุ่ง
พิธีวิสาขบูชานี้ เป็นพิธีที่นิยมทำกันมาแต่โบราณปรากฏหลักฐานจากคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า ราวพุทธศักราช ๔๒๐ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในเกาะลังกาพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกา ล้วนแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และได้ให้ทำพิธีวิสาขบูชาเป็นการใหญ่ประจำปี
พิธีการวันวิสาขบูชาของล้านนาไทย
พิธีการวันวิสาขบูชา สำหรับล้านนาไทยนั้น ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ วันมาฆบูชาทุกอย่างยกเว้นไม่มีการทานขันเข้าเท่านั้น ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรรับศีลและตอนบ่ายผู้เฒ่าผู้แก่จะไปวัดฟังเทศน์ บางคนจะไปนอนวัดถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนจะมีทั้งพระสงฆ์และประชาชนพระสงฆ์เดินนำหน้าเวียนขวารอบเจดีย์พระอุโบสถหรือวิหาร ๓ รอบ เสร็จแล้วก็เข้าโบสถ์สวดมนต์ฟังเทศน์เป็นเสร็จพิธี
ข้อมูลอ้างอิง : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 12
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : http://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1706
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |