เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)

 

เรือนทรงปั้นหยาได้รูปแบบมาจากเรือนที่รับอิทธิพลแบบวิคตอเรียน (Victorian Style) หรือสากลนิยม ได้เรียกเรือนคล้ายกันนี้ที่สร้างอยู่ในประเทศอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสทั้งหลายว่า โคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) หรือแบบทรงอิทธิพลตะวันตก

การสร้างบ้านเรือนที่ประยุกต์รูปแบบของยุโรปให้เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นนี้ ผ่านการนำรูปแบบเข้ามาโดย  มิชชันนารี พ่อค้าไม้ชาวอังกฤษ และข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เป็นการสร้างเรือนในยุคที่มีเครื่องมือก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้การตัดผ่าไม้เพื่อทำเสาเหลี่ยม โครงสร้างคาน ขื่อ และฝาผนัง ทำได้ง่ายและมีความเรียบเกลี้ยง การประกอบโครงสร้างเรือนและการเข้าไม้ทำได้เรียบร้อยสมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับการใช้ตะปูและน๊อตมาช่วยยึดโครงสร้างทำให้สะดวกและลดเวลาการก่อสร้างได้มากขึ้น เรือนทรงปั้นหยารับเอาวัฒนธรรมการใช้พื้นที่ในเรือนแบบตะวันตก คือมีการใช้เฟอร์นิเจอร์ ทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น หลังคาเรือนมีขนาดใหญ่เพื่อคลุมพื้นที่ใช้สอยไว้ได้ทั้งหมด มีการสร้างระเบียงรอบเรือน (Veranda) เพื่อเป็นส่วนทางเดินหลักของเรือนและเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน ส่วนใช้สอยหลักถูกจัดไว้กลางเรือน การโชว์เสาลอยและการยื่นชายคาเรือนช่วยลดปริมาตรขนาดใหญ่ที่ดูหนักของเรือนทำให้เรือนดูโปร่งเบาน่าอยู่มากขึ้น ระเบียงด้านบน (Balcony) เป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับบันไดหลักและชานแดดด้านข้างเรือน ตรงบันได มีแง็บ (ไขราปีกนก) คลุมบันไดทางขึ้นเรือน มีการตั้งเสารับหลังคาคลุมบันไดที่มีลักษณะเหมือนเสาแหล่งหมาของเรือนพื้นถิ่นล้านนา หลังคาเรือนนิยมมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว

เรือนทางปั้นหยามีทั้งแบบที่ไม่เน้นการตกแต่งประดับอาคาร แต่เน้นการแสดงออกในปริมาตรรูปทรงที่เรียบง่ายลงตัว แต่สง่างามหนักแน่น และแบบที่เน้นการตกแต่งแบบพิเศษ คือ เพิ่มความอ่อนหวานให้กับอาคารโดยการเพิ่มการฉลุลวดลายไม้บริเวณเชิงชาย ระเบียง แผงกันสาด หรือแผงบังแดด การลบมุมและตกแต่งคิ้วรอบเสาเรือน เป็นต้น

ชั้นบนของเรือนอนุสารสุนทรนี้ เป็นระเบียงมุขยื่นออกมาด้านหน้า เชื่อมด้วยระเบียงยาวที่ทำล้อมรอบตัวเรือนตั้งแต่โถงบันไดทางขึ้น ระเบียงด้านข้างยาวจนจรดด้านหลังเรือน ภายในตัวเรือนชั้นบนเป็นห้องโถงที่มีบันไดลงสู่ชั้นล่าง พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างปิดผนังด้วยฝาไม้ทุกด้าน ระหว่างผนังเจาะช่องหน้าต่างเพื่อระบายอากาศและให้แสงเข้าถึงในห้อง โดยได้จัดสัดส่วนของตัวเรือนเป็นห้องขายสินค้าและที่อยู่อาศัยไปด้วยในตัว เนื่องจากเจ้าของเดิมเป็นคหบดีใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ในยุคนั้น จึงมีระเบียงเดินชมสินค้ารอบตัวเรือนและมีชั้นล่างหรือชั้นใต้ถุนเป็นแบบโรงหมอหรือคลีนิค เพราะบุตรชายของหลวงอนุสารสุนทรนั้นเรียนสำเร็จวิชาแพทย์และบิดาได้เตรียมปลูกสร้างเรือนหลังนี้ไว้ให้แก่บุตรชาย เพื่อประกอบอาชีพแพทย์ตามที่เรียนมา พร้อมกับทำการค้าควบคู่ไปด้วย ในยุคนั้นเรือนหลังนี้จึงน่าจะเป็นร้านขายสินค้าที่มีระดับและใหญ่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของเรือนทรงปั้นหยา คือเป็นเรือนร่วมพื้นเดียวกัน ไม่มีส่วนที่เป็น “เติ๋น” มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและในบ้าน และไม่ถือคติความเชื่อเรื่องประตูตรงกันตามแบบล้านนาดั้งเดิม ซึ่งเชื่อกันว่าประตูตรงกันมักทำให้รับสิ่งอัปมงคลเข้ามาอย่างเต็มที่ จึงมีประตูหลายบานที่อยู่ตรงกัน อาจกล่าวได้ว่า เรือนอนุสารสุนทรสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและสำหรับขายสินค้า จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากเรือนล้านนาหลังอื่น

เดิมเป็นเรือนของหลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา ที่สร้างให้กับบุตรชาย คือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๗ เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของ บริษัทสุเทพ จำกัด ต่อมาทายาทได้มอบเรือนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗

 
รูปภาพ
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)
 

แบบสถาปัตยกรรม

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 
 
เผยแพร่เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 • การดู 14,461 ครั้ง