กล้วย : ความเชื่อล้านนา

กล้วย : ความเชื่อล้านนา
 

        กล้วย  เป็นพืชล้มลุกหลายชนิดในตระกูล Musa วงศ์ MUSACEAE ชาวล้านนานิยมปลูกกล้วย บริโภคกล้วย จึงมีความผูกพันกับกล้วยมาแต่โบราณ ที่สำคัญและน่าสนใจ  คือมีความเชื่อเกี่ยวกับกล้วยมากมาย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

การปลูกกล้วย

          ในคัมภีร์ “พิษณุถามนางธรณี” กล่าวถึงข้อห้ามในการปลูกกล้วยว่า “...ปลูกกล้วยหามเรือน ก็ขึด” ความว่า การปลูกต้นกล้วยไว้สองด้านในลักษณะขนาบตัวเรือนนั้นเป็นอัปมงคล “...ปลูกกล้วยตีนเต่าไว้ในบ้านก็ขึด” หมายความว่า ปลูกกล้วยตีนเต่าหรือกล้วยตีนกุไว้ในบ้าน ก็เป็นอัปมงคล “....ปลูกกล้วยไว้ใต้บ้านใต้เรือน ก็ขึด” คือปลูกล้วยไว้ด้านทิศใต้ของเรือน ก็เป็นอัปมงคล นอกจากนี้ โบราณท่านยังห้ามปลูกกล้วยใกล้ตัวเรือน ด้วยเชื่อว่าหากใบกล้วยปกคลุมถึงหลังคา หรือมีเงาบังเรือนเมื่อใด จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเมื่อนั้น

หัวกล้วย

          รากหรือเหง้าของต้นกล้วย เฉพาะส่วนที่เน่า เชื่อว่าเป็นยารักษาโรคเรื้อนของสุนัข หากนำเอาส่วนนี้ไปคลุกกับกำมะถันบดละเอียด ทาผิวหนังสุนัข จะมีผลให้สุนัขหายจากโรคเรื้อนได้ ส่วนที่ยังคงสภาพอยู่และยังไม่เน่าเละ นิยมเอาไปทาและทุบหนังหน้ากลองที่หุ้มใหม่ จะช่วยให้หนังขยายตัวและมีความเหนียวคงทนถาวร

หน่อกล้วย

          ในพิธีกรรมมงคลต่าง ๆ ที่ต้องการความหมายของความเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์ เช่น งานทำบุญสืบชาตาเพื่อสืบต่ออายุ เป็นต้น สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือ หน่อกล้วย นอกจากนี้ หนึ่งในพิธีห้ามฝนที่ได้ผลชะงัดนัก ได้แก่ การให้แม่ม่ายเปลือยกายไปปลูกกล้วยกลางแจ้ง โดยให้นำหน่อกล้วยไปปลูกลงดินในลักษณะเอาส่วนปลายฝังดิน เอาส่วนโคนชี้ขึ้นฟ้า

ต้นกล้วย

          ต้นกล้วยเป็นต้นไม้อาถรรพณ์ มีคุณสมบัติในการข่มอาคม คนที่มีอาคมจะไม่นิยมเข้าไปดงกล้วย เพราะเกรงว่าอาคมขลังในกายจะเสื่อมถอย ยิ่งผู้ใดไปเตะตีชกต่อยต้นกล้วยด้วยความคะนองยิ่งเห็นผลทันตา มนตราต่าง ๆ ในกายจะเสื่อมอิทธิฤทธิ์ลงทันที อนึ่งในพิธีห้ามฝนห้ามลมพายุ หากเกิดฝนกระหน่ำ พายุพัดแรง โบราณท่านนิยมเอามีดปลายแหลมไปเสียบต้นกล้วยให้ปลายมีดทะลุชี้ไปในทิศทางที่ลมพัดมา เชื่อว่าพายุจะอ่อนแรงลงและสงบลงในไม่ช้า นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า กรณีมีงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานบวช ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงานเป็นต้น งานดังกล่าวหากแกงหยวกกล้วยเลี้ยงดูแขก จะทำให้เกิดความรักความสมัครสมานปรองดองกันเป็นอย่างดี เพราะท่อนหยวกมีเส้นใยอันเปรียบเสมือนสายใยรักสายใยใจเชื่อมโยงกันและกันตลอดไป

กาบกล้วย

          กาบกล้วยมักมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในงานพิธีกรรม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “สะตวง” หมายถึงกระบะหรือกระทงที่ทำจากกาบกล้วย สำหรับใส่เครื่องบัดพลีสิ่งศักดิ์สิทธิ์  กาบกล้วยดูเหมือนจะเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติไปโดยปริยาย นอกจากนี้ในแง่ของพลังแห่งการข่มมนตรา โบราณท่านห้ามนำเอากาบกล้วยมาประดิษฐ์เป็นหมวกสวมศีรษะ จะทำให้อาคมเสื่อมเพราะอำนาจของกาบกล้วย

ก้านกล้วย

          หลังจากใช้มีดกรีดเอาใบตองออกไปใช้ประโยชน์แล้ว เด็ก ๆ ชอบนำก้านกล้วยไปเล่น เช่น ทำเป็นม้าก้านกล้วยขี่เล่น และหากเล่นเสร็จหรือไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ชาวล้านนาจะตัดเป็นท่อนสั้น ๆ ทิ้งไป ด้วยมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนที่ถูก “ผีโพรง” หรือ “ผีสือ” เข้าสิง มักจะใช้ก้านกล้วยพุ่งข้ามหลังคาของเจ้าของบ้านที่ไปพบเห็นพฤติกรรมของตนขณะออกหากิน อันจะมีผลให้เจ้าของบ้านพบกับความวิบัติถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด อีกอย่างหนึ่ง ชาวล้านนามีข้อห้ามมิให้เอาก้านกล้วยฟาดหรือตีถูกร่างกายกัน เพราะเชื่อว่าคนที่ถูกฟาดหรือตีจะประสบภัยทางสุขภาพ เกิดอาการอ่อนแรง เจ็บป่วยและเสื่อมถอยด้านคุณไสยอาคม ดังนั้นจึงต้องตัดก้านกล้วยเพื่อมิให้ผีโพรงหรือผีสือได้ใช้งาน

ใบกล้วย

ในด้านคุณไสยทางเมตตามหานิยม มักนำใบกล้วยตีบไปลงอาคมพร้อมเขียนชื่อคนที่ตนรัก แล้วเอาไปพับเก็บใต้หมอน ใต้ฟูกที่นอนหรือให้วัวกิน หรือเผาไฟเอาขี้เถ้าคลุกข้าวให้สุนัขกิน อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อหวังผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางเมตตา นอกจากนี้ผู้เฒ่าผู้แก่สอนไว้ว่า หากชายหนุ่มอยากทราบว่าหญิงสาวใดเป็นทายาทของตระกูลผีกะหรือไม่ ให้เอาใบ “ตองกล้วยงำเครือ” คือใบตองที่ยื่นออกไปให้ร่มเงาแก่เครือกล้วยโดยให้มองลอดผ่านใบตองดูหญิงสาวที่ว่าหากเห็นมีลิงสองตัวคอยเคล้าเคลียเลียใบหน้าหญิงสาวแสดงว่าเป็นทายาทผีกะ

ผลกล้วย

          คนที่ถืออาคมขลังจะมีข้อห้ามมิให้ลอดต้นกล้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกล้วยที่มีผลออกเป็นเครือและมีใบตองกล้วยงำเครือ เพราะเชื่อว่าอาคมจะเสื่อมถอย ในส่วนของผลกล้วยที่มีลักษณะเป็นเครือมักนิยมใช้เป็นเครื่องสักการะในพิธีไหว้ครู คู่กับพร้าวเครือ (ทะลาย) ตาลเครือ สำหรับผลแก่ที่จะนำไปบ่มให้สุก ท่านให้ไหว้วาน “แม่มาน” คือคนท้องแก่มาลูบคลำก่อนนำไปบ่ม เชื่อว่าผลกล้วยนั้นจะสุกเหลืองงามน่ารับประทาน และโบราณยังห้ามคนมีครรภ์กินกล้วยแฝด เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีลูกแฝดซึ่งคลอดยากและเลี้ยงยาก นอกจากนี้ผลกล้วยสุกหนึ่งลูกคู่กับข้าวเหนียวสุกหนึ่งปั้น ที่เรียกว่า “เข้าปั้นกล้วยหน่วย” ยังเป็นเครื่องประกอบพิธีผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญของชาวล้านนาอีกด้วย

