ผ้าพระบฏ

ผ้าพระบฏ
 

พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า

การเขียนผ้าพระบฏ  เพื่อประดับอาคารศาสนสถานเป็นคตินิยมในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก

ในประเทศไทยพบหลักฐานการทำผ้าพระบฏบนจารึกสุโขทัย หลักที่ 106 (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงในปีพุทธศักราช 1827  พนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ และภาพพระบฏ  ดังตอนหนึ่งว่า  “....พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ 14 ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี....”

 

ภาพและเรื่องราวของผ้าพระบฏ

        ในคติดั้งเดิม  ผ้าพระบฏมีส่วนประกอบสำคัญคือพระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา ต่อมามีพระอัครสาวกประกอบซ้ายขวา  ช่วงบนที่มุมซ้ายและขวามักมีฤๅษีหรือนักสิทธิ์ เหาะพนมมือถือดอกบัว ในระยะต่อมา แม้ว่าจะมีภาพเล่าเรื่องเข้ามาประกอบ  แต่ส่วนสำคัญของภาพก็ยังคงเป็นภาพที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา  ภาพและเรื่องราวที่เขียนในพระบฏ คือ

  1. ภาพพระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา หรือบางครั้งมีพระอัครสาวกยืนประนมมือขนาบข้างซ้าย - ขวา หมายถึง พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ส่วนใหญ่แล้วมักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในกรอบซุ้มประตู        
  2. ภาพพระพุทธประวัติ  นิยมเขียนในตอนมารผจญ ตอนเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์
  3. พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัลป์  คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย
  4. พระมาลัย เป็นวรรณกรรมในพุทธศาสนาที่กล่าวถึง  พระอรหันต์นามว่าพระมาลัย  เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะลงไปโปรดสัตว์นรก และขึ้นไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยภาพเขียนพระมาลัยจะเป็นพระสงฆ์ห่มจีวรสีแดง ถือตาลปัตร สะพายบาตร อยู่ในท่าเหาะ หรือไม่เช่นนั้นก็จะนั่งอยู่ต่อหน้าพระเจดีย์จุฬามณี
  5. พระเจดีย์จุฬามณี เป็นพระเจดีย์แก้วสีเขียวที่พระอินทร์ทรงสร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศา (เส้นผม) พระเวฏฐนพัสตร์ (ผ้าโพกศีรษะ) พระทักษิณทันตทาฒธาตุ (เขี้ยวซี่บนซ้าย - ขวา) และพระรากขวัญเบื้องบน (กระดูกไหปลาร้าบน) ของพระพุทธเจ้า
  6.  ทศชาติชาดก คือเรื่องราวของพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ 10 พระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า
  7. เวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่นิยมเขียนกันมาก เพราะเป็นพระชาติที่บำเพ็ญบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า จึงเรียกว่า มหาชาติ
  8. อสุภะ คือภาพพระสงฆ์พิจารณาซากศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน สำหรับเป็นมรณานุสติให้แก่พระภิกษุสงฆ์และบุคคลทั้งหลาย        
  9. ภาพอื่นๆ  นอกจากนี้ยังมีพระบฏที่เขียนเป็นภาพพระพุทธบาทสี่รอย มีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงเป็นแถว หรือภาพเล่าเรื่องในวรรณกรรม เช่น พระสุธน - มโนห์รา เป็นต้น
     

รูปแบบของพระบฏ

  1. แบบผืนผ้าขนาดยาว  ใช้สำหรับแขวนทอดลงมา  มักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืน หรือภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย – ขวา  หรือเขียนภาพเล่าเรื่องในพระพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ หรือภาพเล่าเรื่องอื่นๆ
  2. แบบผืนผ้าขนาดยาวในแนวขวาง ประมาณ 15-20  เมตร  ใช้แขวนภายในอุโบสถหรือวิหาร  นิยมเขียนภาพเล่าเรื่องเต็มทั้งผืน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดกและทศชาติ
  3. แบบผืนผ้าขนาดเล็กลง ประมาณ 50 x 70 เซนติเมตร หรือ 50 x 50 เซนติเมตร เขียนภาพเล่าเรื่องเป็นตอนๆ ในพระพุทธประวัติ ชาดก และที่นิยมกันมาก คือเวสสันดรชาดก

 

ความหมายของ “ภาพตุงค่าว” และ “ผ้าพระเวส”

คือผ้าพระบฏรูปแบบหนึ่งที่เขียนเล่าเรื่องในเวสสันดรชาดก มีจำนวน 13 - 28 ผืน ตามเนื้อเรื่องในแต่ละกัณฑ์ของเวสสันดรชาดก ที่มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ คือ ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ ชูชก    จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้าย ใช้แขวนภายในวิหารหรือศาลาการเปรียญในพิธีเทศน์มหาชาติ

ในภาคเหนือเรียกว่า “ภาพตุงค่าว” เพราะเป็นภาพประกอบการเทศนาธรรมในพิธีตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) ส่วนภาคอีสาน  เรียกว่า “ผ้าพระเวส” ใช้ประกอบการเทศน์มหาชาติในงาน “บุญเผวส”  เช่นเดียวกัน

 

ฐาปนีย์ เครือระยา

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
ผ้าพระบฏ
ผ้าพระบฏ
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
25
4
1
3
1
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 9,542 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด