เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)

 

โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน เสาเรือนถากเป็นแปดเหลี่ยมและเจาะช่องเพื่อสอดแวง (รอด) เพื่อรับตงและพื้นเรือนที่ยกสูง วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นไม้สัก หลังคาเดิมมุงด้วยดินขอ ปัจจุบันมุงด้วยแป้นเกล็ด หลังคาค่อนข้างชัน ระหว่างเรือนสองหลังมีฮางลิน ทำจากไม้ซุงขุดเป็นราง โครงสร้างรับน้ำหนักของหลังคาคือเสาดั้งและเสาเรือน ใต้หลังคาโล่งไม่มีฝ้าเพดาน มีขัวอย้านตรงระดับเพดานเพื่อใช้ขึ้นไปเดินซ่อมหลังคา ฝาผนังเป็นฝาแป้นหลั่น (ฝาตีตามแนวตั้ง) มีไม้ระแนงตีปิดแนวรอยต่อระหว่างแผ่นฝ้าไม้เหมือนเช่นเรือนกาแล มีป่อง (หน้าต่าง) จำนวนน้อยและติดตั้งชิดระดับพื้นเรือน ภายในเรือนครัวมีกระบะเตาไฟวางบนพื้นเรือน ผนังเรือนครัวมีฝาไหล เหนือเตาไฟมีควั่น (โครงไม้ไผ่สานสำหรับวางผึ่งถนอมอาหาร) บริเวณชานทำช่องราวกันตกเป็นแนวตั้ง ประตูห้องนอนมีลักษณะเป็นกรอบ ที่พื้นเป็นข่มตู๋เหมือนเรือนกาแล แตกต่างกันตรงที่เรือนแบบไทลื้อนี้ไม่มีหำยนต์อยู่เหนือช่องประตู บริเวณเติ๋นทางด้าน ทิศตะวันออกมีหิ้งพระ ตัวเรือนมีความงามในความลงตัวของปริมาตรสัดส่วน รูปทรง และพื้นที่ว่าง ที่สัมพันธ์กับการใช้สอยเป็นอย่างดี เทคนิคการก่อสร้างและการเข้าไม้ที่เรียบร้อยลงตัวทำให้ระนาบพื้น ผนัง และหลังคามีความงาม

เรือนหลังนี้เดิมเป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ หรือหม่อน (ทวด) ตุด ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นจึงเรียกเรือนหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เรือนหม่อนตุด”

นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า คนไทลื้อในจังหวัดเชียงใหม่มีบรรพบุรุษอยู่ในเขตสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน ในครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ร้างผู้คน พระเจ้ากาวิละมีนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” จึงยกกำลังขึ้นไปถึงเมือง เชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองยอง เมืองพยาก ฯลฯ และได้กวาดต้อนเอาผู้คนในเขตนั้น ลงมาอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน แต่สำหรับชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหม่อนตุดนี้ จากการศึกษาของรัตนาพร เศรษกุล และคณะ ได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไปว่า ชาวไทลื้อได้อพยพมาอยู่บริเวณนี้ได้กว่า ๖๐๐ ปีแล้ว

เรือนหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้น โดยซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง ๓ เชือก พร้อมทั้งวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ ไปชักลากมาเพื่อนำมาสร้างเป็นเรือน ซึ่งมีรูปร่างงดงามเรียบง่าย แบบเรือนสามัญชน ไม่ใช่เรือนของคหบดีผู้มั่งคั่ง หรือคุ้มเจ้านาย

หม่อนตุดพร้อมด้วยลูก ๔ คนได้อาศัย และเติบโตมาบนเรือนหลังนี้ตลอดมา ลูกแต่ละคนเมื่อแต่งงาน ก็แยกไปตั้งครอบครัวใหม่ ยกเว้นพ่อคำปิง ใบสุขันธ์ เมื่อแต่งงานกับแม่แก้ววรรณาแล้วยังคงอาศัยเรือนหลังนี้ต่อไป และมีลูกด้วยกัน ๔ คน และในบรรดาลูกพ่อคำปิงและแม่แก้ววรรณานี้มีนางอุพิมซึ่งแต่งกับนายบุญเนตร แก้วประภา ได้อาศัยอยู่บนบ้านหลังนี้ต่อไป ในครอบครัวใบสุขันธ์ หม่อนตุดมีอายุยืนยาวกว่าสามีและลูกทุกคน หลังจากพ่อน้อยหลวงผู้สามีเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ แล้ว หม่อนตุดซึ่งอยู่ในวัยชราก็อยู่ในความดูแลของนางอุพิมผู้เป็นหลาน นางอุพิมซึ่งเป็นหม้ายตั้งแต่ยังสาว ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร ๒ คน และหม่อนตุดซึ่งมีอายุกว่าร้อยปีแล้ว ซึ่งถึงแม้สุขภาพทั่วไปยังแข็งแรง แต่ด้วยความเสื่อมของร่างกายตามวัย นางอุพิมจึงต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา

หม่อนตุดในวัยเกิน ๑๐๐ ปี มีความจำเป็นเลิศ สามารถเล่าขานเรื่องราวในอดีตได้อย่างดี และจากความโดดเด่นของเรือนไม้เก่าแก่ที่หาชมได้ยาก จึงทำให้มีผู้ไปขอเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ภาพที่ผู้มาเยือนจำได้ติดตาคือ ภาพหญิงชราผมขาวสีเงินยวงเกล้ามวยไว้เบื้องหลัง ใบหน้าส่อเค้าความงามและแฝงด้วยความเมตตา นั่งตำหมากอยู่บนเติ๋นของเรือนไม้ ข้างกายมีของใช้ประจำตัวคือขันหมาก กระโถน และน้ำต้น

ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ หม่อนตุดในวัย ๑๐๕ ปี ยังสามารถพยุงกายเกาะ ฝาเรือน เดินเลาะจากเติ๋นไปตามระเบียงด้านข้าง เพื่อไปอาบน้ำที่ชานหลังบ้านได้เองโดยไม่ต้องพยุง ในขณะที่ร่างกายผู้เป็นเจ้าของเรือนเสื่อมไปตามสังขาร ตัวเรือนเองก็ทรุดโทรมไปตามเวลา กระเบื้องดินขอมุงหลังคาที่เก่าแก่เริ่มเปราะและแตกหัก ฝนรั่ว แดดลอด พื้นเรือนก็ทรุดเอียง เกินกว่ากำลังที่นางอุพิมหลานสาวผู้รับผิดชอบครอบครัว จะทำการดูแลซ่อมแซมบ้านไม้เก่าหลังนี้ จึงเอ่ยขออนุญาตผู้เป็นย่าที่จะขายเรือนนี้ เพื่อจะปลูกสร้างเรือนใหม่ที่แข็งแรงให้ผู้เป็นย่าได้อยู่อย่างสะดวกสบายกว่านี้ ซึ่งก็เป็นเวลานานกว่าหม่อนตุดผู้เป็นย่า จะตัดใจจากความผูกพันกับเรือนหลังเก่า อนุญาตให้หลานและเหลน ประกาศขายบ้านหลังนี้ได้

ปลายปี พ.ศ.๒๕๓๔ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยไปเยี่ยมคารวะหม่อนตุดที่บ้าน ได้เรียนให้อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ว่ามีบ้านไม้เก่าแก่ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาและควรแก่การอนุรักษ์ อาจารย์ศิริชัยจึงได้ไปเยี่ยมชม และเมื่อเห็นสภาพบ้านก็ตัดสินใจซื้อ ซึ่งสัญญาซื้อขายครั้งนั้น ผู้ซื้อประสงค์จะให้หม่อนตุดอาศัยอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยจะไม่เร่งรัดรื้อถอน และจะไม่มีการรื้อถอนเป็นอันขาด อย่างน้อยภายในเวลา ๖ เดือน ภายหลังการทำสัญญา อาจารย์ศิริชัย ในฐานะกรรมการประจำสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำความประสงค์ที่จะมอบเรือนหม่อนตุด ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่ม ในการอนุรักษ์ อาคารโบราณ เข้าหารือกับคณะกรรมการประจำสถาบันฯ ซึ่งคณะกรรมการต่างก็เห็นว่าเรือนไทลื้อหลังนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการศึกษาแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการชาติพันธุ์วิทยา จึงได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการใช้ที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณา ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้ที่ดินเขตอนุรักษ์ ที่อยู่ตรงข้ามตลาดต้นพยอม ริมถนนเลียบคลองชลประทาน เป็นที่ปลูกสร้างเรือนหลังนี้ได้ตามวัตถุประสงค์

หม่อนตุดเสียชีวิตก่อนอายุครบ ๑๐๗ ปีเพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นเรือนหม่อนตุดจึงถูกรื้อย้ายในช่วงวันที่ ๑ - ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖ และเริ่มดำเนินการขุดหลุมตั้งเสาเรือนในที่แห่งใหม่ในเดือนมีนาคม สร้างเรือนเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖ โดยการรื้อถอนปลูกสร้าง และดำเนินงานเกี่ยวกับเรือนหลังนี้ทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จาก มูลนิธิจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์

ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๗ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกอบพิธีขึ้นเฮือนใหม่ โดยมีเจ้าหม่อนคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวสิบสองปันนา เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเรือนและอุทิศส่วนกุศลไปให้หม่อนตุดเจ้าของเรือนผู้ล่วงลับ

 
รูปภาพ
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
เรือนไทลื้อ(หม่อนตุด)
 

แบบสถาปัตยกรรม

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 
 
เผยแพร่เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 • การดู 13,205 ครั้ง