ปลีกล้วย 

          ในส่วนของปลีกล้วย ล้านนามีความเชื่อหลายประการ อาทิ การนำเอาหัวปลีเข้าพิธีอุปสมบทเพิ่มอายุ  การเอาหัวปลีประกอบพิธีกับศพคนตายคลอดลูก ความเชื่อเรื่องปลีกล้วยออกกลางลำ กล้วยมีหัวปลีหลายหัว มียอดหลายยอด ตลอดถึงข้อห้ามในการใช้ปลีประกอบอาหารเลี้ยงแขก ในพิธีอุปสมบท กรณีที่นาคมีอายุไม่ครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จะนำปลีกล้วย ๑ หัว เข้าร่วมพิธี เพื่อเป็นเคล็ดว่ามีอายุเพิ่มมาอีก ๑ ปี โดยอาศัยเสียงพ้องว่า “ปลี” ซึ่งคนล้านนาออกเสียงว่า “ปี๋” เสียงเดียวกับคำว่า “ปี” ด้านการฝังศพโดยเฉพาะศพของคนที่คลอดลูกตายแต่รกยังติดอยู่ในท้อง ก่อนฝังต้องให้หมออาคมขลังผ่าท้องเอารกออกเสียก่อน มิเช่นนั้นวิญญาณของผู้ตายจะกลายเป็นผีดุเที่ยวหลอกหลอนผู้คนไม่ยอมไปผุดไปเกิด ในการผ่าเอารกออกมีวิธีปฏิบัติอยู่สองวิธี คือผ่าศพเอารกออกโดยตรงและวิธีผ่าปลีกล้วยตานีแทนการผ่าศพ เฉพาะวิธีผ่าปลีกล้วยนั้น หมอจะนำปลีกล้วยตานีมาเสกแล้ววางบนท้องศพ จากนั้นใช้เคียวอาคมผ่าปลีออกเป็นสองส่วน ใช้ปลายเคียวแคะเอายอดของหัวปลีที่อยู่ส่วนกลาง โดยสมมุติเป็นรกจากท้องออกมาวางบนผ้าที่ปูรอรับอยู่ แล้วนำไปฝังอีกที่หนึ่ง ทำเช่นนี้ถือว่าได้ผ่าเอารกออกแล้ว ส่วนเรื่องปลีกล้วยที่ทะลุออกกลางลำต้นนั้น ชาวล้านนาถือว่า “อุบาทว์” ประเภท “วรุณณอุบาทว์” ดังปรากฏในตำราอุบาทว์ของวัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “...ต้นเดียวมีปลี ๒ หัวก็ดี ๓ หัวก็ดี...กล้วยตกปลีกลางลำก็ดี ต้นเดียวมียอดสองสามยอดก็ดี...เหตุทังหลายฝูงนี้ ชื่อว่าพระวรุณณอุบาทว์เสี้ยงแล”  คือ กล้วยต้นเดียว มีหัวปลี ๒-๓ หัว ปลีทะลุออกกลางลำ มียอด ๒-๓ ยอด ทั้งหมดนี้ เรียกว่า “วรุณณอุบาทว์”  ไม่ควรนำมาใช้ประโยชน์แต่ประการใด สำหรับข้อห้ามในการใช้ปลีประกอบอาหารเลี้ยงแขกนั้น เชื่อกันว่าปลีเป็นส่วนสุดท้ายหรือเป็นที่สิ้นสุดของต้นกล้วย การนำเอาอาหารที่ปรุงจากหัวปลีมารับประทานร่วมกัน จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายชิงชังกัน จนต้องสิ้นสุดความมีไมตรีต่อกันไปในที่สุด

แสงกล้วย

          “แสง” ตรงกับภาษาไทยว่า “คด” ได้แก่หินที่เกิดในสัตว์หรือต้นไม้ มีอานุภาพด้านคุณไสยตามชนิดของคด “แสงกล้วย” เป็นคดที่เกิดในต้นกล้วยมีสีขาวขุ่น มีอานุภาพด้านความร่มเย็น อุดมสมบูรณ์และเมตตามหานิยม

               เรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับกล้วยที่กล่าวมาตามลำดับ  บางอย่างยังคงเชื่อถือกันอยู่ แต่หลายอย่างเลือนลางจางไป เพราะวิถีชีวิตของคนล้านนาปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับกล้วยน้อยลง  องค์ความรู้ต่างๆ ก็พลอยลดความสำคัญลงตามกาลเวลา

 

สนั่น  ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
กล้วย : ความเชื่อล้านนา
กล้วย : ความเชื่อล้านนา
กล้วย : ความเชื่อล้านนา
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
67
4
10
3
7
2
5
1
5
เผยแพร่เมื่อ 22 เมษายน 2563 • การดู 37,919 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด