ไทยวน
ไทยวน หรือคนเมือง คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย มักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านระหว่างหุบเขา เช่น ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่และลำพูน ลุ่มแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งของเมืองลำปาง ลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่ตั้งของเมืองแพร่ และลุ่มแม่น้ำน่านเป็นที่ตั้งของเมืองน่าน เป็นต้น ในอดีตชาวไทยวนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามภูมิประเทศที่อาศัยตั้งถิ่นฐาน ทั้งนี้มีชาวไทยวนที่ถูกกวาดต้อนลงไปอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คือ ตำบลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น
ชาวไทยวน มีภาษา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ในสังคมของชาวไทยวนมีความคิดในเรื่องผีผสมพุทธศาสนา โดยเฉพาะผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) จะมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของลูกหลานชาวไทยวนให้ประพฤติตนถูกต้องตามจารีตประเพณีและกรอบที่ดีงามของสังคม อีกทั้งมีความเชื่อเรื่อง “ขึด” คือข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ควรปฏิบัติไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวเองและครอบครัว
ภาษาเขียนและภาษาพูดของชาวไทยวนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบเป็นการใช้ภาษาเขียนในพระธรรมคัมภีร์พุทธศาสนา และปั๊บสา ใบลาน ทั้งนี้ภาษาเขียนของไทยวน หรือเรียกว่า “อักษรล้านนา หรือ อักษรธรรม” ยังใช้ในกลุ่มชาวไทลื้อ เชียงรุ่ง และไทเขิน เชียงตุงด้วย เนื่องจากในอดีตชาวล้านนาได้นำพุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ยังสองดินแดนนี้
ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวไทยวนนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีทั้งหลังคาแบบจั่วเดียวและหลังคาจั่วแฝด ซึ่งรูปแบบเรือนที่นิยมทำกันมากคือเรือนจั่วแฝดแบบ “เรือนกาแล” ที่มียอดจั่วเป็นไม้ไขว้กัน ตกแต่งด้วยการฉลุลวดลายอย่างสวยงาม
การแต่งกายของสตรีชาวไทยวนในอดีตแต่เดิมนิยมเปลือยท่อนบน นุ่งซิ่นต๋าต่อตีนต่อเอว เกล้ามวยผมไว้ท้ายทอย เมื่อมีโอกาสพิเศษจึงมัดอกหรือห่มสะหว้ายด้วยผ้าสีพื้นหรือผ้าลายดอก นุ่งซิ่นตีนจกหรือสอดดิ้นเงินดิ้นทองตามฐานะ ภายหลังนิยมสวมเสื้อแขนกระบอกและห่มสไบสะหว้ายทับ พร้อมหย้องเครื่องประดับสวยงาม ส่วนบุรุษแต่เดิมนิยมเปลือยท่อนบน นุ่งเฅ็ดม่าม นุ่งผ้าต้อย สักต้นขา ภายหลังนิยมแต่งชุดราชประแตน และชุดเตี่ยวสะดอตามสมัยนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางและชาวตะวันตก
ฐาปนีย์ เครือระยา
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |